‘อนุชา-จิดานันท์-อิศร์’ ได้เป็น ‘ศิลปาธร’ ปี 66
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (ศสร.) จัดงานประกาศรางวัล 'ศิลปาธร' ปี 66 เพื่อยกย่องศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลาง จำนวน 7 สาขา 7 ศิลปิน
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานประกาศรายชื่อ ผู้ได้รับรางวัล ศิลปาธร ประจำปี 2566 จำนวน 7 สาขา 7 ศิลปิน วันที่ 25 กันยายน 2566 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ
โดยมี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานแถลงข่าว กล่าวว่า รางวัลศิลปาธร มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง เชิดชูเกียรติ ศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลาง
"ที่ได้ทุ่มเทพลัง ความคิด สติปัญญา และจิตใจ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัย ผลงานได้เผยแพร่ในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี 2547-2565 ปรากฏรายพระนามและรายชื่อศิลปินร่วมสมัยรางวัลศิลปาธร 1 พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก 101 รายชื่อ
ในปี พ.ศ. 2566 สศร. ได้มอบรางวัล ศิลปาธร ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่น จำนวน 7 สาขา ดังนี้
1 สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ ตะวัน วัตุยา
2 สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ อรรถพร คบคงสันติ
3 สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
4 สาขาดนตรี ได้แก่ ดำริห์ บรรณวิทยกิจ
5 สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ มณฑาทิพย์ สุขโสภา
6 สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ อิศร์ อุปอินทร์
7 สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ อนุชา บุญยวรรธนะ
คำว่า ศิลปาธร หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ หรือผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ
รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินศิลปาธร ประกอบด้วยเข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท
เพื่อส่งเสริมผลักดันให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าต่อไป
ศิลปินศิลปาธร เป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดผลงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม
หลังจากนี้ สศร. จะจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติและกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ของศิลปินศิลปาธรต่อไป