สุพจน์ โคกมณี ปราชญ์ชาวบ้าน เดินตาม"เศรษฐกิจพอเพียง" : นาฉัน ข้าวไม่เคยพอขาย
ปราชญ์ชาวบ้านอีกคน "สุพจน์ โคกมณี" เดินตามแนวทาง"เศรษฐกิจพอเพียง"และเรียกตัวเองว่าเจ้าของธุรกิจการเกษตรที่เชื่อว่า ชาวนาร่ำรวยได้ อีกหนึ่งเรื่องราวในงาน" Sustainability Expo 2022"
ผลาญที่นาของแม่เกือบหมด แล้วไปเป็นจับกังแบกหาม นั่นคือจุดต่ำสุดของ สุพจน์ โคกมณี ประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ถ้าวันนั้นไม่เปลี่ยนแปลงชีวิต คงไม่ได้เป็นแบบอย่างให้คนมากมายเข้ามาเรียนรู้ด้านการเกษตร
เรื่องราวของสุพจน์ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าการขุดสระน้ำถมดินปลูกต้นเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย เปิดโอกาสให้คนซื้อได้มีโอกาสมาถ่ายรูปเรียนรู้ที่นาฉัน เพื่อให้คนกินได้รู้ว่าปลูกข้าวยากลำบากแค่ไหน และยังวางแผนอนาคตให้ลูกๆ ไปเรียนรู้เกษตรเพื่อกลับมาเป็นชาวนา
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สุพจน์ ขึ้นเวทีพร้อมพ่อคำเดื่อง ในงาน Sustainability Expo 2022 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ เล่าในหัวข้อ เปลี่ยนชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
"ก่อนจะขายที่ดิน แม่เคยบอกว่า ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน แต่ตอนนั้นผมยังหนุ่ม เห็นพ่อแม่ทำนาแค่ 10-20 ไร่ ก็คิดว่าทำแค่นั้นจะพอกินหรือทำไมไม่ทำเยอะๆ อายุ18 ปีผมมาเช่าที่ดินทำไร่ข้าวโพด 200 ไร่ ตอนนั้นคิดว่าทำมากจะได้มาก" สุพจน์ กล่าว
สุพจน์ โคกมณี ประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์
(ขุดสระเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ที่ศูนย์การเรียนเศรษฐกิจพอเพียง จ.นครสวรรค์ -ภาพจากเฟซบุ๊คสุพจน์ โคกมณี)
ทำมาก ใช่ว่าจะได้มาก ?
ในวัยหนุ่มที่ยังไม่ตกผลึกทางความคิด เมื่อลงมือทำแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะการเกษตรต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อสุพจน์ ไม่ประสบความสำเร็จ จึงไปเป็นจับกัง
กระทั่งตกจากรถกระดูกหลังแตก ทำงานหนักไม่ได้จึงกลับบ้าน จากนั้นแม่ยกที่ดินแถวชุมแสงให้ 48 ไร่เพื่อทำการเกษตร แต่โชคไม่เข้าข้าง ปี 2533 เพลี้ยระบาดหนัก ,ปี 2535 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ราคาข้าวตกต่ำ และปี 2538 น้ำท่วม
“ที่เจ็บปวดคือ ต้องเอาที่ดินแม่ไปขาย 28 ไร่ เพื่อใช้หนี้ ส่วน 20 ไร่ขายไม่ได้เพราะติดหนี้ธกส. เจ็ดแสนบาทเขาให้เข้าโครงการฟื้นฟูพาไปอบรมเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวในหลวง รัชกาล 9"
จากที่เคยทรนงตัว สุพจน์ เริ่มรู้แล้วว่าวิธีของเขาไม่ถูกต้อง เมื่อได้เรียนรู้งานของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนชีวิตปี 2542 นำที่ดิน 20 ไร่ทำตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ 6 ปี ปลดหนี้ธกส. 7 แสนบาทได้หมด
“ตอนแม่ยกที่ดินให้ แม่ไม่ได้ยกหนี้ให้ แต่ผมล้มเหลวเอง พอทำน้อยๆ แค่ 20 ไร่ก็อยู่ได้ ผมจึงมั่นใจว่า การปลดหนี้ วิธีคิดสำคัญที่จะทำให้เราเป็นไทหรือเป็นทาส”
เมื่อมาอยู่ในจุดที่พึ่งพิงตนเองได้ สุพจน์ค่อยๆ พัฒนาพื้นที่ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ ขุดสระน้ำ 5 ไร่ถมดินปลูกต้นไม้เป็นรูปแผนที่ประเทศไทย นำต้นไม้ประจำจังหวัด 70 กว่าจังหวัดมาปลูก ขอบสระปลูกหญ้าแฝก และยังเป็นสถานที่ที่มาเดิน ขี่จักรยาน พายเรือได้ด้วย รวมถึงเป็นสถานที่เรียนรู้ด้านเกษตร
นอกจากนี้เขายังส่งลูกชายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ เพื่อให้ลูกกลับมาเป็นชาวนา ส่วนลูกอีกคนให้เรียนด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยลูกทั้งสองช่วยทำงานใน“นาฉัน” เพื่อให้เห็นว่า ถ้าคนรุ่นใหม่มาใช้ชีวิตแบบนี้จะอยู่ได้ไหม
“นาฉัน” วิถีที่เลือกได้
เมื่อไม่เชื่อว่า ทำนาแล้วเจ๊ง ก็ต้องทำให้ดู เขาสร้างโมเดล"นาฉัน" เปิดให้คนเมืองจองแปลงข้าวในนาฉัน 50 ราย มาดูมาถ่ายรูปได้
"ทีี่ผ่านมา คนที่เกี่ยวข้องกับชาวนา ไม่ว่าคนขายพันธุ์ข้าว ขายปุ๋ย ทำโรงสี คนขายข้าว ทำแล้วรวยหมด ยกเว้นชาวนา นาฉันของสุพจน์ 8 ไร่เป็นเจ้าของเองทุกกิจการ เป็นเจ้าของพันธุ์ เจ้าของโรงสี แบรนด์สินค้า แกลบแปรรูป
โมเดลของ“นาฉัน” ไม่ได้ต้องการเพิ่มผลผลิต แต่เพิ่มมูลค่า คนกินเป็นเจ้าของแปลงข้าวที่ปลูก และคนกินกับคนปลูกเกิดความห่วงใยเข้าใจกัน ทำให้ข้าวเราไม่พอขาย
"ระบบนาฉัน เริ่มทำปี 2560 ผมบอกคนที่เป็นเจ้าของนาฉันว่าให้ช่วยซื้อข้าวผมราคาแพงก่อน เพื่อให้ผมอยู่ได้ จากนั้นทยอยลดราคา ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละ 60 บาท ปีนี้มีคนจองเยอะมาก
ปีหน้าคนซื้อจะได้กินข้าวกิโลกรัมละ 50 บาท ถ้าช่วยกัน เราก็อยู่ได้ ถ้าเราทำสำเร็จ จะเผยแพร่แนวคิดนาฉัน เพื่อสร้างอาชีพให้ชาวนา"
6 ปีกับการฟื้นพื้นดินและชีวิตด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สุพจน์สร้างวิถียั่งยืนเป็นแบบอย่าง และสเต็บต่อไป สุพจน์จะทำให้เห็นว่า ทำการเกษตรก็มีความสุขและร่ำรวยได้
"ผมกำลังเอาลูกๆ มาทำนา ถ้าพวกเขาอยู่ได้ ทำการเกษตรอย่างมีความสุข มีอาหารการกิน น่าจะยืนยันกับคนที่เข้าไปเห็น ใครอยากได้แบบนี้ก็ทำตาม และครอบครัวต้องอยู่ได้
ครอบครัวเราเตรียมคนรุ่นใหม่มาแทนที่คนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นเก่าอย่างผมก็ทำหน้าที่ผลิต ต่อไปเกษตรกรต้องเป็นเจ้าของธุรกิจ มีวัตถุดิบที่ขายเอง รวมถึงขายออนไลน์ด้วย"