คำให้การจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ "ธุรกิจก้าวพอดียั่งยืนได้" จริงหรือ...
พอแล้วดี จะนำเราไปสู่ "ความยั่งยืน" เราเล่าด้วยความเชื่อนะว่าคนที่ไม่รู้จักพอคงไม่รู้จักให้ ดังนั้นจะลุกขึ้นมาสร้างความยั่งยืนต้องรู้จ้กคำว่า “พอ” ก่อน...
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ The Creator พอแล้วดี เกริ่นนำไว้ ณ เวทีเสวนาเรื่อง ธุรกิจก้าวพอดี ส่งต่อความพอดีสู่ความยั่งยืน ร่วมกับ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ในงาน SX Sustainability 2022 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
บทพิสูจน์ว่า พอแล้วดีนำสู่ความยั่งยืน มีหลักฐานประจักษ์ โดยนักธุรกิจรุ่นใหม่จากโครงการ The Creator พอแล้วดี และ YEC (Young Enterpreneur Chamber of Commerce โครงการกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หอการค้าไทย) เกือบสิบคน
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร
ทุกคนเล่าเรื่องศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง ความรู้จักพอนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นเรื่องจริง นอกจากนี้ยังช่วยดูแลโลก สู่ความสมดุลของชีวิต
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร บอกว่า
“YEC ดูว่ากรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย เราเห็นคุณค่าของทุกที่ ทุกประเภทของธุรกิจ หากสามารถทำให้พื้นที่ทุกส่วนเติบโตด้วยความสร้างสรรค์จะทำให้ประเทศไทยเติบโต
ตามแก่นแท้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัชกาลที่ 9 สอนไว้ สิ่งที่ท่านสอนเป็นแก่นแท้ที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจ ถ้าเราเห็นความสำคัญแล้วจะทำอย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน และส่งต่อรุ่นต่อไป”
นักธุรกิจรุ่นใหม่จากโครงการพอแล้วดี The Creator และ YEC
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล เสริมว่า “อยากให้ทุกคนเปิดใจก่อนว่า เวลาพูดถึงปรัชญาพอเพียง ปลายทางคือ “เศรษฐกิจ” คือการที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจหรือกิจการอะไรให้ดีที่สุด ได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้การใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด
พระองค์พูดถึง “ความประพฤติ” ด้วยนะ ต้องเริ่มจาก mind set แล้วนำไปสู่การพอเพียง คำนี้เรามั่นใจว่าคนไทยท่องได้แต่จะเอามาทำอย่างไร
การรู้จักตน ประมาณตน ไม่ได้แปลว่าไม่เติบโต แปลว่าถ้าต้องก้าวสู่การแข่งขันต้องรู้จักเลือกเวที มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันซึ่งมาจากพลังภายในของเราเอง และต้องมีองค์ความรู้ ซึ่งคืออำนาจ แต่สิ่งที่เรามีนั้นต้องไม่เบียดเบียนใคร
ความรู้ต้องมาจากคุณธรรมด้วย และรู้จัก “ทางสายกลาง” ทั้งหมดที่พระองค์ท่านมอบให้เราคือความเจริญด้านจิตใจที่มัน beyond เหนือคำว่า material”
ดร.ศิริกุล ขยายความคำว่า ทางสายกลาง หรือ moderation ว่า
“เป็นวิสดอมของคนเลย ไม่ใช่หาได้ง่าย ๆ การหาความสมดุล ความพอดี น้อง ๆ จะบอกว่ายากมาก เพราะถ้าจะเอาแต่ธุรกิจมากเกินไปสังคมก็อยู่ไม่ได้ ถ้าสังคมมากไปธุรกิจก็จะเสียสมดุล จึงต้องทำให้พอดีจริง ๆ
(Cr. FB: Cocoa Valley Resort)
หลายองค์กรทำ life long learning ภายใต้คำว่า “คุณธรรม” หรือ good goverance ไม่มีคำไหนที่ธุรกิจเอาไปใช้ไม่ได้ ไม่มีคำว่าล้าหลัง
เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านให้มาเรียกว่า system thinking ไม่ใช่คิดเป็นระบบแต่คิดให้เห็นถึง eco system จะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง
สิ่งที่พระองค์มอบให้เราจะเป็นหนทางพาให้เราก้าวสู่ เศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่จุดที่บียอนด์ความยั่งยืน ที่เราเรียกว่า “รีซิเลี่ยน” (resilient) คือไม่ว่าจะเจออะไรก็ตามคุณสามารถที่จะลุกขึ้นมาปรับตัวเองด้วยบิสสิเนส โมเดล ใหม่ ๆ แล้วมีชีวิตต่อได้
นี่คือแก่นของโครงการพอแล้วดี เราโชคดีมากที่มีน้อง ๆ อยู่ในโครงการนี้ เรามีทั้งประเทศ มีในทุกภาค แปลว่า...เราอยู่ในโลกนี้ได้ไม่ต้องห่วง เพราะเรามีคนที่พร้อมจะสานต่อ”
(Cr. FB: Uncleree Farm)
คนรุ่นใหม่หัวใจ “พอแล้วดี”
นักธุรกิจรุ่นใหม่จากโครงการ The Creator พอแล้วดี และ สภาหอการค้า YEC
เจลลาโตทุเรียน ร้านจันทรโภชนา (Cr. FB: จันทรโภชนา)
จันทรโภชนา : อุกฤษฎ์ วงษ์ทองสาลี ร้าน “จันทรโภชนา” จันทบุรี
“ผมมาเรียนกรุงเทพ จบโทไปทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งอะไร ๆ ก็มีคำว่า “มาร์เก็ตแชร์” ผมเลยกลับบ้าน ที่บ้านเปิดร้านอาหารมา 50 ปี พอกลับมาก็พยายามจัดการธุรกิจในแบบที่เราเรียนมา แต่ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติ
ผมพบว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนรถยนต์ที่จะพาเราไปสู่ปลายทาง ซึ่งคือความยั่งยืน ตอนแรกคิดว่า ร้านตั้งมา 50 ปีแล้ว นี่คือยั่งยืนแล้ว หารู้ไม่อาจเป็นต้นไม้ที่รากแก้วไม่แข็งแรง
เลยมองไปถึง eco system คนชอบมองว่าธุรกิจอาหารง่ายสุด แต่การทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนต้องมององค์รวม เศรษฐกิจพอเพียงมี 5 ข้อคือ รู้จักตัวเอง มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรอบรู้ และมีคุณธรรม สุดท้ายธุรกิจต้องเดินด้วยความพอดี”
(Cr. FB: Cocoa Valley Resort)
โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley) มนูญ ทนะวัง
“ก่อนกลับบ้านที่น่าน ผมทำงานแท่นขุดเจาะน้ำมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าชีวิตตอนนั้นไม่ใช่ความสุขของเราอีกต่อไป เราเริ่มปลูกโกโก้ แล้วเอามาทำขนมในคาเฟ่ เชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวด้วย จัดเวิร์คชอปให้ลูกค้าเรียนรู้เรื่องโกโก้ของไทย
ผมว่าการทำธุรกิจที่บ้านไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุด จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และเชื่อมโยงเข้าหาชุมชน เช่น ส่งเสริมเกษตรกรปลูกโกโก้ รับซื้อผลผลิตในราคาสูงสุดที่เราซื้อได้ แล้วนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า แบ่งกำไรส่วนนี้ให้เกษตรกร
โกโก้จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Cr.FB: Cocoa Valley Resort)
และลดเครื่องจักรบางอย่างมาใช้ผู้เฒ่าผู้แก่เข้ามามีส่วนในกระบวนการผลิต เหมือนการฝัดข้าวสาร แยกเปลือกกับเม็ดโกโก้ แล้วเอาเปลือกที่เหลือใช้มาย้อมสีผ้าทอมือ พยายามเชื่อมโยงกับคนในชุมชน
โดยที่เรามีหัวใจเดียวคือ อยากเติบโตไปกับชุมชนที่เราอยู่ การทำธุรกิจของผม ยังมีหัวใจที่ไม่อยากเป็นภาระต่อโลก พยายามใช้ทุกส่วนของโกโก้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด”
กระเป๋าไก่ (Cr. FB: BWILD ISAN)
BWILD ISAN เจ้าของ “กระเป๋าไก่” กาญจนา ชนาเทพาพร
“ร้านแรกตัดชุดแต่งงาน เรามีน้อง ๆ หลายชีวิตเลยรวมตัวกันสร้างงานศิลปะ พอเจอโควิด น้อง ๆ ดิ้นรนกันมาก เราจะเริ่มต้นยังไง ในฐานะที่เราทำธุรกิจอยู่จึงค่อย ๆ คิด สร้างไปด้วยกันน่าจะไปรอด
เราเชื่อว่าอีสานมีดี แม้จะขายไม่ได้ช่วงโควิดแต่เราสร้างเว็บไซต์ได้ ขายของออนไลน์ทำให้เราอยู่กับบ้านกับครอบครัว คิดกันแค่นี้แล้วทำ
สองปีแรกได้รางวัล ทำให้เรามีกำลังใจ แต่แฟชั่นเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นสิ่งไม่จำเป็น ที่จำเป็นคือคนที่ทำงานเขาต้องหาเลี้ยงครอบครัวเขา ไม่สามารถไปทำอาชีพอื่นได้
จนปีที่สองมาศึกษาเรื่อง พอแล้วดี เป็นรุ่นที่ 6 ทำให้เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจสร้างคุณค่าให้คนได้ไม่ว่าเราจะเล็กแค่ไหน มาค้นหาตัวตน เข้าใจการทำแบรนด์ ไม่ใช่คุณค่าที่เราอยากจะทำแต่ต้องเป็นสินค้าที่ลูกค้าอยากได้
และ กระเป๋าไก่ ก็เกิดขึ้น สินค้าต้องขายได้ ตอนนี้เราได้ขายต่างประเทศแล้ว การที่มีอยู่ของแบรนด์เราทำให้หลายชีวิตสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เราจะไม่ผลิตสินค้าที่เยอะมากเกินไปจนทำลายโลก สินค้าเราจะเป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราวความภาคภูมิใจ และดึงคนกลับมาอยู่บ้านเกิด”
คำรณ สุทธิ (Cr. FB: Eco Architect)
Eco Architech จ.ภูเก็ต โดย คำรณ สุทธิ
“สถาปนิกเกี่ยวข้องกับ sustainable ยังไง เริ่มจากเราจบใหม่ ๆ ไปสร้างบ้านที่ภูเก็ต แต่อยู่ไม่ได้เพราะร้อน พูดแล้วผมจะร้องไห้ทุกครั้ง เราทำอะไรลงไป เราเรียนมาตั้ง 5 ปี คนเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อจะสร้างบ้านแล้วอยู่ไม่ได้ ร้อนเหมือนเตาอบ เรากลับมาถามตัวเองว่าเรารู้ดีเกี่ยวกับการสร้างบ้านจริงหรือเปล่า เลยไปเรียนโทด้านนิเวศสถาปัตย์
พอไปเรียนเราเริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วเราไม่สามารถเอาบ้านแบบตะวันตกที่เราเรียนตอน ป.ตรี มาตั้งอยู่ในเมืองไทย ในสภาพอากาศที่ไม่เหมือนกันได้เลย
วันนี้ผมตั้งปณิธานว่า ทุกงานที่ผมออกแบบจะไม่หยิบยืมทรัพยากรของลูกหลานมาใช้ ผมจะสร้างบ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ เป็นที่มาของ eco architech”
ลุงรีย์ (Cr. FB: Uncleree Farm)
ฟาร์มลุงรีย์ (Uncleree farm) โดย ชารีย์ บุญญวินิจ คนเลี้ยงไส้เดือนกลางกรุงแล้วต่อยอดเป็นเห็ด และอะไรอีกหลายอย่าง
“เริ่มทำธุรกิจจากความตั้งใจว่าจะอยู่บ้านยังไงให้มีคุณภาพ มองไปเห็น ขยะอาหาร คิดว่าทำยังไงให้ขยะอาหารมีคุณค่า ตอนนั้นเลือก ไส้เดือน ทั้งที่ไม่รู้จักเขาดีเลยนะ ความที่เราเป็นนักออกแบบเราก็ทำ ๆ ๆ มีหัวคิดเร็ว ทำอะไรเป็นร้อยอย่าง
พอไปเข้าโครงการพอแล้วดี เพราะเรามากเกินไป มากจนไม่รู้ว่าทำอะไร พี่หนุ่ย (ดร.ศิริกุล) แนะว่า ให้หลอกตัวเองว่าจะตายวันข้างหน้าแล้วมันจะเหลือไม่กี่อย่างที่สำคัญ ที่อยากทำจริง ๆ กลายเป็นจุดเปลี่ยน ผมพบว่าตัวเองสนใจในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่เอาแล้ว
เช่นมะยงชิดขายดีแต่คนไม่สนใจมะปราง ผมสนใจของเหลือแล้วนำมาเป็นต้นทุนของเรา เป็นคนที่พัฒนาวัตถุ จากไส้เดือนต่อยอดเป็นเห็ด เพิ่มมูลค่าเห็ดในเมือง จุดยืนคือทำสิ่งที่เป็นขยะ ของที่คนไม่เอาแล้วมาพัฒนาให้เกิดมูลค่า”
ขนมไทยร้านคาเฟ่เสน่ห์จันทร์ (Cr.FB: House of Chandra เสน่ห์จันทร์)
คาเฟ่เสน่ห์จันทร์ นครปฐม โดย สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ ผู้นำของดีเมืองนครปฐม มาทำอาหารและขนม
“เป็นวิศวกรออกแบบอุตสาหกรรม แต่วันนี้ทำร้านคาเฟ่เสน่ห์จันทร์เหมือนเป็นงานอดิเรก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่าง หลัก ๆ คือทำธุรกิจแนว sustainable และพัฒนาชุมชนไปด้วย การตั้งร้านอาหารในต่างจังหวัดไม่ง่ายเลย เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน การสร้างแนวคิดให้เกิดความภาคภูมิใจในชุมชน และสร้างคนในชุมชน เราตั้งชื่อว่า “ชุมชนเสน่หา” จ.นครปฐม
ความคิดของเราคืออยากสร้างอัตลักษณ์ให้นครปฐม รวมทั้งค้นหาตัวตนของเราด้วย เรานำของดีนครปฐมมาทำอาหาร เช่น ยำส้มโอทรงเครื่อง เมนูจากมะพร้าว ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเดินหน้าไปด้วย
อีกเรื่องคือสร้างความภาคภูมิใจ นครปฐมมีของดีมากมาย เช่น สูตรขนมของคุณทวดมานำเสนอในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ชวนไปกินขนมไทยจิบชา เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร
ร้านเราอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร, วิทยาลัยราชภัฏ ก็ชวนน้อง ๆ มาช่วยตกแต่งร้าน เพ้นท์กระเป๋า น้อง ๆ มาฝึกงานที่ร้าน เรียนรู้การทำขนมไทยเพื่อให้สูตรยังคงอยู่ต่อไป นี่คือความยั่งยืน”
ผลผลิตแปรรูปจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ (Cr.FB: สวนมะนาวโห่ลุงศิริ)
มะม่วงหาว มะนาวโห่ โดย ทสม์ เจริญช่าง ทำสวนมะม่วงหาวมะนาวโห่ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป และงานวิจัยเชิงสมุนไพร
“สวนมะม่วงหาวมะนาวโห่ ชื่อ “ศิริสมปอง” เป็นสวนของพ่อแม่ที่ปลูกไว้นานแล้ว พอผมเรียน ป.โท ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก็กลับมาที่บ้าน เริ่มมาทำครีเอทีฟฟาร์ม ทำต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผมต่อยอดเน้นการแปรรูปให้หลากหลาย เช่น ทำแยม ทำสินค้าหลากหลาย นำไอเดีย farm to table มาปรับใช้
และเป็น sustainable นำของเสียมาทำให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำแยม, ชา, อบแห้ง, น้ำคั้น ฯลฯ พอมีของเสียก็เกิดแนวคิด zero waste เรานำเสนองานบริการด้วย มีกิจกรรมให้ลูกค้ามาท่องเที่ยวเชิงเกษตร”
สตรีทอาร์ต (Cr.FB: สกลจังซั่น I SAKON Junction)
สกลจังซั่น โดย ธัญญพัทธ์ ภิญโญชัยอนันต์ หยิบของดีเมืองสกล เช่น งานคราฟต์ งานหัตถกรรม ศิลปะ ดนตรี ร่วมค้นหาอัตลักษณ์เมืองสกล
“ปกติทำงานด้านไอที มาเป็นประธาน YEC หอการค้าสกลนครและทำโปรเจค สกลจังซั่น แปลว่าอย่างนี้อย่างนั้น จัดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีกิจกรรมมากมาย
เช่นแสดงงานศิลปะของกลุ่มศิลปินชาวสกล, จังซั่นมิวสิค, เชฟ เทเบิ้ล, จังซั่น มาร์เก็ต รวมงานคราฟต์ พาศิลปินไปสร้างงานสตรีอาร์ต
สิ่งที่อยากแชร์คือเราเห็นความเคลื่อนไหว เราจัด 4 วัน เป็นชาวบ้านเอาของมาขาย น้อง ๆ มาเล่นดนตรี ด้วยโมเดลนี้คิดว่าชาวบ้านได้ประโยชน์เต็ม ๆ ไม่ต้องผ่านใคร ถ้ามองในแง่ YEC จะทำยังไงเพื่อให้โมเดลนี้คงอยู่กับเมืองเราต่ออีกในหลาย ๆ ปี อยากให้คนรู้ว่า สกลมีมากกว่าผ้าคราม...”
กาแฟจากหลากหลายแหล่งปลูก (Cr.FB: Passione del Caffe)
กาแฟตรัง โดย ศิริพจน์ กลับขันธ์ เจ้าของร้านกาแฟ Passione del Caffe ผู้บุกเบิกกาแฟ specialty ของภาคใต้ และสร้างระบบจัดการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ประธาน YEC หอการค้า จ.ตรัง
“ขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน มีโอกาสไปทริปชมอาราบิก้าไทย ดูไร่กาแฟที่ดอยช้าง ส่วนตัวผมชอบไปร้านกาแฟ พอไปทริปนั้นทำให้รู้จักคำว่า “กาแฟพิเศษ” หรือ specialty ซึ่งได้รับคำอธิบายว่าหมายถึง “การให้คุณค่าตลอดห่วงโซ่วงการกาแฟ ตั้งแต่คนปลูก ต้นกาแฟ” เรื่องนี้เมื่อสิบปีก่อนที่ภาคใต้บ้านผมไม่มี
ผมกลับมาถามพี่ ๆ ว่าทำไมไม่มาทำที่ภาคใต้ เขาบอกว่าไม่ว่าง ผมบอกโอเค..งั้นเราเป็นคนพัฒนาเอง มาเปิดร้านกาแฟร้านแรก เสิร์ฟกาแฟจากแหล่งปลูกต่าง ๆ ใครมาก็เล่าเรื่องเดิม ๆ หลังจากพูดไป 5 ปี คนเริ่มเข้าใจ เริ่มมีคนทำตาม ผมก็ไปสอนด้วย ทำให้วงการกาแฟตื่นตัว
ปัจจุบันผมเป็นอุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย จัดงานคอฟฟี่เฟสต์ ยังจัดการเรื่องขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เราภูมิใจมากที่ช่วยยกระดับกาแฟไทย ทุกปีเราจัดประกวด เชิญกรรมการระดับโลกมาตัดสิน ทำมาสัก 8 ปีแล้ว
มองย้อนกลับไป ปีแรก ๆ กาแฟกิโลกรัมละ 180 บาท ปีที่เพิ่งจัดราคาขึ้นไปถึง 33,000 บาท สร้างมูลค่ากาแฟไทยให้เกษตรกรไทย กาแฟไทยกรรมการท่านไหนมาชิมจะอะเมซิ่งมาก”
นมแพลนท์เบส Kebbio โดย นภัทร ว่องกุศลกิจ สร้างแบรนด์ Kebbio นมแพลท์เบสจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลผลิตเกษตรกรไทย สนับสนุนซัพพลายเชนที่โปร่งใสและสั้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“ตอนนี้เราอยู่ในช่วง global warming แต่มีวิธีที่ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องอาหารการกิน ขอเน้นเรื่องอาหารที่มี energy efficiency คือ ประสิทธิภาพพลังงานที่ได้โดยตรงจากแสงอาทิตย์ ยกตัวอย่างพืชมี energy ที่สูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ เพราะสัตว์ต้องพึ่งพืชอีกต่อหนึ่งถึงจะได้พลังงาน ดังนั้นเราควรเลือกกินสิ่งที่อยู่ต้น ๆ ของฟู้ดเชน ซึ่งคือผักผลไม้ หรือเลือกแพลนท์เบสมากขึ้น
อีกเรื่องที่ต้องคิดคือ food miles การเดินทางของอาหารก่อนมาถึงจาน ยิ่งเดินทางมากเท่าไหร่ยิ่งมี food miles มากเท่านั้น หมายถึงทำให้เกิดคาร์บอนมาก
เราได้รวบรวมนมพืชยอดนิยมที่ขายในท้องตลาด เช่น โอ๊ตมิลค์ อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แบรนด์ Kebbio ที่ทำมาจากมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งมาจากประเทศไทยโดยเลือกผลผลิตเกษตรกรไทย เน้นสนับสนุนซัพพลายเชนที่โปร่งใสและสั้น และเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพึ่งพาตัวเอง
นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cr.FB: KEBBIO)
เราจะอยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกแปรปรวน ด้วยการนำปรัชญาพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยชื่อแบรนด์ แปลว่า “ชีวิต” ในภาษากรีก เอามารวมกันหมายถึงความสอดคล้องระหว่างสุขภาพของเรา และสุขภาพของโลก และสนับสนุนเกษตรกรไทย ช่วยให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศด้วย”