มังคุดเป็น 'ซูเปอร์ฟู้ด' กิน ‘มังคุด’ วันละโล น้ำตาลมากไปมั้ย
'มังคุด' อุดมด้วยแร่ธาตุวิตามิน ไฟเบอร์ เป็นซูเปอร์ฟู้ดผลไม้ฤดูร้อน ช่วงนี้มังคุดราคาตก จะกินมังคุดวันละโลช่วยชาวสวน น้ำตาลจะขึ้นมั้ย
ผลไม้ไทย มังคุด ได้ชื่อว่าเป็น ราชินีแห่งผลไม้ มีรสหวานอมเปรี้ยว อร่อยถูกใจ อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินบี 9 (โฟเลท) แมงกานีส และไฟเบอร์ ชาวตะวันตกยกให้เป็นซูเปอร์ฟู้ดแห่งผลไม้เมืองร้อน
แต่มังคุดก็มีความหวานไม่น้อย ช่วงนี้มังคุดราคาตก นึกอยากช่วยชาวสวน กินมังคุดวันละ 1 โล ถ้าไม่เป็นเบาหวาน ถือว่าได้น้ำตาลฟรุกโตสจากผลไม้และแร่ธาตุวิตามิน แต่ก็ควรกินอย่างมีสติ
มังคุด (Cr.machquoctuanbiotech on Pixabay)
มังคุด 1 กิโลฯ 10-14 ลูก (คละขนาด) ปอกเปลือกออกแล้วเหลือเนื้อไม่เท่าไหร่ ถือว่ากินผลไม้ตามฤดูกาล ช่วยชาวสวนช่วงมังคุดราคาตก
มังคุดประโยชน์เยอะ บำรุงผิว ช่วยระบบขับถ่าย ลดอัตราเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยสมานแผล ลดการอักเสบ
คนโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้แทบทุกส่วนของต้นมังคุด เหมือนเป็นตู้ยาประจำบ้าน กินผลสด เปลือกมีสารแทนนิน คาเทชิน และโรซิน ใช้ทำยาพื้นบ้านต้านอักเสบ ในจีนใช้เปลือกมังคุดย้อมหนังให้เป็นสีดำ ไม้มังคุดใช้ทำเครื่องเรือน ทำถ่านไม้ เปลือกและผลตากแห้ง ต้มกับน้ำปูนใสดื่มเอาแต่น้ำแก้ท้องเสีย แก้บิด และรักษาแผล เป็นยาต้านอักเสบ
คนไทยนอกจากกินผลสด ยังมีมังคุดคัด (มังคุดที่ยังไม่สุกแช่น้ำเกลือ) มังคุดในแกงเผ็ด ยำมังคุด มังคุดลอยแก้ว ซอสมังคุด แยมมังคุด น้ำมังคุด น้ำส้มสายชูมังคุด ทำไวน์มังคุดก็ได้
น้ำมังคุดมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Cr.slurrp.com)
มังคุด สมุนไพรแห่งอนาคต : งานวิจัยยุคใหม่ใช้เปลือกมังคุด ใบ ผล แก่นไม้ ซึ่งมีสารแซนโทน (Xanthone) หลายชนิด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ สกัดทำอาหารเสริม ทำสบู่ พบสารจีเอ็ม-1 ทำสกินแคร์ ยังมีรายงานว่าอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งบางชนิด
ในไทยมียาทาแผลฆ่าเชื้อการ์ซิดีน (รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร) จากสารสกัดเปลือกมังคุด มียาสีฟันเปลือกมังคุด (รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร) ผสมใบพลูและใบฝรั่ง มีฤทธิ์ฝาดสมาน จากอดีตที่คนโบราณใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดบ้วนปากเพื่อรักษาอาการแผลในปาก
สบู่เหลวและสบู่ก้อนมังคุด จากเปลือกมังคุด มีสรรพคุณช่วยสมานผิว ดับกลิ่นกาย ยังมีครีมบำรุงผิว ครีมพอกตัว เกลือขัดผิว
แคปซูลมังคุด ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการยืดหยุ่นของข้อเข่า ลดอาการข้ออักเสบ
น้ำมังคุด เข้มข้นซึ่งมีส่วนของเปลือกและเมล็ดด้วยมีสารแซนโทน สรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
ยำผลไม้กับมังคุด (Cr.eatme.eu.com)
มังคุดมาจากไหน : ต้นกำเนิดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบทั่วไปในชวา สุมาตรา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เมียนมา ชาวอังกฤษเอาต้นมังคุดจากเกาะชวาไปปลูกในเรือนกระจกในอังกฤษ เมื่อปี 1855 ต่อมาชาวตะวันตกนำไปปลูกในแถบอเมริกากลาง ซึ่งเติบโตได้ผลดีในจาไมก้า กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ จากนั้นนำไปปลูกที่ฟลอริด้า
ยุคนั้นการนำเข้ามังคุดเข้าประเทศอเมริกาถือว่าผิดกฎหมาย กว่าฝรั่งจะได้กินมังคุดแบบถูกกฎหมายก็ปี 2007 ซึ่งพอได้กินก็ตื่นเต้น จากรสอมหวานซ่อนเปรี้ยว กลิ่นหอม และสีสันขาวสวยดูน่ากิน
(Cr.wallpapers.com)
เมื่อยุโรปแสวงหาอาณานิคม เข้ามากินมังคุดที่เกาะชวา พวกเขาบอกว่า รสชาติเหมือนลิ้นจี่ ผสมพีช + สตรอว์เบอร์ + สับปะรด ความจริงคือไม่รู้จักเพราะผลไม้เมืองหนาวมีแต่เบอร์รี่ ซึ่งรสชาติคล้ายกันไปหมด ไม่หอมหวานมีรสเข้มข้นเหมือนผลไม้เมืองร้อนอย่างบ้านเรา
ชื่อ Mangosteen มาจากไหน น่าฉงนมากเมื่อฝรั่งตั้งชื่อมังคุดว่า Mangosteen ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรเหมือนมะม่วงเลย ความจริงมาจากชาวดัทช์ที่บอกว่าดัดแปลงมาจากภาษามาเลย์ว่า Mangustan
ชื่อ Queen of Fruits มาจากไหน เล่ากันต่อมา (อย่างไม่มีหลักฐานแน่ชัด) ว่า เมื่อปี 1890 ควีนวิคทอเรียแห่งอังกฤษ อยากเสวยมังคุดมาก บอกว่าใครนำเข้ามาให้พระองค์เสวยจะประทานตำแหน่งอัศวินให้ เจ้าผลไม้สีม่วงเลยได้ชื่อว่า Queen of Fruits
กินมังคุดวันละโล ได้มั้ย : องค์การอนามัยโลก WHO แนะนำว่า เด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 5% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน หรือประมาณ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา ในคนปกติ แต่ถ้าเป็นเบาหวานต้องลดความหวานลงอีก
น้ำตาลในผลไม้ประกอบด้วย น้ำตาลกลูโคส, ฟรุกโตส, ซูโครส หวานจากผลไม้ก็ดีกว่าหวานจากน้ำตาลสังเคราะห์ เพราะได้แร่ธาตุวิตามินและไฟเบอร์ อย่างไรก็ตาม กินมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
(Cr.Art Rachen on Unsplash)
เมื่อเทียบน้ำตาลในผลไม้ต่อ 100 กรัม เป็นช้อนชา คงพอประเมินได้ว่า มังคุดกินวันละโล ได้มั้ย
กล้วยหอม ½ ผล (100 กรัม) ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 5.1 ชช.
แก้วมังกรขาว ¼ ผล น้ำตาล 2.4 ชช.
แก้วมังกรแดง ¼ ผล 2.0 ชช. / ฝรั่งแป้นสีทอง 1.4 ชช. / ขนุน 7.1 ชช./
เงาะ 4.5 ชช. / ชมพู่เพชร 2 ชช. / แตงโมกินรี 2 ชช. / ทุเรียนหมอนทอง 5.3 ชช./
ลำไย 10 ผล (100 กรัม) 4.4 ชช. / มะม่วงน้ำดอกไม้ 3.8 ชช. / มะละกอฮาวาย 2.5 ชช. / มังคุด 4 ผล (100 กรัม) 4.3 ชช.
อ้างอิง : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, doctor.or.th, Britannica.com