5 เหตุผลที่ควรกิน “ควินัว” superseed ของมนุษยชาติ
“ควินัว” เมล็ดพืชประโยชน์สูง กินง่าย อร่อย ปรุงได้หลากหลาย องค์การสหประชาชาติ (UN) ยกให้เป็น super crop และ FAO ระบุว่าเป็น "superseed" เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของมนุษยชาติ
ควินัว, คินัว (quinoa) อ่านว่า keen-wha เป็นเมล็ดพืชจากต้น Chenopodium Quinoa พืชตระกูลข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ผักปวยเล้ง และหัวบีท มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณเทือกเขาแอนดีส ในเปรู ชิลี และโบลิเวีย ชอบอากาศเย็น เติบโตได้แม้ในสภาพอากาศเลวร้ายและดินที่เสื่อมโทรม
จากความอึด ถึก ทน และประโยชน์เปรียบเป็น superseed องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกให้เป็นเมล็ดพืชเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ส่งเสริมให้กินควินัวและจัดให้เป็น super functional food
ส่วน UN ยกให้เป็น super crop เพื่อช่วยโลกที่หิวโหย เหมาะสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนสำหรับเด็ก และคนที่เป็นโรคแพ้โปรตีนจากสัตว์หรือแพ้กลูเตนจากธัญพืชบางชนิด
ควินัวขาว-แดง (ภาพ: healtifyme.com)
ชาวเอเชียกินข้าว ชาวอินคาก็กิน ควินัว เมล็ดพืชเล็ก ๆ กลม มี 3 สี คือ ขาว ดำ แดง เป็นอาหารโบราณ เมล็ดพืชแห่งประวัติศาสตร์ชนชาติอเมริกาใต้ ที่กินกันมาราว 5,000 ปี
ทำไมควินัวถึงดัง : ไม่กี่ปีมานี้ ควินัว กลายเป็น superfood + superseed เข้าพวกกับ เมล็ดเจีย เมล็ดแฟล็กซ์ จากคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก
สลัดควินัวกับผักร็อคเก็ต (Cr. taste.com.au)
ควินัวหุงสุก 1 ถ้วย (185 กรัม) ให้พลังงาน 222 แคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 35 กรัม โปรตีน 8 กรัม ไขมัน 6 กรัม เส้นใย 5 กรัม น้ำตาล 1 กรัม ไฟเบอร์ 5 กรัม และไม่มีกลูเตน คนแพ้กลูเตนหวังพึ่งได้
ควินัวสลัด (Cr. healthline.com)
อีกทั้งมีโปรตีน จึงเป็นหนึ่งในอาหารแพลนท์เบส ของ ชาววีแกน ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินบี 6, อี, เค กรดโฟเลท มีไฟเบอร์มากกว่าข้าวกล้อง 2 เท่า มีกรดอะมิโนจำเป็น
มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยระบบย่อยอาหาร ซ่อมแซมเส้นผม ขจัดคราบไขมันที่เกาะตามผนังลำไส้ แก้ปวดหัวไมเกรน ป้องกันโรค NCDs
(Cr. freepik.com)
การกลับมาของควินัว : แม้เป็นอาหารโบราณ แต่ควินัวเกือบหายไปในปี ค.ศ.1532 เมื่อชาวสเปนบุกยึดประเทศในแถบอเมริกาใต้ ได้ทำลายพื้นฐานวัฒนธรรมของชาวอินคา ทำลายพื้นที่ไร่นาที่ปลูกควินัว บางส่วนที่อยู่รอดก็อยู่บนภูเขาสูง
พุดดิ้งควินัว (Cr. cookforyourlife.org)
จนถึงยุค 1970s นักเรียนชาวอเมริกันที่ไปเรียนที่โบลิเวีย พบชาวพื้นเมืองกินควินัว เมื่อลองกินดูก็รู้สึกว่าอร่อย จึงเริ่มปลูกควินัว และเผยแพร่เมนูจากควินัวจนเมล็ดพืชจิ๋วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ทำไมต้องกินควินัว : ประโยชน์มากมายของ ควินัว ทำให้ ชาววีแกน และคนรักษ์สุขภาพต้องหามาติดครัว ได้แก่
(Cr. food.com.au)
1 ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับไขมันในเลือด จากไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระ จึงเป็น superfood + superseed ป้องกันโรค NCDs
2 เป็นอาหารลดน้ำหนัก เพราะกินควินัวแล้วอิ่มเร็ว อิ่มนาน ไม่รู้สึกหิวบ่อย ๆ จากโปรตีนที่มีมากกว่าธัญพืชชนิดอื่น อีกทั้งมีไฟเบอร์สูงช่วยระบบขับถ่าย และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้อิ่มนาน ไม่รู้สึกหิวบ่อย ๆ
3 มีไฟโตนิวเทรียนท์เควอซิทีน (Quercetin) ช่วยซ่อมแซมเซลล์เสื่อมสภาพและต้านการอักเสบ และมีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
พริกหวานยัดไส้ควินัว (Cr. gastronotherapy.com)
4 กินแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ในแต่ละวันชาววีแกนอาจไม่ได้รับโปรตีนเพียงพอ ควินัวช่วยได้เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นเกือบครบทั้ง 9 ชนิด และถ้าอยากกินให้ครบก็เพิ่มเมนูเต้าหู้และถั่วชนิดต่าง ๆ
ลูกชิ้นแพลนท์เบสควินัว (Cr.skinnyms.com)
5 เป็นทางเลือกสำหรับคนแพ้กลูเตนจากแป้งสาลี จากข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ คนที่แพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose) และคนเป็นเบาหวาน
ซุปควินัวแบบชาวเปรู - Sopa de Quinua กินตอนฤดูหนาว (Cr. perurail.com)
เมนูควินัว : ชาวอินคากินควินัวเหมือนกินข้าว ทำข้าวต้ม ตุ๋น ผัด สลัด ตอนนี้บดเป็นผงเหมือนแป้งทำขนมปัง ขนมอบ พาสต้า
คนไทยชอบหุงกับข้าวสวย หรือกินแทนคาร์โบไฮเดรตกับจานเนื้อ แทนมันฝรั่ง แทนขนมปัง ทำซุป ใส่สลัด ทำโจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวตุ๋น คนญี่ปุ่นทำซูชิ ทำแพนเค้ก ยัดไส้พริกหวานอบหรือย่าง ทำขนมเค้ก มัฟฟิ่น พุดดิ้ง ทำขนมขบเคี้ยว
ต้นควินัว (Cr. thespruce.com)
วิธีทำ : ล้างควินัวให้สะอาด โดยขัดเบา ๆ ให้สารซาโปนินที่เคลือบอยู่รอบเปลือกหลุดออก ไม่งั้นจะทำให้มีรสฝาดขม เสร็จแล้วแช่น้ำ 10-15 นาที
หุงในหม้อข้าว สัดส่วนควินัว 1 ถ้วย ต่อน้ำ 2 ถ้วย จะใช้วิธีนึ่งก็ได้ ควินัวสีขาวหุงเสร็จเร็วสุด รองลงไปคือสีแดง ที่มีวิตามินอีและไฟเบอร์สูงกว่าสีขาว ควินัวสีดำหุงนานกว่าใคร และมีสารแอนโธไซยานิน
คุกกี้แพลนท์เบสควินัว (Cr. foby.ch.com)
ควินัวปลูกในไทยได้แล้ว : ควินัว เป็นเมล็ดพืชนำเข้า ใครไม่อยากสร้างคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ตอนนี้ ควินัวปลูกได้ในเมืองไทย โดยมูลนิธิโครการหลวง กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาทดลองปลูกควินัว ภายใต้สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ จ.ลำพูน และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว โดยได้รับความอนุเคราะห์เชื้อพันธุกรรมจากสถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี
ควินัว 2 สายพันธุ์ แดงห้วยต้ม-เหลืองปาดะ (Cr. www3.rdi.ku.ac.th)
จากการศึกษาวิจัยการปลูกควินัวตั้งแต่ปี 2557 ตอนนี้ ควินัวสายพันธุ์ “แดงห้วยต้ม” และ “เหลืองปาดะ” ปลูกได้ในช่วงปลายฤดูฝน-ปลายฤดูหนาว โดยม.เกษตรศาสตร์ ได้ส่งมอบควินัวทั้ง 2 สายพันธุ์ ให้แก่มูลนิธิโครงการหลวง ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงในภาคเหนือปลูกในเชิงการค้า
ควินัวสลัด (Cr. sunrise.com.au)
และได้วิจัยอย่างต่อเนื่อง กำลังเตรียมขึ้นทะเบียนควินัวเมล็ดสีดำและสีน้ำตาลแดงอีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์นิลเกษตรหลวง และสายพันธุ์โกเมนเกษตรหลวง
ต่อไปคนไทยจะได้กิน ควินัว superfood + superseed ปลูกในไทยไม่สร้างคาร์บอน ฟุตพริ้นท์
อ้างอิง : www3.rdi.ku.ac.th, www.healthline.com