กิน ‘กระเทียม’ วันละ 1-2 กลีบ ‘ลดคอเลสเตอรอล’ ได้จริงหรือ
‘กระเทียม’ เป็น ‘ยาอายุวัฒนะ’ เคยมีกระแส 'กินกระเทียมลดคอเลสเตอรอล' เรื่องจริงคือถ้าไขมันสูงมากต้องปรึกษาแพทย์ ประโยชน์ของกระเทียมคือป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือด ลดอัตราเสี่ยงโรคหัวใจ
องค์การอนามัยโลก รายงานว่า หากลดระดับคอเลสเตอรอลลง 10% สามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ 50%
กระเทียม การแพทย์แผนไทยจัดเป็นสมุนไพรรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยทำความสะอาดเส้นเลือด ป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากงานวิจัยยุคใหม่เชื่อว่า กระเทียมช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดการแข็งตัวของเลือด ลดความดัน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและไวรัส
(Cr.freepik.com)
ต้นกำเนิดของกระเทียม อยู่ในเอเชียใต้และเอเชียกลาง เป็นพืชสมุนไพรยุคแรก ๆ ที่มนุษย์ปลูกมานานราว 5,000 ปี หลักฐานที่เก่าแก่จากชาวสุเมเรียน ชาวอียิปต์โบราณก็มีประวัติใช้กระเทียมในอาหารและทำยา และนำกระเทียมใส่ไหฝังไปพร้อมกับฟาโรห์และผู้ปกครองชั้นสูงเมื่อวายชนม์
ในจีนบันทึกการใช้กระเทียม เกิดขึ้นยุคราชวงศ์เซี่ย ย้อนหลังไป 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับยุคเมโสโปเตเมีย การแพทย์แผนจีนบอกว่า กระเทียมช่วยสร้างภูมิต้านทาน ทำให้หลอดเลือดสะอาด หัวใจแข็งแรง
กระเทียมอบทั้งลูกทาขนมปังแทนเนยหรือแยม (Cr.inspiredtaste.com)
กระเทียมใช้แทนเงินจ่ายค่าแรงให้กรรมกรที่มาสร้างพีรามิดในอียิปต์ นอกจากสรรพคุณทางยาและทำอาหารให้เกิดกลิ่นและรสชาติเฉพาะ ความเชื่อเรื่องกระเทียมกันผี กันภูติพราย กันแวมไพร์ ป้องกันโรคระบาด ยังแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในหลายวัฒนธรรม
กระเทียม เปรียบดังยาอายุวัฒนะ เมื่อพบว่าแรงงานสร้างพีรามิด ร่างกายแข็งแรงเพราะกินกระเทียม และส่งผ่านไปยังชาวกรีกว่า นักกีฬาโอลิมปิคที่แข่งวิ่งทนได้ชัยชนะเพราะกินกระเทียม จนถึงชาวนาในยุคโรมันใส่กระเทียมในอาหาร เชื่อว่ากินเป็นประจำร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรค
ความหมายของยาอายุวัฒนะ แฝงอยู่ในความเชื่อว่า กระเทียมช่วยเพิ่มพลังทางเพศ จึงอยู่ใน ผักห้ามบริโภค 5 ชนิดในเทศกาลกินเจ จากสารอัลลิซิน ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดี และเชื่อว่าบำรุงเชื้ออสุจิ เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกายดีก็ส่งผลให้ปฏิบัติกิจเรื่องอย่างว่าดีขึ้น
ขนมปังกระเทียม (Cr.tastingtable.com)
กระเทียมมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) มีสารกำมะถันเป็นองค์ประกอบหลายชนิด เช่น อัลลิซิน (Allicin), อัลลิอิน (Alliin), อะโจอีน (Ajoene), อัลลิลโพพริลไดซัลไฟด์ (Allyl Propyl Disulfide) มีสรรพคุณขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ภายนอกแก้กลากเกลื้อน เสมือนเป็นยาฆ่าเชื้อ
กระเทียมผง (Cr.freepik.com)
ประโยชน์ของกระเทียมในยุคใหม่ งานวิจัยยุคต่อมาพบว่า กระเทียมมีสรรพคุณลดไขมัน แต่เนื่องจากมีงานวิจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระเทียมต่างกัน เช่น ใช้กระเทียมสด, ชนิดผง, น้ำมันกระเทียม, แคปซูลกระเทียม, อาหารเสริม จนถึงสารสกัด ที่ให้ผลในการทดสอบแตกต่างกัน
