'ทุเรียนโอวฉีหนามดำ' หอมเนียน เนื้อแห้ง ราคาดี กินอร่อย ปลูกได้ผลดีในไทย
‘ทุเรียนโอวฉีหนามดำ’ กำลังดัง บุกเบิกโดย ‘ธนิสร กำธรกิจตระกูล’ แห่ง 'สวนบ้านไร่ธนิสร’ ที่นำทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิมจากมาเลเซีย มาลงหลักปักฐานที่จันทบุรี ปลูกได้ผลดี รสชาติดีจนคนมาเลย์ยกนิ้วให้
เจ้าของสวนทุเรียน สวนบ้านไร่ธนิสร ธนิสร กำธรกิจตระกูล เล่าถึงที่มาของ ทุเรียนโอวฉีหนามดำ จากจังหวัดจันทบุรี ที่เดิมเป็นทุเรียนสายพันธุ์ “กะหริ่ง” ของมาเลเซีย นำมาปลูกที่ไทยได้ผลดี
“คนมาเลย์มาชิมที่สวนบ้านเรา เขาพูดคำแรกเลยว่า หาพื้นที่เมืองไทยแล้วปลูกเลย เพราะที่บ้านเขาเป็นเจ้าของต้นพันธุ์ก็จริง แต่ทำไมเนื้อถึงสู้ที่นี่ไม่ได้”
ทุเรียนโอวฉีหนามดำ เนื้อสีส้ม ปลายหนามมีสีดำ
เจ้าของสวน ทุเรียนโอวฉีหนามดำ จ.จันทบุรี ผู้เริ่มปลูกทุเรียนโอวฉีเล่า
“ทุเรียนโอวฉี รู้จักมาจะ 6 ปีแล้ว ตามชิมเนื้อก่อนประมาณ 1 ปี แล้วเริ่มไปดูพันธุ์ ดูการขึ้นรูป การปลูก ต้องใช้เวลา จนมั่นใจว่าน่าจะอยู่ที่บ้านเราได้ ไปดูที่เบตง ยะลา ต้นแม่ที่เรานำพันธุ์มาปลูก แล้วลงไปดูที่นราธิวาส ข้ามไปมาเลเซีย ไปดูต้นแก่ที่อายุ 30 กว่าปี และมาดูที่บ้านเราว่าคนที่เอามาปลูกก่อนประมาณ 2 ปี ปลูกแล้วการเติบโตเป็นยังไง เราตามดูจนมั่นใจ”
เจ้าของสวนทุเรียน สวนบ้านไร่ธนิสร เล่าถึงที่มาของทุเรียนหนามดำ
“คนมาเลย์เรียก โอวฉี เป็น สายพันธุ์กะหริ่ง มาจากหมู่บ้านกะหริ่งในมาเลเซีย คือต้นที่อายุกว่า 30 ปี อยู่ที่หมู่บ้านนี้ มีลูกอยู่ที่นั่น เลยตั้งชื่อว่าสายพันธุ์กะหริ่ง ส่วนโอวฉี เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึงทุเรียนหนามดำ”
สองปีแรกที่ลงไปดู ทุเรียนโอวฉีหนามดำ เป็นช่วงที่ทุเรียนมูซานคิง ดังมาก
มูซานคิงปิดทองในงาน บุฟเฟ่ต์ทุเรียน ที่สยามพารากอน
“จริง ๆ เราก็ไปเอา มูซานคิง มาปลูก แล้วติดต้นโอวฉีมาด้วย 200 ต้น พอได้มาก็แบ่งกันปลูก ตัวผมเองเอาไว้ส่วนหนึ่ง
หลังจากที่ปลูกแล้ว 4 ปี พอถึงปีที่ 4 เขาออกดอก พอออกดอกปุ๊บเราได้ชิมเนื้อกัน ทีนี้เกิดความตื่นเต้นแล้วครับ เพราะเนื้อเขาแปลกกว่าชาวบ้าน เนื้อเขาเป็นเอกลักษณ์มีสีส้ม เราก็มาคุยกันกับผู้ส่งออกในการทำตลาดว่า เนื้อสีส้มต่างจากทุเรียนอื่น และความเนียน ทุเรียนทั่วไปอย่างของบ้านเราจะมีเสี้ยนเนื้อ มีเส้นใย แต่โอวฉีไม่มีเส้นใยเลย
รวมทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ในงานเทศกาลผลไม้และบุฟเฟ่ต์ทุเรียน
เราพิสูจน์กันชัดเจนว่า พอ โอวฉี สุกงอมหล่นแล้วเอาไปเข้าตู้เย็น เนื้อเขาจะควบแน่นกลับคืนสภาพ จากที่เรามองว่าเละกลับไปเหนียวเหมือนเดิม อันนี้คือเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อีกอย่างเขาเป็นทุเรียนหนามสั้น พวกหนอนก็น้อยลง คือข้อดี เวลาหล่นเอามาตั้งไว้ที่บ้าน 3 วัน เขาไม่แตก เพราะเป็นทุเรียนที่เปลือกแข็ง ถ้าเป็นทุเรียนทั่วไปตั้งไว้จะระเบิดแล้ว จะฉีกออกจากกัน โอวฉีจะไม่ค่อยเป็น”
ส่วนความสุกจะรู้ได้ยังไง คุณธนิสร บอกว่า กลิ่นเหมือนทุเรียนสายพันธุ์ทั่วไปแต่จะไม่ส่งกลิ่นแรงมาก
“จะหอมเนียน ๆ ไม่หอมหวานเหมือนพวกหมอนทอง กระดุม ชะนี ซึ่งจะเป็นอีกกลิ่นเลย ส่วนความหวานจะแซงก้านยาว
ทุเรียนโอวฉี กินได้ 3 ระยะเลย ตั้งแต่ตอนห่ามความหวานจะอ่อน ๆ ระยะพอดีไก่ฉีกจะเหมือนหมอนทอง และระยะสุกงอม ถ้างอมเกินไปจับเข้าตู้เย็น เขาจะกลับมาคืนรูป กลายเป็นว่าเรากินได้ 3 ระยะ ถ้าเป็นสายพันธุ์บ้านเรา ถ้าข้ามระยะการกินไปแล้วก็หมดสิทธิ์ กลายเป็นน้ำแล้ว”
ธนิสร กำธรกิจตระกูล
กลายเป็นข้อดีของ ทุเรียนโอวฉีหนามดำ ทำให้เกษตรกรไทยสนใจเริ่มปลูกกันมากขึ้น
“หลายคนนำไปปลูก ผมวางเป้าไว้ที่ 6,000 พันต้น ตอนนี้เข้าปีที่ 6 ทุเรียนโอวฉี สามปีครึ่งก็ติดดอกแล้ว”
ปลูกที่ไหนก็ได้ผลดี ที่ภาคใต้ก็ได้ แต่ผลผลิตที่งอกงามดีนำมาจำหน่ายในงาน เทศกาลผลไม้ไทย และ บุฟเฟ่ต์ทุเรียน (วันละ 7 รอบ ๆ ละ 60 นาที ท่านละ 999 บาท โอวฉีไม่รวมอยู่ในบุฟเฟ่ต์) ที่สยามพารากอน นำมาจากสวนที่จันทบุรี
“โอวฉี ต้องการดินที่ไม่เป็นทรายจนเกินไป จริง ๆ ใช้ได้หมด อยู่ที่การจัดการของเจ้าของแปลง
ถ้าพูดถึงทุเรียนสายพันธุ์บ้านเรา ปัจจุบันฝั่งตะวันออก อีสาน เหนือ ฝั่งตะวันตก เชียงราย เขาก็ปลูกกันหมดแล้ว เราปลูกได้ทุกภาค ส่วนหนึ่งคืออากาศ ทุเรียนเป็นพืชที่ไม่มีเฉพาะในเมืองไทย ที่ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มีหมด แต่ระยะการออกของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน
บ้านเราฝั่งตะวันออก ออกในช่วงที่ที่อื่นไม่มี เขาหมดแล้วแต่เราออกดอก เลยกลายเป็นว่าตะวันออกได้เปรียบ ตรงที่ไม่ค่อยมีเพื่อนบ้านออกพร้อมกันกับเรา”
สำหรับ ทุเรียนโอวฉี จากแรกเริ่มปลูกที่เบตง แต่เจ้าของไร่ธนิสร นำไปปลูกที่ฝั่งตะวันออก
ทุเรียนก้านยาว
“พื้นถิ่นบ้านผมที่อำเภอสอยดาว ทำให้ออกก่อนได้ แต่ทุเรียนของอากาศที่สอยดาวเป็น ทุเรียนล่า หมายถึงออกรุ่นเดือนมิถุนายน ออกช้ากว่าคนอื่น ตอนนี้ทุเรียนในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน ขนาดผลประมาณกิโลกว่า ๆ อากาศเดียวกันสามารถทำให้ออกก่อนฤดูได้”
ทำไมผู้รู้เรื่องทุเรียนจึงนำโอวฉีไปปลูกที่ฝั่งตะวันออก แทนที่จะปลูกที่ภาคใต้
“แม้ว่าสายพันธุ์มาจากทางใต้ แต่ที่จันทบุรี เขาทำทุเรียนมาหลายสิบปีแล้ว ต้นทุเรียนบางส่วนเป็นรุ่นปู่แล้ว ดังนั้นอากาศสำหรับทุเรียน ถ้าเป็นแถวจันท์ ตราด ซื้อไปต้นหนึ่งแค่วางไว้กับดินเขาก็ขึ้น อากาศเหมาะสม
วางไว้ไม่ต้องลงหลุมก็ไม่ตาย รดน้ำบ้างเติมปุ๋ยบ้างก็ออกดอกตรงนั้นเลยครับ แต่เขตสอยดาวเป็นอากาศแบบอีสานต้องดูแลพิเศษ ปลูกไม่ดีก็ตายเหมือนกัน อากาศจะร้อนกว่าแถวโป่งน้ำร้อนที่อากาศเหมาะสมกว่า เป็นอากาศริมทะเล ในขณะที่สอยดาวความสูง 1,670 เมตร อากาศร้อน แห้งแล้ง ระบบการให้น้ำต้องระวัง”
แม้ว่าโอวฉีเติบโตดีที่เมืองจันท์ แต่คนปลูกทุเรียนบอกว่า โดยทั่วไปถ้าปลูกในเขตจันทบุรี ต้นจะโตสูงใหญ่กว่าเขตสอยดาว เนื้อที่ได้คือทุเรียนที่ปลูกในเขตที่ความชื้นน้อยกว่าเนื้อจะแห้งกว่า อร่อยกว่า
“โอวฉีส่งประกวดชนะมูซานคิง 3 ปีซ้อนเลย ที่มาเลย์นะครับ แต่ทำไมไม่ดังมากเขาสั่งห้ามด้วย เพราะที่มาเลย์เขาชู มูซานคิง เหมือนบ้านเราชูหมอนทอง ถ้าเอาหนามดำเป็นหลักชาวสวนกลุ่มที่ปลูกมูซานคิงจะเสียหาย เขามองเรื่องการตลาดเพราะมูซานคิงทำตลาดมาก่อน
มูซานคิงที่มาเลเซีย ราคากิโลละ 580 บาทไทย ถือว่าแพง ของที่ปลูกบ้านเราราคาไม่เท่านี้ บ้านเรามูซานคิง 300-500 บาท ตลาดออนไลน์ 500 ตลาดส่งออก 350-400 มูซานคิงรสชาติจะหวานแหลมเมื่อเทียบกับโอวฉี จะไปคนละรสเลย จะหวานแหลมเข้มข้น และข้อเสียคืองอมแล้วจะติดขม”
อย่างที่บอกว่า อากาศบ้านเราดี ดินก็ดี ทุเรียนมูซานคิงก็สามารถปลูกได้ผลดีในไทย
“เขตตะวันออกบ้านเราปลูกมูซานคิงเป็นร้อยตันแล้ว บ้านเราทุเรียนปลูกได้ทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะเขตตะวันออก ไม่มีพันธุ์ไหนที่บอกว่าปลูกแล้วไม่ออกลูก
แม้กระทั่ง ยาวลิ้นจี่ ต้นหลักอยู่ที่เบตง เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก กลิ่นเหมือนลิ้นจี่ ราคากิโลละ 1,200 – 1,500 บาท”
ผู้พัฒนา ทุเรียนโอวฉีหนามดำ เผยว่า ตอนนี้บ้านเราปลูกโอวฉีอย่างแพร่หลาย
ทุเรียนโอวฉีหนามดำ
“หลังจากเราตามดู เข้าใจนิสัยเขาแล้วเราก็ทำงานง่ายขึ้น โอวฉีมีศักยภาพที่ปลูกในดินอากาศร้อนได้สบาย เกษตรกรที่สนใจผมให้ความรู้ทุกคน เราโอเพ่น ใครไม่มีความรู้ ไม่มีแหล่งต้นพันธุ์ ผมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกทุเรียนคุณภาพ มีต้นพันธุ์สมบูรณ์ราคาย่อมเยาว์พร้อมจำหน่าย เพื่อขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนไปด้วยกัน
การลงทุนโอวฉี มาตรฐาน 3 ปีครึ่งขึ้นไป เขาพร้อมออกดอก และขึ้นอยู่กับการจัดการของเจ้าของสวนด้วย ถ้าดูแลดี ๆ ก็เวลานี้ ถ้าไม่ดี 4 ปีก็ไม่พร้อม อยู่ที่การจัดการ”
โอวฉีอร่อยขนาดนี้ จะตีหมอนทองกระจุยหรือไม่ เจ้าของสวนทุเรียนตอบว่า
“ไม่ตีหรอกครับ เขาเป็นทุเรียนพันธุ์เบาที่ออกก่อนตลาด พอเขาออกก่อน หมอนทองออกตาม เรียกว่าเดินคนละสายงาน
โดยเฉพาะสายพันธุ์หมอนทอง บ้านเรามีทั้งปี ตั้งแต่จันทบุรี ระยอง ตราด ทุเรียนจะเริ่มสตาร์ทตั้งแต่กุมภา-มีนา ลงใต้ไปเป็นมิถุนา-กรกฎา จะมีตั้งแต่เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ฯ
คนมาเลย์ก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคู่แข่ง เขาไม่ได้กลัวเรา จากที่คนมาเลย์มาชิมที่สวนที่จันท์ เขาพูดคำเดียวเลยว่า หาพื้นที่ในเมืองไทยแล้วปลูกเลย เนื้อบ้านเราอร่อยกว่า ด้วยสภาพอากาศ บ้านเขาฝนเยอะด้วย และต้องไม่เป็นทุเรียนตัดคือปล่อยหมด แต่เมืองไทยตัดอย่างเดียว คือตัดลงมาให้เขาคายน้ำด้วยตัวเอง เนื้อทุเรียนจะแห้งกว่า”
เกษตรกรไทยมีเทคนิคหลากหลาย ตั้งแต่การดูแล การตัดผลและการให้น้ำยา
“น้ำยากึ่ง ๆ เป็นสารเคมีแต่ไม่เป็นพิษ ใช้เพื่อไล่ความร้อนออกจากทุเรียน เร่งให้ทุเรียนสุกเสมอกัน แต่ถ้าคนทำน้ำยาไม่เป็นจะทำให้ทุเรียนเสียตายได้ ตรงนี้น่ากลัว และทุกวันนี้อากาศร้อนและมือใหม่ก็เยอะ เสียหายเยอะ คนที่ทำน้ำยาไม่ดีก็ทำให้ทุเรียนไม่สวย
เหมือนเราเวลาเลือกซื้อทุเรียน ถ้าไม่สวยก็ขอเลือกดูก่อน ถ้าสวยเราก็อยากกิน”
สำหรับเกษตรกรที่สนใจโอวฉี คุณธนิสร แนะนำว่า
“ถ้าพร้อม และเข้าใจในวิถีของเขาทำได้สบาย ราคาท้องตลาดสูงกว่าหมอนทองแน่นอน และเป็นพืชที่เป็นพันธุ์เบา ไม่ต้องมาก มีคนละหน่อยขายก่อนเอาเงินใช้ก่อนได้แน่ ๆ คือหมอนทองยังไม่ออกเอาพันธุ์เบาไปขายก่อน
และ เป็นพันธุ์เบาราคาแรงกว่า ชาวสวนก็ได้ตังค์และไม่จำเป็นต้องปลูกเยอะ สามปีครึ่งออกก่อน 1 เดือน ถ้าปลูกพร้อมหมอนทอง และการป่วยของต้นโอวฉีเมื่อเทียบกันแล้ว หมอนทองป่วยมากกว่า ตัวนี้ไม่เป็น จะมีแค่รากเน่า แต่ก็ต้องรักษาให้ดี”
เจ้าของสวนทุเรียนโอวฉี บอกว่า ตัดโอวฉีมาตั้งแต่วันที่ 7 พค. ตัดมาแล้ว 3 เดือนซึ่งทยอยรุ่นออกมาเรื่อย ๆ
เทศกาลผลไม้ไทย
“ทุเรียนโอวฉีออกดอก 7 รุ่น พี่น้องไม่ไล่กันเอง ติดไว้ได้เลี้ยงไปเรื่อย แต่ถ้าเป็นหมอนทองจะไล่พี่ไล่น้องกันแล้วเอาแค่รุ่นเดียว โอวฉีไม่จำเป็น ปล่อยไปตามธรรมชาติ กินปุ๋ยกินน้ำปกติ เพียงแต่ลูกจะได้ไซส์ 2-3 กิโล ไม่เสมอ แต่เป็นทุเรียนที่ขายง่าย
สัปดาห์หน้าจะออกมากขึ้น ตอนนี้กิโลละ 999 บาท (ขายที่สยามพารากอน) ถ้าเป็นหน้าสวนกิโลละ 800 บาท ถ้าชาวบ้านล้งซื้อราคา 450 บาท แพงกว่าหมอนทอง ตอนนี้ราคาหมอนทอง 135-140 บาท”
อย่างไรก็ดี คนปลูกทุเรียนต้องดูแลประคบประหงม ไม่มีอะไรง่าย
“ผลกระทบตามฤดูกาลก็มี ตอนนี้ทุเรียนตะวันออกเจอฝนหนักที่สุด หรือหน้าแล้งเจอน้ำที่แห้ง ตอนนี้น้ำที่ปล่อยจากอ่างเก็บน้ำเริ่มหมด ต้องรีบสร้างสระน้ำเก็บสะสมน้ำไว้ และเลี้ยงลูกเก็บลูกหมดก็ต้องเลี้ยงต้นต่อ เพราะทุเรียนเป็นพืชที่ทำใบค่อนข้างเร็ว เก็บลูกเสร็จทำใบมามีเวลาให้พักฟื้นแค่ 4 เดือน
ธนิสร กำธรกิจตระกูล ผู้บุกเบิกทุเรียนโอวฉีหนามดำ
ปลูกทุเรียนปกติก็ท้าทายอยู่แล้ว ผลกระทบโลกร้อนก็ส่งผลเยอะ”
พิสูจน์รสชาติ ทุเรียนโอวฉีหนามดำ ในงาน เทศกาลผลไม้ไทย (Siam Paragon Tropical Fruit Parade 2024) ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน
วันนี้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 สอบถามโทร.02 610 8000, FB: Siam Paragon