กินเจ 'ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566' เริ่มวันที่ 14-23 ต.ค. นี้
เทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่ 'ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566' จัดขึ้นวันที่ 14-23 ต.ค. มีขบวนแห่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงโชว์ ออกร้านจำหน่ายอาหารเจ 10 วัน 10 คืน
กรุงเทพมหานคร และ เขตสัมพันธวงศ์ ประกาศจัดงาน ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ชูแนวคิด ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล สืบสานงานบุญ เพื่อสร้างกุศลครั้งใหญ่ประจำปี วันที่ 14–23 ตุลาคม นี้
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์
ประสิทธิ์ องค์วัฒนา ประธานจัดงานประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ประธานสภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์และ พ.ต.อ.วุฒิชัย ไทยวัฒน์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6
ร่วมกันแถลงข่าว ประเพณีงาน เจ เยาวราช 2566 ณ ห้องบอลรูม ชั้น 10 โรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566
Cr. กรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทุกเทศกาลที่เป็นวัฒนธรรมมีความสำคัญ ส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
"ประเพณีงานเจ เยาวราช เป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญ สืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง และอนุรักษ์ความดีงามนี้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป
กรุงเทพมหานครมีนโยบายยกระดับสตรีทฟู้ด และผลักดันอาหารให้มีความสะอาดถูกหลักอนามัย ในงานเจปีนี้ เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสตรีทฟู้ดเยาวราชอย่างแน่นอน"
ประธานจัดงานและประธานสภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวว่า งานเจ เยาวราช เป็นประเพณีประจำปีที่เกิดจากแรงบันดาลใจและความศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราช ที่ได้สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย
"ด้วยการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ สร้างกุศล เจริญศีลภาวนา แผ่เมตตาให้สรรพสิ่งทั้งปวง สร้างเสริมสุขภาพ เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ทั้งพ่อค้า ประชาชน ผู้ประกอบการร้านอาหาร จนกลายเป็นเทศกาลงานเจในกรุงเทพฯ ที่มีผู้ถือศีลกินเจในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
Cr. กรุงเทพมหานคร
งาน ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนเยาวราช ภายใต้แนวคิด ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล
เพื่อให้ประชาชนได้สักการะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งเยาวราชที่อัญเชิญมาไว้ในมณฑลพิธี รักษาประเพณีถือศีลกินเจเยาวราชไว้อย่างสมเกียรติและยิ่งใหญ่ทุกปี
การจัดงานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ งานด้านพิธีกรรม และพิธีการ
งานพิธีกรรม มี 3 ส่วน ได้แก่
- มงคลสถาน : พื้นที่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช เป็นมณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวเยาวราชให้ความเคารพและต้อนรับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาโดยตลอด
- ตำนาน 22 ศาลเจ้า : ใน 1 ปี จะมีการรวมผงธูปจาก 22 ศาลเจ้าในเยาวราช มาเป็นมวลสารประกอบพิธี ประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดงานกินเจ 10 วัน
- จิตแห่งศรัทธา : คณะกรรมการจะทำพิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้าของการกินเจ กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง ทั้ง 12 องค์บนเกี้ยว โดยมีทหารจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก กองบัญชาการทหารบก ผู้ผ่านพิธีปวารณาตนถือศีลกินเจมาแล้วทั้งหมด ทำหน้าที่แบกและแห่ จากวัดโลกานุเคราะห์ มาประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ตลอดงานกินเจ 10 วัน ให้ประชาชนได้สักการะบูชา
งานพิธีการ
คณะกรรมการได้จัดการทำอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ ผัดหมี่สวรรค์ ธัญพืชมงคล โดยเชฟจากโรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช แจกฟรีให้ผู้ร่วมงาน จำนวน 1,000 จาน ในพิธีเปิดงาน วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566
โดยนำ ขนมฮ๊วกก๊วย ที่ผ่านพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าแล้ว มาเป็นส่วนผสมในอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ด้วย โดยบนขนมฮ๊วกก๊วยจะมีอักษรเจมงคล 4 ตัว ได้แก่ กิ้ว อ๋อง เซ้ง อ้วย
กิ้ว หมายถึง 9, อ๋อง หมายถึง กษัตริย์, เซ้ง หมายถึง ความสำเร็จ, อ้วย หมายถึง มวลมหาสมาคม
รวมแล้วคือ กษัตริย์หรือเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ได้ประธานความสำเร็จให้กับมวลมหาสมาคม ณ ที่แห่งนี้"
ในวันเดียวกัน จะมีขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมติพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม
- การแสดงโชว์เชิดมังกรปีนเสา ล่อแก้ว พ่นไฟ
- สิงโตต่อตัวตีลังกา
- ขบวนเทิดพระเกียรติ
- ขบวนจากผู้สนับสนุน และขบวนอื่น ๆ อีกมากมาย
- จำหน่ายอาหารเจ กว่า 150 ร้านค้า เต็มพื้นที่ 2 ฟากฝั่งถนนเยาวราช ทั้ง 10 วัน 10 คืน
กำหนดการ
- วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น.
พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง บนเกี้ยว ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ ไปประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช
- วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 – 20.00 น.
ขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมุติพระโพธิสัตว์กวนอิม ขบวนสิงโต มังกร ขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนจากผู้สนับสนุน ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง และสิ้นสุดที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช
- วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 20.00 น.
ขบวนแห่กระทงสะเดาะเคราะห์ ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – ถนนมังกร – ถนนทรงวาด – ท่าน้ำสวัสดี / ถนนตรีมิตร – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์
- วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 21.00 – 22.00 น.
พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง บนเกี้ยวกลับ ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์
.........................
อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร