อัปเดต “ศัพท์ฮิต” ในโลกโซเชียล รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”
มัดรวมมาให้แล้ว! “ศัพท์ฮิต” ที่กำลังเป็นที่นิยมใช้ในโลกโซเชียล พร้อมความหมาย รับ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” 29 ก.ค. 2566
“วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศไทย
มีคำกล่าวว่า “ภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าภาษานั้นตายไปแล้ว” ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ จะมีคำศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นใน “ภาษาไทย” ตลอด โดยในเฉพาะในปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียช่วยให้กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยง่าย เกิดเป็น “วัฒนธรรมย่อย” มากมาย ซึ่งในแต่ละวัฒนธรรมย่อยนั้นก็จะมีการคิดค้นคำศัพท์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารกัน ซึ่งก็มีหลายคำที่กลายเป็น คำฮิต ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ
เนื่องในโอกาส “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ “กรุงเทพธุรกิจ” จะรวบรวม ศัพท์ฮิต ที่นิยมใช้ในโลกออนไลน์ประจำปี 2566 มาให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความหมาย และลองนำไปใช้ตาม
15 ศัพท์ฮิต 2566 รับ วันภาษาไทยแห่งชาติ
- กรี๊ดสิครับ
“สรยุทธ สุทัศนะจินดา” คนข่าวอันดับ 1 ของประเทศ ได้ให้กำเนิดมีมระดับชาติอย่าง “กรี๊ดสิครับ” ที่มาจากคำพูดของเขาในรายการ “คุยนอกจอ” เพื่อโต้กลับเหล่าแอนตี้แฟนที่มาคอมเมนต์ในไลฟ์ของรายการ
ภายหลังสรยุทธ ได้ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พูดประโยคดังกล่าวด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นไวรัลอีกรอบ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย “กรี๊ดสิครับ” ใช้ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามมาคอมเมนต์แบบเสีย ๆ หาย ๆ หรือพยายาม “ดิ้น” ในข่าวต่าง ๆ สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะข่าวการเมืองเท่านั้น
- ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย
แม้ว่า K-POP จะเป็นแนวเพลงที่ใคร ๆ ก็ฟังได้ แต่หลายคนยังคิดว่าคนที่ชื่นชอบเพลง K-POP จะต้องเป็นผู้หญิงหรือกลุ่ม LGBTQ+ เห็นได้จากคอมเมนต์หนึ่งในมิวสิควิดีโอของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี ที่ระบุว่า “ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย” เป็นการออกตัวเอาไว้ว่าตนเองเป็นผู้ชายที่ไม่ได้ฟังเพลงเกาหลี แต่พอมาเห็นเพลงนี้กลับชอบ ขณะที่คนส่วนใหญ่แซวว่า เจ้าของคอมเมนต์อาจไม่ใช่ผู้ชาย เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนเรียกตัวเองว่า “ชายแท้”
ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของคอมเมนต์เป็นชายแท้หรือไม่ แต่วลีนี้ถูกกลุ่ม LGBTQ+ ใช้แซวตัวเองเวลาเห็นรูปภาพผู้ชายที่ถูกใจ หรือ ชอบคอนเทนต์ที่มีความเป็นหญิงสูง เช่น บาร์บี้ เซเลอร์มูน ก็จะคอมเมนต์ลงไปว่า “ขนาดผมเป็นชายแท้ยังชอบเลย” นั่นเอง
- คนไทยคนแรก
