เสริมวัคซีนใจ ไม่ป่วยจิต ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก
ตัวเลขการฆ่าตัวตายที่มากขึ้น สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วง การแก้ไขไม่ใช่แค่การรักษา แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกัน และหนึ่งในแนวทางช่วยเสริมวัคซีนทางใจก็คือ "จิตวิทยาเชิงบวก" แนวคิดสู่การใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง
มีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านสุขภาพจิตระดับโลกว่า ในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า ปัญหาสุขภาพจิต จะแซงโรคอื่นขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง สร้างความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ไม่ว่าการคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่ แต่ปัจจุบันเรากำลังเผชิญสถิติคนไทยฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีถึง 5 พันกว่าราย อาจถึงช่วงเวลาที่ต้องตั้งคำถามแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในวันนี้
- ฉันเป็นคนสุขภาพจิตไม่ดี ไม่ใช่คนไม่ดี
"ป่วยด้วยโรคจิตเวชไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ เพราะนักกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกยังเป็น โรคซึมเศร้า แม้แต่จิตแพทย์เอง" เสียงจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อคิดตอนหนึ่งในเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ "พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย" ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ มสช. จัดขึ้นเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี ด้วยหวังกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถป้องกันได้
ดร.นพ.วรตม์ ยังเปิดเผยถึงทัศนคติ ความเชื่อ และการปฏิบัติของสังคมที่มีต่อบุคคลที่ป่วยทางใจว่า เป็นสิ่งที่เลวร้าย "ไม่ปกติ" มาช้านาน โดยก่อนที่เรื่องสุขภาพจิตจะได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ผู้ที่มีปัญหาทางจิตมักถูกตีตราว่าเป็น "คนบ้า" ที่ไม่ได้มีคุณค่าเหมือนคนทั่วไป ย้อนไปกว่าร้อยปี ความไม่รู้ทำให้สังคมมองว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตคือการกระทำของผีสาง สิ่งที่มองไม่เห็น แต่แม้จะรับรู้เรื่องสุขภาพจิตมาระดับหนึ่งในยุคต่อมา คนยังมองภาพลักษณ์เต็มไปด้วยปริศนา ผีสางนางไม้ เรื่องดำมืด เพิ่งจะมีเพียงสามสิบที่ผ่านมามีการวิจัยมากขึ้น ถึงทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง
"แม้การตีตราจะลดลง แต่ก็เป็นไปอย่างช้ามากๆ เพราะยี่สิบปีที่ผ่านมา เรายังเห็นในภาพยนตร์ไทยมักเขียนบทให้จุดจบตัวละครร้ายต้องไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวช เพื่อชดใช้กรรม มองว่าปัญหาสุขภาพจิตคือกรรม ที่ตัวร้ายต้องประสบหรือแม้แต่ผู้รักษาเองก็มองว่าเป็นหมอที่ไม่ใครเอา ต้องอยู่กับคนจิตเวช และมีบุคลิกภาพแปลกๆ แต่โชคดีที่คนในเจนเนอเรชันใหม่มีความเข้าใจโรคทางจิตเวชแล้ว แม้จะไม่ใช่คนทุกคน แต่การที่ทุกคนปรับทัศนคติด้านสุขภาพจิตแล้วก็จะเกิดบรรทัดฐานใหม่ของการรักษาจิตเวชที่ดีขึ้น แต่ยอมรับว่าปัจจุบันมุมมองด้านการรักษาสุขภาพจิตในสังคมไทยอาจยังไม่ทัดเทียมนานาประเทศ" ดร.นพ.วรตม์ กล่าว
แม้สถานการณ์ด้านมุมมองจะดีขึ้น แต่ดูเหมือนสถานการณ์ของปัญหาด้านสุขภาพจิตกลับถูกพบมากขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงในประเทศไทย สุขภาพจิต กลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีค่าเฉลี่ย การฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 ราย สาเหตุของการฆ่าตัวตายคือ 1.ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 50% 2.ปัญหาเรื่องสุขภาพ 30% 3.ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อื่นๆ 20%
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอาจไม่ตอบโจทย์ ปัญหาสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องของทุกคน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านบุคลากรด้านสุขภาพจิตไทยยังมีข้อจำกัดและไม่สมดุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี
ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาจึงไม่ได้แค่การให้การรักษาอีกต่อไป หากแต่ต้องมีการสร้างความรอบรู้ โดยเฉพาะการสร้าง "บุคลากร" ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะกรมสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังมีบุคลากรด้านสาธารณสุข และแกนนำในพื้นที่ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นได้ อาทิ โรงพยาบาลประจำจังหวัด หน่วยสุขภาพประจำชุมชนท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกับ กรมสุขภาพจิต และจำเป็นต้องมีการทำงานเชื่อมโยงโดยใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมหรือความร่วมมือสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ
"เทคโนโลยีช่วยแก้คำตอบว่า กรมสุขภาพจิตจะช่วยอย่างไร โดยกระบวนการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพราะเปรียบเสมือนตาที่สำคัญในโลกโซเชียล เปรียบเป็นป้าข้างบ้านที่คอยสอดส่องดูแล หากพบคนที่อยากตายที่จะให้เราไปช่วยชีวิตคน โซเชียลมีเดียสามารถเป็นกระบอกเสียงได้ และอีกมือไปถึงพื้นที่เร็วที่สุด นั่นคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เขาอาจไม่รู้จะเยียวยาอย่างไร จึงพัฒนาเป็นระบบความร่วมมือใช้เงินศูนย์บาท แต่ใช้จุดแข็งต่างกัน แต่ละคนที่มีมาเป็นองค์ประกอบทำงานร่วมมือกัน เราทดลองมาปี เปิดตัวสองปี เราช่วยไปแล้ว 400 กว่าราย นวัตกรรมเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือคนฆ่าตัวตายที่เราไม่เคยทำได้มาก่อนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา" ดร.นพ.วรตม์ กล่าว
สสส. ร่วมสนับสนุนภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มออนไลน์ และ Dmind ระบบปัญญาประดิษฐ์คัดกรอง ภาวะซึมเศร้า เพื่อทดแทนความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ถือเป็นเครื่องมือที่คนในชุมชนสามารถเข้าไปประเมินตัวเองได้ง่ายๆ มีผลที่แม่นยำ
- อาสาสมัครช่วยสูงวัยห่างไกลซึมเศร้า
"เรามีการสำรวจความสุขผู้สูงอายุ 255 คน พบว่า มีความสุขน้อย มีความน้อยใจ ลูกหลานไม่เอาใจใส่ รู้สึกผิดหวังตัวเอง ท้อแท้ ตัวอย่างหนึ่งคือในปี 2562 มีผู้สูงอายุผูกคอตายหนึ่งรายซึ่งเกิดจากเวลาโทรแล้วลูกไม่รับสาย จึงน้อยใจผูกคอตาย"
จันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ สะท้อนเรื่องจริงจากพื้นที่ พร้อมกล่าวว่า ต.ผักไหม มีประชากร 7,160 คน มีผู้ป่วยจิตเวชกว่า 20 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์วินิจฉัยและญาติเห็นด้วย 7 คน และแพทย์วินิจฉัยแต่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่เห็นด้วยกว่า 10 คน ในปี 2562 และ 2564 มีคนฆ่าตัวตายที่แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตเวช แต่ไม่แสดงอาการ
อบต.ผักไหม เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้จัดเวทีประชาคมตำบล ตั้งคณะทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิต Long Term Care นำองค์ความรู้การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ของ สสส. และ มสช. เข้ามาช่วยคัดกรอง ติดตาม ประเมินผลรายหมู่บ้าน มีการเก็บฐานข้อมูลที่แม่นยำ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกในการลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่จะนำไปสู่ การฆ่าตัวตาย ในระดับพื้นที่
"เรามีอาสาสมัครสุขภาพจิตชุมชน หมู่บ้านละ 2 คน และอาสาสมัครอื่นๆ ใช้เวลาอบรมสองวัน เวลาเราอบรมเราชวนเขาเป็นครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุ อาสาสมัคร มีการเชื่อมทีมกับอาสาสมัครอื่นๆ เราส่งเสริมผู้สูงอายุให้เขามีบทบาท ผ่านกระบวนการโรงเรียนผู้สูงอายุ สร้างกิจกรรมต่างๆ เพิ่มสันทนาการให้เขาทำ เพื่อเกิดความผ่อนคลายความเครียด ซึมเศร้า" จันทรา กล่าว
- สุขภาพจิต แรงงานสร้างได้
ในช่วงโควิด-19 พบปัญหาวัยแรงงานค่อนข้างสูงกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาหลักคือ การขาดรายได้ บางคนไม่มีงาน มีความวิตกต่อวิกฤติโควิด-19 ว่าจะหารายได้ต่อไปอย่างไร บางรายอาจเผอเรอเสพสิ่งเสพติด หรือดื่มเหล้าแก้กลุ้ม ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่
อรพิน วิมลภูษิต จากสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า บริการด้านสุขภาพจิตเปิดมาสิบปี มีคนใช้ไม่กี่สิบคน กว่าจะปรับทัศนคติให้กับชุมชน ท้องถิ่น ว่าเราไม่ได้เน้นผู้ป่วย แต่คนที่กังวล เครียด ซึมเศร้าเราต้องใช้เวลาไม่น้อย
เธอเล่าถึงการทำงานว่างานเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก เป็นการทบทวนตนเอง เข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าตนเองเพื่อนำศักยภาพตรงนั้นมาเป็นฐานความเข้มแข็ง ในโลกแรงงานการคุยกับองค์กร หรือผู้บริหารองค์กรเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องยากแต่หากคุยในเรื่องของ productivity หรือประสิทธิภาพการทำงานจากการที่เขามีความสุขมากขึ้น
- องค์กรส่วนน้อยที่จะเข้าใจ
อรพิน กล่าวต่อว่า หลายคนสงสัย ทำไมสุขภาพจิตจึงเกี่ยวข้องกับนโยบายแรงงาน เรามองว่าถ้าสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็แข็งแรงด้วย เพราะเชื่อว่า "จิตนำกาย" สุขภาพใจจะเป็นพื้นฐานกันความแข็งแรงต่างๆ แรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สิน การจัดการชีวิตกัน ใช้ชีวิตเสี่ยง หากมีแพลตฟอร์มในการช่วยสร้างแรงบันดาลใจกันและกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตแกนนำ หรือคนทำแล้วเป็นตัวอย่างก็จะเป็นการแนะแนวที่ดีได้
ส่วนอีกโจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดกลไกสำคัญ คืออาสาสมัครในชุมชน จริงๆ เรามีต้นทุนอีกเยอะในสังคม ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครแรงงาน อาสาสมัครสาธารณสุข หมอดิน พพม. อสม.ในโรงงาน กลุ่มนี้เป็นจิตอาสา เป็นแกนนำอยู่แล้ว หากเราเติม วัคซีนใจ ให้เขา เติมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เขา จะทำให้เขามีศักยภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง เพราะส่วนใหญ่จิตอาสาทำเพื่อคนอื่น แต่ลืมทำเพื่อตัวเอง ต่อมาพัฒนากลไกเหล่านี้ให้เขามีทักษะ count selling มากกว่าผู้ให้บริการ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดให้สามารถเข้าถึงคนได้ครอบคลุม ซึ่งสำหรับเราได้พัฒนาเครื่องมืออย่างหนึ่งคือคู่มือสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก
- เติมวัคซีนใจ
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า การหยิบเอาทรัพยากร ต้นทุนบทเรียนเหล่านี้จากในหลายพื้นที่ ทำให้ สสส.ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ สามารถนำไปใช้ได้
ที่ผ่านมา สสส. เร่งเสริมความพร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิต ของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤติและตลอดช่วงชีวิต นำร่องใน 10 พื้นที่ อาทิ 1. อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย 2. อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร 3. รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บทเรียนที่ได้คือการแก้ปัญหาโดยพื้นที่ เช่น การหยิบเอาทรัพยากรต้นทุน หรือการสร้างเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงคนระหว่างกันเข้ามาช่วย
"เรามองว่า ไม่ต้องทุกคนที่ไปพบจิตแพทย์ แต่ใช้ทักษะ deep learning คือฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน เป็นปฐมภูมิเบื้องต้น สิ่งที่ สสส. มองจุดคานงัดสำคัญ การใช้เทคโนโลยีทันสมัยพาคนมาใกล้กัน เชื่อมโยงกันจะทำให้ปัญหาทุเลา หลายครั้งปัญหาฆ่าตัวตายเกิดจากการบูลลี่กัน แต่ละคนอาจมีการสร้าง วัคซีนใจ ไม่ต่างกัน ทำอย่างไรเราจะหาคนที่เราจะคุยด้วยได้ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถหยิบตัวเองออกมาจากสภาวะที่ทุกข์ใจ" ชาติวุฒิ กล่าว
ชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า สสส. ใช้แนวคิดเรื่องทุน จิตวิทยาเชิงบวก เป็นวิธีการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยการใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง การมองโลกในแง่ดี การสร้างความรู้สึกว่าตัวเองว่ามีคุณค่า ซึ่งการจัดการความเสี่ยงในเรื่องการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุดคือการกอดตัวเอง มีสติ คนที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเอง ก่อนไปจัดการกับสิ่งเร้า
ดร.นพ.วรตม์ แนะนำเสริมว่า ให้สังเกตตัวเอง สำรวจจิตใจตัวเอง แล้วมีองค์ความรู้ว่าฉันควรแก้ปัญหาอย่างไร และยื่นมือไปขอความช่วยเหลือจากคนที่ช่วยได้
"ปัญหาคนในยุคปัจจุบันคือ เราไม่ค่อยใช้เวลากับตัวเองเท่าไร ไม่ค่อยใจดีกับตัวเองเรา ไม่ค่อยให้กำลังใจตัวเองซักเท่าไร นอกจากนี้ ให้มองว่าปัญหาบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ เราจำเป็นต้องปล่อยวาง ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัญหาบางอย่างเราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เช่น การไม่ดื่มของมึนเมา ไม่ก่อหนี้สิน การไม่เล่นการพนัน การไม่ทะเลาะใช้ความรุนแรงในครอบครัว ที่สำคัญ ควรหาความสุขให้ตัวเองบ้างและรู้จักให้อภัยให้ตัวเองบ้าง ทุกอย่างผิดพลาดได้ อย่าใจร้ายกับตัวเองมากนัก เมื่อเราเอาความทุกข์น้อยลงและไม่ไปทำอะไรก็ตามที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิต สร้างความสุขมากขึ้นโอกาสที่จะป่วยจากโรคจิตเวชก็น้อยลง" ดร.นพ.วรตม์ ฝากทิ้งท้าย