กระเทียมช่วยลดคอเลสเตอรอล รายงานจากต่างประเทศระบุว่า กินกระเทียมในรูปแบบผงแห้ง ครั้งละ 600-900 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกระเทียมสด 1-2 หัวต่อวัน กินต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลอย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยปี 2016 ทดสอบในอาสาสมัครให้กินอาหารเสริมกระเทียม ติดต่อกัน 2 เดือน ช่วยลด LDL (คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) ลง 10% ในคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อระดับ HDL (คอเลสเตอรอลชนิดดี) และไตรกลีเซอไรด์
น้ำมันกระเทียม (Cr.image by jcomb on Freepik)
กระเทียมช่วยลดความดัน งานวิจัยในปี 2020 ในอเมริกา รายงานว่า อาหารเสริมกระเทียมชนิดผง ช่วยลดความดันโลหิต 16-40% ในอาสาสมัครที่มีความดันสูง
กินกระเทียมแค่ไหนดี : ถ้าประสงค์จะลดไขมันในวัยผู้ใหญ่ กินกระเทียมสดวันละ 1-2 กลีบ / หรือแบบผง 300 มก. ต่อวัน เพราะมีสารอัลลิซิน (Allicin) สูงพอสมควร หรือกินชนิดสารสกัด 7.2 กรัมต่อวัน หรือใช้สูตร 5 กรัม ต่อวัน (1 ช้อนชา) และกินควบคู่กับหอมใหญ่ ครึ่งหัวต่อวัน
กระเทียมอบ (Cr.healthyrecipesblog.com)
กระเทียมมีประโยชน์เปรียบได้กับยาอายุวัฒนะ จากสารอัลลิซิน (Allicin) มีสรรพคุณทางยา เมื่อเราหั่นหรือทุบกระเทียม สารนี้จะไม่สูญหาย ภาควิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้กินกระเทียมวันละ 7-12 กลีบ (เล็ก) หรือไม่เกินวันละ 1 หัวขนาดเล็ก กินสดหรือปรุงอาหาร
ผักปวยเล้งผัดกระเทียม (Cr.klopotenko.com)
เพราะกระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เสริมการไหลเวียนของเลือด ป้องกันอาการปวดข้อ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดอัตราเสี่ยงโรค NCDs
สารอัลลิซินและซัลเฟอร์ในกระเทียมช่วยลดปัญหาผมร่วง แก้ปวดข้อ ป้องกันแมลงกัดต่อย
ข้อควรระวัง : กินกระเทียมมากเกินไปอาจทำให้มีกลิ่นปาก คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ากินเกิน 2 หัวต่อเนื่องทุกวัน อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ถ้ากินตอนท้องว่างอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ
ข้าวผัดกระเทียม (Cr.coupleeatfoods.com)
กระเทียม มีคุณสมบัติทำให้ลิ่มเลือดไม่แข็งตัว เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรกินกระเทียมควบคู่กับยากลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีปริมาณไขมันในเลือดสูงมากกว่า 190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรพบแพทย์มากกว่าที่จะกินผักผลไม้ หรือหายามารับประทานเอง
กระเทียมดอง (Cr.yumofchina.com)
กระเทียมในชีวิตประจำวัน : ถ้ามีไขมันสูงไม่มากนัก ใส่กระเทียมในอาหารพอช่วยได้ และเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าต้องงดหรือเลี่ยงอาหารอุดมไขมัน กินผักให้มาก ออกกำลังกายให้พอ
กระเทียมเป็นยาอายุวัฒนะ (Cr.image by jcomb on Freepik)
กระเทียม เป็นหนึ่งในเครื่องแกงเครื่องโขลกสำคัญของคนไทย (รากผักชี กระเทียม พริกไทย) เราใส่กระเทียมตั้งแต่ส้มตำ ต้มยำทำแกง ในอาหารจีน ผัด ทอด อบ นึ่ง กระเทียมอบทาขนมปัง กระเทียมดองแบบเค็มและหวาน ขนมปังกระเทียม ข้าวผัดกระเทียม ฯลฯ
อ้างอิง: technologychaoban.com, healthline.com, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล