“โรจนา สังข์ทอง” เผย...สัตว์ในฟาร์มเลี้ยงไม่ดีส่งผลต่อคนกินอย่างไร
สัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมกว่า 8 หมื่นล้านตัวทั่วโลก 2 ใน 3 เลี้ยงอยู่ในสภาพย่ำแย่ “โรจนา สังข์ทอง” แห่ง "องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก" เผยความจริงที่หลายคนไม่รู้ เพื่อรณรงค์คนไทยช่วยกัน “ยกสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม”
ทำไมต้อง ยกสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) ผู้ขับเคลื่อนแคมเปญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมสัตว์ทุกประเภทในประเทศไทย จุดประสงค์เพื่อยุติการทารุณสัตว์ทุกรูปแบบอย่างยั่งยืน
กรุงเทพธุรกิจ ชวนสนทนาประเด็น "สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม" เลี้ยงอย่างไรถึงเรียกว่ามีสวัสดิภาพสัตว์ และผลิต อาหารปลอดภัย แก่ผู้บริโภค
โรจนา สังข์ทอง
ทำไมต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม
“ทุกวันนี้การผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 5 เท่าตัว ภายใน 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา โดยสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมกว่า 8 หมื่นล้านตัวทั่วโลก เลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
แต่ราว 2 ใน 3 ของสัตว์เหล่านั้นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และทุกข์ทรมานจากกระบวนการเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็น “การทารุณกรรมสัตว์ประเภทหนึ่ง"
องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก (World Animal Protection) จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนัก กระตุ้นเตือนให้กับผู้ผลิต และผู้บริโภค เห็นถึงความสำคัญของการทำฟาร์มอุตสาหกรรมโดยคำนึงถึง สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) แม้สุดท้ายเขาเหล่านั้นจะกลายมาเป็นอาหารของเราก็ตาม”
ภารกิจขององค์กรฯ คือปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ทุกประเภท
“องค์กรฯ มียุทธศาสตร์ในการดำเนินภายใต้มิชชั่นหลักในปี ค.ศ.2021-2030 คือ ‘We’re working to change the way the world works, to end animal cruelty and suffering. Forever. ความหมายคือ พยายามทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกับสัตว์ต่าง ๆ อย่างถาวร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงระดับโลก
ฟาร์มหมูสวัสดิภาพดี
สัตว์ในที่นี้รวมถึง สัตว์ป่า และ สัตว์ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรม การปศุสัตว์ทั้งหลายด้วย เรารู้ว่าเพียงแค่เสียงของเราคงไม่ดังพอ ดังนั้น We ในที่นี้จึงไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครขององค์กรฯ เท่านั้น เพราะการจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ
We คือ เราทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน องค์กรภาคีเครือข่าย ภาครัฐ และภาคเอกชน จะต้องเข้ามาร่วมมือกัน
โรจนา สังข์ทอง
นับแต่ก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ.2493 เราก็ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรณรงค์ยุติการทำทารุณกรรมสัตว์ เราทำงานเพื่อจะสร้างความตระหนัก ยกสวัสดิภาพสัตว์ไปสู่ระดับสากล”
สวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร
“สวัสดิภาพสัตว์ เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สามอย่างนี้ล้วนเชื่อมโยงกัน ตราบใดที่มนุษย์ยังบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
องค์กรฯ ออกมาเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ และประชาชนในฐานะผู้บริโภค คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ที่นำมาใช้เป็นอาหาร เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปสิ่งเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างเช่น เนื้อไก่ ที่คนไทยบริโภคกันทุกวันนี้มีระบบการเลี้ยงที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนการเลี้ยงไก่เนื้อต้องใช้เวลา 4-6 เดือน จึงจะได้น้ำหนักที่เหมาะสมต่อการนำไปแปรรูป แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 40 วัน ก็สามารถนำออกสู่ตลาดได้แล้ว
ไก่พวกนี้ได้รับสารกระตุ้นเร่งการเจริญเติบโต อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด ไม่ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติในการคุ้ยเขี่ยอาหาร ส่งผลให้ไก่มีความอ่อนแอ มีความเจ็บป่วยจากอาการขาพิการและกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ภูมิต้านทานโรคต่ำ การทำงานของหัวใจและปอดบกพร่อง
