วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

เจาะใจ ‘โขม-ก้องเกียรติ’ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ ที่เจ้าตัวบอกว่า “ผมจะพาคุณเข้าสู่สงคราม”

‘Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง’ เป็นออริจินัลซีรีส์ไทยจาก Netflix เล่าเรื่องผ่าน ‘วันชัย’ หนุ่มต่างจังหวัดคนซื่อที่เข้ามาหาพี่ชายในเมืองกรุงแล้วจับพลัดจับผลูได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย พบเห็นด้านมืดในกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนสมญา เมืองฟ้าอมร

ผ่านมา 3 ปี ภาคแยกที่ชื่อ ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ ถูกทำออกมาเป็นภาพยนตร์ มีกำหนดสตรีมมิงพร้อมกันกว่า 190 ประเทศทั่วโลกในวันที่ 26 กันยายนที่จะถึงนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ จึงชวนคุณมา exclusive talk กับ ‘โขม-ก้องเกียรติ โขมสิริ’ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับและคนเขียนบทที่จะมาชำแหละให้ฟังอย่างละเอียดว่า แก่นของจักรวาล Bangkok Breaking คืออะไร

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

 

ทำไม ‘ภาคแยก’ ถึงทำเป็น ‘ภาพยนตร์’

ทาง Netflix มองว่าคอนเทนต์นี้ยังคงน่าสนใจอยู่ แต่อยากให้มีความเป็นแอ็กชั่นเต็มรูปแบบ ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้ทำเป็นภาคต่อ แต่เป็น ‘ภาคแยก’ แทน เพราะเราดึงโลกของ ‘วันชัย’ ออกมา ตัวละครนี้ไปเผชิญอันตรายต่าง ๆ นานา วันชัยคนดีคนเดิม ถ้าเขาไปเจอกับภยันตรายในเมืองหลวงที่มันเป็นด้านมืดแบบสุดโต่ง เขาจะแก้ปัญหาหรือรอดมาได้ยังไง

แล้วเราจะทำให้มันเป็นหนังแอ็กชั่นที่ลุ้น เร่งเร้าอะดรีนาลีนคนดู มันก็เลยเหมาะที่จะเป็นหนังแอ็กชั่นมากกว่า เช่นเดียวกับที่ภาคแรกก็เหมาะจะเป็นซีรีส์มากกว่า

แก่นของจักรวาล Bangkok Breaking

ตามชื่อเรื่อง ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ เลยครับ ความเป็นกรุงเทพฯ มันมีความย้อนแย้ง มีความซับซ้อน ทั้งมีความสวยงามติดอันดับโลก แต่ในบางมุมมันก็อันตราย

“กรุงเทพฯ...ชีวิตที่ลงตัว” ความย้อนแย้งก็คือคอนเซปต์ของคำนี้เลยว่า “ชีวิตที่ลงตัวเนี่ย ข้างในมันดิ้นรนน่าดูนะ” มันมีอีกหลายมุมที่มีดาร์กไซด์ของมัน จริง ๆ มันก็เป็นธรรมดาของเมืองหลวงทั่วโลกนั่นแหละ ไม่แน่ อีกหน่อยมันอาจจะมีขยายไปเมืองอื่นก็ได้ ไป Breaking ที่อื่นกันต่อไป

จักรวาลนี้พูดถึง ‘มุมมืดของเมืองหลวง’ แต่ตัวละคร ‘วันชัย’ มันคือคนซื่อ ถ้าได้ดูตัวอย่าง วันชัยคือ local hero เวลาเกิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่มันจะมีคนอยู่ไม่กี่ประเภท คนกลุ่มแรก วิ่งหนี คนกลุ่มหนึ่ง ถ่ายคลิป คนอีกกลุ่ม ร้องโวยวาย คนอีกกลุ่ม วิจารณ์ มีคนน้อยมากวิ่งเข้าไปช่วย วันชัยเป็นคนประเภทนั้น

การที่เขาวิ่งเข้าไปช่วยมันเป็นการหาเรื่องใส่ตัว ไม่มีใครในเมืองเขาทำกันหรอก เพียงแต่วันชัยมันยังเป็นคนแบบนี้อยู่ มันก็เลยเป็นที่มาของการเกิดเรื่องเกิดราวต่าง ๆ

สุดท้ายแล้ววันชัยก็ยังเป็นความหวังเล็ก ๆ ของสังคม อย่างที่เห็นในตัวอย่าง เมจิ (นำแสดงโดย มายด์ 4EVE) เป็นพยาบาล ถามวันชัยว่า “พี่จะอยากเป็นฮีโร่อะไรนักหนาวะ แล้วพี่ทำแบบนี้พี่ไม่กลัวเหรอ” สิ่งที่วันชัยตอบคือ “กลัวสิ แต่ถ้ามันช่วยคนอื่นได้ด้วยมันก็น่าจะดีกว่า” อันนี้คือ คอนเซปต์ของเรื่อง

เราอยู่ท่ามกลางอันตราย เราอยู่ท่ามกลางความซับซ้อน ฯลฯ แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นทำให้เรากลายเป็นสิ่งที่เราเกลียด เราก็ไม่ต่างอะไร แต่ถ้าเราเป็นคนที่ได้รับผลจากแรงกระแทกของมัน แต่ถ้าเราช่วยคนอื่นได้ด้วย มันก็น่าจะดีกว่า มันก็แค่นี้เอง

 

 

‘จดหมายเหตุ’ บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

Bangkok Breaking สำหรับผมมันเป็น ‘จดหมายเหตุ’ ที่บันทึกภาพรวมของสังคม จากซีรีส์มาสู่หนังมันใช้เวลา 3 ปี จริง ๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังมันเป็นผลพวงมาตั้งแต่ก่อนจะเป็นซีรีส์แล้วแหละ สิ่งที่เราเห็นมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ภาพที่เราคุ้นเคยคืออะไร การประท้วง นโยบายต่าง ๆ นานาที่เราก็เห็นอยู่ในข่าว

สำหรับผม กรุงเทพฯ ไม่ใช่เสาชิงช้า ไม่ใช่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ คือเรื่องราวแบบนี้ ไม่รู้หรอกว่านโยบายจะเปลี่ยนไปวันไหน รู้แต่ว่ามันเป็นเมืองเทพสร้าง แล้วมันก็ไม่ใจดีถ้าคุณไม่เป็นเทพ (หัวเราะ) แรงบันดาลใจในการเขียนบทมันก็มาจากสิ่งนี้ด้วย

วันดีคืนดีผมขับรถติดอยู่ตรงอโศก เราเห็นป้าย “กรุงเทพฯ ชีวิตที่ลงตัว” แล้วมองไปข้างล่าง รถติดเป็นแพ คนก็ยังลำบาก มันก็เลยเกิดคำถามว่า นี่มันลงตัวแล้วเหรอ มันย้อนแย้ง ก็เลยเอามาเป็นไอเดีย

 

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’ วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

 

สิ่งนี้นำมาสู่ฉาก ‘สลายม็อบ’ ใช่ไหม?

ใช่ครับ มันบวกกับการที่เราดีไซน์ฉากแอ็กชั่นกันมาเยอะ แล้วภาพม็อบ สิบปีมานี้ประเทศไทยผมเชื่อว่าเราอยู่กับภาพนี้ เราคุ้นตากับมันมาก เรารู้สึกว่ามันอันตรายยิ่งกว่าหนังแอ็กชั่นอีก ถ้าตัวละครต้องไปตกอยู่ในสถานการณ์นั้นมันจะเป็นยังไง มันก็เลยเกิดการดีไซน์ว่า เราจะทำฉากแอ็กชั่นในม็อบ ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นฝั่งไหน ใครถูกใครผิด ผมไม่ได้พูดประเด็นเหล่านั้น ผมแค่บอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราเป็นบุคคลที่ 3 ที่ไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้

เราจึงเปิดเรื่องด้วย 10 นาทีแรกของหนังที่เริ่มต้นขึ้นก็จะเห็นเลยว่า “ผมจะพาคุณเข้าสู่สงคราม” เพราะมันเหมือนสงครามเลยถ้าคุณอยู่ตรงกลางนั้น มันมั่วไปหมด ไม่รู้หรอกอะไรจะมาจากทิศทางไหน ระเบิดจะขึ้นตรงไหน มีแต่เสียงดัง

ความยากลำบากในการถ่ายทำฉากม็อบ

ใช้เวลาเตรียมการนานมาก ถ่ายทำกันอยู่ 2-3 อาทิตย์ คือ 2 อาทิตย์สำหรับการถ่ายทำที่มีคน 5-600 คน ถ้ารวมทีมงานด้วยก็เกือบพัน ถ่ายกันทุกวัน

ในขณะถ่ายทำเราเอาตู้คอนเทนเนอร์ 50-60 ตู้มาวางจริง มีการปะทะกันสองแนวรบจริง มีชาวบ้านร้องเรียนไปยังตำรวจจริง เพราะเค้าคิดว่ามีการประท้วงของจริง เราถ่ายทำกันในลานจอดรถแถวแฟชั่นไอร์แลนด์ ไม่ได้รบกวนใคร แต่มันมีทางยกระดับอยู่ด้านบน คนไม่รู้ขับผ่านแล้วมองลงไปอาจคิดว่าข้างล่างมีการประท้วงกันอยู่

การทำงานกับ Netflix มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง อย่างในฉากมีรถแอมบูแลนซ์เข้าไปช่วยคนซึ่งมันก็คือรถพยาบาลจริง ผู้ร่วมแสดงก็คือหน่วยปฏิบัติการจริง ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาก็เข้าชาร์จได้ทันที

มันค่อนข้างควบคุมลำบาก ลองนึกภาพดูนะฮะ การประท้วงเสียงมันดัง แค่สั่งคัตยังไม่รู้เรื่องเลย จึงต้องมีระบบเหมือนเราทำกองทัพ เช่น ระบบธง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการมองเห็น มันถึงต้องเตรียมงานวางแผนกันนานมาก แล้วเรื่องแบบนี้มัน sensitive ขนาดเราแจ้งตำรวจ แจ้งชาวบ้านไปหมดแล้ว แต่มันก็ต้องมีคนที่เพิ่งผ่านมาแล้วไม่รู้เค้าก็แจ้งไป ตำรวจเดี๋ยวก็วนมา ๆ ทุลักทุเลใช้ได้

 

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’ วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

 

แปลงโฉม ‘ดู๋ สัญญา’ จนไม่มีใครจำได้

แม้แต่ในกองก็ไม่มีใครจำได้ ตอนฟิตติ้ง พี่ดู๋เดินไปสวัสดีพี่พิง ลำพระเพลิง ที่คงคิดว่า ตาลุงคนนี้ ใครวะ (ฮา) แม้แต่เจ้าหน้าที่จาก film board ที่มานั่งดูการถ่ายทำก็ผ่านไปครึ่งวันแล้วถึงจำได้ว่า “นั่นดู๋สัญญาเหรอ” นั่นแสดงว่าเราทำสำเร็จ

ตัว “สิน” หรือ สายสิญจน์ คือนักฆ่า มือปืนผู้รับงานอาชญากรรมที่เคยติดคุกมาแล้ว และคิดจะแลนดิ้ง คาแรกเตอร์จึงมีความนิ่งเงียบ สุขุม พูดน้อยต่อยหนัก

ผมเป็นแฟนงานของพี่ดู๋ อย่าง ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด กับ ท้าฟ้าลิขิต มันคืองานแอ็กชั่นที่ไอเดียของเขาคือ เอาคนที่หน้าตาเหมือนจะไม่สู้คน แต่ข้างในสู้ยิบตามาเล่น สิ่งที่ผมเห็นจากสองเรื่องนั้นคือ เนื้อแท้ข้างในพี่ดู๋เขาเป็นอย่างงั้น ไม่ใช่ลุคพิธีกรเจาะใจอย่างที่คุณเห็นหรอก จริง ๆ เขามีอีกร่างข้างในที่เป็นคนทัฟ ๆ (tough) แต่เราแค่ชินกับร่างหนุ่มแว่น พิธีกรเจาะใจแค่นั้นเอง

เราเคยคุยกันเล่น ๆ ว่าเชื่อไหม ถ้าเรารักษาข้างในพี่ดู๋ไว้ได้โดยเราเปลี่ยนข้างนอกเขา เราจะได้ตัวละครชั้นดีตัวนึง มันเริ่มต้นจากตรงนี้ แล้วโดยส่วนตัวผมจะชอบแปลงร่างนักแสดงให้กลายเป็นตัวละครในเรื่อง

มุมที่ไม่มีใครเห็นของ ‘ดู๋ สัญญา’

ในส่วนของตัวพี่ดู๋เองบอกเขาว่าผมแปลก เพราะร้อยวันพันปีไม่เคยมีใครติดต่อให้เขารับบทแบบนี้ เอาจริง ๆ แล้วผมก็ลุ้น แต่ก็แอบนึกในใจว่าเขาจะชอบเพราะว่าเขาจะไม่เบื่อร่างตัวเองที่เป็นอยู่แบบนั้นมาตลอดเลยหรือไง แล้วผมตามไอจีแกเลยเห็นว่าไลฟ์สไตล์พี่ดู๋เขาเป็นคนทัฟมากนะ เขาขี่มอเตอร์ไซค์ ยิงปืน ต่อยมวย เราก็เลยคิดว่าพี่ดู๋น่าจะชอบ

ตอนดีลกันเขาก็ไม่ได้ตกปากรับคำเลยทีเดียวนะ เขาเช็คความตั้งใจของเราก่อน แต่เมื่อเขาตัดสินใจว่าอยากทำ มันท้าทายตัวเขา แล้วได้เอา hobby มาใช้ด้วย พี่เขาคุยเรื่องปืนกับผมทุกวัน เขามีดีเทล มีความรู้เรื่องปืนเยอะมาก เขาจริงจังมากแม้กระทั่งเรื่องท่ายิงปืน

พี่ดู๋บอกว่า ท่าของเขาคือท่าของคนได้รับการฝึกมา แต่สินไม่ใช่ ตัวละครตัวนี้ต้องจับปืนเหมือนเป็นอวัยวะอีกอันหนึ่ง ไม่ได้ใช้ท่าที่ถูกต้องตามหลักการ แต่มันหยิบแล้วไม่เคอะเขิน เขาก็จะมีวิธีการในการตีความตัวละคร

‘พิง ลำพระเพลิง’ แกนนำม็อบ

ที่ชวนพี่พิงมาเล่นเป็นทั้งเรื่องของความรู้จักกัน และคาแรกเตอร์เขาได้ ในเรื่องเขาเป็นผู้นำม็อบ จริง ๆ พี่พิงเป็นคนเล่นหนังดีนะ แต่คนชอบไปติดภาพเขาว่าจะให้มาตลก หรือไม่ก็ไปทางซึ้ง แต่คาแรกเตอร์เขาสตรองมากนะ

เขาเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่แข็งแกร่ง แล้วก็ถูกหลอกล่อด้วยการบอกว่า “พี่จะได้โชว์ซิกแพ็ก มีเพนท์บนซิกแพ็กพี่อย่างเท่ เปิดหนังมาเจอพี่เลย”

‘มายด์ 4EVE’ ดอกไม้ท่ามกลางความดิบ

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

ทั้งเรื่องเป็นหนังแอ็กชั่นที่มีแต่บุรุษเต็มไปหมดเลย มายด์คือดอกไม้ดอกเดียวของเรื่องที่คนดูจะได้ชุ่มชื่นหัวใจ แต่จะเอาเขามาทำสวยไปสวยมาก็ไม่เข้ากับเรื่อง แน่นอนเราต้องหาคนที่มีเคมีเห็นแล้วสบายตาสบายใจ คาแรกเตอร์มายด์เป็นแบบนั้นเลย ตัวจริงก็เป็นเด็ก ๆ น่ารัก สวยมาก ถ่ายเหลี่ยมไหนก็สวย

ตามเรื่องตัวละคร ‘เมจิ’ เป็นนางพยาบาลสาวที่จับพลัดจับผลู ติดสอยห้อยตามไปกับพวกเค้า เริ่มจากสวย ๆ อยู่วันเดียวแล้วมันจะยับเยินไปเรื่อย ๆ จนวันสุดท้ายตัวละครก็จะได้เรียนรู้ว่าการเป็นพยาบาลมันไม่ใช่แค่อยู่ในชุดขาว มันต้องเปื้อนบางอย่าง (เปื้อนประสบการณ์) สุดท้ายตัวละครก็เติบโตในสิ่งที่เค้าเป็น มายด์ทำตรงนี้ไว้ได้ดีครับ

‘เดย์ ไทเทเนียม’ กับความแก๊งสเตอร์ในตัว

เรามีความสนิทสนมกันอยู่ก่อนแล้ว และเคยชวนมาทำงานหลายปีก่อนหน้านี้ ในเรื่องมีบท ‘ดาร์ลี่’ ที่เราจินตนาการเอาไว้ว่าคือคนผิวดำ ฟันใหญ่ เวลายิ้มแล้วฟันจะชัดมาก มีความหลอน ๆ เราพยายามหาแต่ไม่ลงตัวซะที จนนึกขึ้นมาได้ว่า พี่เดย์น่าสนใจ ในเรื่องต้องเป็นหัวหน้าแก๊ง เค้ามีความเป็นแก๊งสเตอร์ นิวยอร์กเกอร์ในตัวอยู่แล้ว เราก็ใช้สิ่งนั้นแล้วแปลงร่างเขา

มันเป็นตัวละครที่บิดเบี้ยวสุด ๆ เราไม่รู้ว่าเขาจะมารูปไหน มันน่ากลัว มันอำมหิตมาก ทางโปรดักชั่นดีไซน์ เอา reference มาให้ดู มันมีโรคด่างขาว ก็เลยดีไซน์พี่เดย์ออกมาเป็นคนด่างขาวหัวทอง แล้วความด่างขาวนี่มันมีทั้งขาวทั้งดำอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง มันเละเทะไปหมด เขาเป็นคนแบบนั้น มีความเพี้ยนและโหด เดาทางไม่ได้

‘ยูเค’ เด็กอัจฉริยะที่โตในกอง

น้องยูเค (ณัฐธยาน์ องค์ศรีตระกูล) ที่เล่นเป็น ดวงกมล ลูกสาวผู้มีอิทธิพลที่ถูกลักพาตัว ค่อนข้างเป็นเด็กอัจฉริยะ เราเห็นเขามาตั้งแต่เป็นเด็กตัวกระปิ๋วแล้วเล่นดีมาตลอด

กฏของ Netflix ที่เป็นมาตรฐานสากลกำหนดว่าการเอาเด็กมาเล่นจะทำงานได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง ต้องมีที่พักให้ ต้องดูแล แล้วหนังอย่าง Bangkok Breaking ที่เงื่อนไขอื่นมันก็ยากอยู่แล้ว ถ้าเราใช้เด็กจริงอาจจะแพนิค กลัวเสียงระเบิด เสียงปืนได้ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจึงต้องการคนมีประสบการณ์มาก ๆ แล้วหน้ายูเคเด็กกว่าอายุจริง

ในเรื่องเขาเป็นเด็กประมาณ ม.หนึ่ง ม.สอง ตัวจริงน้อง ม.สี่แล้ว แต่หน้าเด็ก ก็เลยใช้ประโยชน์จากตรงนี้ แต่เราก็มีดับเบิลแทนน้องในฉากอันตราย แต่หลัง ๆ น้องเริ่มมัน เริ่มมาขอยิงปืนด้วยได้ไหม แต่สิ่งที่ดีก็คือ เขาแม่นยำ ไม่เทค การถ่ายทำก็ราบรื่นไม่ใช้เวลานาน

สิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของน้อง (ที่มีผลต่อการถ่ายทำ) คือ ยูเคอยู่ในช่วงที่กำลังโต หยุดถ่ายไปสองอาทิตย์แล้วมาเจออีกที “เฮ้ย ทำไมมันโตขึ้นวะ” ผมเพิ่งเจอภาวะแบบนี้เป็นครั้งแรก มันเป็นช่วงที่เราต้องรีบถ่าย ถ้าถ่ายไม่ทันน้องจะโตในกองแล้ว

‘เวียร์’ ขอขับรถไล่ล่าด้วยตัวเอง

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’

 

สำหรับ เวียร์ ศุกลวัฒน์ เขาเป็นคนที่รู้จักตัวละคร ‘วันชัย’ ดีที่สุด คำว่าวันชัยคนซื่อเนี่ย มันซื่อแต่มันสู้นะเว้ย อย่างฉากสำคัญของเรื่องเป็นลองเทค แอ็กชั่นไล่ล่ากันบนรถตู้ คิวมันยากมาก ต้องอยู่บนรถอีกคันหนึ่ง จากนอกรถแล้วเข้าไปในรถตู้ที่วิ่งผาดโผน ในรถตู้มีนักแสดงจริง ทุกคนเล่นหมด เกิดการแอ็กชั่น กล้องย้อนออกมา

ตอนแรกคนขับเป็น พี่หนึ่ง สตันท์ แต่พอวันจริงพี่เวียร์บอกว่า “ขอผมขับเองได้ไหม” คือมันมีฉากยิงกันแล้วกระสุนพลาดไปโดน กล้องจะต้องสวิงมารับ ถ้าเป็นสตันท์เราก็ต้องหลบไม่ให้เห็นหน้า แต่พี่เวียร์พูดขึ้นมาว่า “ขอผมลองได้ไหม ผมรู้สึกว่ามันต้องเป็นผมจริง ๆ” เราก็ต้องเบรคการถ่ายออกไปเพื่อให้พี่หนึ่งฝึกพี่เวียร์ขับรถจนผ่าน ซีนนั้นก็เลยเป็นลองเทคที่สามารถเห็นหน้านักแสดงจริงได้หมดทั้งคัน

หรือแม้กระทั่งประโยคสำคัญในเรื่องที่มายด์ถามว่ากลัวไหม แล้วเขาตอบว่า “กลัวสิ ไม่ใช่ไม่กลัว แต่ถ้ามันช่วยคนอื่นได้มันก็จะดีกว่า” ประโยคนี้มันโคตรวันชัยเลยนะ แล้วมันเป็นมนุษย์มาก ๆ เขาเป็นคนอย่างนั้น

เวียร์ ศุกลวัฒน์ คือ วันชัย แห่ง Bangkok Breaking อย่างแท้จริง เขาเข้าใจมันที่สุด

 

หนังที่จะทำให้ ‘อะดรีนาลีนหลั่ง’

สุดท้าย โขม-ก้องเกียรติ ได้พูดความในใจ และฝากภาพยนตร์ ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ เอาไว้ว่า

“ผมพอใจเมื่อคนพอใจ ตัวผมน่ะสุดกำลังแล้ว ผมพอใจเมื่อทุกฝ่ายพอใจ เมื่อคนดูพอใจ เมื่อ Netflix พอใจ สำหรับผมพอใจแล้วหละถึงได้ปล่อยออกมาให้ดูกัน สำหรับผมมันเป็นงานที่มันถูกฉายให้หลายคนดู ทีมงาน ทุกคนค่อนข้างแฮปปี้ เพราะมันเป็นงานหนักหนาพอสมควร ทุกคนพูดว่าวันนั้นเราทำอะไรลงไปวะเนี่ย เรารอดมาได้ไงวะเนี่ย

ฝ่านรกเมืองเทวดา หนังเรื่องนี้อยากเชิญมาดูกัน ผมเชื่อว่ามันจะเป็นสองชั่วโมงกว่าที่คุณได้หลั่งอะดรีนาลีนอย่างสนุกสนาน เป็นหนังที่สนุก เร้าใจตื่นเต้น อ้างคำพูดพี่ดู๋ก็ได้ว่า เข้าห้องน้ำห้องท่าให้เสร็จ ถ้าลุกไประหว่างนั้นคุณอาจจะเสียอรรถรส”

รับชม ‘Bangkok Breaking ฝ่านรกเมืองเทวดา’ ได้ 26 กันยายน 2567 นี้ทาง Netflix

 

วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’ วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’ วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’ วิเคราะห์จักรวาล ‘Bangkok Breaking’ กับ ‘โขม ก้องเกียรติ’