โอมากาเห็ด (Omakahed) เซ็ตเมนูเห็ด 6 อย่างจาก”ฟาร์มลุงรีย์”
ร้านอาหารเล็กๆ ฟาร์มลุงรีย์(Uncleree farm) เป็นอีกทางเลือกสไตล์รักษ์โลก คนกินสามารถรู้ที่มาที่ไปของอาหาร โดยเฉพาะเซ็ตเมนู"โอมากาเห็ด" นำเห็ดที่เพาะเองมาปรุงอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ฝีมือคนไทย
จากเลี้ยงไส้เดือน ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกเห็ดคอนโด มาถึงร้านอาหารเล็กๆ มีเซ็ตโอมากาเห็ด หรือที่เรียกว่า Omakahed เมนูเห็ดๆ ตามใจเชฟ 6 เมนู อีกธุรกิจรักษ์โลกของฟาร์มลุงรีย์ “Uncleree Farm” โดยชารีย์ บุญญวินิจ(รีย์)เจ้าของฟาร์มที่เดินบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์เกือบ 10 ปี ย่านเพชรเกษม ซอย46 แยก 11
อาศัยว่าเป็นคนช่างคิดตามสไตล์ตามสไตล์คนร่ำเรียนด้านมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ ทั้งความเป็นคนอารมณ์ดี มีเคราในแบบของเขา ทำเกษตรแบบคนเมืองที่ไม่เหมือนใคร เลี้ยงไส้เดือน ปลูกผัก ทำปุ๋ย ฯลฯให้เป็นเรื่องสนุก
โอมากาเห็ด ฟาร์มลุงรีย์
เมื่อไม่นานก็เริ่มทำให้ร้านอาหารเล็กๆ โดยคนในครอบครัว พร้อมเมนูในแบบของตัวเอง “โอมากาเห็ด” อาหารที่ปรุงจากส่วนต่าง ๆ ของเห็ด ทั้งเห็ดภูฐาน เห็ดหิมะ ในหนึ่งเซ็ตมี 6 อย่างสำหรับสองคน ก็คือ
-เห็ดหิมะย่างโชยุ เต้าหู้เย็นและกิมจิ
-เห็ดภูฐานดองโชยุ
-เห็ดหิมะดองน้ำมัน
-เห็ดหิมะย่างเนย
-เห็นภูฐานซุปมิโซะ
-เห็ดหิมะโคชูจัง เสิร์ฟกับไชเท้าดอง
เห็ดหิมะย่างโชยุ เต้าหู้เย็นและกิมจิ
เห็ดหิมะย่างเนย
ทั้งหมดเสิร์ฟมาพร้อมข้าวถ้วยเล็กๆ ถ้าไม่อิ่มขอเติมได้ ทั้ง 6 เมนูขนาดไม่เล็กเกินไป หากถามว่า ชอบจานไหนมากที่สุด คงต้องยกให้เห็ดหิมะย่างโชยุ เต้าหู้เย็นโรยสาหร่าย และกิมจิ
โอมากาเห็ด เป็นเซ็ตเมนูที่คนกินสามารถรู้ที่มาที่ไปของอาหาร ทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกันหมด ตั้งแต่การปลูกผัก การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเป็นปุ๋ย การเพาะเห็ดที่พวกเขาพยายามคิดนวัตกรรมให้ง่ายและไม่ซับซ้อน การดองผักและดองเห็ด จนมาถึงเมนูเห็ดๆ ที่คนกินได้อาหารสดๆ จากฟาร์ม แต่ต้องสั่งจองล่วงหน้ามีจำนวนจำกัดในแต่ละวัน
ภาพจากเฟซบุ๊ค Uncleree farm
จากฟาร์มเล็กๆ สู่เมนูอาหาร
จากไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร แต่มองเห็นคุณประโยชน์ขยะที่เกิดจากเศษอาหารในครัว ชารีย์เอามาทำปุ๋ยจนกลายเป็นเทรนด์ เลี้ยงไส้เดือนแนวตั้งติดกับกำแพงกันทั่วประเทศ
ตามประสาคนช่างคิด ชารีย์ทำให้ฟาร์มของเขามีชีวิตชีวา เป็นที่สนใจของคนเมือง เอาความรู้ด้านการเกษตรและงานศิลปะมาประยุกต์รวมกัน
และเมื่อถึงจุดหนึ่งชารีย์ ก็คิดว่าต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คิดว่าทำเกษตรเล็กๆ ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี
“ผมแก้ไขโดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ ใช้เซ็นเซอร์วัดความร้อน ความชื้น แต่เดิมผมปฎิเสธเทคโนโลยี แต่เราไม่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดให้กลับ เรามีบ้านเล็กๆ เราก็ต้องใช้ภูมิปัญญา” ชารีย์ เล่าไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมเริ่มเพาะเห็ดจากวุ้นไส้เดือนที่ใช้คั้นน้ำหมัก แล้วเหลือกาก ปกติกระบวนการเพาะเห็ดต้องมีเครื่องนึ่งก้อนเห็ด อัดก้อน ใช้เงินเยอะ แต่เราใช้มือทำอย่างเดียวจึงอยากส่งต่อความรู้ให้เด็กๆ ในโรงเรียน และคนที่สนใจ มีพื้นที่เล็กๆ ไม่มีความรู้ก็ทำได้
อย่างเห็ดหอมนมสด มูลค่ากิโลกรัมละพันบาท เราใช้ห้องเล็กๆ แค่สามคูณสามเมตรเพาะเลี้ยง แต่ปัญหาคือ ทำกินเองก็เรื่องหนึ่ง ถ้าทำขายก็อีกเรื่องเราต้องควบคุมบางอย่าง เราใช้หลอดไฟให้แสงเห็ด เพื่อให้ได้ทั้งเห็ดก้านอ้วน ก้านใหญ่ ทำเมนูที่เหมาะได้เลย” เขาเคยเล่าบนเวที TEDxSilpakornU เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และปัจจุบันเทคโนโลยีในการเพาะเห็ดได้พัฒนาไปอีกขั้น
สรุปง่ายๆ ว่า แรกๆ คิดแค่เรื่องขยะ แต่ตอนนี้คิดว่า อาหารที่ผลิต อย่างเห็ดเมื่อนำมาปรุงอาหาร ก็อยากให้ตัดแต่งน้อยที่สุด จะได้ส่งต่อไปร้านอาหาร แล้วใช้ให้คุ้มค่าที่สุดและเกิดขยะน้อยที่สุด
แต่ที่สุดแล้ว คิดใหม่ทำใหม่ นำเห็ดมาปรุงในเซ็ตเมนู 6 อย่าง โดยใช้ทุกส่วนของเห็ด เพื่อให้คนกินได้สัมผัสความอร่อยทุกส่วนของเห็ด
เหล่านี้คือ เรื่องของโอมากาเห็ด ที่ได้ชิมมาแล้ว
.............................
- สำหรับคนที่ชอบเห็ด โอมากาเห็ด เซ็ตละ 400 บาท สำหรับสองคน ไม่ทำให้ผิดหวัง
- ต้องจองล่วงหน้า เพื่อที่เชฟจะได้คำนวณวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสั่งล่วงหน้า แต่ขอก่อนว่าที่นั่นเป็นคาเฟ่เล็กๆ ติดกับฟาร์ม
- ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ค Uncleree farm