หากตีความหมายตามตรงของ “คนไทยคนแรก” จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่คนไทยไปสร้างชื่อเสียงเป็นคนแรกของประเทศ แต่ในปัจจุบันชาวเน็ตได้นำคำนี้มาใช้ในความหมายด้านลบ เชิงแซะคนที่คิดว่าบุคคลหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพิเศษจนต้องชื่นชม หรือมั่นใจในตนเองว่าเป็น “คนแรก” ที่ได้ทำในสิ่งนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร
ทั้งนี้ คำนี้ยังถูกใช้ตามความหมายโดยตรงอยู่ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องดูบริบทประกอบว่าผู้ใช้ต้องการสื่อสารในความหมายใด
- คนละมักกะโรนีกัน
การแผลงคำเป็นหนึ่งวิธีที่คนไทยใช้สร้างสรรค์คำศัพท์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้คำที่มีความหมายอยู่แล้ว มาผสมกับคำเดิม แต่ยังคงรักษาความหมายเดิมหรือเค้าความเดิมอยู่ เพื่อให้ได้อรรถรสในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันคำแผลงที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในทวิตเตอร์ คือคำว่า “คนละมักกะโรนีกัน” ซึ่งมาจากคำว่า “คนละกรณีกัน” รวมกับคำว่า “มักกะโรนี” แต่ยังคงความหมายว่า เป็นคนละกรณีกัน เอาไว้อยู่ มักใช้ในเชิงแซะผู้อื่น เช่น เมื่อเห็นว่าคนอื่นทำผิดตนเองก็จะด่า แต่พอตัวเองทำเองบ้างกลับพูดว่าเป็นคนละมักกะโรนีกัน
อีกคำที่เริ่มพบเห็นบ่อยขึ้นคือ คำว่า “ดิจิม่อน ฟุตลองชีส” หรือ “ดิจิม่อน ฟรุตตี้” ที่มาจากคำว่า “ดิจิทัล ฟุตปรินท์” (Digital Footprint) หรือรอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่เป็นประวัติการใช้งานในโลกออนไลน์ของแต่ละบุคคลหรือแบรนด์ นอกจากนี้ คำแผลงประเภทเพิ่มพยัญชนะเข้าไป ก็เป็นที่นิยมในหมู่ทวิตเตี้ยนอีกด้วย เช่น อ่อจร้า จย้าาาา เป็นต้น
ทั้งนี้คำแผลงในปัจจุบันมักเป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึก ด้านอารมณ์ มากกว่าการเพิ่มคำเพื่อใช้ในการประพันธ์ หรือหลากคำ
- ฉ่ำ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “ฉ่ำ” ในว่า เป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า ชุ่มชื่น, ชุ่มน้ำในตัว แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายว่า มาก หรือ เยอะ โดยใช้ขยายความของคำนาม หรือกริยาอีกที
- ชายแท้ 100%
“ร้องข้ามกำแพง” เป็นหนึ่งในรายการที่โด่งดังมากที่สุดในปัจจุบัน และได้สร้างคำฮิตของปีนี้ไว้ด้วย เมื่อ “เอม ตามใจตุ๊ด” ได้ไปออกรายการ และพูดว่าตนเองเป็น “ชายแท้ 100%” เพื่อปิดบังตัวตน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร กลับกลายเป็นโป๊ะ ถูกจับได้ว่าเป็น LGBTQ+ เพราะไม่มีผู้ชายคนไหนเรียกตัวเองว่า ชายแท้ แถมยังบอกเปอร์เซ็นต์ต่อท้าย ดังนั้น ชายแท้ 100% จึงถูกนำมาใช้แซวกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยกัน ในกรณีที่พยายามแอ๊บแมนนั่นเอง
- ดอทคอม
“ดอทคอม” เป็นคำที่ย่อมาจาก “เสร่อแดกดอทคอม” (ซึ่งจริง ๆ ต้องสะกดว่า สะเหล่อ) ใช้เรียกคนที่เซ่อซ่า ทำอะไรทะเล่อทะล่า ทำตัวแปลก ๆ พยายามแสดงตัวให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน พยายามแสดงตัวหรือความเห็นทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครร้องขอ หรืออาจจะเรียกว่า เสนอหน้าก็ได้
หากบุคคลหรือการกระทำนั้นสะเหล่อมาก ๆ ก็จะมีการเติมคำสร้อยต่อท้ายเข้าไปด้วย เช่น ดอทซีโอดอททีเอช ดอทโออาร์จี ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนเป็นนามสกุลโดเมนเว็บไซต์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
- ตัวมารดา ตัวคลอดบุตร ตัวสูตินารี
หนึ่งในยูทูบเบอร์ที่แจ้งเกิดอย่างสวยงามในปีนี้คงจะต้องมีชื่อ “เอิร์ธฐา” (Aertha) อดีตแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์รีแคป หรือการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อสื่อบันเทิงต่าง ๆ โดยผลงานแจ้งเกิดของเอิร์ธฐา มาจากการรีแคปละครเรื่อง “The Interns หมอมือใหม่” ซึ่งมาพร้อมกับประโยคที่ว่า “รินรดา เธอมันเริ่ด ตัวแม่ ตัวปัง” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เป็นที่สุด เริ่ดมากไม่ไหว
ในภายหลังได้มีการเพิ่มขั้นกว่าของคำว่า “ตัวแม่” นั่นก็คือคำว่า ตัวมารดา ตัวคลอดบุตร ตัวสูตินารี ซึ่งอันที่จริงแล้วทุกคำล้วนมีแต่ความหมายว่าแม่ แต่เป็นคำที่ดูยิ่งใหญ่อลังการกว่า (และยาวกว่า) นั่นเอง
- ปล่อยจอย
อันที่จริง “ปล่อยจอย” ไม่ใช่คำใหม่อะไร มีมานานแล้ว แต่พึ่งกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความถามชาวทวิตเตอร์ว่า ปล่อยจอย แปลว่าอะไร ซึ่งเหล่าทวิตเตี้ยนก็รวมใจให้ความหมายของคำนี้ว่า ปล่อยใจ ไม่ต้องคิดมาก ช่างมัน
ที่มาของคำว่าปล่อยจอย มีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกจะบอกว่ามาจากวงการเกม โดยจอยในที่นี้คือ “จอยสติ๊ก” (Joystick) ดังนั้นปล่อยจอย จึงใช้ในกรณีที่ รู้ชะตากรรมว่าแพ้แล้ว สู้ไม่ได้ ก็จะปล่อยคันบังคับเกม ปล่อยให้อีกฝ่ายสู้คนเดียว ขณะที่อีกสายจะมาจากกลุ่ม LGBTQ+ ที่จอยมาจากคำว่า “เอ็นจอย” (Enjoy) ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจากไหนก็มีความหมายเช่นเดียวกัน
- แม่น้องออนิว
“แม่น้องออนิว” เป็นอีกคำที่มาแรงในปีนี้ เห็นได้จากโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม โดยเป็นคำที่ใช้เรียก กลุ่มวัยรุ่น “ทรงซ้อ” ที่เป็นเจ้าของ หรือมีแฟนขับรถกระบะ ออลนิว อีซูซุ ดี-แม็กซ์ ที่แต่งกระบะซิ่งทั้งคัน นอกจากนี้หลายคนก็ตั้งชื่อลูกของตัวเองว่า “น้องออนิว” ตามรถรุ่นฮิตด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงแล้วคำนี้มักถูกใช้ในเชิงเหยียดมากกว่า
สำหรับคำว่า ออลนิว (All-New) ที่ใช้ในวงการรถยนต์จะหมายถึงการปรับโฉมและเพิ่มสมรรถนะของรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวในแต่ละปี
- ไม่สมประดี
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า สมประดี, สมฤดี หรือสมฤๅดี ว่ามาจาก สมฤติ स्मृति ในภาษาบาลี หมายถึง สติ, ความรู้สึกจำได้ ดังนั้นไม่สมประดีจึงแปลว่า ไม่มีสติ ไม่ปรกติ ถึงแม้จะเป็นคำที่ดูเก่า ใช้ในหนังสือหลายเล่ม แต่ก็เป็นที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียขณะนี้
- เลยหรอ?
หลังจากที่ ปิยบุตรได้รู้ความหมายของคำว่าปล่อยจอยไปแล้ว คราวนี้เขาได้ทวีตถามต่อว่า “เลยหรอ?” แปลว่าอะไร ซึ่งพี่น้องชาวทวิตก็ได้มารีพลายให้คำตอบว่า คำนี้ย่อมาจาก “ขนาดนั้นเลยหรอ” ซึ่งแปลว่า จริงหรอ ใช่หรอ หากเทียบเป็นภาษาอังกฤษก็จะเหมือนกับ Really? ซึ่งมักใช้ในเชิงไม่แน่ใจ หรือไม่เห็นด้วยกับผู้พูดเท่าไหร่นัก
- วาสนาผู้ใด๋น้อ
เมื่อเห็นรูปคนที่หน้าตาดี เป็นที่ถูกอกถูกใจ โดยเฉพาะกับดารา นักแสดง ศิลปินไอดอล เหล่าชาวเน็ตก็จะคอมเมนต์ด้วยคำว่า “วาสนาผู้ใด๋น้อ” ซึ่งเป็นภาษาอีสาน ถามว่าใครจะได้เป็นแฟนกับคนหน้าตาดี เพอร์เฟค ระดับพรีเมียมขนาดนี้ โดยไม่ได้ใช้ในแง่การคุกคาม หรือ มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการถามในลักษณะที่รู้ว่าเขาอยู่ไกลเกินเอื้อม
นอกจากนี้ แฟนคลับของคู่ชิปต่าง ๆ (นักแสดง หรือศิลปินไอดอลที่แฟนคลับจับคู่ให้เป็นแฟนกัน) ต่าง ๆ ก็ใช้คำนี้สำหรับอวยเมนของตนเอง โดยมักใช้คู่กันเป็น วาสนาผู้ใด๋น้อ - วาสนา (แทนคู่ชิป)
- สรวน
“สรวน” เป็นอีกหนึ่งคำที่ถูกใช้มานานแล้ว แต่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในปัจจุบัน เห็นได้จากที่มีวงดนตรีใช้ชื่อว่าสรวน ก่อตั้งมาแล้วร่วมศตวรรษ ซึ่งทางวงได้ให้ที่มาของคำนี้ว่า เกิดจากการรวม 2 คำเข้าด้วยกัน คือ รวน และ สะเหล่อ มีความหมายว่า อาการมึนงง ไม่มีสติอยู่กับตัว ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ โดยในปัจจุบันก็ยังคงความหมายเดิมไว้
- หวาน
“หนูรัตน์ ธิดาพร” เป็นเน็ตไอดอลอีกหนึ่งคนที่สร้างศัพท์ใหม่ให้แก่ชาวโซเชียลได้นำมาใช้เสมอ โดยในคราวนี้ขอเสนอคำว่า “หวาน” ซึ่งมาจากเหตุการณ์ที่หนูรัตน์ต่อว่า คนชื่อหวาน ที่มากล่าวหาว่าเธอโกหก ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวเน็ตว่า หวาน มีความหมายถึง คนโกหก พูดไม่จริง นั่นเอง
นอกจาก หวานแล้ว ยังมี “หวานเจี๊ยบ” อีกคำที่นิยมใช้ในโซเชียลตอนนี้ โดยมีที่มาจากเทรนด์ใน TikTok ที่เล่นมุกเสี่ยวจีบหญิงแล้วต่อท้ายด้วย “โอ้โหเธอหวานเจี๊ยบ” ต่อมา “แจ๊ส ชวนชื่น” นำมุกนี้มาเล่นในรายการ “ก็มาดิคร้าบ” ยิ่งทำให้กลายเป็นกระแสไปอีก ดังนั้นหวานเจี๊ยบจึงทำหน้าที่เป็นคำลงท้ายสำหรับเล่นมุกจีบสาว
ภาพรวมของแวดวงคำศัพท์ฮิตปีนี้มีทั้งที่คิดขึ้นมาใหม่และมีทั้งนำคำเก่ากลับมาใช้ใหม่ มีทั้งคำสแลง คำแผลง การตัดคำให้สั้นลง เพื่อใช้สำหรับบริภาษสังคมและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสังคม ซึ่งคำส่วนมากมักเกิดขึ้นมาสำหรับการใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มแฟนคลับ กลุ่ม LGBTQ+ ที่จะลุกลามเข้าไปสู่กระแสหลัก จนถูกนำไปใช้ในกลุ่มคนทั่วไป
ปัจจุบันมีมีศัพท์เกิดใหม่มาแทบทุกวัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องคอยอัปเดตศัพท์ใหม่ ๆ อยู่บ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการสื่อสาร แต่อย่าใช้กันจน “สนุกปาก” จนเลยเถิด กลายเป็นการบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว
กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา