ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

ส่องวิสัยทัศน์รัฐบาลและภาคเอกชนเกาหลีใต้ในการส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ของตัวเองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีสฝรั่งเศส ทั้งการดึง ‘จิน บีทีเอส’ มาเป็นตัวแทนวิ่งคบเพลิง ผลิตแท่งไฟเชียร์ Team Korea และออกแบบชุดนักกีฬาอย่างมีสไตล์ ไม่แก่ ไม่เชย

กระแสชุดประจำชาติที่นักกีฬาแต่ละประเทศจะสวมในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันมหกรรมโอลิมปิก 2024 ณ ดินแดนแฟชั่น กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำลังร้อนแรง วันนี้เลยขอหยิบยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถนำ Soft Power ที่ตัวเองมีอยู่มาใช้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพถึงขีดสุดมาเล่าสู่กันฟัง

เหตุที่ต้องเป็นประเทศนี้ก็เพราะนอกจากเกาหลีใต้จะไม่ได้ตกเทรนด์ออกแบบชุดที่ดูเก๋ไก๋ทันสมัยให้นักกีฬาของตัวเองใส่แล้ว ยังเดินเกมรุกแซงหน้าชาติอื่นด้วยการ “สร้างการรับรู้” ให้ประเทศของตัวเองได้เป็นข่าวพาดหัวขึ้นหน้า 1 ไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อนเปิดการแข่งขัน ด้วยการส่ง ‘จิน บีทีเอส’ ไปเป็นหนึ่งในผู้ถือคบเพลิงโอลิมปิก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

วงบีทีเอส และดนตรี K-Pop คือ Soft Power ที่ทรงพลังระดับโลก รัฐบาลเกาหลีใต้ตระหนักถึงเรื่องนี้ดีจึงได้เตรียมการ “วางแผนล่วงหน้า” ว่าจะให้ ‘คิมซอกจิน’ พี่ใหญ่วงบีทีเอส (BTS) รับหน้าที่วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกในนามตัวแทนประเทศ หลังจากที่เขาเพิ่งพ้นกำหนดจากการเป็นทหารรับใช้ชาติมาได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น

 

เท่านั้นไม่พอ บริษัท HYBE ต้นสังกัดของวงบีทีเอส ยังให้ความร่วมมือกับทางการด้วยการผลิตแท่งไฟสำหรับเชียร์กีฬาโอลิมปิกออกมาแจกฟรีเป็นจำนวนมากถึง 5,000 แท่ง โดยทางบริษัทนำเอาเทคโนโลยีที่ตัวเองมีอยู่แล้วในการทำแท่งไฟของศิลปินออกขายมาใช้

 

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

 

นอกจากนี้ยังมีการผลิตคอนเทนต์สำหรับเชียร์กีฬา โดยจะดึงเอาศิลปินในค่าย HYBE ที่มีฐานแฟน ๆ หนาแน่นทั้งในบ้าน และนอกบ้านมาร่วมคอลแลป โดยคอนเทนต์เหล่านี้จะฉายอยู่ใน Korea House ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในโซนจัดงานโอลิมปิก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี ร่วมถึงผลิตสินค้า Team Korea ออกมาขายด้วย

 

เรียกได้ว่าเป็นการนำวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตวง K-Pop มาปรับใช้กับการเชียร์กีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกได้อย่างเหมาะสมลงตัวที่สุด

 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า HYBE ได้ลงนามใน MOU ร่วมกับคณะกรรมการกีฬาเกาหลีใต้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเชียร์ และประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมเกาหลีในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก ให้กับคนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้รับรู้

 

ในส่วนของชุดนักกีฬาโอลิมปิกนั้นเป็นผลงานการออกแบบตัดเย็บของ Musinsa Standard แบรนด์ casual wear ท้องถิ่นที่เลือกสีฟ้ามาใช้เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสงบ ทั้งยังเป็นตัวแทนของโลกตะวันออก และสะท้อนจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาว

 

เสื้อคลุมและกางเกงใช้ผ้าวูลที่เหมาะกับหน้าร้อน ลายผ้าได้แรงบันดาลใจมาจากกระเบื้องเคลือบเกาหลี ส่วนดีเทลที่เก๋สุดคือเข็มขัดซึ่งเป็นการนำเข็มขัดจากชุดที่ใส่ในราชสำนักมาตีความใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

 

เสื้อยืดสีขาวตัวในทำจากเนื้อผ้าที่เย็น ระบายอากาศได้ดี ส่วนรองเท้าผ้าใบสีขาวออกแบบให้เหมือนรองเท้าวิ่ง นอกจากนี้ยังมีสร้อยคอพร้อมจี้ลายอักษรเกาหลี มีการติดคำว่า Team Korea ลงไปด้านในเสื้อเบลเซอร์ เสื้อยืด กางเกง และส้นรองเท้าด้วย

 

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

ส่องกลยุทธ์เกาหลีใต้ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในกีฬาโอลิมปิก 2024

 

สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เล็งเห็นว่าโอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเพียงแค่ 4 ปีครั้ง มียอดผู้ชมการถ่ายทอดสดหลักร้อยล้านคน ถือเป็นเวทีที่เหมาะสำหรับการเผยแพร่วัฒนธรรม และส่งออก Soft Power อย่างหาที่เปรียบไม่ได้อีกแล้ว