ฉลาก ‘ชาโต มูตง ร็อธชิลด์’ กับเรื่องเล่าสนั่นโลก
ฉลากบนขวดไวน์สำคัญไฉน เป็นเพียงแผ่นกระดาษบาง ๆ แต่แท้จริงแล้วมีอะไรซ่อนอยู่มากมาย โดยเฉพาะ ฉลาก ‘ชาโต มูตง ร็อธชิลด์’ ที่ขึ้นชื่อว่าไวน์แพง, หายาก, ฉายาเช่น 5 เสือเมด็อก, 5 อรหันต์ เบื้องลึกของฉลากข้างขวดมีอะไรบ้าง
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ท่านหนึ่งบอกมาว่า อยากรู้เรื่องราว ฉลากชาโต มูตง ร็อธชิลด์ (Chateau Mouton Rothschild) มาอัพเดทสู่คนอ่านบ้าง
ฉลากไวน์ของ ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ เป็นเพียงแผ่นกระดาษบาง ๆ ปิดข้างขวด แต่แท้ที่จริงแล้วมีอะไรมากมายหลายอย่างเกินคำว่า ฉลากข้างขวด และเรื่องราวต่อไปนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น
โปสเตอร์ฉลากไวน์ที่มีการทำขาย
ฉลากไวน์ 5 เสือเมด็อก (ชาโต ลาฟิต ร็อส์ชิลด์, ชาโต ลาตูร์, ชาโต มาร์โกซ์, ชาโต โอต์ บริอง) ตามบัญชีการจัดเกรดเมด็อก ปี 1855 (The Médoc Classification of 1855) แล้ว ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการตลาดที่ไม่มีใครสู้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ฉลากไวน์ ที่เปลี่ยนไปทุกปีไม่ซ้ำกัน
ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ไวเนอรี
เจ้าของไอเดียอันบรรเจิดนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ บาฮรง ฟิลิป เดอ ร็อธไชลด์ (Baron Philipe de Rothschild) ที่เชิญศิลปินแขนงต่าง ๆ มาออกแบบฉลากตั้งแต่ วินเทจ 1945 เป็นต้นมา
มีศิลปินนานาชาติวนเวียนมาออกแบบฉลาก ที่สำคัญศิลปินเหล่านี้ไม่ได้เงิน สิ่งตอบแทนคือไวน์วินเทจที่ตัวเองออกแบบ และวินเทจอื่นที่เลือกได้จากเซลลาร์ เหนืออื่นใดคือเกียรติและความภาคภูมิใจ
วินเทจ 1953
ซึ่งมีเพียง 4 วินเทจเท่านั้น ที่ไม่มีศิลปินออกแบบฉลากคือ
วินเทจ 1953 เป็นปีที่ฉลองครบรอบ 100 ปีที่ตระกูลร็อธไชลด์ได้เป็นเจ้าของชาโต มูตง ในปี 1853 จึงนำรูปของท่านบาฮรง นาธาเนียล เดอ ร็อธไชลด์ (Nathaniel de Rothschild de Rothschild) มาไว้บนฉลากเพื่อเชิดชูเกียรติและน้อมรำลึกถึงผู้ก่อตั้งชาโต
วินเทจ 1977
วินเทจ 1977 เป็นปีที่ Queen Elizabeth แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จมาเยือนที่ชาโต มูตง อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 1977 เป็นเวลา 3 วัน จึงได้นำสัญลักษณ์ของพระองค์ประดับไว้ที่ฉลากของไวน์ปี 1977 เพื่อเป็นการแสดงถึงการน้อมคารวะในวโรกาสที่ราชินีเสด็จมาเยือน
วินเทจ 2000
วินเทจ 2000 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ถือเป็นปีทองของไวน์ฝรั่งเศส เจ้าของชาโต มูตง จึงได้นำแกะมาทำเป็นฉลาก เพราะคำว่า Mouton ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึงแกะ
วินเทจ 2003
วินเทจ 2003 เป็นวินเทจฉลอง 150 ปีที่ตระกูลร็อธไชลด์ได้ครอบครองชาโต มูตง ในปี 1853 จึงนำรูป Baron Nathaniel de Rothschild มาเป็นฉลาก นั่งเก้าอี้ที่ด้านหลังเป็นเอกสารแสดงสิทธิ์การได้ครอบครองชาโตแห่งนี้
วินเทจ 1993
ฉลากที่สร้างความฮือฮาปนความขบขันมากที่สุดคือ วินเทจ 1993 เป็นฉลากที่ชาวโลกเมรัยอมตะและคนทั่วไป หัวเราะอย่างท้องขดท้องแข็งให้กับการกระทำที่ไร้สาระของหน่วยงานที่ควบคุมแอลกอฮอล์ ยาสูบ และอาวุธปืน (BATF) สหรัฐ ที่สั่งแบนที่ขายในสหรัฐ ซึ่งปกติเป็นรูปสาวน้อยนอนทอดกายเปลือย แต่ฉลากที่ขายในสหรัฐเป็นฉลากไม่มีรูป ปล่อยว่าง ๆ แต่ข้อความอื่น ๆ มีครบ
ฉลากวินเทจ 1993 ออกแบบฉลากโดย บาลธัส (Balthus : 1908-2001) ศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายโปแลนด์-รัสเซีย มีชื่อเต็มว่า เคาน์ บาลธาซาร์ โคลสซอว์สกี้ เดอ โรซา (Count Balthasar Klossowski de Rola) ผู้มีชื่อเสียงทางด้านวาดภาพนู้ดสาวเอ๊าะ ๆ จะให้เขาวาดเป็นสาวใส่เสื้อผ้ามิดชิมก็ผิดวิสัยของเขา
วินเทจ 2004
ฉลากที่กำลังเป็นที่ต้องการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคือ วินเทจ 2004 ฉลากเป็นฝีพระหัตถ์ของ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ
เป็นภาพเขียนสีน้ำรูปต้นสน (Pine) ริมชายฝั่งโก๊ต ดาซูร์ (Cote d'Azur) หรือ เฟรนช์ริวีเอรา (French Riviera) เป็นชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสรวมถึงโมนาโก ที่พระองค์เสด็จไปพักผ่อน
ฉลากที่ออกแบบโดย ปิกาสโซ่
ปัจจุบันฉลากจริงถูกเก็บไว้ที่สถาบันประมูล Sotheby ในนิวยอร์ก เคียงข้างอดีตศิลปินชื่อดังที่เคยออกแบบฉลากชาโต มูตง ร็อธชิลด์คือ Picasso, Chagall และ Andy Warhol
วินเทจ 1987
ฉลากวินเทจ 1987 เป็นวินเทจที่บาฮรง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ เจ้าของเสียชีวิต โดย อานส์ เออร์นี (Hans Erni) ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นคนวาดหน้าของท่านบนฉลาก ข้าง ๆ มีกิ่งก้านองุ่นและลูกองุ่นเหมือนพวงหรีดไว้อาลัย ด้านล่างมีข้อความที่ลูกสาวคือบารอนเนส เขียนไว้อาลัยผู้เป็นพ่อ นับเป็นครั้งแรกที่สตรีได้เขียนข้อความบนฉลาก
ท่านบาฮรง ฟิลิปป์ กับลูกสาว
หลังจากท่านบาฮรง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ เสียชีวิต ลูกสาวคือ บาฮรอเนสส์ ฟิลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์ (Baroness Philippine de Rothschild) หนึ่งในตำนานหญิงเหล็กในวงการไวน์บอร์กโดซ์ ก็สานต่อภาระกิจของพ่อ หลังจากบารอเนสส์ เสียชีวิตในปี 2014 หน้าที่นี้ก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ ฌูเลียง เดอ บัวมาไชส์ เดอ ร็อธชิลด์ ลูกชายคนสุดท้องของท่านบาฮรอเนสส์
และศิลปินที่ได้รับเกียรติออกแบบชาโต มูตง ฉลากแรกภายใต้การบริหารของเขาคือ แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์ (Gerhard Richter) ชาวเยอรมัน เป็นฉลากของ วินเทจ 2015 ซึ่งเป็นหนึ่งในวินเทจคลาสสิก
ฌูเลียง เดอ ร็อธไชลด์
สำหรับชาโต มูตง ร็อธชิลด์ วินเทจล่าสุดที่กำลังอยู่ในท้องตลาดคือ วินเทจ 2021 ฉลากเป็นผลงานการออกแบบของชิฮารุ ชิโอตะ (Chiharu Shiota) ศิลปินชาวญี่ปุ่นวัย 51 ปี ที่ไปอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี มีชื่อว่า “Universe of Mouton” ออกแบบเป็นผู้ชาย 1 คนพร้อมเส้น 4 เส้นที่เชื่อมโยงไปยังลงรีสีแดงคล้าย ๆ ผลองุ่นเป็นตัวแทน 4 ฤดูที่มีผลถึงผลผลิตองุ่นในแต่ละปี ซึ่งเชื่อมโยงมายังอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ด้วย
วินเทจ 2021
ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ วินเทจ 2021 ได้คะแนน 96/100 จากการชิมล่วงหน้า (en primeur) และสถาบันประมูล Christie’s นำมาจัดเซ็ตประมูลแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566
ประกอบด้วย ขวดธรรมดา 6 ขวด / ขวดแม็กนั่ม (Magnum) หรือ 1.5 ลิตร 3 ขวด / ขวดดับเบิ้ลแม็กนั่ม (Double Magnum) หรือ 3 ลิตร 1 ขวด /ขวดอิมพีเรียล (Imperial) หรือ 6 ลิตร 1 ขวด / ขวดเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar) หรือ 15 ลิตร 1 ขวด ซึ่งวินเทจนี้ทำเพียงขวดเดียวเท่านั้น ผู้ชนะการประมูลนอกจากจะได้ไวน์ทั้งหมดแล้ว ยังจะได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาโต มูตง ร็อธชิลด์ และร่วมงานเปิดตัวฉลากวินเทจ 2022 ในปีหน้าด้วย
ไวน์ฉลากสอง วินเทจ 1994
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าฉลาก ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ ก็มีความเกี่ยวข้องกับเมืองไทยคือ วินเทจ 1994 เพราะบาฮรอเนสส์ ฟิลีปปีน เดอ ร็อธไชลด์ เดินทางมาเปิดตัวในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของชาโต มูตง ร็อธชิลด์ โดยจัดที่ร้าน Lyon สาขาเดอะ เพนนินซูลา ราชดำริ (ปัจจุบันเพนนินซูลาปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2565)
Le Petit Mouton Rothschild 1994
นอกจากนั้นยังการเปิดตัว เลอ เปติต์ มูตง ร็อธชิลด์ 1994 (Le Petit Mouton Rothschild 1994) ซึ่งเป็นไวน์ฉลากสองด้วย วินเทจ 1994 ออกแบบฉลากโดย คาเรล แอพเพล (Karel Appel /1921-1972 ) ศิลปินชื่อก้องโลกชาวดัทช์ เป็นทั้งจิตรกรแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionist) ภาพพิมพ์ ประติมากร ดีไซเนอร์ และนักเขียน เป็นศิลปินฮอลแลนด์คนแรกที่ได้วาดฉลากชาโต มูตง โดยวาดเป็นชนชาวพื้นเมืองกำลังเต้นรำอยู่รอบ ๆ ขวดไวน์
ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ ไวเนอรี
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงน้อยนิด เพราะ ฉลาก ชาโต มูตง ร็อธชิลด์ ทุกอณูเนื้อเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เล่าขานกันไม่รู้จบกระทั่งทุกวันนี้