ไขข้อข้องใจ "กินเจ" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ!

ไขข้อข้องใจ "กินเจ" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ!

ตอบข้อข้องใจของ คำถามประจำในเทศกาลกินเจทุกปี เป็นต้นว่า กินเจ ดื่มกาแฟได้ไหม? หรือดื่มกาแฟใส่นม เจจะแตกหรือไม่? พร้อมอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

วิถีผู้บริโภคยุคใหม่นั้นนอกจากจะใส่ใจในประเด็นสุขภาพและเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสนใจในข้อมูลข่าวสารที่หมุนอยู่รอบๆตัวด้วย สำหรับแวดวงอาหารการกิน การรู้เขารู้เรา รู้ให้เท่าทัน รู้และเลือกกิน-เลือกใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ มีความสำคัญยิ่งในยุคนี้  ผู้เขียนในฐานะคอกาแฟจึงอยากนำข้อมูลใหม่ๆมาอัพเดตและแบ่งปันกัน ในเทศกาลกินเจประจำปี 2565 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายน - 4 ตุลาคม รวมแล้ว 9 วันพอดี

ตามเว็บไซต์ต่างๆมักจะระบุถึงข้อห้ามด้านอาหารและชนิดเครื่องดื่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่คนถือศีลกินเจ เผลอกินอาหารไม่เจ เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า "เจแตก" ขึ้นมาได้ ซึ่งหนึ่งในเครื่องดื่มที่ผู้เขียนมักจะได้รับคำถามเป็นประจำทุกปีก็คือ  "กาแฟ" เป็นต้นว่า กินเจ ดื่มกาแฟได้ไหม? หรือดื่มกาแฟใส่นม เจจะแตกหรือไม่?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ลองมาดูความหมายของการกินเจและที่มาที่ไปของกาแฟกันสักนิด

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ! ดื่มกาแฟแล้วทำให้เจแตก ยังเป็นข้อกังวลของคนกินเจ

เทศกาลกินเจ บางแห่งเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีของคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย,สิงคโปร์ และมาเลเซีย การกินเจมีหลากหลายข้อห้าม  หนึ่งในจำนวนนี้คือ ห้ามกินเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีส่วนผสมจากสัตว์ "ธงเจ" ในช่วงเทศกาลกินเจ จะมีอักษรจีนสีแดง บนพื้นสีเหลือง ตัวอักษรจีนสีแดง พร้อมทั้งเขียนอักษรจีน อ่านว่า ไจ หรือ เจ หมายถึง "ของไม่มีคาว"

กาแฟโดยธรรมชาติ เป็นเจหรืออาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว ต้นกาแฟเองก็เป็นพืชในตระกูบเบอร์รี่  ผลอ่อนให้สีเขียว แต่เมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงสดคล้ายกับผลเชอร์รี่  แต่บางสายพันธุ์ สีผลสุกกาแฟออกโทนสีเหลือง, สีชมพู หรือสีแสดก็มี กระบวนการผลิตตั้งแต่ปลูก ,เก็บเกี่ยว และแปรรูป ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย  จะมียกเว้นอยู่บ้างก็เป็นกระบวนการหลังจากนี้ไป เช่น การคั่วและการชง 

โดยสรุปก็คือ  กาแฟถือ "เป็นเจ" โดยธรรมชาติ  การผลิตไม่มีส่วนผสมใดๆจากผลิตภัณฑ์สัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดื่มได้สบายๆในช่วงเทศกาลกินเจ สามารถติดป้ายหรือสัญลักษณ์ธงเจสีเหลืองได้เลย 

 ยุคสมัยนี้เป็นโลกยุคดิจิทัล อยากรู้เรื่องอะไรหรืออยากได้ข้อมูลตรงไหน ก็เข้าไปเสิร์ชหาในกูเกิ้ลและยูทูป ประเด็นคำถามที่ว่า "กินเจ ดื่มกาแฟได้ไหม?" ก็ปรากฎคำตอบอยู่ในหลายๆเว็บไซต์เช่นกัน แต่ผู้เขียนพบว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่โพสต์กันมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ยังไม่มีการอัพเดตเพื่อให้ตรงและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในวิถีการบริโภคกาแฟ โดยเฉพาะเรื่องกาแฟที่มีนมเป็นส่วนผสมซึ่งตอนนั้นอาจมีเฉพาะนมวัว แต่ปัจจุบันมีการผลิตนมจากพืชขึ้นมาใช้ เป็นอีกทางเลือกให้ผู้ดื่ม และสามารถทดแทนนมจากสัตว์ได้

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ!

กาแฟถือเป็นเจโดยธรรมชาติ การผลิตไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง (ภาพ : Jan Alexander จาก Pixabay)

หรือกระทั่งเนยแท้หรือเนยสดที่ทำจากไขมันของนมสัตว์ ปัจจุบัน ก็มีการผลิตมาการีนหรือเนยเทียมซึ่งทำจากไขมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันถั่วเหลือง

 ชุดข้อมูลเก่าเหล่านี้ ใช้ได้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่พอกาลเวลาผ่านไป วัฒนธรรม “การผลิต”และ “การบริโภค” มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สูตรและส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มถูกพัฒนาตลอด มีการค้นคว้าหาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาอยู่มิได้ขาด เพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเฉพาะกลุ่ม แน่นอนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่นก็ย่อมต่างกันออกไป ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องอาหารสุขภาพ สนใจผลิตภัณฑ์สีเขียว ขณะที่กลุ่มบริโภคอาหารวีแกนที่ปราศจากเนื้อสัตว์ 100% เน้นกินพืชผักเป็นหลัก ก็กำลังมีอัตราเติบโตขึ้นมา

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ! สำหรับคนกินเจ กาแฟที่ใส่นมสัตว์เข้าไปผสม ต้องงดบริโภค (ภาพ : Taylor Franz on Unsplas)

ผู้เขียนลองแยกแยะชุดข้อมูลเก่าว่าด้วยเรื่องการดื่มกาแฟในเทศกาลกินเจ เห็นว่ามีความจำเป็นต้องอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดนจะโฟกัสไปที่เป็นเจ หรือไม่เป็นเจ สามารถแยกออกเป็น 5 ชุดคำถาม ดังนี้

1. กาแฟแก้วนั้นต้องไม่ใช่กาแฟที่ชงกันตามสูตรปกติ ?

จริงๆผู้เขียนก็ออกจะงงๆเหมือนกันว่า สูตรปกติคืออะไร แล้วสูตรพิเศษหรือสูตรไม่ปกติคืออะไร

แต่เอาเป็นว่า กาแฟทุกสูตร จะสูตรนี้ สูตรไหน หรือสูตรของใคร ถ้ามีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ดื่มแล้วก็เจแตกแน่นอน

  2. กาแฟที่สามารถดื่มได้ ต้องเป็นกาแฟดำหรือโอเลี้ยงเท่านั้น?

กาแฟอะไรก็ดื่มได้ จะกาแฟดำ, กาแฟใส่โกโก้, กาแฟสายนม, กาแฟผสมน้ำผลไม้ และกาแฟโบราณทุกเมนูทุกสูตร ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชเข้ามาแทนที่การใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์

อย่างที่ทราบกันดี กาแฟทุกเมนูถ้าไม่มีส่วนผสมจากนมสัตว์และเนยจากไขมันสัตว์ ถือว่าเป็นอาหารเจ  แต่บางคนอาจจะสงสัยว่าในกาแฟมีคาเฟอีนอยู่ด้วย ไม่ผิดกฎเจหรือ เพราะมีข้อห้ามเรื่องของเสพติดมึนเมา ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ คาเฟอีนในชา/กาแฟไม่ได้ถูกบัญญัติว่าเป็นสารเสพติดให้โทษตามกฎหมายแต่อย่างใด  ดังนั้น สบายใจได้สำหรับคอกาแฟที่ร่วมถือศีลกินเจด้วย

  3. กาแฟสำเร็จรูปทั้งประเภทซองและกระป๋อง ดื่มไม่ได้เพราะมีครีมเทียมจากสัตว์ผสมอยู่ ?

โดยปกติกาแฟซองที่เรียกกันรวมๆว่ากาแฟทรีอินวัน และกาแฟกระป๋อง มีส่วนผสมอยู่ 3-4 อย่างด้วยกัน คือ กาแฟ,น้ำตาลทราย,ครีมเทียม และสารปรุงรส  แล้วเจ้าครีมเทียมที่เรียกกันติดปากว่าคอฟฟี่เมทนี่แหละสำคัญ เพราะในข้อมูลชุดเดิมๆ ก็มักจะให้เป็นตัวชี้ขาดว่า จะเป็นกาแฟเจหรือไม่เจ  อย่างไรก็ดี ครีมเทียมนี่ผลิตจากพืช ถ้าครีมที่ผลิตจากไขมันเนยที่มาจากนมสัตว์จะเรียกว่าครีมแท้หรือครีมสด   ทุกวันนี้ผู้ผลิตทั่วโลกผลิตครีมเทียมจากพืชใช้ทดแทนนมหรือครีมสดกัน เพื่อเพิ่มความมันให้กับรสชาติกาแฟ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว เพราะหาง่ายและราคาถูกกว่า

ถ้าจะดื่มไม่ได้สำหรับคนกินเจ ก็น่าจะเป็นเคสนี้มากกว่า... เนื่องจากในกาแฟสำเร็จรูปบางยี่ห้อ จะเสริมไขมันจากสัตว์ ซึ่งเป็นสารปรุงรส เพื่อความหวานมันอร่อย นั่นเอง

ถามว่าผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ผลิตกาแฟใช้ส่วนผสมอะไรบ้าง

ก็ให้ดูรายละเอียดในฉลากสินค้าว่า ใช้ครีมเทียมจากพืชชนิดใด มีสารปรุงรสด้วยหรือไม่  บางเจ้าที่ผลิตกาแฟสูตรเจ ระบุในฉลากว่าเป็นครีมเทียมเฉยๆ  ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนสำหรับผู้บริโภคที่ตอบรับด้วยการไม่ตัดสินใจซื้อก็มีให้เห็นกันอยู่  ประเทศที่พัฒนาแล้ว กฎหมายจริงจังมากในเรื่องสินค้ากับฉลากต้องแสดงข้อมูลตรงกัน ถ้าเกิด “สินค้าไม่ตรงปก” ขึ้นมา หรือใส่รายละเอียดไม่ครบ โทษหนักจริงๆ

การใช้ครีมเทียมสำหรับสายเฮลตี้อาจจะไม่ถูกใจนัก  เพราะมีข้อมูลเตือนภัยยาวเป็นหางว่าว  ส่วนตัวผู้เขียนเอง ถ้าจะเพิ่มความหอมมันให้กับกาแฟ ชอบนมสดหรือนมจากพืชมากกว่า

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ! การใช้นมพืชแทนนมวัว เป็นอีกทางเลือกสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ (ภาพ : Austin Wilcox on Unsplash)

  4. กาแฟตามร้านกาแฟส่วนใหญ่ไม่ถือเป็นกาแฟเจ เนื่องจากนิยมใส่นมหรือวิปครีมเข้าไปเป็นส่วนผสม ?

กาแฟเจหรือไม่เจนั้น อยู่ที่ส่วนผสมว่ามีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เกี่ยวข้องหรือไม่ ตราบใดที่ดื่มกาแฟใส่นมหรือวิปครีมที่ทำจากพืช ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเรื่องเจแตกแต่อย่างใด ไม่ว่าจะไปซื้อกาแฟตามร้านหรือชงเองจากบ้าน

ปัจจุบัน ร้านกาแฟบ้านเรา ค่อนข้างมีความหลากหลายในการเลือกใช้นมพืชแทนการใช้นมวัว  รวมไปถึงวิปครีมด้วย เพื่อเป็น "ทางเลือก" สำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ และเป็น "ทางออก" ให้กับผู้ที่แพ้นมวัว ซึ่งนอกเหนือจากนมอัลมอนด์และนมถั่วเหลืองซึ่งได้รับความนิยมมากแล้ว ก็มีนมพืชอีกหลายชนิด เช่น นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์, นมแมคคาเดเมีย, นมข้าวโอ๊ต, นมข้าวกล้อง และนมมะพร้าว

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ! กาแฟอินสแตนท์หรือกาแฟซอง อีกเซกเมนท์ที่คนชอบดื่มกันมาก (ภาพ : Robert Shunev on Unsplash)

 ผู้เขียนไม่ได้กินเจหรืออยู่สายเฮลตี้จ๋า แต่เองตอนแวะเข้าร้านกาแฟ ชอบถามเสมอๆว่าร้านใช้นมพืชหรือนมสัตว์ มีทางเลือกให้กับลูกค้ามากน้อยขนาดไหน เอาเข้าจริงๆเดี๋ยวนี้ร้านกาแฟสายเฮลตี้ ที่ตัดสินใจเลือกใช้นมพืชก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว และบางร้านที่นิยมใช้นมวัว พอถึงช่วงเทศกาลกินเจก็หันไปติดธงเหลืองกันเป็นทิวแถว เพื่อบอกให้ลูกค้ารู้ว่า เป็นเครื่องดื่มเจนะ

5. บางร้านหรือบางยี่ห้อนำเมล็ดกาแฟไปคั่วกับเนย แน่นอนว่าคนกินเจไม่สามารถดื่มได้?

ในอดีตมีการนำเมล็ดกาแฟไปคั่วกับเนยสดหรือเนยแท้จริง ถือเป็นส่วนประกอบในกรรมวิธีการคั่ว เพื่อเป้าประสงค์ 2 ประการหลักๆ คือ เป็นรูปแบบหนึ่งของการถนอมอาหารกับเรื่องการแต่งกลิ่นรสกาแฟ นอกจากเนยแล้ว ก็ยังเติมน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงเข้าไปด้วยระหว่างการคั่วด้วย

อย่างไรก็ดี ในยุคนี้การคั่วเมล็ดกาแฟเพื่อทำกาแฟผงสำเร็จรูปในเชิงพาณิชย์และทำกาแฟคั่วบดขายโดยทั่วไป  ไม่มีการใส่สารปรุงแต่งกันแล้ว

ในมาเลเซีย มีวิธีคั่วกาแฟแบบหนึ่ง คั่วขายกันทั้งแบบกาแฟคั่วบดและกาแฟผงสำเร็จรูป เรียกกันว่า "กาแฟขาว" แรกเริ่มก็ใส่เนยจากไขมันสัตว์ ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นเนยเทียมหรือมาการีน ซึ่งเป็นเนยที่ทำมาจากไขมันพืช

แน่นอน ถ้าเป็นการคั่วกาแฟที่ใส่เนยเทียมหรือมาการีนลงไป ก็ถือว่าเป็นกาแฟเจ

ไขข้อข้องใจ \"กินเจ\" ดื่มกาแฟได้ไหม? ฉบับฉลาดกิน ฉลาดซื้อ! การคั่วกาแฟในปัจจุบัน ไม่นิยมใส่เนยลงไประหว่างการคั่ว ภาพ : cottonbro/pexels.com

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะนำไปสู่มุมมองใหม่ๆต่อพัฒนาการของสูตรกาแฟและวิถีบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โปรดอย่าลืมนะครับว่า  กาแฟเป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่เราสามารถเลือกดื่มได้เองจริงๆ เพียงแต่ผู้ดื่มควรมีความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไปด้วย

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการดื่มกาแฟทุกวันๆในทุกจิตเจตนารมณ์ครับ