‘คอนยัค’ ‘หลุยส์ 13' ซีรีส์ 3 เขย่าหัวใจ 'นักสะสมเก็งกำไร'
‘เรมี มาร์แตง’ เจ้าของ ‘คอนยัค’ ชื่อดังและแพง ‘หลุยส์ 13’ เปิดรุ่น ซีรีส์ 3 เป็น ‘ลักชัวรี่คอนยัค’ แพงสุดจนเขย่าหัวใจ 'นักสะสมเก็งกำไร'
ข่าวใหญ่ในแวดวงคอนยัค (Cognac) และนักสะสมเก็งกำไร ในวงการสุราราคาแพง เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือการเปิดตัวคอนญักรุ่นใหม่ ซีรีส์ 3 ของ หลุยส์ 13
เรมี มาร์แตง หรือเฮรมี มาร์แตง (Rémy Martin) พร้อมวางตลาดคอนญักรุ่นใหม่ หลุยส์ 13 คาสค์ 42.1 (Louis XIII Cask 42.1) ลักชัวรี่คอนยัค (Luxury Cognac) ผลิตเพียง 775 ขวด
Centaur
Rare Cask เป็นซีรีส์ของ Louis XIII โดย Rare Cask 42.1 เป็นซีรีส์ 3 ก่อนหน้านั้นซีรีส์ที่ 1 เป็น Rare Cask 43.8. เปิดตัวปี 2004 และซีรีส์ที่ 2 เป็น Rare Cask 42.6 ปี 2009 ซึ่งรังสรรค์โดย เปียร์เฮร็ตต์ ตริเชต์ (Pierrette Trichet) เซลลาร์มาสเตอร์หญิง รุ่นที่ 5 ของหลุยส์ 13
Louis XIII Cask 42.1 บรรจุในโถดีแคนเตอร์ คริสตัล ของ Baccarat คอขวดเป็นทองและทองคำขาว ขณะที่น้ำเนื้อคอนยัครังสรรค์โดย บ๊าปติต ลัวโซ (Baptiste Loiseau) เซลลาร์มาสเตอร์ รุ่นที่ 5 ของหลุยส์ 13 ซึ่งเคยเดินทางมาแนะนำตัวที่เมืองไทยเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว
หม้อกลั่นคอนยัค
Louis XIII Cask 42.1 เป็นโอซ์-เดอ-วี (eaux-de-vie) จากเขตกรองด์ ชอมปาญ (Grande Champagne ) บ่มในถังโอ๊คเตียร์ซอง (Tierçons) ซึ่งเป็นโอ๊คชั้นเยี่ยมราคาแพงจากป่าลีมูแซง (Limousin) โดยบ่มไว้ในเซลลาร์โดเมน ดู กรอลเลต์ (Domaine du Grollet) ของเรมี มาร์แตง ในแคว้นคอนยัค
Louis XIII Cask 42.1
เริ่มจำหน่ายวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ในตลาดสหรัฐและอังกฤษเป็นหลัก ราคาขวดละ 47,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1,989,980 บาท ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ คือ 2 ล้านบาท
แต่ถ้าใครไม่อยากซื้อเป็นขวดหรือปัจจัยไม่เอื้ออำนวย ก็สามารถซื้อเป็นแก้วได้ โดยขายตามบาร์ต่าง ๆ ใน 13 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ อังกฤษ และตะวันออกกลาง แน่นอนสนนราคาย่อมแพงกว่าซื้อเป็นขวด อาจจะตกแก้วละเป็นแสน !
หลุยส์ 13 รุ่นธรรมดา
หลุยส์ 13 รุ่นธรรมดาที่มีขายในบ้านเรานั้น ราคาประมาณขวดละ 100,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่พอขาย เป็นที่ต้องการของคนที่มีทั้งซื้อเก็บเพื่อเก็งกำไร และมอบให้เป็นของขวัญของกำนัล อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ ขนาดขวดเปล่าในบ้านเรายังขายได้ขวดละ 4,000 – 5,000 บาท
ส่วนหนึ่งของคอนยัคเก่าแก่
โอ๊ตซ์ เดอ วี ปีต่าง ๆ
Louis XIII Cask 42.1 ก็เช่นกัน เมื่อข่าวนี้ออกมาทำให้นักสะสมจ้องกันตาเป็นมัน แต่อย่างที่บอกมีขายเฉพาะสหรัฐและอังกฤษ เมื่อมาถึงฝั่งเอเชียที่มีนักเล่นแร่แปรธาตุใหญ่ ๆ อย่างจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ราคายิ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน เมืองไทยไม่ต้องพูดถึง เจออัตราภาษีสูง ๆ น่าจะถึง 2.5 ล้าน
เรื่องราวของ หลุยส์ 13 (Louis XIII) มีชื่อเต็มว่า Louis XIII de Remy Martin เป็นคอนยัคที่ริเริ่มโดยนายเรมี มาร์แตง ผู้ผลิตไวน์ชาวฝรั่งเศส มีสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดีคือผู้ชายที่มีส่วนลำตัวบนเป็นม้า (man-headed horse หรือ Centaur) ดำเนินกิจการต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี ปัจจุบันอยู่ในเครือ Rémy Cointreau ซึ่งก่อตั้งในปี 1991 และผลิตบรั่นดีหลายรุ่น
ถังบ่ม
ปี 1821 Rémy Martin เริ่มเบลนด์ Louis XIII จากโอซ์ เดอ วี (eaux-de vie) หรือ waters of life หลายร้อยระดับอายุ ก่อนจะพบสูตรพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากนั้นลูกชายของเขาคือ พอล เออมิลล์ เรมี มาร์แตง (Paul Emile Rémy Martin) จึงมาจดทะเบียนในปี 1874 ภายใต้ชื่อ Louis XIII Tres Grande Champagne - Age Unknown
เรมี มาร์แตง
เรมี มาร์แตง ตั้งชื่อรุ่น Louis XIII เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIII de France --1601-1643) ซึ่งปกครองฝรั่งเศสในช่วงที่ครอบครัวมาร์แตงอาศัยอยู่ในแคว้นคอนยัค พระองค์สนิทสนมกับครอบครัวนี้ และทำให้คอนยัคมีชื่อเสียงมากในตระกูล eaux de vie จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ไร่องุ่นของเรมี มาร์แตง
Louis XIII ผลิตจากเขตกรองด์ ชอมปาญ (Grande Champagne) แคว้นคอนยัค โดยเบลนด์จาก eaux-de-vie ประมาณ 1,200 ตัว ส่วนใหญ่นำมาจากเซลลาร์ของเรมี มาร์แตง บางตัวเก็บบ่มมากว่า 100 ปี อายุน้อยที่สุดคือ 40 ปี หลังจากเบลนด์แล้วจึงนำไปบ่มในถังโอ๊คดังกล่าวในตอนแรก
สำนักงานใหญ่เรมี มาร์แตง
สำหรับ Grande Champagne ไม่เกี่ยวอะไรกับแคว้นแชมเปญ แต่เป็นแหล่งผลิตบรั่นดีระดับคุณภาพเยี่ยมของแคว้นคอนยัค ได้รับการจัดเกรดเป็น กรู (Cru) ซึ่งมีอยู่ 6 Crus เรียงจากคุณภาพยอดเยี่ยมลงไปคือ Grande Champagne, Petite Champagne, Borderies, Fins Bois, Bons Bois และ Bois Ordinaires
การทำฝาขวด
เรมี มาร์แตง ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิต Fine Champagne Cognac ซึ่ง eaux-de-vie จะถูกคัดเลือกมาจาก 2 เขตที่ยอดเยี่ยมในเขตคอนยัคเท่านั้นคือ Grande Champagne และ Petite Champagne ที่สำคัญมีคอนยัคเพียง 17 % เท่านั้นที่เป็น Fine Champagne Cognac
ในจำนวนนี้ 80 % เป็นผลผลิตของเรมี มาร์แตง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 150 ปี ในการพิสูจน์ว่าเป็นสุดยอดคอนยัคของโลก
แก้วคริสตัลเจียระไน
ขวดที่บรรจุ Louis XIII เป็นทรงโถแก้ว (Decanter Crystal) ทำจากคริสตัลน้ำหนึ่งเรียกว่า Baccarat Crystal Flur de Lis ผลิตโดย Baccarat มาตั้งแต่ปี 1937 ก่อนหน้านั้นผลิตโดย St Louis ขณะที่สต็อปเปอร์หรือที่ปิดขวดเป็นคริสตัล fleur-de-lys crystal ทั้งหมดเป็นเครื่องแก้วสไตล์บาโร้ก (Baroque) เป็นศิลปะสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ขวดนี้ผลิตตามแบบขวดโบราณ ซึ่ง Emile Rémy Martin พบในพื้นที่เดิมที่เป็นสนามรบที่ Jarnac อยู่ทางตะวันออกของคอนยัค
ขวดเปล่ายังมีราคา
ขณะที่แก้วที่ใช้เสิร์ฟก็ต้องเป็นแก้วพิเศษ ออกแบบเพื่อใช้กับ หลุยส์ 13 โดยเฉพาะ เป็นแก้วเจียระไนอย่างดี ไม่ใช้แก้วที่เสิร์ฟคอนยัคทั่วไป
ในแวดวงของนักสะสมนักเก็งกำไร คอนยัค ก็เหมือนวัตถุโบราณอื่น ๆ ของพวกนี้ที่มีราคาแพง ย่อมมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เสกสรรปั้นแต่งราคาขึ้นมา นึกอยากจะขายเท่าไรก็ขาย