เมื่อไก่ป่วยก็ให้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาปฏิชีวนะมาก ๆ ทำให้เกิด Superbugs หรือเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ เกิดการปนเปื้อนไปกับน้ำที่ใช้ในระบบการเลี้ยง หากน้ำถูกปล่อยไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ พอคนนำน้ำไปใช้ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอุปโภค ก็ทำให้สารตกค้างเข้าสู่ร่างกายไปอีกทางหนึ่ง
การที่เราได้รับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ สะสมในร่างกายไปเรื่อย ๆ ผลที่ตามมา เช่น หากเราป่วยอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเราลดลง หรือเรียกว่าอาการดื้อยา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 38,000 คน หรือ 1 คนในทุก ๆ 15 นาที
และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น ในแต่ละปียาปฏิชีวนะประมาณ 3 ใน 4 ที่ผลิตขึ้นบนโลกนี้ถูกใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรม จากข้อมูลนี้มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม มีการพัฒนาระบบอาหาร หรือ Food System ในประเทศไทยอย่างจริงจัง”
ฟาร์มไก่สวัสดิภาพดี
สวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มที่ดีเป็นอย่างไร
“นิยามของสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม นอกจากเรื่องของอาหาร ที่อยู่อาศัย และการเอาใจใส่ดูแลยามเจ็บป่วยที่สัตว์พึงได้รับตามหลักสวัสดิภาพแล้ว ความหมายที่สื่อสารกันแบบง่าย ๆ ให้ผู้บริโภคเข้าใจคือ ระบบการเลี้ยงที่ใกล้เคียงกับการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ให้มากที่สุด
ยกตัวอย่างไก่อีกครั้ง...ฟาร์มควรเลือกไก่ที่เติบโตในอัตราช้าลง เพราะจะช่วยลดปัญหาทางสุขภาพอันเกิดจากการที่ไก่โตเร็วเกินไป และมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ลดความแออัดในโรงเรือน ให้ไก่มีอิสระในการเคลื่อนไหว ให้ความหนาแน่นสูงสุดอยู่ที่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
การมีพื้นที่มากขึ้น ปรับโรงเรือนให้ไก่ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติมากขึ้น มีช่วงเวลาความมืดต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ให้ไก่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับไก่ ให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ เช่น มีคอนให้เกาะ มีฟางให้จิกกัด
การที่ให้เขาได้ทำกิจกรรมตามธรรมชาติของสัตว์จะช่วยลดความเครียด ลดอาการเจ็บป่วย ก็ทำให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะกับไก่ ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อสัตว์ที่สะอาดปลอดภัย รวมถึงระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลภาวะต่ำ เราก็จะได้มีอากาศดี ๆ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถนำไปอุปโภคบริโภคได้อย่างสบายใจ”
แต่ไก่เลี้ยงเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไร
“ประเทศไทยส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และบราซิล ซึ่งเนื้อไก่ที่ส่งออกแน่นอนว่าต้องเป็นเนื้อไก่ที่เลี้ยงดูได้ถูกต้องตามคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับสากล
แต่เนื้อไก่ที่คนไทยบริโภคอาจได้มาตรฐานการเลี้ยง แต่มาตรฐานอาหารปลอดภัยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศแถบยุโรป ยังถือว่าต่ำกว่ามาก ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้ทำแคมเปญ Change for Chickens รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้ไก่ทอดแบรนด์ดังในประเทศไทย เลือกใช้วัตถุดิบเนื้อไก่ที่มาจากฟาร์มหรือแหล่งผลิตที่เลี้ยงด้วยวิธีการที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของไก่”
ทำไมต้องเป็นไก่ทอดแบรนด์ดัง
“ข้อแรกเลยเพราะเป็น Global Brand มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ข้อที่สองสำคัญคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ไก่ทอดแบรนด์นี้ใน 8 ประเทศฝั่งทวีปยุโรป มีมาตรการทางกฎหมายและความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความทุกข์ทรมานของสัตว์ ในการแสดงความเป็นผู้นำด้านการปรับปรุงสวัสดิภาพของไก่ โดยการลงนามในข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ (Better Chicken Commitment) ซึ่งเป็นสัญญาที่ให้แก่ผู้บริโภคว่าจะปรับปรุงมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ แล้วทำไมในประเทศไทยจะทำไม่ได้
ที่ผ่านมาองค์กรฯ เรียกร้องไปทางตัวแทนเจ้าของแฟรนไชส์ ได้คำตอบว่าประเทศไทยทำอะไรไม่ได้ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ แต่เมื่อในทวีปยุโรปยังทำได้ แล้วในไทยถึงนิ่งเฉย
ถึงแม้เราจะมีข้อเรียกร้อง ทำหนังสือกดดันขอคำตอบในการมาร่วมทำ Better Chicken Commitment ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ อีกหนึ่งเหตุผลคือหากในไทยมาร่วมทำ Commitment กับเรา เชื่อว่าจะมีอิมแพ็คกับอุตสาหกรรมธุรกิจอาหารในบ้านเราอย่างมากในการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม ยิ่งไปกว่านั้นแบรนด์เองก็จะได้ความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากขึ้นในแง่ของการเป็นแบรนด์ไก่ทอดที่ใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค”
ในฐานะผู้บริโภคจะเลือกอาหารปลอดภัยจากไหน
“เราจัดงาน Happy Meat Happy Me ชี้ช่องอาหารปลอดภัย ความหมายคือ สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ จัดนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้บริโภคในการเลือกอาหารที่ปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยงและกระตุ้นแนวโน้มการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ อย่างมีมนุษยธรรม และคำนึงถึงสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในฟาร์มก่อนส่งจำหน่ายให้ผู้บริโภค
อย่างที่บอกว่า องค์กรฯ ทำงานตามลำพังไม่ได้ เรามีการพูดคุยกับผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้บริโภค เพราะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน อีกเป้าหมายหนึ่งของเราเลยคือ People Power ถ้ามีการเรียกร้องจากผู้บริโภค มันจะเป็นเสียงที่ดังขึ้น
Happy Meat Happy Me วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ดังคำกล่าวที่ว่า You are what you eat และสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมในเรื่องความเชื่อมโยงกันของปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อคุณภาพชีวิตคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ตลอดจนทางเลือกในการเลือกอาหารโปรตีนที่ส่งผลดีต่อทั้งระบบ รวมทั้งมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของโลกในยุคปัจจุบัน โดยมุ่งหวังความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย ในการร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในอนาคต”
มารีญา พูลเลิศลาภ
ทำไมเลือก มารีญา พูลเลิศลาภ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
“คุณมารีญาเป็นคนที่เหมาะสม ในสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทราบกันดีว่าคุณมารีญา เป็นนักเคลื่อนไหวด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของเธอ การเลือกแบรนด์แอมบาสเดอร์ ไม่ใช่ว่าองค์กรฯ เป็นฝ่ายเลือกอย่างเดียว หรือเป็นใครก็ได้ขอแค่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แต่ต้องเป็นคนที่มี Passion เดียวกัน เราจึงจะทำงานร่วมกันได้
ซึ่งคุณมารีญามี Passion ในเรื่องการให้ความสำคัญและใส่ใจกับการเลือกอาหารที่รับประทาน แหล่งที่มาของอาหารที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรมานสัตว์
และเป็นคนที่มีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เคารพต่อธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งสัตว์และสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังเป็น Walks the Talk ตัวจริง คือพูดและลงมือทำจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินอาหาร
คุณมารีญา บอกว่าเมื่อก่อนรับประทานแต่ปลากับผัก แต่เมื่อได้มาร่วมงานกับ องค์กรฯ ทำให้รู้ถึงที่มาของเนื้อสัตว์ ปัจจุบันเธอไม่ทานเนื้อสัตว์ ดังนั้นการที่เธอมี Passion เดียวกัน ก็จะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มตั้งแต่เป็นทูตโครงการ Food System มาหนึ่งปีก่อนหน้านี้ เพื่อแชร์ประสบการณ์สื่อสารให้สังคมได้เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาของระบบอาหารจากสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม จนในที่สุดคุณมารีญาตกลงที่จะเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ให้กับองค์กรฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเพื่อสวัสดิภาพสัตว์และยุติการทารุณกับสัตว์ต่าง ๆ อย่างถาวร”
นิทรรศการครั้งนี้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
“ผู้เข้าชมงานจะได้รับรู้ข้อมูลแหล่งอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีสวัสดิภาพที่ดี มีอยู่ที่ไหนบ้าง และดีอย่างไรที่จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการออกร้านจำหน่ายวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยและมิตรกับผู้บริโภค สัตว์และสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่เราทำไม่ได้มุ่งหวังให้ทุกคนไม่กินเนื้อสัตว์เลย เพราะเราเข้าใจดีว่าสัตว์พวกนี้เป็นอาหารของคนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคนทุกฝ่ายว่า สัตว์เหล่านี้ก็มีชีวิต จิตใจ กว่าจะมาเป็นอาหารให้เรามันทรมานอย่างไร
อีกส่วนหนึ่งคือความทรมานของสัตว์เหล่านั้น เมื่อเรากินเข้าไปจะส่งผลเสียต่อเราอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสารออกไป เปรียบกับตัวเรา เราเองก็อยากมีชีวิตที่มีความสุขไปจนถึงวันสุดท้าย สัตว์ก็เช่นกัน เขาก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีไปจนกว่าจะกลายมาเป็นอาหารนั่นเอง
ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จ คืออยากให้คนไทยรู้จักองค์กรฯ มากขึ้นกว่านี้สัก 10% ของคนไทย อยากให้คนไทยรู้ว่าองค์กรฯ เป็นใคร ทำอะไร อยากให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของเรามากกว่านี้
เพราะ People Power เสียงของประชาชนคนไทยยิ่งดังเท่าไหร่ก็ยิ่งมีส่วนทำให้เกิดการขับเคลื่อนยกระดับสวัสดิภาพสัตว์และยุติการทารุณสัตว์ในทุกรูปแบบอย่างยั่งยืนที่แท้จริง”
ทำไมถึงมาทำงานกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เป็นกระบอกเสียงเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เราทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยเป็นวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญในด้านกลยุทธ์การสื่อสารและการระดมทุน รวมทั้งการจัดการทุนมนุษย์และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อร่วมขจัดปัญหาความยากจน ผ่านการลงพื้นที่ภาคสนามอย่างต่อเนื่อง
แต่ก่อนดิฉันทำงานด้าน Corporate องค์กรธุรกิจเกือบ 20 ปี ก่อนจะผันตัวทำงาน NGO มา 10 กว่าปีแล้ว เหตุผลเพราะมาจากเมื่อเราทำงานถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าการทำงานเพื่อ Good Cause มันให้ Job Satisfaction ที่ดีกว่า ทำให้เรามีความสุขการทำงานเพื่อหาเงินให้กับตัวเอง จนเมื่อมารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยได้ 4 ปี
แล้วทำไมต้องเป็นสัตว์ เพราะสัตว์มันพูดไม่ได้ ถ้ามองจริง ๆ องค์กรที่ช่วยเหลือสัตว์ในโลกนี้เมื่อเทียบกับองค์กรที่ช่วยเหลือมนุษย์ อัตราส่วนองค์กรช่วยเหลือสัตว์มันน้อยมาก และในประเทศไทยยังมีอะไรอีกเยอะมากเกี่ยวกับสัตว์ที่ต้องได้รับการพัฒนา เปลี่ยนแปลง
อย่างในเมืองนอกถ้าพูดถึงการดูแลสัตว์มันเป็น Agenda ของประเทศเขาเลย เช่น สุนัขทุกตัวในยุโรปต้องลงทะเบียน ใครเป็นเจ้าของ มีการดูแลอย่างไร คือมีกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ที่ชัดเจน แต่ในเมืองไทยยังไม่มีตรงนั้น ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าความรู้ความสามารถของเราสามารถช่วยให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ก็อยากจะทำตรงนี้มากกว่า
หลายคนอาจมองว่าคนทำงานด้าน NGO วัน ๆ ได้แต่ถือป้ายประท้วงไม่มี Career Path จริง ๆ แล้วไม่ใช่ การที่เรามาทำงานด้านนี้ ความรู้ความสามารถของเราต้องมีมากกว่าทำงานในองค์กรธุรกิจด้วยซ้ำไป เพราะว่างานของเรามีความเสี่ยง สองคือเป็นงานที่เราทำเพื่อคนอื่น ผลตอบแทนของเรามันได้อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ากว่าการรับเงินเดือนตอนสิ้นเดือน
อย่างไรก็ตามการทำงาน NGO ก็เป็นอาชีพที่เราเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยอมรับว่าคนที่จะทำงานตรงนี้ ต้องมีความเสียสละมากพอสมควร เพราะเป็นงานที่มีความเสี่ยง รวมถึงมีทีมงานที่พร้อมจะลุยไปด้วยกัน
โรจนา สังข์ทอง (Cr. องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก)
โชคดีมากที่เราได้ทีมงานที่ We’re together จริง ๆ มีบางครั้งที่หน้างานมีความเสี่ยงก็จะบอกน้อง ๆ ในทีมว่าไม่ต้องไปก็ได้นะ แต่เขาก็จะบอกว่าไม่ได้เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วเราก็ต้องไปด้วยกัน”
นิทรรศการ Happy Meat Happy Me สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ วันที่ 20-23 ตุลาคม 2565 ณ ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ ข้อมูลเพิ่มเติมที่ FB: World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก