หลากมุมมองต่อปรากฎการณ์ ‘สัปเหร่อ’ และ Soft Power ไทย

หลากมุมมองต่อปรากฎการณ์ ‘สัปเหร่อ’ และ Soft Power ไทย

แอบส่องความคิดเห็นคนหลากวงการถึงมุมมองที่มีต่อกระแสคนแห่ชมภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ กันจนล้นโรง ทำรายได้ทะลุ 400 ล้านบาททั่วประเทศ รวมไปถึงเรื่องที่รัฐบาลประกาศส่งเสริมเป็น ‘ซอฟท์พาวเวอร์ไทย’

เป็น talk of the town ที่มาแรงที่สุด ณ ขณะนี้ สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ที่ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ต.ค.) ทำรายได้ทะลุ 400 ล้านบาททั่วประเทศ หลังเข้าฉายได้ 18 วัน ขึ้นแท่นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 8 ปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความร้อนแรงระดับปรากฎการณ์ของ ‘สัปเหร่อ’ ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรีเข้าชม พร้อมประกาศสนับสนุนเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ออกสู่สากล เพราะเล็งเห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่อง ตัวละคร วิถีชาวบ้านแบบอีสาน โดยเฉพาะประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับงานศพ

 

หลากมุมมองต่อปรากฎการณ์ ‘สัปเหร่อ’ และ Soft Power ไทย

 

แต่เพื่อให้ได้มุมมองที่รอบด้านมากขึ้น เราจะพาคุณไปรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลในหลากหลายวงการที่มีต่อภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ผ่านแง่มุมด้านวิชาชีพของพวกเขา

เริ่มจากการชื่นชมว่าใช้ทุนสร้างเพียง 10 ล้านบาทแต่สามารถทำรายได้กินขาดหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ด พร้อมสำทับว่าหนังดีไม่จำเป็นต้องมีฉากแอคชั่นอลังการ ไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาลไปกับการทำซีจีก็ได้ หากเขียนบทดี ตรึงคนดูเอาไว้ได้จริง ๆ

สำหรับเรื่องนี้ คุณ JEDIYUTH คอลัมนิสต์ด้านภาพยนตร์ชื่อดังให้ความเห็นเอาไว้ว่าอยากให้ระมัดระวังในการนำเสนอประเด็นนี้ เพราะอาจกลายเป็นดาบสองคมให้เกิดการกดทุนสร้างหนังไทย (ที่ปัจจุบันก็น้อยอยู่แล้ว) โดยหยิบเอา #สัปเหร่อ มาเป็นข้ออ้างว่าแค่สิบล้านก็พอ ทีมไทบ้านยังทำได้เลย

ขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตเข้ามาเสริมว่า ถ้าเลือกได้ ผู้สร้างหนังสัปเหร่อก็น่าจะอยากได้ทุนสร้างมากกว่านี้ พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าอยากให้ ‘ปรากฎการณ์ความสำเร็จของสัปเหร่อ’ ช่วยยกระดับวงการหนังไทยมากกว่ากลายเป็นกระแสวูบวาบแบบไฟไหม้ฟาง

 

Soft Power ต้องสนับสนุนตั้งแต่ต้นไม่ใช่มาตอนดังแล้ว

ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ‘สัปเหร่อ’ เป็น Soft Power ของไทยนั้น โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต สส. จังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ สัปเหร่อ ทั้งยังเป็นนายทุนผู้สนับสนุนการทำหนังในจักรวาลไทบ้านมาตั้งแต่ต้น เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ‘ไทบ้าน’ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลยสักบาทเดียว

แต่ภาครัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรม เคยพากลุ่มผู้กำกับ ผู้บริหารไทบ้านไปเจอนายทุนจีนในช่วงที่หนังเรื่อง Thailand Only โด่งดังในประเทศจีนเป็นอย่างมาก ทางกระทรวงฯ จึงมองว่าอาจมีกลุ่มนายทุนที่สนับสนุนคนทำหนังไทยไปขายในจีน แต่ปรากฏว่าหาไม่ได้ ซึ่งพอไม่ได้ทุนจากทางจีน รัฐบาลไทยก็ไม่มีงบให้ไทบ้านแต่อย่างใด

โต้ง-สิริพงศ์ ปิดท้ายว่าบ้านเรายังไม่มีหนังไทยที่สร้าง Soft Power ได้สำเร็จเป็นรูปธรรม และยั่งยืนอย่างแท้จริงตราบใดที่ศิลปวัฒนธรรมประชาชนไม่ถูกยกย่องส่งเสริม แถมยังถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะกองเซนเซอร์ที่กรองสาระจนหนังบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน

รัฐไม่เคยมีส่วนร่วมในการลงทุน และผลักดันอย่างแท้จริงจนมันเป็นความสำเร็จร่วมจากภาครัฐสู่ประชาชน แค่รอวันสำเร็จแล้วค่อยไปถ่ายรูปคู่ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นกันมาตลอด

หนังไม่เป็นกระแส หนังไม่ดัง ไม่มีเงินโปรโมทตัวเองก็ไม่มีวันไปต่อได้ไกล เพราะคำว่า ‘ซอฟท์พาวเวอร์ไทย’ มีไว้ claim เวลาที่หนังประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น

 

หลากมุมมองต่อปรากฎการณ์ ‘สัปเหร่อ’ และ Soft Power ไทย หลากมุมมองต่อปรากฎการณ์ ‘สัปเหร่อ’ และ Soft Power ไทย