'วอดก้า' ต้นตำรับจากโปแลนด์หรือรัสเซีย 'เมรัยอมตะ' ในวิถีคนเมืองหนาว
'วอดก้า' หรือ 'เหล้าขาว' ผลิตขึ้นในยุโรปตอนเหนือ รัสเซียและโปแลนด์ ต่างคุยว่าตัวเองเป็นเจ้าตำรับ ซึ่งคือ 'เมรัยอมตะ' ที่อยู่ในวิถีการกินดื่มของคนเมืองหนาว ที่ต้องอาศัยปริมาณแอลกอฮอล์สูงมาช่วยบรรเทาความเหน็บหนาวเกือบทั้งปี
วอดก้า (Vodka) มีความผูกพันลึกซึ้งกับชีวิตและจิตใจของคนรัสเซียและ ประเทศรัสเซีย จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเหล้าประจำชาติในศตวรรษที่ 16
บางตำนานเล่าว่า วอดก้าถือกำเนิดในโปแลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1405 แล้วแพร่หลายไปในประเทศแถบยุโรปตะวันออก และรุ่งโรจน์มีชื่อเสียงที่รัสเซียในศตวรรษที่ 14 เมื่อทูตแห่งสหราชอาณาจักรเดินทางไปมอสโก ได้รับการต้อนรับด้วยวอดก้า จากนั้นวอดก้าก็ได้ยกฐานะเป็น เครื่องดื่มประจำชาติชาติรัสเซีย
การกลั่นวอดก้าของโปแลนด์เทียบกับการกลั่นวิสกี้
บางข้อมูลระบุว่า วอดก้า พัฒนาขึ้นในยุโรปตอนเหนือ รัสเซีย โปแลนด์ และสวีเดน ต่างคุยว่าตัวเองเป็นเจ้าตำรับ
ปัจจุบันมีการผลิตทั่วโลกเช่น ยูเครน สวีเดน อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมนี เอสโทเนีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ซึ่งเสน่ห์ของวอดก้าทำให้โรแบร์โต คาวัลลี (Roberto Cavalli) แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง ต้องหันมาทำวอดก้าด้วย
แม้กระทั่งประเทศไทยก็มีชาวบ้านกลั่นกันหลายรายในฐานะเป็น OTOP ผมชิมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับรัฐบาลตั้งแต่ OTOP ยุคแรกเริ่ม มาจนถึงปัจจุบัน บางเจ้าพัฒนาการกลั่นได้ดีมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจะดีกว่านี้
วอดก้าจากหลากหลายที่ (Cr.ByTh1234-Own work, CC BY-SA 3.0, commons.wikimedia.org)
ที่ผ่านมาเรารับรู้เรื่องราวของวอดก้า จนคิดว่า วอดก้าคือรัสเซีย รัสเซียคือวอดก้า แต่จริง ๆ แล้ว วอดก้าเป็นวิถีหรือวัฒนธรรมแห่งการดื่มกินของคนเมืองหนาวอีกหลายประเทศ ซึ่งอาศัยปริมาณความสูงของแอลกอฮอล์มาช่วยบรรเทาความหนาวเหน็บที่ต้องเผชิญอยู่แทบทั้งปี
สมัยที่ยังเป็นสังคมนิยมภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียต คนรัสเซียต้องเข้าแถวรอคิวซื้อวอดก้ากลางอากาศหนาวเหน็บ เมื่อซื้อมาแล้วก็แบ่งกันดื่ม ทุกคนจะมีแก้วประจำตัว วอดก้าคนละเป๊กตามด้วยขนมปังดำแบบรัสเซีย และเกลือนิดหน่อย แค่นั้นก็เป็นความสุขของคนรัสเซียยุคนั้น ขณะที่วอดก้ากับคาเวียร์เป็นเมนูของบรรดาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น
วอดก้า มิวเซียมในมอสโก รัสเซีย (Cr.museums.eu)
โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 - 1953 กล่าวไว้ว่า “วอดก้านำมาซึ่งรายได้หลักของประเทศ การเลิกผลิตเหล้าวอดก้าเท่ากับการสูญเสียรายได้ก้อนมหึมา”
วอดก้า มิวเซียม ในโปแลนด์ (Cr.go2warsaw.pl)
