'ไวน์โปรตุเกส' รุกหนักในเมืองไทย มีทั้งไวน์ดื่มง่าย ๆ และไวน์ที่หนักแน่น
‘ไวน์โปรตุเกส’ ที่คนไทยรู้จักที่คุ้นเคยกันมากว่า 50 ปีคือ ‘มาเตอุส’ หรือ ‘มาตุส โรเซ่’ (Mateus) ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าไวน์โปรตุเกสมากขึ้น ขณะที่ ‘สถานทูตโปรตุเกส’ ประจำประเทศไทย ก็จัดงานโปรโมทไวน์มากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงที่ อาฟอนโซ ฆอร์เก มาเตอุส ดูอาเต (Afonso Jorge Mateus Duarte) มาเป็นทูตพาณิชย์ ได้จัดงานแนะนำผู้ผลิตไวน์จากโปรตุเกส ปีหนึ่ง 3-4 ครั้ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 จัดงาน Portugal Taste & Feel Asia 2024
ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ สุรวงศ์ มี ไวน์โปรตุเกส 150 ตัว จาก 11 ไวเนอรี ใน 7 เขต มาหาผู้นำเข้า ซึ่งงานนี้เขาตระเวนไปหลายประเทศในเอเชียเพื่อหาผู้นำเข้า
ค้นหารสชาติแห่งโปรตุเกส
โปรตุเกส (Portugal) เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแผ่ศาสนา ช่วยราชการและเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2054 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยอัลฟองโซ ดี อัลบูแคร์ก (Alfonso de Albuquerque) อุปราชโปรตุเกสประจำภาคอินเดียตะวันออก ได้ส่งทูตคนแรกคือ ดูอาร์ตี ฟีนานเดช (Duarte Fernandes) เข้ามาเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมทั้งสำรวจด้านการค้า
เขตวีโญ แวร์แด
ในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ.2087 อันโตนิโอ เดอ ไปวา (Antonio de Paiva) เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์ และพระองค์ทรงประกอบพิธี Baptise ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ดอม จาว (Dom Joao) ทรงพระราชทานที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย และสร้างโบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาขึ้นที่บริเวณหมู่บ้านโปรตุเกส และกงสุลตะวันตกชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งในกรุงเทพฯตั้งแต่รัชกาลที่ 2 คือโปรตุเกสนี่เอง
การเก็บองุ่นแบบดั้งเดิม
ปี 2554 จัดงาน ความสัมพันธ์ 500 ปี ไทย-โปรตุเกส Ola Siao Five Centuries of Thai-Portuguese Relationships ประกอบด้วยงานสัมมนา การแสดง ของที่ระลึกมากมาย รวมทั้งวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการอาหารการกิน ที่ยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ขนมฝรั่ง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ
ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน คนไทยรู้จัก ไวน์โปรตุเกส คือ มาตุส ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวโปรตุเกส และหนึ่งในไวน์ครูของคนไทยหลายคน
งาน Portugal Taste & Feel Asia 2024 ครั้งนี้สังเกตว่ามีอยู่เขตหนึ่งที่มีไวน์มาแนะนำให้ชิมมากกว่าครั้งก่อน ๆ คือ วีโญ แวร์เด (Vinho Verde) รองลงไปคือ อาเลนเตจู่ หรือ อาเลนเตโจ (Alentejo) ตามด้วย เตจู่ หรือ เตโจ (Tejo) นอกนั้นก็มีประปราย เช่น ลิสบัว (Lisboa) หรือลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกส เป็นต้น
เจ้านี้มีลูกเล่นคือไวน์ไม่มีฉลาก
วีโญ แวร์เด ไม่ใช่ชื่อพันธุ์องุ่น แต่เป็นเขตผลิตไวน์ระดับ DOC (Denominação de Origem Controlada) Vinho Verde ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Green Wine ไม่ได้หมายถึงสีของไวน์ แต่หมายถึงความใหม่และสดของไวน์ (young wine) โดยนัยก็คือไวน์ชนิดนี้ต้องดื่มใหม่ ๆ สด ๆ ไวน์จะออกสู่ท้องตลาด 3- 6 เดือนหลังการเก็บเกี่ยว
พอร์ตไวน์นำเสนอเจ้าเดียว
ประมาณ 11% ของไวน์ Vinho Verde ที่ผลิตทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นไวน์ขาวทำจากองุ่นอัลบาริโญ (Alvarinho) หรืออัลบาริโญ (Albariño) ตามภาษากาลิเซีย (Galicia) แคว้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน ที่มีพื้นที่ติดกัน
เจ้านี้มีไวน์ดี ๆ หลายรุ่น
ผู้ผลิต Vinho Verde ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ๆ มีประมาณ 20,000 กว่าราย แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่มินโญ แวลลีย์ (Minho Valley) และโดรู ลิททูรัล (Douro Litoral) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไวน์มาตั้งแต่ครั้งโบราณ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโปรตุเกส และติดกับทะเล ความชื้นสูง ทำให้รสชาติไวน์เฟรช และเป็นธรรมชาติ
เขตผลิตไวน์ในลิมา แวลลีย์ (Cr.juliedawnfox.com)
Vinho Verde มีทั้งไวน์แดง โรเซ่ และไวน์ขาว แต่ไวน์ขาวจะดังกว่า อย่างที่กล่าวในตอนแรกว่า ไวน์ขาวจะทำจากองุ่น Alvarinho ซึ่งเป็นองุ่นพันธุ์พิเศษเฉพาะ Vinho Verde เท่านั้น ผลผลิต Alvarinho ถูกควบคุมโดยกฏของ EU ต้องมาจากเขตย่อย (Sub-Region) ชื่อ Monção ทางตอนเหนือของ Minho แอลกอฮอล์ 11.5 – 13 % สูงกว่าองุ่นพันธุ์อื่นที่มีเพียง 8 – 11.5 % ส่วนอีกพันธุ์หนึ่งที่นิยมกันคือลูเรรู่ (Loureiro) ซึ่งปลูกได้ดีมากที่ ลิมา แวลลีย์ (Lima Valley) ที่เหลือก็มี Avesso, Azal, Batoca และ Trajadura เป็นต้น
Natural wine
Vinho Verde เป็นไวน์ขาวที่ดื่มง่าย สบาย ๆ หอมกรุ่น สดชื่น ดื่มกับอาหารประเภทกินเล่นได้หลากหลาย ไวน์ขาวนั้นผมชิมกับอาหารไทยที่มีผักสดเป็นส่วนประกอบอย่าง ยำถั่วพู ยำส้มโอ ยำปลาทู ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน สลัดต่าง ๆ พวกนี้อร่อยมาก ๆ ที่สำคัญต้องแช่ให้เย็น 10-12 องศา..
ไวน์ขาวจากวีโญ แวร์แด
อีกเขตหนึ่งที่ควรกล่าวถึง อาเลนเตโจ เป็นเขตผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของโปรตุเกส มีคนบอกว่าไวน์จากอาเลนเตโจจะมีในบาร์และร้านอาหารในโปรตุเกสแทบทุกแห่ง เพราะเป็นไวน์ที่เหมาะสมทั้งคุณภาพและราคา ที่สำคัญหลายคนอาจยังไม่รู้คือ อาเลนเตโจเป็นเขตที่ผลิตคอร์ก (Cork) ปิดขวดไวน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโปรตุเกส
ไวน์แดงจากเขตอาเลนเตโจ
อาเลนเตโจ ตั้งชื่อตามแม่น้ำเตจู่หรือเตโจ (Tejo River) ที่ไหลผ่าแยกประเทศเป็นสองส่วนแล้วไปลงทะเลที่เมืองลิสบอน อยู่ทางตอนใต้ของโปรตุเกส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาเซา มาเมดเด (São Mamede) ทิศตะวันออกติดประเทศสเปน ทิศใต้ติดกับอัลการ์ฟ (Algarve)
ไวน์แดงจากเขต DAO
เป็นอีกหนึ่งเขตผลิตไวน์ของโปรตุเกส ครอบคลุมพื้นที่ผลิตไวน์ 1 ใน 3 ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับกับเนินเขาที่งดงาม มีต้นมะกอก และต้นคอร์กโอ๊ค (Cork Oaks) ที่ใช้ทำคอร์ก ขณะที่อากาศมีทั้งเยือกเย็นเป็นน้ำแข็งในหน้าหนาว จนถึงร้อนและแห้งจัดในหน้าร้อน ส่วนดินก็มีหลากหลาย ทำให้สามารถปลูกองุ่นได้หลากหลาย
ไวน์จากเขต Douro
สำหรับองุ่นที่เป็นแม่ย่านางประจำแคว้น เป็นองุ่นเขียวชื่อ อันเตา วาซ (Antão Vaz) เป็นองุ่นที่ฟรุตตี้และแอสิดจัดจ้าน จึงเหมาะกับไวน์ขาวที่บ่มในถังไม้โอ๊ค รองลงไปก็มี Arinto และ Roupeiro ขณะที่ Diagalves, Manteúdo, Perrum และ Rabo de Ovelha ใช้เบลนด์กับพันธุ์อื่น
ไวน์ขาวจากวีโญ แวร์แด ที่บอกรสชาติด้วย
ส่วนองุ่นแดงที่ปลูกมากคือ อาราโกเนซ (Aragonez) หรือ เทมปรานีลโย (Tempranillo) นอกนั้นก็มี Alicante Bouschet, Alfrocheiro, Castelão และ Trincadeira ขณะที่ Moreto, Tinta Caiada และ Tinta Grossa เป็นองุ่นเบลนด์ ไวน์แดงเป็นไวน์สไตล์หนักแน่นและฟรุตตี้ ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ ทำจากองุ่นหลากหลายพันธุ์
ไวน์ขาวที่ใช้องุ่น 3 สายพันธุ์
ในด้านการควบคุมการผลิตเป็น Alentejo DOC (Denominacao de Origem Controlada) จะระบุในฉลากเป็น วีโญ รีจีนอล อาเลนเตจาโน (Vinho Regional Alentejano) หรือรีจีนอล อาเลนเตโจ (Regional Alentejo) แต่ถ้าเขตย่อยลงไปซึ่งมี 8 เขตก็สามารถระบุเขตย่อยนั้นได้เลย
ไวน์จากเขตลิสบัว
ประกอบด้วยบอร์บา (Borba), เอโวรา (Évora), เฮรเกงกอส (Reguengos), เฮรดองโด (Redondo), โมรา (Moura), วีดีเกรา (Vidigueira), กรันจา (Granja) และปอร์ตาเลเกร (Portalegre)
ไวน์ขาวจากวีโญ แวร์แด
นอกจากองุ่นพื้นเมืองแล้วยังมีการใช้องุ่นสายพันธุ์คลาสสิก อย่าง ซีราห์ (Syrah) และกาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) มาทำไวน์ประเภท Vinho Regional ด้วย ซึ่งปัจจุบันเขตนี้มีชื่อเสียงในการทำไวน์แดงเบลนด์ โดยใช้องุ่น 2 พันธุ์ดังกล่าว พันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งหรือทั้งสองพันธุ์เป็นหลัก แล้วเบลนด์ด้วยองุ่นพื้นเมือง
อาเลนเตโจ ผลิต Alentejo DOC (Denominacao de Origem Controlada) ที่เหลือเป็น Vinho Region ผลผลิตไวน์ประมาณ 892,447 เฮกโตลิตร ในจำนวนนี้ประมาณ 394,053 มาจากเขต DOC
เขตปลูกองุ่นใน Douro Valley (Cr.blog.winetourismportugal.com)
ทั้งหมดนั้นเป็นไวน์ส่วนหนึ่งจาก งาน Portugal Taste & Feel Asia 2024
ท่านใดที่สนใจจะนำเข้าติดต่อที่ฝ่ายพาณิชย์ สถานทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย โทร.02 234-7435-6, 02 234-2123