กว่าจะเป็น Best of Panama เวทีแจ้งเกิดกาแฟสุดแพง "ปานามา เกอิชา"
พาไปรู้จัก Best of Panama" สนามแข่งขันประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษที่มีชื่อเสียงจากอเมริกากลาง ดำเนินการโดย "สมาคมกาแฟพิเศษปานามา" มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรชาวไร่กาแฟปานามา
ว่ากันว่าหนึ่งในสมาคมกาแฟระหว่างประเทศที่ได้รับการยกย่องในเรื่องพัฒนาและยกระดับคุณภาพกาแฟก็ต้องมีชื่อสมาคมกาแฟพิเศษปานามา รวมอยู่ด้วยแน่นอน และเมื่อพูดถึงการจัดประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดกาแฟระดับโลกก็ต้องมีชื่อของ Best of Panama ติดอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ความสำเร็จดังกล่าวนี้ ไม่มีทางครบถ้วนสมบูรณ์ได้เลย หากไร้ซึ่ง ปานามาเกอิชา / เกชา สายพันธุ์กาแฟโด่งดังระดับตำนานที่ทุบสถิติกาแฟแพงสุดในโลกเป็นว่าเล่นในแต่ละปี
"Best of Panama" สนามแข่งขันประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษที่มีชื่อเสียงจากอเมริกากลาง ดำเนินการโดย "สมาคมกาแฟพิเศษปานามา" มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรชาวไร่กาแฟปานามา และเพิ่มคุณภาพกับมูลค่าให้กาแฟที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ จัดประกวดและประมูลกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 1996 มีกาแฟสายพันธุ์ "ปานามา เกอิชา/เกชา" (Geisha/Gesha) ร่วมเข้าแข่งขัน
จนถึงบัดนี้ผ่านไป 26 ปีแล้ว Best of Panama ก็ยังคงเป็นหนึ่งในเวทีประกวดที่เป็นพลังขับเคลื่อนเซกเมนต์กาแฟพิเศษให้เติบโตมาโดยตลอด แล้วก็มีความสำคัญพ่วงความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ "Cup of Excellence" เลยทีเดียว
Best of Panama เวทีแจ้งเกิดกาแฟในตำนาน "ปานามา เกอิชา" ภาพ : Julien Labelle on Unsplash
ทั้งยังกลายเป็น "โมเดลต้นแบบ" ให้สมาคมกาแฟพิเศษในหลายๆประเทศจัดแข่งขันเฟ้นหาสุดยอดกาแฟที่ผลิตขึ้นโดยเกษตรกรท้องถิ่น ตามคอนเซปต์...ถ้าสินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น ราคาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ชีวิตเกษตกรก็ควรดีขึ้นตามไปด้วย
สำหรับคนในวงการกาแฟพิเศษแล้ว การติดตามสถานการณ์ของเวทีประกวดระดับโลกอย่างใกล้ชิด มีส่วนสำคัญต่อธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องการอัพเดตข้อมูลข่าวสารว่าวงการไปถึงไหนกันแล้ว เขาทำอะไรกันอยู่ มีโพรเซสใหม่ๆแบบไหนเกิดขึ้นอีก สายพันธุ์กาแฟตัวใดได้รับความนิยม ราคาประมูลเป็นอย่างไรบ้าง บริษัทไหนทุ่มเงินประมูลบิดราคาไม่อั้น ฯลฯ
สมาคมกาแฟพิเศษปานามาก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มเกษตรกรไร่กาแฟท้องถิ่น ภาพ : facebook.com/scapanama
แม้เป็นเวทีประกวดสุดยอดกาแฟพิเศษเหมือนกัน มีการเชิญผู้ชำนาญการจากต่างประเทศมาช่วยประเมินคุณภาพเหมือนกัน จัดประมูลให้กับผู้ซื้อระหว่างประเทศเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ Cup of Excellence เป็นการประกวดที่จัดโดยทีมงานของ Cup of Excellence กับ Alliance For Coffee Excellence องค์เอกชนไม่หวังผลกำไรที่มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในประเทศนั้นๆ ที่อาจเป็นหน่วยงานราชการ,ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ หรือสมาคมกาแฟก็ได้ทั้งนั้น ส่วน Best of Panama จัดโดยสมาคมกาแฟพิเศษปานามาซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเกษตรกรชาวไร่กาแฟล้วนๆ
ในการชิงชัยสุดยอดกาแฟปานามาเมื่อปีค.ศ. 2019 กาแฟสายพันธุ์เกอิชา/เกชา จากฟาร์ม"เอลิด้า เอสเตท" (Elida Estate) ของตระกูลลามัสตุส พร้อมคะแนนคัปปิ้งสกอร์ 95.25 ท็อปสกอร์สูงสุดของโพรเซสแบบเนเชอรัล ทำสถิติราคาประมูลไว้ที่ 1,029 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) กลายเป็นกาแฟล็อตแรกของ Best of Panama ที่มีผู้ประมูลราคาทะลุเกินระดับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์
แต่ว่าสถิตินี้อยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกทำลายลงไปในการประกวดปีต่อมา ต่อด้วยเร็คคอร์ดใหม่ที่ก้าวข้ามเส้น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์เป็นครั้งแรกในการประมูลเมื่อปีค.ศ. 2021 จากผลงานของฟาร์ม "ฟินคา นูโก้" (Finca Nuguo) ที่ได้ราคาประมูลสูงสุด 2,568 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ จากกาแฟสายพันธุ์เกอิชา/เกชา พร้อมคะแนนคัปปิ้งสกอร์ 94.75 ในการประกวดประเภทโพรเซสเนเชอรัล
รางวัลในการประกวดกาแฟแต่ละประเภทของ Best of Panama ภาพ : facebook.com/scapanama
สำหรับเอลิด้า เอสเตท นั้นเป็นฟาร์มกาแฟเล็กๆจากเมืองโบเกเต ในชิริกี จังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของปานามา มีครอบครัวลามัสตุสเป็นเจ้าของ สืบทอดกิจการกันมาถึง 4 รุ่นแล้ว โดยรุ่นที่ 3 ของตระกูลนี้ เป็นกลุ่มฟาร์มกาแฟรุ่นแรกๆที่ผนึกกำลังกันก่อตั้งเป็นสมาคมกาแฟพิเศษปานามาขึ้นมา ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกการแข่งขันประเมินคุณภาพกาแฟ Best of Panama อีกด้วย
การประกวดสุดยอดกาแฟปานามานั้น จัดแข่งขันพ่วงประมูลเป็นประจำทุกปีที่เมืองโบเกเต ถือเป็นรายการประกวดคุณภาพกาแฟพิเศษ "เวทีแรก" ของโลกเลยก็ว่าได้ แล้วอยู่ดีๆไฉนเกษตรกรชาวไร่จึงต้องรวมกลุ่มกันตั้งสมาคมกาแฟแล้วจัดประกวดกันขึ้น
เรื่องราวต้องย้อนหลังกลับไปในปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งตอนนั้นการซื้อ-ขายกาแฟอยู่ภายใต้ข้อตกลงกาแฟระหว่างประเทศ (ICA) เป็นตัวกำหนดโควต้าส่งออกที่ตกลงกันโดยประเทศผู้ผลิตกาแฟกับประเทศผู้บริโภคกาแฟ
ต่อมา ระบบโควต้าถูกยกเลิกไปในปีค.ศ. 1989 เวียดนามจึงเพิ่มปริมาณการส่งออกกาแฟเป็นจำนวนมาก จะเรียกว่า “ทุ่มตลาด” ก็ได้ ส่งผลให้ราคากาแฟในตลาดโลกตกฮวบลงถึง 40% สร้างความเสียหายในระดับ "เพอร์เฟ็กต์สตอร์ม" แก่ผู้ผลิตกาแฟระหว่างประเทศ รวมไปถึงฟาร์มกาแฟปานามาด้วย
ใครจะไปคาดคิดว่าการหาทางออกเพื่อปัญหาราคากาแฟตกต่ำจะมาจากประเทศผู้ผลิตขนาดเล็กอย่างปานามา แทนที่จะเป็นรายใหญ่อย่างบราซิลหรือโคลอมเบีย
ไม่นานหลังจากนั้น ฟาร์มกาแฟ 7 แห่งในปานามาตัดสินใจร่วมตัวกันตั้งสมาคมกาแฟพิเศษ พร้อมเปิดตัวการแข่งขัน Best of Panama ขี้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1996 ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพเพื่อเจาะตลาดกาแฟพิเศษในต่างประเทศ แทนที่จะขายกันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์แบบเดิมๆ มีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาช่วยวางแนวทางให้กับสมาคมฯ โดยสมาชิกก่อตั้งรุ่นบุกเบิกล้วนเป็นฟาร์มกาแฟขนาดเล็กแต่เก่าแก่ที่ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น นอกจากฟาร์มเอลิด้า เอสเตท แล้วก็ยังประกอบไปด้วย ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา (Hacienda La Esmeralda), ดอน ปาชี เอสเตท (Don Pachi Estate), ดอน เปเป้ เอสเตท (Don Pepe Estate) ,ฟินคา ฮาร์ทแมนน์ (Finca Hartmann) และคาเฟ่ โคโตวา (Cafe Kotowa) เป็นต้น
หลังการแข่งขันครั้งแรกผ่านไป ก็ว่างเว้นไว้เสียหลายปี ก่อนกลับมาจัดเป็นครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 2002 ตอนนั้นกาแฟที่ได้ท็อปสกอร์สูงสุดเป็นกาแฟจากฟาร์ม เอลิด้า เอสเตท มีผู้ชนะการประมูลไปในราคา 2.37 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ สูงถึง 5 เท่าจากราคาสารกาแฟในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของเกษตรกรหลายๆคน
Best of Panama มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปีค.ศ.2004 เมื่อฟาร์ม "ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา" ของครอบครัวปีเตอร์สัน นำกาแฟสายพันธุ์เกอิชา/เกชาที่เติบโตในปานามา เข้าสู่การแข่งขันประเมินคุณภาพเป็นครั้งแรก
ปรากฎว่านอกจากได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังสามารถสร้างสถิติใหม่ในการประมูลที่ระดับราคา 21 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ กับราคาขนาดนี้ในตอนนั้น ถือเป็นการเปิดตัวกาแฟสายพันธุ์ในตำนานอย่างสวยหรู จากนั้นฟาร์มกาแฟหลายแห่งในปานามาก็เริ่มขยับขยาย นำสายพันธุ์เกอิชา/เกชา มาปลูกเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหนึ่งในกาแฟอาราบิก้าที่มีราคาแพงสุดของโลกยุคปัจจุบัน
ต้นกาแฟสายพันธุ์ปานามา เกอิชา/เกชา ของฟาร์มเอลิด้า เอสเตท ภาพ : instagram.com/lamastusfamilyestates
กาแฟเกอิชา/เกชา เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีต้นกำเนิดจากเขตป่าฝนของเทือกเขา "เกชา" (Gesha) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย เชื่อว่าบริเวณนี้เองเป็น “บ้านเกิด” ของกาแฟป่าหลายสายพันธุ์ที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ มีบันทึกว่าการค้นพบครั้งแรกเกิดขึ้นในทศวรรษ 1930 ก่อนจะมีการส่งเมล็ดพันธุ์ไปปลูกยังอเมริกากลาง เช่น คอสตาริก้า ในปีค.ศ. 1953 และเข้าสู่ปานามาในปีค.ศ. 1960 แต่ต้องรอจนถึงต้นทศวรรษ 2000 นั่นแหละ กาแฟสายพันธุ์นี้จึงปรากฎโฉมหน้าอีกครั้งสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ
ปูมประวัติกาแฟโลกให้ข้อมูลว่า ระหว่างการลำเลียงเมล็ดกาแฟออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่อเมริกากลางนั้น เกิดมีการระบุชื่อบริเวณที่ค้นพบต้นกาแฟผิดเพี้ยนจาก Gesha มาเป็น Geisha พอกาแฟเดินทางไปถึงประเทศปลายทาง ชื่อ Geisha ก็ติดตัวไปด้วย จนในที่สุดเกิดเป็นสายพันธฺุ์กาแฟ 2 ชื่ออย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การปลูกกาแฟเกอิชา/เกชาในปานามาในระยะเริ่มแรกนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ออกจะล้มเหลวด้วยซ้ำ เพราะการนำพันธุ์กาแฟที่เติบโตได้ดีในพื้นที่สูง ไปปลูกยังพื้นที่ต่ำซึ่งมีการระบาดของโรคราสนิมรุนแรงนั้น ปรากฎว่าเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิต กลับให้รสชาติไม่ดีเอามากๆ ทำให้ต้นกาแฟพันธุ์นี้ถูก “ทอดทิ้ง” และ “หลงลืม” มานับสิบๆ ปี
ในปีค.ศ. 1964 รูดอล์ฟ เอ. ปีเตอร์สัน แบงเกอร์จากแคลิฟอร์เนีย ได้ซื้อฟาร์มกาแฟในปานามาชื่อ ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา หวังใช้เป็นที่พักพิงยามเกษียณอายุ แต่ด้วยภารกิจในฐานะประธานแบงก์ ออฟ อเมริกา ทำให้ในปีค.ศ. 1973 เขาจึงมอบงานการบริหารไร่ให้กับ ไพรซ์ ปีเตอร์สัน ลูกชายที่จบดร.สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 ครอบครัวปีเตอร์สัน ได้ซื้อไร่กาแฟอีกแห่งชื่อ เอสเมอรัลด้า จารามิลโล แล้วก็เป็นแปลงหนึ่งของไร่นี้ที่มีการค้นพบต้นกาแฟสายพันธุ์เกอิชา/เกชา
เมล็ดกาแฟปานามา เกอิชา/เกชา จากฟาร์มฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา ภาพ : instagram.com/haciendalaesmeralda
การค้นพบกาแฟหายากเช่นนี้ ก็เหมือนกับการถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่เลยทีเดียว ครอบครัวปีเตอร์สันนำต้นกล้าเกอิชา/เกชาไปปลูกในจุดที่สูงสุดของไร่ หลังจากใช้เวลาฟูมฟัก 6-7 ปี การชิมเพื่อแยกกลิ่นและรสชาติ (cupping ) ก็เริ่มต้นขึ้นโดย "แดเนียล ปีเตอร์สัน" หลานปู่นายแบงก์รูดอล์ฟ
จากนั้นในปีค.ศ. 2004 เกอิชา/เกชาที่ส่งเข้าแข่งขันในนามฟาร์ม ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา เริ่มสร้างความตื่นตะลึงให้วงการ เมื่อคว้ารางวัลประมูลกาแฟยอดเยี่ยมของปานามา และอีกมากมายในการประกวดระหว่างประเทศ
ไพรซ์ ปีเตอร์สัน เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสมาคมกาแฟพิเศษปานามา ขณะที่ปัจจุบัน แดเนียล ปีเตอร์สัน ดำรงตำแหน่งเป็นเพรสซิเดนท์ของสมาคมกาแฟพิเศษปานามาที่มาพร้อมกับสโลแกน “always unique” ประมาณว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตนเองหรือไม่ซ้ำแบบใคร
ในการประมูลประจำปีของ "Best of Panama 2022" ที่กำหนดไว้ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ตามเวลาในบ้านเรา ไม่รู้ว่าจะบริษัทไหนใจถึง เรียกเสียงฮือฮา บิดราคาเกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์หรือไม่ ผู้เขียนสารภาพตามตรงครับว่าเห็นราคาประมูลแล้วหัวใจจะวาย ทำไมแรงกันขนาดนั้นหนอ
การประมูลกาแฟ Best of Panama 2022 จะมีขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ ภาพ : facebook.com/scapanama