'ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์' ตำนานคนไทยคนแรก เจ้าของ ‘ไวน์บอร์กโดซ์’
ทุกวันนี้ เศรษฐีจีนเข้าไปลงทุน ‘ไวน์บอร์กโดซ์’ ซื้อชาโตหลายแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคนไทย ‘ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์’ ที่ซื้อชาโตในบอร์กโดซ์ นับเป็นตำนานคนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของชาโตในบอร์กโดซ์
เมื่อวันที่ 12 – 18 กรกฏาคม 67 ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปเยี่ยมชม ไวเนอรี และชิมไวน์หลายชาโตในเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ของฝรั่งเศส ได้คุยกับเจ้าของไวน์ ไวน์เมกเกอร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน
หนึ่งในหัวข้อสนทนาคือ ตอนนี้เศรษฐีจีนไปลงทุนและซื้อชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะก่อนโควิดระบาด เศรษฐีจีนช็อป ไวน์บอร์กโดซ์ ไม่แพ้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมของฝรั่งเศส
ซึ่งก่อนหน้านั้น ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ ถือเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าไปลงทุนทำไวน์ในบอร์กโดซ์ และเป็นเจ้าของชาโตไวน์ระดับ กรองด์ ครู เสียด้วย
ภาพประวัติศาสตร์ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9
หลายคนตกใจว่า มีด้วยหรือ... ก็เลยเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้ว วันที่ 22 กรกฎาคม 2005 ผมได้พบกับ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำ บอร์กโดซ์ เป็นครั้งสุดท้าย ณ บ้านพักใจกลางเมืองบอร์กโดซ์ พร้อมดินเนอร์มื้อพิเศษ หลังจากนั้นผมก็ไม่เจอท่านอีกเลย จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในปี 2011
นอกจากจะเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำบอร์กโดซ์แล้ว นี่คือ ตำนานคนไทยเจ้าของชาโตไวน์ในฝรั่งเศสตัวจริง
แซงต์ เตมิยอง กรองด์ ครู 2020 (Cr.vivino.com)
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวนักธุรกิจโรงสีและห้างสรรพสินค้าแถวอีสาน มาเรียนหนังสือในกรุงเทพที่กรุงเทพคริสเตียนและอัสสัมชัญ แต่เพราะเป็นคนหัวแข็งพ่อแม่กลัวว่าจะเรียนไม่จบ จึงส่งไปเรียนต่างประเทศโดยเขาเลือกฝรั่งเศส เนื่องจากชอบวรรณคดีและศิลปะวรรณกรรมฝรั่งเศส ขณะที่คนไทยยุคนั้นมักจะเลือกอเมริกาหรืออังกฤษ
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เริ่มเรียนหนังสือที่เมืองตูร์ (Tour) แคว้นลัวร์ (Loire) ทางเหนือของฝรั่งเศส ก่อนจะพบรักกับภรรยาคือ มาดามมาร์ตีน รอย (Martine Roy) ณ หอสมุดของสถานศึกษา และใช้ชีวิตด้วยกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต มีทายาทเป็นชาย 1 คนชื่อ ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์ ขณะที่ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ จบด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ สถานที่เดียวกับ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีต รมว.ต่างประเทศเคยเรียน
มาดามมาร์ตีน รอย
ด็อกเตอร์หนุ่มเริ่มทำงานกับบริษัทส่งออก คอนยัค (Cognac) และ อาร์มายัค (Armagnac) จากที่ไม่รู้อะไรมากนัก จนกระทั่งกลายเป็น คอนยัค กูรู คือรู้ทุกอย่างตั้งแต่กระบวนการปรุงให้อร่อยจนถึงการตลาด นอกจากนั้นยังได้ชื่อเป็นผู้เปิดตลาดอาร์มายัคในญี่ปุ่น ขายดีจนกระทั่งมีแบรนด์อาร์มายัคเป็นของตัวเองชื่อ ปริ๊นซ์ อาร์มายัค
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์
ปี 1990 ขยับขยายธุรกิจเข้าสู่เส้นทางสายไวน์เต็มตัว ด้วยการทุ่มเงิน 30 ล้านฟรังก์ (ในตอนนั้นประมาณ 125 ล้านบาท) ซื้อ ชาโต แซงต์ โล (Chateau Saint Lo) ชาโตไวน์คุณภาพแห่งหนึ่งในตำบลแซงต์ เตมิยอง และเก่าแก่สร้างในช่วงศตวรรษที่ 16 ซ่อมแซมและปรับปรุงให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Vatana et Fils หรือ วาตานาและบุตร คำว่า วาตานา มาจากตัวหลังของนามสกุลคือวัฒน์
ชาโต แซงต์ โล ในบอร์กโดซ์
แม้จะเป็น ชาโตไวน์ ขนาดย่อม แต่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยไม่แพ้ชาโตใหญ่ ๆ ตอนที่ซื้อมานั้นเป็นเอโอซี (AOC) ธรรมดา พัฒนาคุณภาพจนได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็น แซงต์ เตมิยอง กรองด์ ครู (Saint-Emilion Grand Cru) พร้อมกับความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสู่ชั้นสุดยอดคือ แซงต์-เตมิยอง กรองด์ ครู คลาสเซ (Saint – Emilion Grand Cru Classe) เนื่องจากตำบลแซงต์เตมิยอง มีการปรับเกรดเลื่อนชั้นกันทุก ๆ 10 ปี
ภาพสเก็ตช์ชาโต แซงต์ โล ในอดีต
แซงต์ โล (Saint - Lo) หมายถึงนักบวชของแซงต์ เตมิลิยอง เป็นชื่อเดียวกับนักบวชในแคว้นนอร์มังดี และมีเมืองชื่อ Saint – Lo อยู่ที่นั่นด้วย อยู่ไม่ไกลจาก มองต์ แซงต์-มิเชล (Mont Saint -Michel) นักบวชเหล่านี้อพยพมาอยู่เป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้ว
องุ่นแมร์โลต์ (Cr.decanter.com)
ชาโต แซงต์ โล มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 80 ไร่ ใช้องุ่นแมร์โลต์ (Merlot) เป็นหลักตามสไตล์ไวน์ฝั่งขวา คือใช้แมร์โลต์ประมาณ 85 % และกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) 15% บ่มในถังโอ๊คฝรั่งเศส 18 เดือน แล้วบ่นในขวดอีก 9 เดือน วินเทจแรกที่ออกสู่ท้องตลาดคือ 1992 พร้อมกับส่งมาขายในเมืองไทย
ชาโตแซงต์ โล รุ่นประวัติศาสตร์
ชาโต แซงต์ โล เคยสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการขอพระบรมราชานุญาติเชิญ ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก พิมพ์ลงบนฉลากข้างขวดของวินเทจ 1995 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ผลิตเพียง 3,000 ลัง (36,000 ขวด) เพื่อขายทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยส่งมาขายเพียง 12,000 ขวด กลายเป็นไวน์เก็บสะสมของคอไวน์ ปัจจุบันหลายคนยังมีไวน์รุ่นนี้อยู่ในครอบครอง
ชาโตแซงต์ โล 2009
ผมพบกับ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ ครั้งแรกที่โรงแรมโอเรียลเต็ล เพื่อชิม ไวน์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก ดังกล่าว หลังจากนั้นทุกครั้งที่มาเมืองไทยท่านก็จะโทรมาชวนผมทุกครั้ง ช่วงนั้นมีสื่อไทยนำเสนอข่าวของท่านมากมาย
ในตอนนั้น Chateau Saint – Lo มีไวน์ฉลาก 2 ชื่อ แลร์มิตาจ เดอ แซงต์ โล (L’ermitage de Saint - Lo) และมีไวน์ฉลากอื่นด้วย เช่น อเล็กซิส เดอ แซงต์ โล (Alexis de Saint - Lo) เป็น ไวน์บอร์กโดซ์ เอโอซี โดยคำว่าอเล็กซี หรือ อเล็กซิส มาจากชื่อของนักผจญภัยผู้กล้าหาญของแซงต์ เตมิยอง
ผลิตวินเทจแรกคือ 1993 อีกฉลากหนึ่งชื่อ โจเซฟ ฟอร์แบง (Josep Forbin) เป็นชื่อของอดีตนายทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ส่งมาจากฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ลูกชาย ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์
มาดามมาร์ติน ภรรยาของ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ เป็นผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยมาก เธอจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบไทย ๆ และพูดภาษาไทยได้บ้าง ทุกครั้งที่แต่งตัวไปงานต่าง ๆ จะต้องมีสไบเฉียงเสมอ
ขณะที่ลูกชายคือ ราฟาเอล วงศ์สุรวัฒน์ จบด็อกเตอร์ด้านประวัติศาสตร์ และชอบศึกษาประวัติศาสตร์ของตะวันออก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทย จบแล้วเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ห้องบ่มไวน์ในชาโต แซงต์ โล
หลังจากท่านเสียชีวิตไป ชาโต แซงต์ โล ก็ปรับเปลี่ยนเจ้าของ เพราะลูกชายคนเดียวหันเหเส้นทางไปเป็นอาจารย์ อย่างไรก็ตามได้ข่าวว่าปัจจุบันลาออกแล้ว และไปทำไวน์ของตนเองอยู่ในแคว้นลัวร์
ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ กับ ชาโต แซงต์ โล เป็น ตำนานไวน์บอร์กโดซ์ คนไทยคนแรกที่โลกเมรัยอมตะได้จารึกไว้บนแผ่นดินบอร์กโดซ์ ที่เปรียบเสมือน เมกกะแห่งการทำไวน์ของฝรั่งเศส