"กาแฟแพง" ส่อลากยาว! บราซิลผลิตต่ำกว่าเป้า
ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงในบราซิล ตั้งแต่ ปีค.ศ. 2021 ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลง นำไปสู่ภาวะกาแฟขาดตลาด จนทำให้ราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ถึงเวลานี้ ปัญหาผลผลิตกาแฟตกต่ำครั้งใหญ่ในบราซิลยังคงเป็นปัจจัยชี้ขาด กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวราคากาแฟในตลาดโลกเป็นสำคัญ หลังจากเกิดภาวะน้ำค้างแข็งและสถานการณ์ภัยแล้งเมื่อปีที่แล้ว สร้างความเสียหายต่อไร่กาแฟทั่วประเทศอย่างหนัก ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น เดือดร้อนถึงคอกาแฟที่ต้องควักเงินจ่ายค่ากาแฟเพิ่มขึ้นแทบจะทุกประเทศทั่วโลก
ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงในแดนแซมบ้าเมื่อปีค.ศ. 2021 ทำให้ต้น “กาแฟตาย” ไปราว 20 % ของทั้งระบบ เกิดปัญหาผลผลิตลดลงฮวบฮวบ นำไปสู่ภาวะกาแฟขาดตลาด ราคาจึงถีบตัวขึ้นพรวดพราด
ราคากาแฟตลาดโลกมีแนวโน้มพุ่งต่อ หลังผลผลิตในบราซิลตกต่ำต่อเนื่อง (ภาพ : Tim Mossholder on Unsplash)
ถ้ายังจำกันได้ราคากาแฟอาราบิก้าที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าระหว่างประเทศ พุ่งขึ้นถึงระดับ 2.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ทำ “สถิติสูงสุด” ในรอบ 10 ปี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเมื่อตลาดหายตกใจแล้ว ราคากาแฟก็ค่อยๆ ชะลอความแรง แต่ก็ยังปักหลักยืนหยัดอยู่เหนือระดับ 2.00 ดอลลาร์ต่อปอนด์ตลอดปีนี้
ล่าสุด ราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าระหว่างประเทศปิดตลาดที่ 2.23 ดอลลาร์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นราว 1% จากวันทำการก่อนหน้านั้น
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก... ร้านกาแฟทั่วโลกที่ไหนจะต้องมาเผชิญกับวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วยังต้องผจญกับปัญหาการพุ่งขึ้นแรงของราคากาแฟ สุดท้ายอั้นต่อไปไม่ไหว ก็ทยอยขึ้นราคากาแฟกันเป็นแถว แล้วตอนนี้รายใหญ่ๆที่เป็นบริษัทค้ากาแฟทั้งในระดับชาติและระดับโลกต่างก็เพิ่มสปีดเดินหน้าเต็มสูบ ลุย “กว้านซื้อ” สารกาแฟมาเก็บไว้ในสต็อก เพื่อบริหารความเสี่ยงจากภาวะกาแฟขาดตลาด
เพราะกว่าที่บราซิลจะกลับมาผลิตกาแฟชดเชยส่วนที่ขาดหายไปก็ปาเข้าไปค.ศ. 2025 โน่น ประกอบกับองค์กาแฟกาแฟระหว่างประเทศ (ICO) ออกมาให้ข้อมูลว่า อัตราการบริโภคกาแฟทั่วโลกจะ “แซงหน้า” การผลิตกาแฟเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ในแดนพญาอินทรีที่เศรษฐกิจเจอกระหน่ำจากพิษเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี จนธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) กัดฟันขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 0.75% ไปแล้วถึง 3 รอบนั้น ราคากาแฟต่อแก้วในประเทศ โดยเฉลี่ยดีดขึ้นมาอยู่ที่แก้วละ 6.11 ดอลลาร์ ในช่วงกลางปีนี้ เทียบกับอัตราเฉลี่ยแก้วละ 4.56 ดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
การส่งออกกาแฟของบราซิล ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวในเร็ววันนี้ (ภาพ : Diego Catto on Unsplash)
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วอลสตรีท เจอร์นัล สื่อยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจของสหรัฐ รายงานว่า ประเทศผู้ผลิตกาแฟมากที่สุดของโลกอย่างบราซิลที่เมื่อปีที่แล้วเผชิญกับวิกฤติขั้นรุนแรงของภาวะน้ำค้างแข็งและสถานการณ์ภัยแล้งจนผลผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าทั้งระบบหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง คาดว่า “เพดานการผลิต” กาแฟอาราบิก้าของบราซิลในรอบ 12 เดือนที่เริ่มจากเดือนกรกฎาคมปีนี้ไปถึงกรกฎาคมปีหน้า จะลดลงเหลือ 35.7 ล้านกระสอบ(กระสอบละ 60 กิโลกรัม) เทียบกับ 2 ปีก่อนหน้าที่เคยผลิตได้ในอัตราสูงสุดถึง 48.7 ล้านกระสอบ
ปกติฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟอาราบิก้าในบราซิลอยู่ในราว 4-5 เดือน ระหว่างพฤษภาคม – กันยายนของทุกปี แต่ในแต่ละแหล่งปลูกที่ครอบคลุมถึง 13 รัฐ จำนวน 300,000 ไร่ จะเหลื่อมล้ำต่างกันกันไปบ้างเล็กน้อย
อาร์อาร์ คอนซัลโทเรีย รูรัล บริษัทที่ปรึกษาในรัฐมีนัส เจไรช์ รัฐที่ครองแชมป์ผลิตกาแฟสูงสุดในแดนแซมบ้า ประมาณการไว้เช่นกันว่า ตัวเลขผลผลิตกาแฟในบราซิลน่าจะอยู่ระหว่าง 30-32 ล้านกระสอบ พร้อมเพิ่มเติมข้อมูลอิงสถานการณ์จริงด้วยว่า รถบรรทุกที่ลำเลียงกาแฟไปยังสหกรณ์กาแฟล่าช้ากว่าปกติมาก ราวกับว่าพวกเราอยู่ในช่วง “นอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว” ยังไงยังงั้นเชียว
ตัวเลขของสหกรณ์ผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่ของบราซิล (Cooxupé) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐมีนัส เจไรช์ เช่นกัน ระบุว่า ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวคาดว่าจะลดลงไป 11% ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากผลิตได้น้อยลงอย่างมากมายแล้ว สต๊อกในประเทศเองก็แทบจะอยู่ในจุดต่ำสุดชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อนอีกต่างหาก
เมื่อกลางเดือนกันยายนมานี้เอง สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจชั้นแนวหน้าของสหรัฐอีกแห่ง ก็นำเสนอปัญหาใหญ่ที่ติดตามมานั่นคือ... “สต๊อกกาแฟ” บราซิลที่กำลังลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นำเสนอข้อมูลดังกล่าวจากการสัมภาษณ์นายซิลาส บราสซิเลโร ประธานสภากาแฟแห่งชาติบราซิล ซึ่งระบุว่า กาแฟที่เก็บไว้ในสต๊อกเตรียมส่งออกให้ลูกค้าตามออร์เดอร์ อาจมีตัวเลขเหลือเพียง 7 ล้านกระสอบภายในเดือนมีนาคมปีหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขที่โอเคไม่มีปัญหาน่าจะอยู่ระหว่าง 9-12 ล้านกระสอบ
บลูมเบิร์ก ยังรายงานอ่างคำพูดของเนลสัน คาร์วัลเลียส กรรมการสภาผู้ส่งออกกาแฟแห่งชาติ (Cecafe) ของบราซิล ที่บอกว่า ปริมาณกาแฟในสต็อกยังมีน้อย แม้ว่าปีหน้าเราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี แต่ถีงกระนั้น บราซิลก็แทบจะผลิตกาแฟออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี
กราฟฟิกปริมาณกาแฟในสต็อกของบราซิลในรอบ 18 ปี (ภาพ : bloomberg.com)
จากปัญหาผลผลิตที่ลดฮวบฮาบของบราซิล ทำให้ปีนี้ราคากาแฟที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าในนิวยอร์กปรับตัวขึ้นในราว 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะไม่พุ่งทะยานลิ่วๆแรงๆ 70% เหมือนปีก่อน แต่ราคาที่ยืนพื้นเหนือ 2 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ก็ทำเอาผู้ประกอบการปวดหัวไปตามๆกัน
ข้อมูลเชิงกาแฟ 2 ชุดสำคัญของแดนแซมบ้า ทั้งเพดานการผลิตจริงกับปริมาณกาแฟในสต๊อกที่ออกมาใกล้เคียงกัน ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ฟันธงว่าราคากาแฟในตลาดโลกมีแนวโน้มเดินหน้าบวกต่อไป
กราฟแสดงการเคลื่อนไหวของราคากาแฟในตลาดล่วงหน้าระหว่างประเทศ (ภาพ : nasdaq.com)
เฉพาะในบราซิลเอง “ต้นทุนกาแฟ” ต่อหนึ่งกระสอบที่เดินทางจากแหล่งปลูกเข้าสู่ย่านเศรษฐกิจของเซา เปาโล ก็เพิ่มขึ้นไปแล้ว 19 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เธียโก้ คาซารินี โบรกเกอร์ค้าตราสารกาแฟล่วงหน้าของบริษัทคาซารินี เทรดดิ้ง ในบราซิล มองว่า ราคากาแฟอาราบิก้าทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อตัวเลขการเก็บเกี่ยวกาแฟของบราซิลในปีนี้เริ่มแล้วเสร็จ ที่น่ากังวลก็คือ ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดทับราคากาแฟไม่ให้เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ แต่หากราคากาแฟยังเดินหน้าต่อไป ถือว่า ”อันตราย” มากกับการทิ้งปัจจัยพื้นฐานไว้เบื้องหลัง
สำหรับสภาพดินฟ้าอากาศนั้นก็ดูจะยังไม่ช่วยบรรเทาปัญหาซัพพลายตึงตัวในตลาดกาแฟโลกเอาเสียเลย ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่คาดว่าจะขยายออกไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ในละติน อเมริกา อาจทำให้บราซิลเจอภัยแล้งหนักกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดฝนตกมากไปในโคลอมเบีย ประเทศผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนั้น อากาศอันเลวร้ายอาจส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตในกัวเตมาลา,ฮอนดูรัส และนิคารากัว
ขณะที่ “เวียดนาม” ผู้ส่งออกโบรัสต้ารายใหญ่สุดก็กำลังเผชิญกับปัญหาปริมาณกาแฟในสต๊อกลดลงเนื่องจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมีแนวโน้มไม่ดีนัก
แล้วจะ “ส่งออก” ได้มากน้อยขนาดไหน...ประเด็นนี้ คาร์ลอส ออกุสโต้ โรดิเกวซ เดอ เมโล ประธานสหกรณ์ผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่ของบราซิล (Cooxupé) สะท้อนได้ชัดเจนว่า การส่งออกกาแฟของสหกรณ์จะลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีค.ศ. 2023 อันเป็นผลจากตัวเลขเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาล 2022 ออกมาต่ำกว่าเป้า 15%-20% เหลือประมาณ 6.3 ล้านกระสอบ จากเบื้องต้นที่คาดการณ์ว่าจะทำตัวเลขได้ที่ 7.5 ล้านกระสอบ ดูจะห่างไกลมากกับตัวเลข 10.99 ล้านกระสอบที่เคยทำสถิติไว้ในปีค.ศ. 2021
"นี่คือวิกฤติใหญ่ที่เราเผชิญอยู่" โฮเซ่ มาร์คอส มากาเลียส ชาวไร่กาแฟผู้นั่งในตำแหน่งประธานสหกรณ์กาแฟไมนาซัล ในรัฐมีนัส เจไรช์ พูดเอาไว้
ปรากฏการณ์ลานีญาอาจส่งผลกระทบต่อไร่กาแฟทั่วแดนละตินอเมริกา (ภาพ : Dang Cong on Unsplash)
สหกรณ์กาแฟไมนาซัล มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเป็นสมาชิกอยู่ในราว 9,000 คน เมื่อปีค.ศ. 2020 เคยทำตัวเลขผลผลิตไว้สูงถึง 2.2 ล้านกระสอบ แต่ปีนี้ ประธานสหกรณ์ฯยอมรับแล้วว่า ตัวเลขน่าจะต่ำกว่าล้านกระสอบ
เป็นสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันพอดีโดยมิได้นัดหมาย ระหว่าง “ผลผลิตกาแฟ” ที่ลดลงในบราซิลตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อเกิดภาวะกาแฟขาดตลาด แนวโน้มการเก็บเกี่ยวปีล่าสุดก็ออกมาต่ำกว่าเป้า กับ “การบริโภคกาแฟ” ทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่แล้วเช่นกัน หลังจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ก็อย่างที่องค์กาแฟกาแฟระหว่างประเทศ บอกไว้ว่า อัตราการบริโภคกาแฟทั่วโลกจะแซงหน้าการผลิตกาแฟอีกครั้งเป็นปีที่ 2
ราคากาแฟต่อแก้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆเซกเมนต์ (ภาพ : Jimmy Art Devier on Unsplash)
ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ต้องรอจนถึงปีค.ศ. 2025 กว่าที่บราซิลจะกลับมาฟื้นฟูผลผลิตกาแฟให้เท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดภาวะน้ำค้างแข็งและสถานการณ์ภัยแล้ง
เมื่อดีมานด์กับซัพพลายยังไม่โคจรมาเจอกันแบบลงตัวๆ อีก 2-3 ปีนับจากนี้ไป น่าสนใจว่า ราคากาแฟจะขยับเดินหน้าต่อไปได้อีกมากน้อยขนาดไหน?