หาคำตอบ 'พระเพทราชา' ใช้ดาบฟันจมูกเจ้าพระยาโกษาธิบดีจนแหว่งเพราะเหตุใด
หาคำตอบเพราะเหตุใด 'พระเพทราชา' จึงได้มีการใช้ดาบฟันจมูกเจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน อีกฉากหนึ่งที่ถูกพูดถึงใน 'ละครพรหมลิขิต' EP 2 ที่ออกอากาศทางช่อง 3 HD เมื่อคืนที่ผ่านมา
เพราะเหตุใด 'พระเพทราชา' จึงได้มีการใช้ดาบฟันจมูกเจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน อีกฉากหนึ่งที่ถูกพูดถึงใน 'ละครพรหมลิขิต' EP 2 ที่ออกอากาศทางช่อง 3 HD เมื่อคืนที่ผ่านมา (20 ต.ค.2566) ซึ่งเราจะไปหาคำตอบกันว่าเกิดความขัดแย้งอะไรระหว่างทั้งคู่
'พระเพทราชา' รับบทโดย บิ๊ก ศรุต วิจิตรานนท์ หนึ่งในตัวละครที่มีประวัติสำคัญในสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ หรือ พระทรงธรรม์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 28 แห่งอาณาจักรอยุธยาและทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง แย่งชิงราชบัลลังก์จาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์พระองค์ก่อน และเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา
ประวัติ 'พระเพทราชา'
สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมสามัญชน ชื่อว่า ทองคำ เป็นชาวบ้านพลูหลวง (หรือบ้านโพธิ์หลวง) แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งจางวาง กรมพระคชบาล (ขวา) มีราชทินนามว่า พระเพทราชาธิบดี ศรีสุริยาภิชาติสุริยวงศ์ องค์สมุหพระคชบาล ศักดินา 5,000 มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน
สมเด็จพระเพทราชา ได้ราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงและอยู่ในราชสมบัตินาน 15 ปี เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ 51 พรรษา
ส่วนพระราชกรณียกิจทางการเมืองที่สำคัญมากน่าจะมี 3 กรณี อย่างแรกเป็นกรณีสำคัญก่อนได้ราชสมบัติ ครั้งยังเป็นพระเพทราชา จางวางกรมช้าง หรือเจ้ากรมช้างในฐานะรักษาการสมุหกลาโหม กับอีก 2 กรณีหลัง คือ การปราบกบฏธรรมเถียรและยุติการต่อต้านของสองเมืองใหญ่ คือ นครราชสีมากับนครศรีธรรมราช ส่วนกรณีสุดท้ายคือกรณีขับไล่กองทหารฝรั่งเศสจากป้อมบางกอกให้พ้นจากสยาม
เรื่องเล่าระหว่าง 'พระเพทราชา' กับ พระยาโกษาธิบดี
จากประวัติศาสตร์เล่าว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน ซึ่งเคยเป็นราชทูตฝรั่งเศสรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ และออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส แต่ในรัชกาล 'สมเด็จพระเพทราชา' นั้นกลับไม่ทรงโปรด เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เหมือนเช่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ขณะที่ พระเพทราชา ต้องตามกวาดล้างศัตรูมากมาย ตั้งแต่กบฏที่มีผู้นำอ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ กบฏที่เมืองโคราชและนครศรีธรรมราช การปราบปรามกบฏเหล่านั้นไม่ปรากฏชื่อของ เจ้าพระยาโกษาธิบดีว่ามีบทบาทใดๆอีกประหนึ่งไม่ได้รับราชการอีกต่อไปแล้ว
เป็นไปได้ว่าพระเพทราชาไม่โปรด เจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปานนักเพราะท่านเคยเป็นคนโปรดมากกว่าพระองค์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ยังครองราชสมบัติอยู่ กระนั้นโกษาปานยังมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมากเสียจนพระเพทราชาในฐานะพระเจ้าแผ่นดินเองก็ทรงมีจิตริษยาอยู่อย่างเงียบๆ ถึงขนาดเกรงว่า โกษาปาน อาจจะชิงราชสมบัติของพระองค์
เมื่อ พ.ศ. 2239 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง แผ่นดินสยามเผชิญภัยพิบัติต่างๆประกอบกับข่าวลือว่า ฝรั่งเศสจะหวนกลับมาทำสงครามกับอยุธยาอีก ทำให้ สมเด็จพระเพทราชา ทรงกริ้วอยู่เป็นนิตย์ และมักจะลงพระราชอาญาขุนนางน้อยใหญ่ แม้ไม่มีเหตุอันควรก็ตาม หนึ่งในคนที่ต้องพระราชอาญาอย่างหนักไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพระยาพระคลัง หรือโกษาปานนั่นเอง
หลักฐานฝรั่งเศสเล่าว่า พระเพทราชาทรงกริ้วโกษาปานด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ แต่รุนแรงถึงขั้น “ฉวยพระแสงฟันถูกจมูกโกษาปาน” เป็นเหตุให้ปลายจมูกโกษาปานแหว่ง หลังเหตุการณ์นั้น โกษาปานยังถูกจับขัง ถูกโบย ถูกยึดทรัพย์สมบัติทั้งปวง บุตรสาว-บุตรชาย อนุภรรยาล้วนถูกจับขังด้วย
ว่ากันว่า โกษาปานตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ใน พ.ศ. 2243 เพียง 3 ปี ก่อนการสวรรคตของ สมเด็จพระเพทราชา อย่างไรก็ตาม ก็มีการลือกันว่า โกษาปานแทงตัวเองตาย ถูกโบยด้วยเชือกจนตาย หรือถูกหมอจีนวางยาเบื่อให้ตาย ส่วนศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ถูกนำไปฝังไว้ที่วัดใกล้เคียงบ้านในเวลากลางคืนอย่างเงียบๆโดยไม่มีพิธีรีตองใดผิดกับงานศพเสนาบดีผู้ใหญ่ที่มักจัดให้สมเกียรติ ปรากฏใน จดหมายของบาทหลวงโบรลต์ เขียนไปส่งยังกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1700 (ปี พ.ศ. 2243)
ภาพและข้อมูลประกอบจาก wikipedia , ศิลปวัฒนธรรม , ช่อง 3