'Flat White' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้!

'Flat White' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้!

เจาะลึก 'Flat White' กาแฟนมอีกสไตล์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หลังกูเกิ้ล ดูเดิ้ล จัดธีมเฉลิมฉลองหน้าโฮมเพจไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

หลังจากเห็น 'กูเกิ้ล ดูเดิ้ล' (Google Doodle) จัดธีมเฉลิมฉลองหน้าโฮมเพจของกูเกิ้ล เป็นภาพกาแฟนมที่เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองอย่าง 'แฟลต ไวท์' (Flat White) เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมโชว์ลูกเล่นกราฟฟิกเคลื่อนไหวแสดงวิธีชงเมนูกาแฟตัวนี้ และประวัติความเป็นมาพร้อมสรรพ ผู้เขียนจึงอยากต่อยอดเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนที่กูเกิ้ล ดูเดิ้ล ไม่ได้เอ่ยถึง เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ คิดน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เป็นวันที่มีการบรรจุคำ Flat White เพิ่มเข้าไปในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ๊อกฟอร์ด โดยให้ความหมายไว้ว่า "เป็นเมนูกาแฟที่ใส่นมร้อนลงไป แต่ไม่มีฟองนมเหมือนคาปูชิโน่" จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ครบ 13 ปีพอดี

อันที่จริง ผู้เขียนค่อนข้างรู้สึกแปลกใจที่เห็นกูเกิ้ล ดูเดิ้ล เลือกหยิบเอาเมนูกาแฟมานำเสนอเป็นธีมของวันที่ 11 มีนาคม ทั้ง ๆ ที่วันนั้นเป็นวันสำคัญระดับโลกของอีก 2 เหตุการณ์ คือ วันท่อประปาโลกกับวันนอนหลับโลก แต่ผู้เขียนเข้าใจว่า การนำเสนอเมนูกาแฟน่าจะสร้าง 'สีสัน' และ 'ดึงดูด' ความสนใจจากชาวโลกโดยเฉพาะคนรักกาแฟได้มากกว่า

สื่อออนไลน์ทั้งเทศและไทยเลยพร้อมใจยกให้ 11 มีนาคม เป็นวันกาแฟแฟลต ไวท์ อย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยมีการบัญญัติวันกาแฟดังกล่าวมาก่อน

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! กูเกิ้ล ดูเดิ้ล จัดธีมเฉลิมฉลองหน้าโฮมเพจ เป็นภาพกาแฟแฟลต ไวท์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา  (ภาพ : doodles.google)

ตามบันทึกปูมกาแฟโลก บอกเอาไว้ว่า 'แฟลต ไวท์' นั้น ถูกเสิร์ฟเป็นครั้งแรกใน 'ออสเตรเลีย' และ 'นิวซีแลนด์' ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าชาติใดเป็นต้นกำเนิดกาแฟเมนูนี้กันแน่ จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อต้นทศวรรษ 2010 จากนั้นก็มีเสิร์ฟตามร้านรวงกาแฟทั่วโลกจนฮิตติดเทรนด์ ในฐานะเมนูอีกทางเลือกหนึ่งของคนรักกาแฟนม นอกเหนือจากเมนูดาวค้างฟ้าอย่าง 'คาปูชิโน่' และ 'ลาเต้'

ปีค.ศ. 2015 เชนกาแฟดังอย่าง 'สตาร์บัคส์' (Starbucks) เปิดตัวกาแฟแฟลต ไวท์ เป็นเมนูใหม่ในตลาดอเมริกาเหนือ โดยบอกว่าคิดค้นขึ้นในออสเตรเลีย เรื่องนี้ทำเอาบรรดาสื่อแดนจิงโจ้ดีใจกันยกใหญ่ นำเสนอข่าวเสียหลายวัน เป็นการเกทับบลัฟแหลกคู่แข่งจากแดนกีวีไปในตัว           

แม้เรื่องราวต้นกำเนิดของแฟลต ไวท์ นั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่ตามที่นักประวัติศาสตร์ด้านกาแฟที่ชื่อ เอียน เบอร์สเตน บอกไว้ทำนองว่ากาแฟตัวนี้อาจมีต้นกำเนิดในอังกฤษช่วงทศวรรษ 1950 ผู้เขียนเห็นว่า ดูแล้วออกจะเลื่อนลอยมากไปสักหน่อย

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! พจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ๊อกฟอร์ด ให้ความหมาย Flat Whie ว่า เป็นเมนูกาแฟที่ใส่นมร้อนลงไป แต่ไม่มีฟองนมเหมือนคาปูชิโน่  (ภาพ :  Nadya Filatova on Unsplash)

ตามร้านกาแฟบ้านเรา เริ่มมีเสิร์ฟเมนูแฟลต์ ไวท์ เมื่อราว 5-6 มานี้เอง ผู้เขียนพอได้จิบเป็นแก้วแรก ก็เกิดติดใจขึ้นมาทันที เลยยกให้มีสถานะเป็นเมนูกาแฟนมประจำตัวในช่วงบ่าย ๆ ลืมไปเลยว่า 'ครั้งสุดท้าย' ที่สั่งลาเต้หรือคาปูชิโน่มาดื่มนั้นเป็นเมื่อไหร่กัน

หากมองแบบผิวเผิน กาแฟแฟลต ไวท์ อาจคล้ายคลึงกับกาแฟนมอย่างคาปูชิโน่และลาเต้ แต่ในรายละเอียดแล้ว มีความแตกต่างอยู่บ้างในเรื่องส่วนผสมและรสชาติ ซึ่งตามสูตรพื้นฐานแล้ว คาปูชิโน่กับลาเต้ ประกอบด้วยเอสเพรสโซ่, นมร้อนที่ผ่านการสตีม และฟองนม แต่สำหรับแฟลต ไวท์ นั้น โดยทั่วไปมักจะใช้คำว่า 'ไม่มีฟองนม' แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีนะแต่บางมาก ไม่ได้เป็นเลเยอร์หนา ๆ เช่นเดียวกับคาปูชิโน่หรือลาเต้

แน่นอนว่าไม่ใช่ลาเต้หรือคาปูชิโน่ย่อส่วน... 'สูตรดั้งเดิม' ของเครื่องดื่มกาแฟแฟลต ไวท์ นั้น มีสัดส่วนระหว่างกาแฟกับนม ดังนี้ ใช้เอสเพรสโซดับเบิลช็อต 1/3 และนม 2/3

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ยังถกเถียงกันไม่จบว่าชาติใดเป็นต้นกำเนิดของกาแฟแฟลต ไวท์ กันแน่  (ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash)

หรือบ้างก็ใช้เอสเพรสโซดับเบิลช็อต 60 มิลลิลิตร (มล.) หรือ 2 ออนซ์ กับนม 120 มล. หรือ 4.2 ออนซ์  เริ่มต้นการชงด้วยเอสเพรสโซ่ 2 ช็อต ตามด้วยนมร้อนจากการสตีมจนมีความเนียนละเอียดในระดับที่เรียกว่า ไมโคร โฟม (Micro Foam) สุดท้ายหยอดหน้าด้วยฟองนมเป็นจุดกลมเล็ก ๆ ตรงใจกลางแก้ว

ความที่มีสัดส่วนเอสเพรสโซ่มากกว่านม แฟลต ไวท์ จึงให้รสชาติกาแฟที่เข้มข้นมากกว่ารสหวานมันนุ่ม ๆ จากนมสด  เมื่อยกแก้วขึ้นจิบ รับรู้ได้ถึงรสสัมผัสอันนุ่มละมุนปราศจากฟองนมหนา นี่แหละครับ ที่เป็นคาแรคเตอร์ 'เฉพาะตัว' ที่ทำให้เมนูนี้ต่างไปจากกาแฟนมอื่น ๆ

บอกเลยว่ากลิ่นรสกาแฟตัวนี้ค่อนข้างสมดุล ถูกใจผู้เขียนมาก ๆ ต่างไปจากลาเต้หรือคาปูชิโน่ที่ให้รสชาติและกลิ่นนมสดนำหน้ากาแฟ 

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! ลาเต้, คาปูชิโน่ และแฟลต์ ไวท์ เป็นสูตรกาแฟนมที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันมาก ในภาพเป็นกาแฟลาเต้  (ภาพ :  Nathan Dumlao on Unsplash)

วงกลมสีขาวบางเฉียบลอยบนผิวกาแฟนั้น ถือเป็น 'สัญลักษณ์' ของแฟลต ไวท์ แบบดั้งเดิม และชั้นนมสีขาวที่ดูแล้วบางกว่ากาแฟนมอื่น ๆ ก็เป็นที่มาของชื่อ Flat White นั่นเอง

ต่อมามีการพัฒนาต่อยอด นำ 'ลาเต้ อาร์ต' หรือศิลปะจากฟองนมหรือโฟมนมบนถ้วยกาแฟ มาประยุกต์ใช้กับกาแฟเมนูนี้ บาริสต้าตามร้านคาเฟ่ทั่วโลกนิยมใช้ฟองนมละเอียดวาดเป็นลวดลายบาง ๆ เช่น รูปหัวใจ ใบเฟิร์น หรือดอกไม้ ส่วนนมวัวที่ใช้ประจำในตอนแรกนั้น ตอนนี้ก็มีหลายร้านหันไปใช้ 'นมจากพืช' เป็นทางเลือกแทน แล้วที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ก็นิยมนมข้าวโอ๊ตกันมาก

ทั้งสองประเทศนี้ มีคำเรียกชื่อกาแฟที่ดูมีความเฉพาะตัวมาก ๆ เช่น 'ช็อต แบล็ค' (Short Black) หมายถึงเอสเพรสโซหนึ่งช็อต หรือ 'ลอง แบล็ค' (Long Black) หมายถึงเมนูกาแฟที่เติมน้ำร้อนก่อนแล้วตามด้วยช็อตเอสเพรสโซ่ ซึ่งผลลัพธ์คือจะได้เครม่าสวยเนียนตากว่าเมนูอเมริกาโน่

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้!

เปรียบเทียบสัดส่วนเอสเพรสโซ่กับนมใน 3 เมนูที่คล้ายคลึงกัน คาปูชิโน่,ลาเต้ และแฟลต  ไวท์  (ภาพ : www.quora.com)

สำหรับสูตรทำแฟลต ไวท์ มีความต่างกันไปตามร้านกาแฟและพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนไปมากบ้างน้อยบ้างตามรสนิยมและกาลเวลา

ในออสเตรเลีย แฟลต ไวท์ จะเสิร์ฟกันในแก้วเซรามิกมีหูจับ โดยทั่วไปมีปริมาณพอ ๆ กับแก้วลาเต้ คือ 200 มล. หรือ 7 ออนซ์ ส่วนนิวซีแลนด์ มักเสิร์ฟในแก้วทรงดอกทิวลิป ปริมาณ 165 มล. หรือ 5.8 ออนซ์ 

เว็บไซต์ www.nespresso.com/th หรือเนสเพรสโซ ประเทศไทย บอกว่า กาแฟแฟลต ไวท์ แบบดั้งเดิม จะเสิร์ฟด้วยถ้วยที่มีขนาดเล็กกว่า ใส่เอสเพรสโซ่ดับเบิลช็อต เพื่อให้กาแฟมีรสที่เข้มข้นขึ้น ขนาดการเสิร์ฟที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 170 มล. หรือ 6 ออนซ์

แต่ถ้าเป็นสูตรแฟลต ไวท์ ของ 'แอนเน็ตต์ โมลด์วาเออร์' จากโรงคั่วกาแฟชั้นแนวหน้าในกรุงลอนดอน ชื่อ 'สแควร์ ไมล์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ส' ที่นอกจากเป็นบาริสต้ามือฉมังแล้ว เธอยังคั่วกาแฟให้ใช้ในรายการชิงแชมป์โลกบ่อย ๆ เขียนตำรับตำรากาแฟก็หลายเล่ม โดยสูตรของเธอคือ เอสเพรสโซ่ดับเบิลช็อต 50 มล. หรือ 1.7 ออนซ์, นมที่ผ่านการสตีม 130 มล.หรือ 4.5 ออนซ์ ตามด้วยฟองนมระดับไมโคร โฟม หนา 0.25 นิ้ว

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! สูตรกาแฟนมอย่างลาเต้และคาปูชิโน่ ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา เทียบกับแฟลต ไวท์ ที่เพิ่งรู้จักกันไม่กี่ปีมานี้  (ภาพ : Fahmi Fakhrudin on Unsplash)

โรงคั่วกาแฟสแควร์ ไมล์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ส ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2008 จัดเป็นหนึ่งในหัวหอกผู้บุกเบิกตลาดกาแฟแบบพิเศษ (speciality coffee) มีแอนเน็ตต์ โมลด์วาเออร์กับ 'เจมส์ ฮอฟฟ์แมน' เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ใช่ครับ... เป็นฮอฟฟ์แมน คนเดียวกับที่เป็นยูทูบเบอร์สายกาแฟฝีปากกล้า และอดีตแชมป์บาริสต้าโลกปี 2007 คนนั้นนั่นแหละ

เทียบกับกาแฟนมที่เป็นเมนูประจำร้านกาแฟอย่างคาปูชิโน่, ลาเต้ หรือแม้กระทั่งเดอร์ตี้ คอฟฟี่ แล้ว แฟลต ไวท์ ดูจะตกเป็นรองอยู่มากในเรื่อง 'ชื่อเสียง' และความเป็นที่รู้จัก เมื่อยังไม่รู้จักก็ยังไม่สั่งมาดื่ม แม้จะเห็นเขียนโชว์ไว้บนบอร์ดแสดงชื่อเมนูเครื่องดื่มตามร้านกาแฟก็ตาม ยกตัวอย่าง กลุ่มเพื่อน ๆ ของผู้เขียน ส่วนใหญ่ชอบกาแฟนมกันทั้งสูตรร้อนและเย็น เวลาเข้าร้านก็สั่งออเดอร์ทันทีว่า ลาเต้แก้วหนึ่ง.. คาปูชิโน่แก้วหนึ่ง

\'Flat White\' อีกสไตล์กาแฟนมที่โลกต้องรู้! กาแฟแฟลต ไวท์ เสิร์ฟในแก้วคริสตัล จากร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านบางนา กรุงเทพมหานคร  (ภาพ : Charlie Waradee)

พอได้ยินผู้เขียนสั่ง 'แฟลต ไวท์' เข้าเท่านั้น ก็ทำหน้างง ๆ กัน แล้วหันมาถามว่า คือกาแฟอะไรกันหรือ?

เมื่อกูเกิ้ล ดูเดิ้ล เลือกใช้กาแฟแฟลต ไวท์ เป็นธีมบนหน้าโฮมเพจของกูเกิ้ล น่าจะทำให้คอกาแฟได้ทำความรู้จักกับกาแฟนมสไตล์นี้กันมากขึ้น อย่างน้อยก็เข้าใจได้ว่า แม้เป็นกาแฟนมเหมือนกัน แต่ระหว่างลาเต้กับแฟลต ไวท์ ก็มีความต่างกันตรงอัตราส่วนของกาแฟต่อนม โดยแฟลต ไวท์ นั้น มีสัดส่วนเอสเพรสโซ่มากกว่านม 

ใครเป็นคอกาแฟสายนม แต่ชอบรสชาติกาแฟนำหน้านม อยากให้รับพิจารณา แฟลต ไวท์ ไว้ในอ้อมใจอีกหนึ่งเมนูครับ

........................................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี