‘รอมแพง’ ตอบคำถาม ‘พรหมลิขิต’ ภาค 3 มีแน่ แต่...
การพูดคุยถึงที่มาที่ไปของละคร ‘พรหมลิขิต’ การทำงาน และแก่นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ส่งต่อใจความหลักสู่ผู้อ่าน ผู้ชม และคำถามสำคัญ ‘ภาคสาม’ จะมีหรือไม่
จากนวนิยายที่โด่งดังสู่ละครที่สร้างปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ แต่งชุดไทยกันทั่วบ้านทั่วเมือง หอสมุดแห่งชาติจึงจัดเสวนาหัวข้อ จากบุพเพสันนิวาสสู่ พรหมลิขิต พลังแห่งวรรณกรรมสู่ซอฟต์พาวเวอร์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
ภายในงานมีการบรรยายและสาธิตเครื่องแต่งกายโดย วัชรพงศ์ ปานเสนชุติพันธุ์ เจ้าของบ้านเครื่องครูรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องแต่งกายโขนละคร ลิเกทรงเครื่อง หุ่นกระบอกไทย และการสาธิตทำขนมไทยโดย อารยา ขวัญเมือง ศิษย์เก่าจากวิทยาลัยในวังหญิง
เนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า จัดงานนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน
"ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาไทยให้เกิดการพัฒนาต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรม และเพื่อสร้างสรรค์สังคมรักการอ่าน กระตุ้นให้เกิดการอ่านวรรณกรรมไทยมากขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างขึ้นในสังคมไทย
"ประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน เป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์ ผสมผสานกับจินตนาการล้ำลึก ละครสองเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเพราะเนื้อหาวรรณกรรมที่ดี สร้างความสุขให้กับคนดู
จุดประกายให้คนอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมได้จัดงานเที่ยววัดไชยวัฒนารามยามราตรี ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เปิดให้ชมถึงสี่ทุ่ม เสียเงินคนละสิบบาท ก็ได้รับความสุข"
Cr. Kanok Shokjaratkul
8 คำถามที่หลายคนอยากรู้
1.ภาคสองปราบเซียน เกร็งหรือไม่กับการเขียนภาคสองให้ดังเท่าภาคแรก
จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ รอมแพง ผู้เขียนเรื่อง บุพเพสันนิวาส (ล่าสุด พิมพ์ครั้งที่ 99) และ พรหมลิขิต (พิมพ์ครั้งที่ 6) กล่าวว่า
"ตอนเขียนภาคสอง ไม่เกร็ง แต่รู้สึกกดดันนิดหนึ่ง เพราะคุณแม่ไม่สบาย เขียนให้มันแตกต่างจากบุพเพสันนิวาส ด้วย theme มันมีความแตกต่างอยู่ แต่ก็ยังเป็นโรแมนติกคอเมดี้เหมือนเดิม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
2. แนวเรื่องภาคสองทำไมไม่เหมือนภาคแรก ภาคแรกเน้นประวัติศาสตร์มากกว่า
"ภาคแรกเน้นประวัติศาสตร์ เพราะช่วงนั้นประวัติศาสตร์ค่อนข้างเข้มข้น เลยมีประวัติศาสตร์อยู่ในเหตุการณ์ในนิยายเยอะ
เรื่องพรหมลิขิต ใช้ไทม์ไลน์ที่ห่างจากสมเด็จพระนารายณ์สิ้นพระชนม์ไปถึง 20 ปี เป็นช่วงที่พระเอกอายุ 20 ปี อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เหมาะสมที่จะแต่งงานกับนางเอก
พอ 20 ปีถัดมาป็นช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระพอดี ก็เลยใช้ประวัติศาสตร์เป็นไทม์ไลน์แล้วเขียนแทรกนิยายในจินตนาการเข้าไป
เราเองก็อยากจะรู้ ในรุ่นลูกของเกศสุรางค์กับพ่อเดช ว่าจะเป็นยังไงต่อ อีกส่วนหนึ่งเราคิดว่าในบุพเพสันนิวาส พูดถึงชนชั้นขุนนางซะเป็นส่วนใหญ่
พอมา พรหมลิขิต เราอยากใช้ชนชั้นไพร่ ชนชั้นทาส นำเสนอบ้าง แต่ถ้าเอาความเป็นจริงมันจะดราม่ามาก ด้วยความที่เป็นโรแมนติกคอเมดี้ ก็เลยเป็นพรหมลิขิตอย่างที่เห็น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
3. ในเรื่องของประวัติศาสตร์ มีคำกล่าวว่า 'ต่อให้เป็นเอกสารก็ต้องตีความ' มีความคิดเห็นอย่างไร
"ในนิยายเราย้ำเรื่องนี้สามรอบได้ ทั้งพระเอกนางเอกพูดกัน พ่อกับแม่พูดกัน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ขนาดคนที่อยู่ในยุคนั้นจริง ๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่าความจริงคืออะไร
เพราะฉะนั้น การที่ผ่านไปหลายร้อยปี จะรู้ความจริงได้อย่างไร ก็ได้แต่สันนิษฐานเอา ได้แต่อ่านเอาจากคนในยุคนั้น ซึ่งคนในยุคนั้น แต่ละคนก็มีอคติของเขา
ใช้ความคิดความอ่านมุมมองของเขาที่มองไปในเรื่องราวต่าง ๆ ในการเขียนบันทึก ก็จะมีบันทึกที่หลากหลาย พอผ่านมา 300 กว่าปี เรามาได้อ่านความคิดเหล่านั้น เราจะตีความว่าอย่างไร"
Cr. Kanok Shokjaratkul
4. การเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ของ รอมแพง ใช้วิธีการไหน
"โดยส่วนใหญ่แล้วจะอิงหลักฐานชั้นต้น คือ หลักฐานที่เขียนในสมัยนั้น โดยคนในสมัยนั้น ซึ่งมุมมองของเขาอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็เกิดอยู่ในยุคสมัยนั้น และอยู่ร่วมเหตุการณ์
ยกเว้นว่าหลักฐานชั้นต้นอันไหนที่เรารู้สึกว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านั้น ก็จะใช้ช่องว่างที่หลักฐานไม่ได้บอกไว้ เขียนไป แล้วก็อิงหลักฐานชั้นรองลงมา
อย่างหลักฐานที่ชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีเหมือนกัน เพื่อสร้างเรื่องราว ไม่ว่า มุขปาฐะ เล่ากันมา เพราะถ้าอ่านแล้วมีแต่อะไรที่มันเรียบ ๆ ไปตลอด มันก็จะรู้สึกเบื่อ
การที่เราจะเอาพระราชกำหนดปลาตะเพียนขึ้นมาเด่น ทั้งที่เป็นหลักฐานที่เพิ่งมีตอนชำระในยุคต้นรัตนโกสินทร์ มันก็น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง ดึงให้คนสนใจ
เป็นพระราชบัญญัติที่น่าจะไม่มีจริง แต่ดึงมาใช้เพราะสามารถทำให้ตัวของพุดตานไปยุ่งเกี่ยวได้ด้วย เป็นมุกด้วย "ชั้นทำปลาตะเพียนขายแย่แล้ว จะไม่มีกำไรตรงนั้นแล้ว"
เพราะว่าวางคาแรคเตอร์ให้พุดตานค่อนข้างจะงกเงินนิดหนึ่ง ค่อนข้างทำมาหากิน เพราะว่าเขาไม่ได้มีอะไรรองรับ และเข้ามาอยู่ในครอบครัวนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วนกฎหมายลักษณะผัวเมีย อันนี้ตั้งใจ เพราะว่าประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมันค่อนข้างเรียบ ถ้าจะเอาให้ถึงชาวบ้านก็ต้องเรื่องผัวเมีย แล้วมันน่าดูด้วย ว่ายุคนั้นมันเป็นแบบไหน
พอเราคิดว่าจะเขียนเรื่องแบบนี้เราก็ไปที่ราชบัณฑิตเลยค่ะ ไปหากฎหมายตราสามดวง น่าสนใจมาก แล้วเปิดอ่านลักษณะโจรเป็นอย่างไรบ้าง
รวมไปถึงตำแหน่งของขุนนางในยุคสมัยนั้นว่าใช้ตำแหน่งอะไรบ้าง เราปูว่าให้พระเอกไปทางจีนตั้งแต่ตอนจบของบุพเพสันนิวาส ที่ตัวพ่อเดชยื่นกล่องหมึกจีนให้กับพ่อริด
มันคือการส่งต่อสัญลักษณ์ว่า นี่นะต่อไปเขาจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับจีนเยอะ และการค้าขายกับจีนก็จะเฟื่องฟูขึ้น
แล้วถ้าเกิดได้ยศ หรือว่าต้องไปเป็นราชทูตจะต้องชื่ออะไร ได้มาเป็นพระพิพัฒน์ราชศรี จริง ๆ มันเป็นภาษาจีนค่ะ ก็จะเป็นในลักษณะนี้คือหาชื่อคน หาชื่อขุนนาง ราชทินนามต่าง ๆ
Cr. ครอบครัวละคร 3
ในบุพเพสันนิวาสจะพูดถึงนางกุยไปล่มเรือตรงนั้นแล้วลิ้งค์มาที่พรหมลิขิตว่าแม่กิมหลานยายกุยก็อยู่ที่ตรงนั้น แล้วแม่กลิ่นคือใครทำไมถึงเกลียดพุดตาน
ตีมของบุพเพสันนิวาส คือความรักในอดีตชาติที่กลับมารักกันอีกครั้ง กี่ชาติ ๆ ก็รักกัน
แต่ในพรหมลิขิตเป็นอีกตีมหนึ่ง คือ เวรกรรม เรื่องของการชดใช้ พรหมลิขิตทำให้มาเจอกัน คนที่รักและคนที่ไม่รัก ต้องมาชดใช้กัน เป็นปมของเรื่องที่เกิดจากการศึกษาศาสนาพุทธ
จริง ๆ ก็คิดนะคะว่าจะเอามุมมองแบบเดิมหรือเปล่า แบบให้มารักกันแบบเดิม สนุกสนาน ไม่มีตัวร้าย ไปเรื่อย ๆ แต่ด้วยความที่บุพเพสันนิวาสเขาขึ้นหิ้งไปแล้ว
Cr. Kanok Shokjaratkul
ด้วยความเป็นนักเขียน เราไม่ชอบอะไรที่มันซ้ำซาก อยากลองพัฒนาตัวเอง อยากหาอะไรที่แปลกใหม่มาเสนอให้กับคนอ่านได้อ่านบ้าง
ถ้าเกิดคนดูละครแล้วได้อะไรที่มันแตกต่างจากบุพเพสันนิวาสไป ต่อให้มันจะดังหรือไม่ดังเท่าบุพเพสันนิวาส หรือว่าจะแป๊ก ก็ถือว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ
นางกุยคนละยุคสมัยแต่บังเอิญว่าชื่อคล้องกันเฉย ๆ แล้วมันบังเอิญหลาย ๆ อย่างด้วยที่ว่า วัดนางกุยจะมีศิลปะของล้านนาอยู่ด้วย
แล้วตัวอีแดงมาจากล้านนา มาเป็นบ่าวแม่หญิงจันทร์วาด ว่ายน้ำไม่แข็ง ก็เลยต้องตายตรงนั้น ถ้าเกิดคนดู ดูไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าดูไปจนจบก็จะทราบ เราจะวางไว้เป็นระยะ ๆ
เรื่องแม่กลิ่น ต้องชื่นชมคนเขียนบท ซึ่งคนเขียนนิยายกับคนเขียนบท เชื่อกันคนละแบบ มีการถกกัน แต่สุดท้ายก็แล้วแต่คนเขียนบท"
Cr. ครอบครัวละคร 3
5. มีการใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพด้วยในนวนิยายเรื่องนี้
ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ตอนที่เขียนก็คือเขียนผิดเป็นสัมพันธภาพ เราแก้ในอีบุ๊คแล้ว แต่ที่ตีพิมพ์ไปแล้วหลายหมื่นเล่มไม่ได้แก้
ผู้เขียนบทอ่านจากที่พิมพ์ไปแล้ว เราก็ลืมบอกเขาว่าต้องแก้ ก็เลยกลายเป็นดราม่าเล็ก ๆ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บแค้นเคืองโกรธอะไร ดีแล้วที่มีคนพูดถึง จะได้ไม่เข้าใจผิด ๆ เรารู้ว่าผิดแต่แก้ไม่ทันในฉบับแรก ๆ
ในเรื่องทอดกฐิน ไม่ได้พูดในเชิงทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ แต่พูดในเชิงมิติมันแยกกัน มันมีตั้ง 11 มิติ แล้วเวลาเราพูดไป พิมพ์ไป ในนิยาย เราคิดว่าจะทำให้คนอ่านคิดได้ว่า
เรื่องราวในพรหมลิขิตมันไม่ใช่เรื่องราวของมิติในปัจจุบัน แต่เป็นมิติหนึ่งของโลกคู่ขนาน มันก็สามารถคิดไปได้หลากหลาย แต่เราไม่ได้ตอบโดยตรง ๆ เราอยากให้คนอ่านไปหาเอง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
6. ในเรื่องของไทม์ไลน การะเกดกับพุดตาน ควรจะแก่กว่านี้ไหม
"มันจะต้องแบ่งเป็นยุคปัจจุบันกับยุคอดีต ยุคปัจจุบันไทม์ไลน์ค่อนข้างที่จะตรง ตัวเกศสุรางค์ตายตอน พ.ศ. 2552 ตอนนั้นพุดตานอายุ 2-3 ขวบ
ตัวเกศสุรางค์ตายแล้วไปอยู่ในร่างของแม่หญิงการะเกด 300 ปี ย้อนหลัง มาเกิดใหม่ในอดีต แล้วเขาจะจำอะไรของเขาได้ เพราะตายปุ๊บเกิดปั้บเลย
ส่วนพุดตาน ตัวการะเกดอยู่ในนรก ยมทูตดึงไป แล้วเกศสุรางค์ทำบุญไปให้โดยวิธีบวช บวชแล้วรู้อะไรที่มันอจินไตย ที่พิสูจน์ไม่ได้ เขาก็อุทิศส่วนกุศลให้การะเกด นอกจากนั้นก็มีเทวดาคอยช่วยเหลือการะเกด
Cr. Kanok Shokjaratkul
พอพุดตานตัวจริงอายุ 8 ขวบเสียชีวิต แต่เขาได้รับประคำจากพระริด ของวิเศษคอยคุ้มครองร่างแต่ไม่ได้คุ้มครองถึงจิตวิญญาณหรือการทำงานของสมอง
พอการะเกดมาอยู่ในร่างของพุดตานก็จำใครไม่ได้เลย จำอดีตชาติของตัวเองไม่ได้ด้วย แล้วก็โตมาจน 22 ปี จบปริญญาตรี ก็มาเจอมนต์กฤษณะกาลี แล้วก็ย้อนไปอดีต
ซึ่งการย้อนมีการสคริปต์ไทม์ ไม่จำเป็นต้องตรงเป๊ะกับเวลาในอดีต เวลาในอดีตผ่านไป 20 ปี แต่เวลาในปัจจุบันมันสคริปต์ทำให้พุดตานที่อายุ 20 ไปเจอกับพ่อริดที่อายุ 20 ทั้งที่จริง ๆ น่าจะไปเจอกับพ่อริดที่อายุมากกว่า และพุดตานอาจจะอายุมากกว่า
มันซ้อนกันเลยเข้าใจยาก คือเราสามารถย้อนไปอยู่ในยุคไหนก็ได้ แต่มนต์กฤษณะกาลีทำให้มาเจอกันเพื่อชดใช้กัน ด้วยการที่เป็นละคร การตีความของละครก็จะทำให้ฉูดฉาดขึ้นจากนิยายอีกหลายเท่าตัว"
Cr. ครอบครัวละคร 3
7. แก่นเรื่องหลัก สิ่งที่ต้องการนำเสนอในนวนิยายสองเรื่องนี้คืออะไร
"เรื่องบางเรื่องให้ยึดในจิตวิญญาณข้างในมากกว่าเปลือกข้างนอก นี่คือตีมหลักที่ยึดไว้ตั้งแต่ตอนที่เขียนบุพเพสันนิวาสมาถึงพรหมลิขิต เพราะฉะนั้นการที่ตัวละครหน้าเหมือนกันมันก็จะไม่แปลก เพราะข้างในเขา ไม่ใช่ คือมองคนให้มองข้างในอย่ามองแค่เปลือก"
8. จะมีภาคสามต่อไหม
"จริง ๆ ในเรื่องของแฝด มันมาจากเรื่องของอดีตชาติด้วย เขาก็จะมี DNA อะไรของเขาสืบกันมาเพราะมนต์กฤษณะกาลีก็ตกทอดมาจากยุคสมัยนั้น แล้วก็ไม่มีการเอาแฝดไปทำภาคสาม ตอนจบอาจจะมีคนบอกว่า รอมแพงใจร้าย ต้องไปอ่านนิยายเอาเอง
ภาคสามมีค่ะ แต่น่าจะทำละครได้ยาก เพราะมันจะเป็นเรื่องราวของ 6 ภพ 6 ชาติ และใช้ชื่อว่า ภพชาติ มันจะไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ไทยแล้ว มันจะมีประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลางด้วย
Cr. ครอบครัวละคร 3
ซึ่งก็จะยิ่งย้ำชัดว่าทำไมเขาถึงต้องผูกกรรมเวรกันมา ทำเป็นละครยากมาก ถ้าจะขาย ต้องบอกว่า ฮอลลีวูดต้องเข้าแล้ว คงยากมากค่ะ
และมีความตั้งใจว่า เขียนเสร็จแล้วจะขายเป็นนิยายเท่านั้นและจะเอาไว้แจกงานศพตัวเอง ถ้าไม่ตายซะก่อน ก็คงเขียนจบและทำได้ตามที่คิดไว้
เรื่องราวจะโน้มมาทางด้านศาสนา การเวียนว่ายตายเกิดและเวรกรรม คือค่อย ๆ โน้ม เอาลูกกวาด เอาคำหวานมาล่อ เอาประวัติศาสตร์มาใช้ ภาคสามก็มีประวัติศาสตร์ทางยุโรป มีตำนาน
ฝากละครพรหมลิขิตด้วยนะคะ ตอนนี้อาจจะขัดใจแม่กลิ่นทำไมร้ายแบบไม่มีเหตุผล จริง ๆ มันมีเหตุผลรองรับทั้งหมดแต่ไม่ใช่ในชาตินี้นะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทางละครเขาจะขมวดปมหรือว่าขยายปมยังไง
เป็นเรื่องของละคร ซึ่งคนเขียนนิยายไม่สามารถไปก้าวก่ายได้ ต้องให้เกียรติเขาในการทำงาน รวมทั้ง ผู้จัด ช่อง คิดมาอย่างละเอียดแล้วว่าทำไมถึงต้องวางแบบนี้และจะไปสู่จุดไหน
เพราะฉะนั้นอยากให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้จัด ขอให้ติดตามชมพรหมลิขิต และลุ้นว่าจะคลายปม จะคลี่ปมยังไง เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อไป
แต่ถ้ารู้สึกว่าอยากรู้เรื่องก่อน ก็สามารถไปซื้อนิยายมาอ่านได้ ในอีบุ๊คก็มีค่ะ สามารถอ่านในแทปเล็ตได้ค่ะ ก็จะสะดวกไม่ต้องหิ้วไปหิ้วมา"