วอดก้ามาจากโปแลนด์ เดิมการต้มกลั่นวอดก้าในโปแลนด์ รวมถึงรัสเซียครั้งดั้งเดิม มีเพียงตระกูลใหญ่ ๆ พระ และเภสัชกรเท่านั้นที่ได้รับอนุญาติให้ผลิต คนทั่วไปไม่สามารถทำได้
กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 วอดก้ากลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม และในศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาได้นำข้าวไรย์ (Rye) และธัญพืชอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบในการต้มกลั่นวอดก้า
ชื่อเดิมของวอดก้าคือ กอร์ซัลคา (Gorzalka) แล้วเปลี่ยนเป็น โอโควิตา (Okowita)
แสดงการกลั่นวอดก้าในวอดก้า มิวเซียม โปแลนด์
ปี 1546 พระเจ้ายาน โอลบราค แห่งโปแลนด์ พระราชทานอนุญาติให้ประชาชนทั่วไปต้มกลั่นวอดก้าได้ และสามารถขายได้อย่างอิสระ ทำให้เกิดวอดก้ายี่ห้อต่าง ๆ มากมายและปรุงแต่งกลิ่นรสกันหลากหลาย
คำว่า โอโควิตา ยังคงเรียกกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น วอดก้า ซึ่งนำมาจากคำเดิมใน ภาษาโปแลนด์คือ "โวดา" (Woda) แปลว่า "น้ำน้อย" หมายถึงเป็นเหล้าที่มีน้ำเล็กน้อย ขณะที่แอลกอฮอล์สูง
ชาวโปแลนด์รู้จักวิธีต้มกลั่นวอดก้า มาตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 อันเป็นห้วงเวลาที่วอดก้ากำเนิดเป็นครั้งแรก
วอดก้าที่ผลิตจากมันฝรั่ง
ในครั้งนั้นชาวโปแลนด์นำเอาน้ำองุ่นมาหมักจนเกิดแอลกอฮอล์ ก่อนจะนำมาต้มกลั่น ผลผลิตที่ได้คล้าย ๆ กับบรั่นดีชั้นแลว ไม่ใสและไม่บริสุทธิ์
การทำวอดก้าคุณภาพดีในโปแลนด์ เริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 นั่นรวมถึง วอดก้ารัสเซีย ด้วย เพราะมีพรมแดนติดกัน มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีการผสมกลิ่นและรสใด ๆ จึงใช้อยู่ในวงการแพทย์เท่านั้นคือใช้ผสมยาบางขนานและใช้ทำความสะอาดแผล
วอดก้าบาร์ในอดีต
ศูนย์กลางการผลิตวอดก้าของโปแลนด์ในยุคดั้งเดิมนั้น อยู่ใน 3 เมืองหลัก ๆ คือ ปอซนัญ (Poznan) ตอนกลางของประเทศ, คราเคา (Krakow) ทางใต้ของประเทศ และ กดัญสก์ (Gdansk) เมืองท่าสำคัญทางเหนือของประเทศ
ที่เมืองปอซนัญ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เคยมีหม้อต้มกลั่นขนาดใหญ่อยู่ถึง 49 ใบ ปัจจุบันส่วนหนึ่งของสีสันในเมืองนี้คือ วอดก้าบาร์ ที่มีอยู่แทบทุกมุมของเมือง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หลากหลายบรรยากาศให้ลิ้มรส
การเข้าคิวซื้อวอดก้าในอดีต
รองลงมาคือ คราเคา ขณะที่เมืองกดัญสก์ เมืองท่าอ่าวดานซิก ทะเลบอลติก โปแลนด์ใช้ที่นี่เป็นท่าเรือส่งวอดก้าไปขายยังสหภาพโซเวียตและทั่วโลก
มีเรื่องล้อเลียนกันว่า สงสัย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีในช่วงนั้น อยากจะดื่มและอาบวอดก้ามาก จึงหาเรื่องเข้าไปยึดฉนวนดานซิก ด้วยข้ออ้างว่าเยอรมนีเคยเป็นเจ้าของที่นี่
ที่สำคัญฉนวนดานซิก เป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939
วอดก้า มิวเซียมในรัสเซีย (Cr.flickr.com)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914) โปแลนด์เดินหน้าเต็มตัวในการขายวอดก้า และเข้าไปผูกขาดการผลิต รัฐบาลทำเอง ขายเอง โดยลูกค้าใหญ่คือสหภาพโซเวียต คล้าย ๆ กับเมืองไทยสมัยหนึ่ง เริ่มจากการผูกขาดการตั้งโรงกลั่น แล้วนำออกมาประมูล ใครที่เสนอค่าลิขสิทธิ์และใบอนุญาตการผลิตและขายสุราสูงสุดก็จะได้สิทธิ์ผูกขาดไป ช่วงนั้นมีเศรษฐีเกิดขึ้นหลายคน
วอดก้าแบรนด์ สเมอร์นอฟ
ครั้งหนึ่งในบ้านเราคิดว่า สเมอร์นอฟ (Smirnoff) วอดก้าที่มีชื่อเสียงก้องโลกผลิตในรัสเซีย จริง ๆ แล้วทำที่เมืองยอฟฟ์ ในโปแลนด์ ก่อนส่งออกไปขายทั่วโลก แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือในรัสเซีย จึงตั้งโรงงานที่รัสเซียในปี 1864 หลังจากนั้นจึงขยับขยายไปตั้งโรงงานในสหรัฐเมื่อปี 1934 ตามด้วยในอังกฤษในปี 1952
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี 1960 โปแลนด์ผลิตวอดก้าชนิดใสบริสุทธิ์ ซึ่งมีแอลกอฮอล์ประมาณ 50 ดีกรี ได้ถึง 66 ล้านลิตร ส่วนวอดก้าชนิดผสมผลิตได้ 8 ล้าน จากนั้นปี 1975 เพิ่มเป็น 116 ล้านลิตร วอดก้าชนิดผสม 50 ล้านลิตร
วอดก้า มิวเซียม ในเมือง Izmailove ในมอสโก (Cr.have-clothes2.com)
วอดก้า ชนิดผสมนั้นมีการผสมจากวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น บรั่นดีผลไม้ต่าง ๆ เฮิร์บต่าง ๆ และพืชพรรณต่าง ๆ ทำให้มีกลิ่นตั้งแต่กรุ่น ๆ ไปจนถึงฉุน รุนแรง มีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 ดีกรี (Zytnia) ถึง 79 ดีกรี (Special Zytnia)
หนึ่งในวอดก้าที่ได้รับความนิยมคือ วอดก้าที่ผสมจากหญ้าชนิดหนึ่งชื่อ Archangelica ขึ้นอยู่ในทุ่งหญ้าเชิงเขาทางทิศตะวันออกของโปแลนด์ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย หญ้าพวกนี้เป็นอาหารของวัวกระทิงป่า ไบซัน (Bison)
พื้นที่เชิงเขาที่มีหญ้าชนิดนี้ชื่อทาทรา (Tatra) ต่อมารัฐบาลประกาศให้เป็นป่าสงวน และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเบียโลวีซา (Bialowieza) ได้ชื่อว่าเป็นป่าที่ปล่อยกระทิงป่าแบบธรรมชาติแห่งสุดท้ายของยุโรป
วอดก้าที่ใส่หญ้ากระทิงไบซัน
ชาวบ้านเรียกหญ้าดังกล่าวว่าหญ้ากระทิงไบซัน (Bison Grass) มีชื่อเฉพาะคือ Hierochloe Odorata เมื่อกลั่นวอดก้าแล้วพวกเขาจะนำหญ้าแช่ลงไป ด้วยความเชื่อว่าเมื่อดื่มแล้วจะมีพลังดุจกระทิงป่า พร้อมกับเรียกวอดก้าพวกนี้ว่า ซูบอฟกา (Zubrowka) สังเกตง่าย ๆ คือมีหญ้าเส้นตรง ๆ คล้ายหญ้าคาของเราแช่อยู่ในขวดด้วย กลิ่นหอมกรุ่น ๆ
คนโปแลนด์บอกว่าถ้าจะกำซาบรสชาติที่แท้จริงของซูบอฟกาควรดื่มเพียว ๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันใช้เป็นส่วนผสมหลักของค็อกเทลหลายชนิด ในเมืองไทยก็สั่งเข้ามาขาย
พิพิธภัณฑ์วอดก้าในโปแลนด์ (Cr.go2warsaw.pl)
วันที่ 12 มิถุนายน 2018 ก่อนโควิดระบาด โปแลนด์ เปิด พิพิธภัณฑ์วอดก้า (Polish Vodka Museum) ในกรุงวอร์ซอ แสดงความเป็นมาของวอดก้าตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ใครที่มีโฮกาสไปเที่ยววอร์ซอ อย่าพลาดแวะชม