9 'ประโยชน์ของกาแฟ' +15 'เมนูกาแฟ' ที่คนสั่งมากที่สุด
'วันกาแฟโลก' 1 ตุลาคม คนไม่ดื่มกาแฟอาจรู้สึกเฉย ๆ แต่สำหรับ 'คอกาแฟ' ตอนเช้าต้อง 1 แก้ว เรียกความสดชื่น จึงควรรู้ 'ประโยชน์ของกาแฟ' และ 15 เมนูกาแฟที่คนสั่งมากที่สุด มีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของกาแฟ
1 เพิ่มพลังงาน สร้างความสดชื่น คาเฟอีนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยเพิ่มพลังงาน ขจัดความเหนื่อยล้า โดยสารอะดีโนซีน (Adenosine สารเคมีที่พบในเซลล์ของคนและอยู่ในยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ) และโดพามีน (Dopamine สารเคมีในสมอง เป็นสารแห่งความสุข) จะเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกตื่น ร่างกายสดชื่นขึ้น
คาเฟอีนช่วยกระตุ้นพลังงานเพิ่มขึ้นก่อนลงปั่นจักรยาน 12% และลดความอ่อนล้า ยังมีรายงานว่าดื่มกาแฟ 1 แก้ว ก่อนออกรอบช่วยให้นักกอล์ฟรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น
(Cre.Image by mindandi on Freepik)
2 ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 ในระยะยาว ตัวเลขระบุว่า คนดื่มกาแฟ 30 คน วันละ 1 แก้ว ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ 6% ด้วยกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ส่งผลต่อระดับอินซูลิน สามารถต้านการอักเสบและช่วยระบบเผาผลาญ
(Cre.wallpaperflare.com)
3 อาจป้องกันโรคอัลไซเมอร์ พบ 13 งานวิจัยบ่งบอกว่าผู้บริโภคกาแฟเป็นประจำลดอัตราเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ (ตีพิมพ์ในวารสาร National Institutes of Health ปี 2020) ในรายงานนี้พบว่า 29,000 คน พบว่ากาแฟช่วยเพิ่มระดับการรับรู้ ป้องกันเซลล์สมองเสื่อม
4 ป้องกันโรคเครียด แก้ซึมเศร้า มีการศึกษาพบว่าการดื่มกาแฟวันละ 1 แก้ว ช่วยคลายเครียดได้ 8% ในจำนวนอาสาสมัครที่ทดลองดื่มกาแฟ พบว่า ถ้าดื่มวันละ 4 แก้ว ช่วยลดโรคเครียดได้มากกว่าคนที่ดื่มวันละแก้ว การศึกษายังเชื่อมโยงว่าใน 200,000 คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า
(Cre.Freepik)
5 ป้องกันโรคตับ การศึกษาที่น่าสนใจนี้อ้างอิงจาก Center for Disease Control and Prevention ระบุว่า ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 2 แก้ว มีส่วนเชื่อมโยงกับสภาวะตับเหลือง ตับอ่อนแอ และป้องกันโรคมะเร็งตับได้ 71% มากกว่าคนที่ดื่มวันละ 1 แก้ว ที่ลดอัตราเสี่ยงได้ 15% โดยคาเฟอีนมีผลต่อระดับความยืดหยุ่นและเนื้อเยื่อในตับ
(Cre.Image by Valeria Aksakovaa on Freepik)
