สุดว้าว! 'เข็นบทขึ้นภูเขา' ปลุกพลัง 30 นักเขียน สร้างบทภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก
กิจกรรมสุดว้าว! 'เข็นบทขึ้นภูเขา' ปลุกพลัง 30 นักเขียน สร้างบทภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก กลยุทธ์ส่งเสริม soft power ของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศกิจกรรมการอบรมเชิงปฎิบัติการ หลักสูตร “เข็นบทขึ้นภูเขา” โครงการพัฒนากำลังคนด้านการเขียนบทภาพยนตร์ เพิ่มมูลค่าภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก จัดขึ้นที่โรงแรม พาโค่ โบนันซ่า เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 3-8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
กิจกรรมดังกล่าวได้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และ ผศ.ดร.ปรีชา สาคร ผู้ร่วมโครงการ โดยมี ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้อำนวยการผลิต เป็นผู้อบรมหลัก และผู้กำกับหนังมืออาชีพร่วมด้วย อย่าง ธนิตย์ จิตนุกูล , ไพโรจน์ สังวริบุตร , บัณฑิต ทองดี และ ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล เป็นต้น
ขณะทำกิจกรรมอบรมนั้น ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. และคณะ ได้ร่วมสังเกตการณ์ พร้อมกล่าวว่า ก่อนอื่นขอแนะนำเกี่ยวกับ บพค. เราเป็นหน่วยสร้างกำลังคนที่มีทักษะเฉพาะทาง แล้วทำไมถึงมาโยงเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้ ว่าเรามองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสจะสามารถสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่ดีสู่ตลาดโลกได้ แต่ปัญหาก็คือเราขาดคนที่มีทักษะด้านการเขียนบท เพราะฉะนั้นโอกาสหนึ่งที่จะสามารถทำให้เราพาประเทศที่จะไปยืนสู่ตลาดโลกได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้เขียนบทที่มีทักษะ และมีประสบการณ์
เพราะฉะนั้นโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเป็นการเอาผู้มีประสบการณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดประสบการณ์และชี้เป้า บางประเด็นที่นักเขียนบทไทยควรต้องมี ทักษะตรงไหนเพิ่มเติมหรือควรต้องมี ข้อจำกัดหรือข้อเฉพาะตรงไหนที่เราต้องสร้างเพิ่มทักษะนั้น ๆ เข้าไป ให้กับนักเขียนบทไทยเพื่อไปพัฒนาบทภาพยนตร์ไปสู่ตลาดโลกได้
“วันนี้มาถึงรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ โดยส่วนตัวคิดว่าการเขียนบทภาพยนตร์ น่าจะต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่การมาโครงการในลักษณะนี้มันได้ทั้งบรรยากาศ ได้ทั้งอารมณ์ มันได้มูท แล้วก็การถ่ายทอดของวิทยากรของพี่ปรัชญา ความรู้ให้ข้อมูลและเป็นการใช้ประสบการณ์จริง ๆ ต้องบอกว่าไม่สามารถหาอ่านที่ไหนได้ เพราะฉะนั้นโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบและส่งเสริมให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีความคิดริเริ่ม..
เอาภาพยนตร์จริง ๆ มานั่งวิเคราะห์ความแตกต่างใช้ลอจิกฯ คือความคิดอย่างมีตรรกะ ผสมภาษากับความคิดทางด้านศิลปะวิทยา ทำให้โครงการนี้มีเสน่ห์ เพราะได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์จริง บรรยากาศก็ทำให้เค้ามีความคิดที่สร้างสรรค์ มีความโอเพ่นมายด์ในการที่จะเรียนรู้ แล้วก็แชร์ความรู้ ระหว่างคนที่เข้าร่วมโครงการด้วยกันได้ครับ
ปรัชญา ปิ่นแก้ว กล่าวว่า อบรมการเขียนบท หรือ เข็นบทขึ้นภูเขานี้ เป็นโครงการที่เราได้รับความอนุเคราะห์จาก บพค. เป็นโครงการวิจัยในการพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์ของไทย ในการที่จะส่งออกสู่ตลาดโลก สร้างผลงานเขียนบทภาพยนตร์สู่ตลาดโลก เนื่องจากว่าประเทศไทยเราเอง ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มีจุดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากที่สุดก็คือการทำบทภาพยนตร์
จะเห็นว่าในวงการภาพยนตร์ไทย ในการเขียนบทภาพยนตร์จะมีคนเก่งอยู่บ้าง แต่จำนวนปริมาณยังไม่พอ อย่างที่เราได้เห็นในภาพรวมของหนังไทย มีคนเก่งไม่มากพอที่จะทำให้ภาพรวมของหนังไทยเราดูดี ดูพัฒนาได้ ก็เลยต้องพัฒนาคนเขียนบทที่มีอยู่แล้วให้มีศักยภาพมากขึ้น
"พัฒนาทักษะ พัฒนามุมมองพัฒนาวิธีการคิดให้ดีขึ้น ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นโลกถูกเชื่อมเข้าหากัน เรามีโอกาสแล้วที่จะนำเสนอคอนเทนท์ หรือนำเสนอผลงานภาพยนตร์ ที่เล่าถึงวัฒนธรรมของไทยเรา ไปสู่ให้ชาวโลกได้ดูได้..
คือชาวโลกพร้อมจะดูผลงานของเราแล้ว เหลือแค่ว่าเราต้องทำผลงานให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนดูทั่วโลก แล้วก็เป็นที่สนใจด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องพัฒนาให้เร็วที่สุด เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อให้พวกเขาได้มีผลงานดี ๆ ให้ออกมาครับ”
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่พวกเราสอนการทำภาพยนตร์อยู่แล้ว มักได้ยินเสียงบ่นตลอดเวลาว่า วงการหนังไทยไม่ไปไหนสักที ถกกันไปถกกันมากับอาจารย์อุ๋ย (ผศ.ดร.ปรีชา สาคร) จึงตั้งคำถามว่าตกลงปัญหาภาพยนตร์ไทยอยู่ตรงไหน ถ้าอยากจะแก้ปัญหา ฉะนั้นการแก้ปัญหาจะแก้ด้วยความต้องการไม่ได้ ต้องผ่าน กระบวนการวิจัย เมื่อเป็นวิจัย เราต้องมีทุนวิจัย
จึงขอทุนวิจัยจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะผ่าน บพค. ถือว่าเป็นกองกำลังหนุนที่ดีมาก เพราะเมื่อตั้งคำถามว่าถ้าอยากจะแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทุกคนพูดชี้มาที่เป้าเดียวกันหมดเลย ก็คือบทภาพยนตร์มันไม่ดี การที่มีบทไม่ดี ทำให้หนังไม่ดี บทนี่ทำให้โปรดักชั่นกาก ไปไหนต่อไหนได้ แปลว่าเราต้องตั้งลำให้ดี ว่าข้อมูลที่จะต้องเป็นจริง ต้องเริ่มจากวิจัย
จริง ๆ เมื่อวิจัย มันนำพาจนมาถึงวันนี้ เราจะแก้ปัญหาที่บทภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ให้คนที่จะมาแก้ปัญหาให้เรา ก็ไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นคนในวงการหนัง เราจะเวิร์คช็อปบทภาพยนตร์ มันไม่ง่าย จึงตั้งชื่อโครงการแบบเท่ๆ ว่าเข็นบทขึ้นภูเขา เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ถ้าเมื่อไหร่ บทมันถึง บทยอดดี มันจะขายได้ งานวิจัยมันจะกินได้ มันจะทำให้เกิด การพัฒนาจริง นี่คือที่ไปที่มา
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ร่วมอบรมหนึ่งใน 30 คน จากผู้ถูกคัดเลือกจากไอเดียทั่วประเทศกว่าร้อยราย รู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสที่ดีมาก ๆ ได้มีโอกาสมาฟังบรรยายของปรัชญา ปิ่นแก้ว สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเขียนบทได้ บรรยากาศการอบรมก็สนุกดี บางอย่างเป็นความรู้ที่ยังไม่รู้มาก่อน เป็นความรู้ใหม่ที่คุ้มค่ากับเวลามาก