ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’

‘สายมู’ หลายคนอยากไปไหว้พระ ขอพร แต่ไม่อยากขับรถ หรือยุ่งยากหาที่จอด มาเดินทางง่าย ๆ ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ ทั้งบนดิน BTS และใต้ดิน MRT จะมีที่ไหนบ้าง มาดูกัน

เอาใจ 'สายมู' เริ่มต้นศักราชใหม่ ฟ้าใหม่ พ.ศ. 2566 ด้วยการไหว้พระ ขอพร ไปกับ 'รถไฟฟ้า' อย่างสะดวกสบาย

เพื่อความเป็นศิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว ก่อเกิดกำลังใจ เปี่ยมสุขพร้อมต่อสู้กับการงานในปีใหม่ที่จะเข้ามาได้อย่างเต็มพลัง   

เส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพ มีมากมาย ทั้งบนดิน BTS และใต้ดิน MRT แต่จะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนบ้าง ให้เราได้ไปสักการะ 

ขอรวบรวมมาทุกความศรัทธาและทุกศาสนาความเชื่อโดยไม่แบ่งแยก ด้วยคนไทยให้ความสำคัญกับทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. ททท.

  • สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเส้นทางรถไฟฟ้าบนดิน BTS

1. ท่านท้าวมหาพรหม  สี่แยกราชประสงค์

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อว่า พระพรหมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ สร้างทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ขึ้นมา เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ พระพรหม มี 4 หน้า (4 ทิศ) ซึ่งต้องบูชาให้ครบ ก็จะได้รับพรครบทุกประการ

พักตร์ที่ 1 การงาน การเรียน การสอบแข่งขัน อำนาจบารมี ความก้าวหน้าในชีวิต ขอพรให้บิดา

พักตร์ที่ 2  ทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน บ้าน รถ หนี้สินที่คนไม่คืน

พักตร์ที่ 3 สุขภาพ ครอบครัว คู่ชีวิต ญาติพี่น้อง คู่สัญญา ขอพรให้มารดา

พักตร์ที่ 4  โชคลาภ เงินทอง เสี่ยงดวง ขอกู้ยืมเงิน ขอบุตร

ของไหว้ : ธูป 12 ดอก (พระพักตร์ละ 3 ดอก) เทียน 4 เล่ม พวงมาลัยดอกดาวเรือง 4 พวง ทองคำเปลว 4 แผ่น

วิธีไหว้ : เริ่มจากพักตร์แรกตรงกลาง แล้วเวียนขวาตามเข็มนาฬิกาไปจนครบ 4 พระพักตร์

วันที่ไหว้ : วันอังคาร หรือ วันพฤหัสบดี ไม่ควรมาไหว้วันพระ เพราะองค์ท่านไปปฏิบัติธรรม

ที่ตั้ง : สี่แยกราชประสงค์

การเดินทาง : รถไฟฟ้า BTS ราชดำริ ทางออก 4

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. Amarin Plaza

2. ท้าวอมรินทราธิราช (พระอินทร์)

เทพแห่งการศึกษาและการแข่งขัน คุ้มครองผู้ทำความดี ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ มีพระวรกายสีเขียวมรกต มีดวงตา 1000 ดวง 4 กร ทรงอาวุธ ดาบ, หอก, ธนู, สังข์ อาวุธหลักคือ สายฟ้า มีพาหนะ 2 ชนิดคือ รถม้า (พระอาทิตย์) และ ช้างเอราวัณ 3 เศียร

ที่ตั้ง : ศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า

การเดินทาง : รถไฟฟ้า BTS ชิดลม

3. พระวิษณุ / พระนารายณ์ 

มหาเทพผู้ปกปักรักษาโลกมนุษย์ ขจัดเหล่ามารและสิ่งชั่วร้าย คุ้มครองทุกสรรพชีวิต บันดาลอำนาจวาสนาแก่มนุษย์ทุกคน ปกป้องโลกจากอสูรชั่วร้าย มี 4 กร ถือคฑา, สังข์, จักร, ดอกบัว มีพาหนะเป็นครุฑ