6 ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ผู้ดื่มกาแฟวันละ 3-5 แก้ว พบว่าป้องกันโรคหัวใจ 15% และลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 21% (งานวิจัยจาก Center for Disease Control and Prevention อเมริกา) จากตัวเลขอาสาสมัคร 21,000 คน อย่างไรก็ดีถ้าดื่มปริมาณนี้อาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้ คนที่มีความดันสูงอยู่แล้วไม่ควรดื่มปริมาณมากเกินไป
(Cr.Kitera Dent Unsplash)
7 ลดความเสี่ยงโรคเกาต์ งานวิจัยพบว่า คนอายุ 40 ปีขึ้นไป หากดื่มกาแฟวันละ 3-6 แก้ว ช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อเนื่องมาจากกรดยูริกที่มากเกินไป และลดความเสี่ยงโรคเกาต์ลง 60%
8 เพิ่มพลังงานนักกีฬา ดื่มกาแฟก่อนออกกำลังกายทำให้รู้สึกมีพลังเพิ่มขึ้นการเคลื่อนไหวร่างกายลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดียังเกี่ยวข้องกับอายุ ระดับไขมัน และน้ำหนักตัว และจากปริมาณคาเฟอีนที่ส่งผลต่อร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
อัฟโฟกาโต้ (Cr.insanelygoodrecipes.com)
9 ช่วยให้อายุยืนขึ้น เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของกาแฟที่ว่าช่วยสุขภาพหัวใจ จาก 40 รายงานการศึกษาบอกว่า ดื่มกาแฟวันละ 2-4 แก้ว ลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสัมพันธ์กับน้ำหนักตัว และการบริโภคแอลกอฮอล์ของแต่ละคนด้วย จากงานวิจัยพบ 1,567 ตัวอย่างของคนที่ดื่มกาแฟทุกวันลดอัตราเสี่ยงเสียชีวิตในอีก 12-18 ปีต่อมา โดยเฉพาะลดความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ
(Cr.roastycoffee.com)
15 เมนูกาแฟยอดนิยม ประมวลจากนักดื่มกาแฟทั่วโลกโดย www.thirdwavecoffeeroasters.com มีดังนี้
1 เอสเพรสโซ่ เข้ม ขม เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และยอดนิยมที่สุด ได้กลิ่นและรสชาติที่เข้าถึงความเป็นกาแฟมากที่สุด
2 ลาเต้ ชาวอเมริกันนิยมไอซ์ลาเต้ไม่น้อย ถ้าเทียบกับคาปูชิโนเย็น ในขณะที่ลาเต้ร้อนชนะคาปูร้อนด้วยด้วยสัดส่วนนมน้อยกว่า นมไม่เป็นฟอง (ดื่มแล้วสะดุด) เหมือนคาปูร้อน สัดส่วนลาเต้คือกาแฟ 1 ส่วน นมอุ่น 2 ส่วน โฟมนม 1 เซนติเมตร
3 แบล็คคอฟฟี่ หรือกาแฟดำคือเอสเพรสโซ่เติมน้ำร้อน (ต่างจากอเมริกาโน่) กรณีไม่มีเครื่องทำกาแฟเหมือนอย่างในร้าน คนดื่มสามารถเติมนม น้ำตาล ได้ตามชอบ บางคนบอกรสชาติกำลังพอดี ทำให้ดื่มได้วันละหลายแก้ว
ไอริช คอฟฟี่ (Cr.Serious Eats image by Mariel De La Cruz)
4 ม็อคค่า เอสเพรสโซ่ผสมช็อกโกแลตและวิปครีมเล็กน้อย แค่นี้ก็ดีต่อใจ (ไม่ควรตีฟองนม) ร้านกาแฟที่ใจดี ลูกค้าสามารถเรียกร้องปริมาณช็อกโกแลตมากน้อยตามต้องการ
5 อเมริกาโน่ แค่เอสเพรสโซ่เติมน้ำร้อน เพื่อให้ดื่มกาแฟได้วันละหลายแก้ว ชื่อนี้มาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อบาริสต้าจากยุโรป เติมน้ำร้อนลงไปในเอสเพรสโซ่ชงให้ทหารอเมริกันดื่ม เพื่อลดทอนรสชาติที่เข้มข้นลง ที่มาของชื่อก็มาจากเรื่องง่าย ๆ แบบนี้เอง
6 คาปูชิโน่ ยกให้เป็นกาแฟอิตาเลียนคลาสสิก เบสจากเอสเพรสโซ่ เติมนมอุ่นและโฟมหนา ๆ หน่อย สร้างรสชาติละมุน ชื่อนี้มาจากหมวกของนักบวชคาปูชินในอิตาลี
(Cr.thecoffeeshopaz.com)
7 แฟลตไวท์ คือเอสเพรสโซ่กับนมอุ่น แต่ไม่ควรเป็นนมรสหวานหรือเติมน้ำตาล แล้วต่างจากลาเต้ยังไง แฟลตไวท์ใส่นมมากกว่าจึงมีรสชาติอ่อนละมุนกว่า สัดส่วนทั่วไป เอสเพรสโซ่ 1 ส่วน นม 2 ส่วน ไม่มีโฟมนม
8 Café au Lait กาแฟคั่วเข้มกับนมอุ่น นมต้องทำให้อุ่นจนถึงร้อน และทำให้เป็นฟองเล็กน้อยแล้วเทบนกาแฟ นิยมมากในฝรั่งเศส เสิร์ฟกับอาหารเช้า
9 มัคคิอาโต้ (Macchiato) หมายถึง marked, spotted หรือ stained คือเอสเพรสโซ่กับโฟมนมที่ค่อย ๆ หย่อนลงเป็นจุดใหญ่สีขาว ความพิเศษคือเอสเพรสโซ่เข้มข้น 2 ช็อต จึงเป็นกาแฟรสเข้ม คนอิตาเลียนชอบมาก บอกว่าดื่มตอนเช้ากับอาหารเช้าแล้วหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง
กาแฟ cold brew (Cr.insanelygoodrecipes.com)
10 โคลด์บรูว์ แช่กาแฟที่บดแล้วในน้ำเย็นในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 12 ชม.หรือมากกว่า ให้รสชาติกาแฟที่นุ่มละมุน บาริสต้าบางคนเสิร์ฟกับไซรัปกลิ่นต่าง ๆ จะให้ดีคือดื่มเพียว ๆ จะสดชื่นมาก
11 ไอริชคอฟฟี่ กาแฟ+วิสกี้+ครีม บางสูตรก็เติมน้ำตาลทรายลงไป 1 ช้อน จึงขม หวาน และเมา เสิร์ฟร้อน ๆ เหมาะมากกับอากาศหนาวเย็นในประเทศไอร์แลนด์
12 แฟรปเป้ (Frappe) กาแฟเย็นโฟมนมนุ่มพร้อมวิปครีม มีหลายสูตร เช่น เติมไซรัปกลิ่นวานิลลา เติมซอสช็อกโกแลต เอาที่ชอบเลย
กาแฟเวียดนาม (Cr.vietnamtrips.com)
13 กาแฟเวียดนาม ถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ กาแฟเวียดนามดื่มสนุก ร้านกาแฟในเวียดนามมักเสิร์ฟหวาน บ้างใส่ครีมข้น
14 อัฟโฟกาโต้ (Affogato) เหมือนกินไอศกรีมซันเดแต่ได้รสกาแฟเข้มข้น คนอิตาเลียนถือว่าเป็นของหวาน สูตรคือเอสเพรสโซ่ร้อนโปะด้วยไอศกรีมวานิลลา ร้อนปะทะเย็น ขมปะทะหวาน
15 เรดอาย (Red Eye) พื้นฐานคือกาแฟดริป (ที่รสอ่อนละมุน) แล้วเติมเอสเพรสโซ่ 1 ช็อต ให้เข้มข้นขึ้น ถ้า Black Eye คือเติมเอสเพรสโซ่ 2 ช็อต Dead Eye เติม 3 ช็อตได้ตามใจชอบ
(Cr.peakpx.com)
ดื่มกาแฟแค่ไหนดี : การศึกษาประโยชน์ของกาแฟ คือดื่มกาแฟดำ ไม่เกินวันละ 4 แก้ว ถ้าดื่มกาแฟใส่นม ครีมเทียม น้ำตาล ก็จะได้แคลอรี่เป็นของแถม และมีข้อห้ามสำหรับบางคนที่แพ้กาแฟ บางคนดื่มแล้วก็ง่วงมาก บางคนก็ตาค้าง นอนไม่หลับทั้งคืน คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร และเด็กเล็กไม่ควรดื่มกาแฟ
อ้างอิง: healthline.com, thirdwavecoffeeroasters.com, National Institutes of Health