ภาคีสุขภาพรวมพลัง สกัดสื่อชวนอ้วน ปกป้องสิทธิสุขภาวะเด็ก
อิทธิพลการตลาด โฆษณาอาหาร ตัวการทำ "เด็กไทย" อ้วนเกินมาตรฐานพุ่ง เกิดเป็นเวทีรวมพลังภาคีสุขภาพ สกัดสื่อชวนอ้วน ปกป้องสุขภาพเด็ก เผย "เด็กอ้วน" เสี่ยงโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 5 เท่า นำมาสู่โรค NCDs และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ย้อนไปกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกทั้งใบต่างมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นลำดับต้น โดยในโลกเสรีการค้าซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมนั้น ต้องยอมรับว่า "การตลาดและการโฆษณา" เข้ามามีบทบาทสูงในการชักจูงใจให้เกิดสังคมแห่งการบริโภคแบบไม่มีลิมิต โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง
สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น จนเกิดผลลัพธ์ที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ ณ วันนี้ โลกกำลังเผชิญปัญหาของประชากรที่มี "ภาวะอ้วน" เกินมาตรฐาน ที่สถิติเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจที่รุดหน้า แต่อีกปัญหาที่ไม่อาจนิ่งนอนใจคือ เด็กทั่วโลกกำลังมีภาวะอ้วนสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กไทยที่จำนวนเด็กอ้วนเกินมาตรฐานพุ่งสูงตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา
มีข้อมูลวิชาการหลายฉบับที่พบว่า การโฆษณามีส่วนในการที่เด็กตัดสินใจจะเลือกซื้อหรือบริโภค ซึ่งตัวเลขโฆษณาเติบโตควบคู่กับเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเด็กทั่วโลกอ้วน นั่นคือ เพิ่มขึ้นทุกปีๆ
ว่ากันว่า การตลาดและการโฆษณา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กตัดสินใจซื้อและบริโภคมากกว่า 50% ซึ่งสื่อการตลาด อาจไม่ได้จำกัดเพียงแค่สื่อทีวี วิทยุ หรือสื่อต่างๆ แต่อาจจะไปรวมถึงการแจกของ การทำโปรโมชัน การใช้ไอดอล หรืออินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงภัยแบบใหม่ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ก็เข้าข่ายเช่นกัน
ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิด ดันมาตรการบังคับใช้ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร เครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงร่วมมือกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ กว่า 100 องค์กร จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ" เพื่อนำผลสรุปที่ได้ไปสู่มาตรการการดำเนินงาน และผลักดันให้เป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป
"กลยุทธ์การตลาด" ระบาดทั่วโลก
ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 39 ล้านที่มีภาวะอ้วน และอีก 340 ล้านคน ที่อายุระหว่าง 5-19 ปี ตกอยู่ในภาวะอ้วนจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสม แต่ที่น่ากังวลคือ ความชุกเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงปี 1975 ที่มีอัตราเพียง 4% แต่ขยับพุ่งเป็น 18% ในปี 2016 ซึ่งในทางจิตวิทยา การได้พบเห็นสื่อต่างๆ ที่ชี้นำ เชิญชวน กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคของเด็ก
"มีหลักฐานทางวิชาการทั่วโลกพบว่า กลยุทธ์การตลาดของอาหารมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ความชอบ และบริโภคมากขึ้น และทำให้โอกาสในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดลง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลทุกประเทศทั่วโลกพบว่า มีการทำตลาดสูงมาก นอกจากนี้ การตลาดยังสร้างแบบแผนค่านิยมการบริโภคอาหารเหล่านี้ รวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดการซื้อถี่มากขึ้น" ดร.สุชีรา กล่าว
การโหมกระหน่ำของสื่อการตลาด พบมากขึ้นในการขยายตัวของธุรกิจอาหารแปรรูป ซึ่งหลังพบตัวเลขประชากรที่มีภาวะอ้วนสูงขึ้นดังกล่าว ทำให้ภาครัฐทั่วโลกต่างตระหนักถึงวิกฤตินี้ และเห็นพ้องว่า จำเป็นต้องควบคุมการตลาดและลดอิทธิพลการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อปกป้องสุขภาพเด็ก
โดยในวันนี้ มีประมาณ 60 ประเทศทั่วโลก ที่ดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งแบบสมัครใจ และแบบกฎหมายควบคุม และมี 20 ประเทศออกเป็นกฎหมาย ควบคุมการตลาดและในพื้นที่โรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น
- นอร์เวย์ มีการห้ามโฆษณาอาหารที่มีทานโซเดียมสูงในช่องทางต่างๆ ทั้งวิทยุและทีวี
- แคนาดา มีการห้ามการโฆษณาที่มุ่งเป้าต่อกลุ่มเด็กช่องทางต่างๆ
- ไอร์แลนด์ และตุรกี มีการควบคุมการโฆษณาอาหารที่มีน้ำตาลไขมันและโซเดียมสูงในรายการเด็ก และห้ามใช้ตัวการ์ตูนในการทำการตลาดและโฆษณา
- อินเดีย ห้ามจำหน่ายอาหารที่มีน้ำตาลโซเดียมและไขมันสูงในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
- ฮังการี ห้ามการโฆษณาในพื้นที่ที่มีเด็กอยู่ เช่น โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก
- บราซิล ห้ามมีการขายอาหารที่มีไขมันน้ำตาล โซเดียมสูงในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลกำหนด
- อังกฤษ มีการออกกฎระเบียบการห้ามโฆษณาอาหารที่มีน้ำตาลไขมันและโซเดียมสูงในรายการเด็กและช่วงเวลาที่เด็กชมสูง ซึ่งทำให้เด็กลดการเห็นโฆษณาอาหารกลุ่มนี้ถึง 21% และเด็กเล็กลดลงมากกว่า 52%
- ชิลี มีการห้ามใช้กลยุทธ์การตลาดในการโฆษณาอาหารที่มีไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูงแบบครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นห้ามใช้ฉลาก กล่องผลิตภัณฑ์ตัวการ์ตูนหรือกราฟิกที่ดึงดูดใจเด็ก ห้ามโฆษณาอาหารเหล่านี้ตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงสี่ทุ่ม
"เด็กมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองสุขภาพที่ดี ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้จัดทำกรอบแนวทาง ข้อเสนอแนะ มาตรการและนโยบายในการควบคุมซึ่งจะต้องมีความครอบคลุมทุกรูปแบบ ในองค์ประกอบแรกเลยคือ อาหารที่ต้องถูกควบคุม อาหารชนิดใดที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงเกินไป ซึ่งแต่ละรัฐบาล ควรมีมาตรการลดผลกระทบการตลาดของอาหารจากเด็กโดยต้องเป็นนโยบายที่มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ" ดร.สุชีรา ย้ำ
สกัด NCDs เริ่มที่ลดอ้วนในเด็กไทย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเด็กเล็ก 1-5 ปี เพิ่มเป็น 11.4% และเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เพิ่มเป็น 13.7% รวมทั้งเด็กวัยรุ่น พบ 13.1% ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยที่สำคัญ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
"แม้ที่ผ่านมา ไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุผลดังกล่าว ทำให้กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565 - 2574) จึงร่วมมือผลักดันสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป
"การตลาดคือฝันร้าย หรือเป็นภัย เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่าการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม ไขมันสูง หรือหวานมันเค็มเป็นเรื่องปกติ การตลาดไม่ใช่แค่โมษณา แต่อยู่แวดล้อมผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น แม้กฎหมายจะเคยมีแต่ต้องปรับปรุง รวมถึงการสร้างการรับรู้แก่สาธารณะต้องปูพรมอย่างเข้มข้น" ดร.นพ.ไพโรจน์ให้ข้อคิดเห็น
พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมรับรองชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็กในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63 และแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ระดับโลก พ.ศ. 2556-2573 นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุม NCDs ซึ่งมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs อันอิงอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (UNIATF on NCDs) ที่เสนอต่อรัฐบาลไทย นอกจากนี้ พบว่าประเทศที่ใช้กฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงสามารถช่วยลดปัจจัยการพบเห็นและลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กได้ ซึ่งมีประสิทธิผลดีกว่าประเทศที่มีแนวปฏิบัติแบบภาคสมัครใจ
ระดมพลังภาคีสู่ร่าง พรบ.ควบคุมสื่อชวนอ้วน
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า เด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ในอนาคตถึง 5 เท่านำมาสู่โรค NCDs และนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จำเป็นต้องออกระเบียบในการควบคุมสื่อ นอกจากนั้นยังเสริมว่า มีข้อมูลจากบริษัทวิจัยสื่อโฆษณาการตลาดชื่อดัง "นีลเส็น" ระบุว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา พบการใช้งบโฆษณาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสูง โดยเฉพาะอาหารแคลอรีสูงจะพบว่ามีการทำตลาดสูงมาก ยิ่งอาหารแคลอรีสูงจะพบว่า มีการทำตลาดสูงมาก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีตัดสินใจที่จะซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากการโฆษณาเป็นหลัก
สำหรับในอาเซียน ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมในการขับเคลื่อนในการที่จะปกป้องสุขภาพเด็กน้อยไทยในการโฆษณาผลต่อสุขภาพของเด็กกับภาคีประเทศสมาชิกในอาเซียนที่ต่างเห็นพ้องต้องการลดปัญหานี้
"ข้อสรุปในวันนี้ จากภาคีเครือข่ายที่มาร่วมต่างเห็นด้วยที่จะมีร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่การจะบังคับใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดคือ ประเด็นสำคัญอันดับแรก สอง อาจต้องมีเรื่องของการกำหนดกฎหมายแล้ว ควรมีการส่งเสริมเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนด้วย รวมไปถึงเรื่องการตัดสินใจเลือกซื้อ และนอกจากการควบคุมด้านการตลาดแล้วอาจจะมีด้านอื่นที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องดำเนินการครอบคลุมไปด้วยกัน เพราะเรามองว่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเด็กทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพเด็กเช่นเดียวกัน สุดท้าย นอกเหนือจากนโยบายสาธารณะ เรายังมองถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือ สำคัญที่สุด เด็กมีสิทธิ์ที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ในการตัดสินใจที่จะเลือกรับหรือบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อตนเองต่อสุขภาพได้" รองอธิบดีกรมอนามัย ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้จากการระดมความคิดครั้งนี้ จะนำไปสู่การประชาพิจารณ์ กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปภายในปีนี้