‘เทยเที่ยวไทย’ ปิดตำนานรายการท่องเที่ยวฟีลเพื่อน หลังออกอากาศมานาน 12 ปี

‘เทยเที่ยวไทย’ ปิดตำนานรายการท่องเที่ยวฟีลเพื่อน หลังออกอากาศมานาน 12 ปี

ปิดรายการ “เทยเที่ยวไทย” รายการท่องเที่ยวฟีลเพื่อนสุดหรรษา ที่แจ้งเกิดพิธีกรสายฮาอย่าง ป๋อมแป๋ม-ก๊อตจิ-กอล์ฟ-เจนี่ ปาหนัน จนกลายเป็นตัวแม่ของวงการ

หลังจาก “เทยเที่ยวไทย” รายการท่องเที่ยวที่อยู่คู่วงการโทรทัศน์ไทยมากว่า 12 ปี ประกาศปิดรายการ อำลาจอ ทำเอาแฟนรายการเสียดายกันเป็นแถว โดยออกอากาศตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นเทปที่ 593 เมื่อคืนวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา และอัปโหลดวิดีโอผ่าน YouTube ตอนเที่ยงของวันที่ 31 ก.ค. 

ในเทปล่าสุดนี้ได้รวบรวมสมาชิกเบื้องหลังตั้งแต่ยุคแรกของรายการมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวสุดประทับใจ และพากันไปเที่ยวที่พัทยา สถานที่ท่องเที่ยวในตอนแรกของรายการ ซึ่งยังคงสร้างความประทับใจและมอบความสนุกให้แก่ผู้ชมเหมือนทุกเทป

  • รายการท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน

เทยเที่ยวไทย เป็นรายการท่องเที่ยวที่เน้นความสนุกสนานเป็นกันเอง เหมือนกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวด้วยกัน โดยมีพิธีกรเป็นกลุ่ม LGBTQ+ ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 8 ต.ค. 2554 ทางช่อง Bang Channel หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนเวลาและช่องออกอากาศอีกหลายครั้ง ด้วยรูปแบบรายการสนุกเป็นเอง ไม่มีสคริปต์ เหมือนได้เป็นได้ไปเที่ยวกับเพื่อนจริง ๆ ซึ่งแตกต่างจากรายการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในขณะนั้น ทำให้รายการนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างรวดเร็ว มียอดเข้าชมหลายล้านครั้ง และแจ้งเกิดพิธีกรหลักของรายการ

ช่วงยุคทศวรรษ 2550 กลุ่ม LGBTQ+ ยังไม่ได้มีบทบาทในวงการบันเทิงเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งนับได้ว่า เทยเที่ยวไทย เป็นรายการแรก ๆ ที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศรับหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งก็คือ “ป๋อมแป๋ม - นิติ ชัยชิตาทร”ก๊อตจิ - ทัชชกร บุญลัภยานันท์” “กอล์ฟ - กิตติพัทธ์ ชลารักษ์” และ “เจนนี่ ปาหนัน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิธีกรแถวหน้าของวงการ และทำให้ผู้ชมเปิดรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น

นอกจาก พิธีกรเบื้องหน้าจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ทีมงานเบื้องหลังยังมีบทบาทในรายการอีกด้วย ซึ่ง “ฝน- ทัตชญา ศุภธัญสถิต” หรือ “ฝน MonsterFon” ครีเอทีฟมือทองที่ทำรายการออนไลน์กว่า 10 รายการในปัจจุบัน ก็แจ้งเกิดจากรายการนี้ด้วยเช่นกัน

เนื่องด้วยรายการมีคอนเซ็ปต์การเที่ยวกับเพื่อน ทำให้ช่วงรายการต่าง ๆ ถูกคิดมาจากไลฟ์สไตล์การเที่ยวจริง ๆ จนมีหลายช่วงที่เป็นที่จดจำของแฟนคลับไม่ว่าจะเป็น 

  • พ่อค้าแซ่บ” ช่วงที่พิธีกรจะเข้าไปแซวกับพ่อค้าหน้าตาดี 
  • Wanna Be On Top” แข่งขันการถ่ายรูปของพิธีกร โดยผู้ตัดสินจากนักท่องเที่ยว ดารารับเชิญ ผู้เชี่ยวชาญ หรือประชาชนทั่วไป โดยไฮไลต์ของช่วงคือ การด่ากันเองแบบหยิกแกมหยอกของพิธีกร 
  • "ต่อปาก ต่อคำ ต่อราคา" เดินซื้อของกินพร้อมพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายตามตลาดต่าง ๆ และมอบรางวัลคำคมกาละแมร์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่พูดได้โดนใจ

อีกจุดเด่นของรายการคือเคมีของพิธีกรทั้ง 4 คน ที่เข้ากันได้อย่างดี มีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญคือ ไหวพริบในการต่อมุกของแต่ละคน สามารถรับส่งกันได้อย่างดี โดยเฉพาะมุกทางภาษา การต่อกลอน คำแผลง คำผวน คำพ้อง การแปลงเพลง และเล่นมุกจากสิ่งที่เห็นตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ป้ายต่าง ๆ คำพูดของวิทยากร ตลอดจนวัฒนธรรมร่วมสมัย เรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวัน

ตลอด 593 ตอนของรายการ เทยเที่ยวไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการอยู่เสมอ มีทั้งช่วงที่เป็น “เทยเที่ยวไทย The Route” ที่พาท่องเที่ยวเป็นทริป ตามเส้นทางในภูมิภาคต่าง ๆ เมื่อเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เทยเที่ยวไทยก็ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น ตามชุมชนต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีโครงการ “Wannabe Contest 2018” ให้นักเรียนนักศึกษาทำชุดตามคอนเซ็ปต์ต่าง ๆ เพื่อให้พิธีกรสวมใส่ช่วง Wanna Be On Top รวมถึงโครงการ “เทยแก่แหมทำดี” โครงการฉลองครบรอบ 8 ปีของรายการ โดยการเชิญ 6 กะเทยผู้ทรงอิทธิพลในวงการมาร่วมกันทำโครงการตอบแทนสังคม

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดหนักในประเทศไทย รายการม่สามารถออกกองไปถ่ายทำนอกสถานที่ได้ ในช่วงแรกทีมงานได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำเทปเก่า ๆ มาตัดรวมใหม่ แต่ภายหลังก็ปรับเป็นการเที่ยวคนเดียวของพิธีกรทั้ง 3 คน หรือยามอยู่บ้านช่วงกักตัวแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง พยายามหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำเพื่อไม่ให้คนดูเบื่อ

 

  • การต่อยอดของเทยเที่ยวไทย

เทยเที่ยวไทยไม่ได้มีแต่เพียงรายการทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ในปี 2556 รายการได้จัดงานคอนเสิร์ต “เทยแฟร์เฟสติวัลคาร์นิวัลแห่แหนประจำปี” เป็นครั้งแรก เพื่อเฉลิมฉลองรายการครบรอบ 100 ตอน และจัดเรื่อยมา 4 ปีติดต่อกัน และเมื่อปีที่ผ่านมาก็มี “7 เซียนคอนเสิร์ต” ร่วมกับ มาดามมด ปิงปอง-ธงชัย และ อ๊อฟ ปองศักดิ์ หลังจากที่เลื่อนมาหลายต่อหลายครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

เพื่อเป็นพื้นที่ในการพูดคุยของคนในชุมชนเพื่อมอบความรู้สึกดี ๆ ที่มีเสียงหัวเราะดัง ๆ ด้วยคอนเทนต์ที่มุ่งเน้นการสร้างความสุขและเสียงหัวเราะ และทำให้เกิดทัศนคติเชิงบวก จึงได้ทำช่อง “เทยเที่ยวไทย & friends” พร้อมเพิ่มรายการใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น “ทอล์ก-กะ-เทยส์” รายการวาไรตี้ทอล์กโชว์ที่ชวนคนในวงการบันเทิงมาร่วมพูดคุย “รถ 2 แต๋ว” รายการสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้คนบนรถโดยสารประจำทาง “แร้งลง” รายการพากินร้านเด็ดร้านดัง และ “Cheer Reader” รายการแนะนำหนังสือที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

‘เทยเที่ยวไทย’ ปิดตำนานรายการท่องเที่ยวฟีลเพื่อน หลังออกอากาศมานาน 12 ปี

เนื่องด้วยรายการเทยเที่ยวไทยอัปโหลดผ่านทาง YouTube ตอนเที่ยงทุกวันจันทร์ ทำให้รายการนี้เปรียบเสมือน “เพื่อนกินข้าว” ของผู้ชมตลอดมา และด้วยช่วงเวลาออกอากาศมากอย่างยาวนานถึง 12 ปี จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกผูกพันกับเหล่าพิธีกรและทีมงานไปโดยปริยาย เมื่อรายการโปรดถึงเวลาต้องลาจอ แฟน ๆ รายการต่างใจหายและเสียดาย จึงร่วมแชร์ความรู้สึกและมุกที่ชื่นชอบจนกลายเป็นตำนานผ่านแท็ก #โตมากับเทยเที่ยวไทย ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย

ขณะที่พิธีกรต่างออกมาแสดงความขอบคุณแฟนรายการที่อยู่ร่วมกันตลอดมาตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย ไม่คิดว่าจะมากันได้ไกลขนาดนี้ พร้อมระบุว่าทุกคนไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แยกย้ายกันไปทำงาน สักวันหนึ่งคงได้กลับมารวมตัวกันอีก จนกว่าจะได้พบกันใหม่

ไม่มีใครรู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่า “เทยเที่ยวไทย” จะกลับมารวมตัวกันอีก แต่ที่แน่ ๆ รายการนี้ได้เป็นตำนานของวงการโทรทัศน์ไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันแฟนรายการต่างย้อนไปดูตอนเก่า ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกินข้าว เพื่อนคลายเหงา เพื่อนแก้เศร้า เทยเที่ยวไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่รายการโทรทัศน์ แต่เป็นเสมือนเพื่อนที่อยู่ในทุกเวลา และรอวันที่เพื่อนคนนี้จะกลับมาเหมือนเดิม

‘เทยเที่ยวไทย’ ปิดตำนานรายการท่องเที่ยวฟีลเพื่อน หลังออกอากาศมานาน 12 ปี