ที่ตั้ง : ด้านหน้าโรงแรม Intercontinental

การเดินทาง : รถไฟฟ้า BTS ชิดลม

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. Gaysorn Village

4. พระแม่ลักษมี

พระมเหสีของพระวิษณุ เทพแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ เทวีแห่งความดีงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความรักมั่นคง

ของไหว้ : ดอกบัว 8 ดอก หรือ ดอกมะลิ, ดอกกุหลาบสีแดง หรือสีชมพู ถ้าขอเรื่องความรัก คู่ครอง ควรไหว้ด้วยแอปเปิ้ล 5-8 ลูก ผู้ไหว้ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส เน้นสีแดง ชมพู ส้ม บานเย็น 

วันไหว้ : วันศุกร์

ที่ตั้ง : ดาดฟ้า ชั้น 4 เกษรวิลเลจ

การเดินทาง : รถไฟฟ้า BTS ชิดลม

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’

Cr. We Love Ratprasong

5. ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4

รวม 4 ภาคไว้ในองค์เดียว เทพที่รักษาทุกข์ สุข ป้องกันอันตรายแก่มนุษย์ทั้ง 4 ทิศ ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ, ท้าววิรุฬหกะ, ท้าวธตรัฏฐะ, ท้าววิรูปักขะ 

ที่ตั้ง :  ดาดฟ้า ชั้น 4 เกษรวิลเลจ

การเดินทาง : รถไฟฟ้า BTS ชิดลม

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’

Cr. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

6. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร สยาม

พระอารามหลวงชั้นตรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นิยมไปสักการะหลวงพ่อพระเสริมในพระวิหาร และหลวงพ่อพระใส พระประธานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านช้าง ที่สวยงามและมีความศักดิ์สิทธิ์

ที่ตั้ง : ถนนพระราม 1 แขวง/เขตปทุมวัน อยู่ระหว่างสยามพารากอน-เซ็นทรัลเวิล์ด

การเดินทาง : BTS สยาม ทางออก 5

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. วัดยานนาวา พระอารามหลวง

7. วัดยานนาวา บางรัก

พระอารามหลวงชั้นตรี วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ มีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะ

ที่ตั้ง : ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร

การเดินทาง : BTS สะพานตากสิน ทางออก 4

8. วัดธาตุทอง เอกมัย

พระอารามหลวงชั้นตรี ก่อตั้งขึ้นปีพ.ศ. 2481 มีประวัติยาวนานย้อนไปถึงยุคสมัยสุโขทัย

ที่ตั้ง : ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา

การเดินทาง : BTS เอกมัย ทางออก 3

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร

9. วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร บางจาก 

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระญาณวชิโรดม หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ใช้เป็นที่พักธุดงค์ นายเถา-นางบุญมา อยู่ประเทศ มีความศรัทธามอบที่ดินและสร้างเป็นวัดขึ้น

ที่ตั้ง : แขวงบางจาก เขตพระโขนง

การเดินทาง : BTS ปุณณวิถี ทางออก 1

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกรัชดา ห้วยขวาง

  • สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

1. ศาลพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง

พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งปัญญาและความสำเร็จ เรื่องงาน การของาน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในศาลมีองค์พระพิฆเนศปางยืนประทานพร 4 กร และองค์พระพิฆเนศปางอื่นๆ  

ของไหว้ : ธูป 5 ดอก พวงมาลัยดาวเรือง เทียน 1 เล่มสีตามวันเกิด ผลไม้ นม ขนม น้ำหวาน ไม่ควรถวายของคาว เนื้อสัตว์

วิธีไหว้ : ตั้งจิตอธิษฐานขอพรเพียงเรื่องเดียว นำพวงมาลัยมาวางที่เท้าพระพิฆเนศ แล้วขอพรอีกครั้ง ลูบที่เท้า 3 ครั้ง จากนั้น ไปที่หนู บริวารของท่าน ลูบที่ตัวหนู 3 ครั้ง กระซิบบอกสิ่งที่ต้องการ อย่าลืมเอามือปิดหูหนูอีกข้างไว้ด้วย ป้องกันการรั่วไหล

ที่ตั้ง : สี่แยกห้วยขวาง เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ห้วยขวาง ทางออก 4

2. วัดหัวลำโพง สามย่าน

เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระกฐินจึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ มีพระพุทธมงคล ปางมารวิชัย เป็นพระประธานในโบสถ์ นิยมขอพรเรื่องการงาน การเงินและป้องกันภัยจากศัตรู

ที่ตั้ง : 728 ถนนพระราม 4 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สามย่าน ทางออก 1

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

3. วัดไตรมิตร สัมพันธวงศ์

เป็นวัดโบราณเดิมชื่อว่า วัดสามจีน มีพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระพุทธรูปทองคำแท้ หนัก 5.5 ตัน

ที่ตั้ง : 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หัวลำโพง ออกทางออก 1 เดิน 200 เมตร

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. Kanok Shokjaratkul

4. วัดมังกรกมลาวาส / วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง

ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2414 ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปี มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังเป็นวิหารเทพเจ้า นิยมมากราบไหว้ขอพร และแก้ชงสะเดาะเคราะห์

ที่ตั้ง : ถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19-21 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT วัดมังกร ทางออก 3

5. ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า

ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนนิยมมาขอพรเรื่องการงาน การเงิน โชคลาภ เพื่อความเจริญก้าวหน้า ช่วงเทศกาลตรุษจีนจะหนาแน่นมาก เพราะเป็นสถานที่แก้ชง  

ของไหว้ : ธูป 18 ดอก เทียนแดง 1 คู่

วิธีไหว้ : จุดธูปเทียน กล่าวคำอธิษฐาน แล้วปักตามแต่จุดที่กำหนดไว้

ที่ตั้ง : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRTสามยอด ทางออก 3

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. TAT Contact Center

6. ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พ.ศ. 2325 สมัยรัชกาลที่ 1 มีศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าเจตคุปต์, เจ้าหอกลอง นิยมขอพรเรื่องการงาน ของาน ให้มั่นคงก้าวหน้าราบรื่นไร้อุปสรรค

ของไหว้ : ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ทองคำเปลว ดอกบัว พวงมาลัย ผ้าแพร 3 สี 1 ชุด

วิธีไหว้ : เริ่มจากไหว้พระ ถวายดอกบัวบนหอพระพุทธรูป จุดธูปเทียน ปิดทอง ผูกผ้าแพร 3 สีที่องค์พระหลักเมืองจำลอง นำพวงมาลัยไปถวายหลักเมืององค์จริง ถวายพวงมาลัยองค์เทพารักษ์ทั้ง 5 เติมน้ำมันสะเดาะเคราะห์

ที่ตั้ง : ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRTสนามไชย ทางออก 1

7. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ผู้คนนิยมมาสักการะบูชาพระแก้วมรกต ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ที่ตั้ง : ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สนามไชย ทางออก 1 เดินประมาณ 850 เมตร

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’ Cr. วัดโพธิ์ ท่าเตียน Wat Pho

8. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

พระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำโลก เป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทยถึง 99 องค์ 

ที่ตั้ง : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สนามไชย ทางออก 1 เดินประมาณ 350 เมตร

ชวน ‘สายมู’ ไหว้พระ ขอพร  แบบสะดวก ไปกับ ‘รถไฟฟ้า’

Cr. คณะสามเณรวัดอรุณราชวราราม

9. วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

สร้างในสมัยอยุธยา มีพระปรางค์องค์ใหญ่ เป็นศิลปกรรมที่งดงามโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คของประเทศไทย ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์จากประเทศจีน

ที่ตั้ง : 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อิสรภาพ ทางออกที่ 2 เดินประมาณ 10 นาที

.....................

อ้างอิง : ฐานเศรษฐกิจ, Ratchaprasong Distric,  Amarin Plaza, We love Ratprasong