"บุหรี่ไฟฟ้า" เรื่องไม่ปกติในสังคมวัยรุ่นไทย
"บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นวิกฤติสุขภาวะของวัยรุ่นไทย คือภัยร้ายตัวใหม่ที่ผู้ใหญ่จะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป เพราะนอกจากส่งผลโดยตรงต่อสมอง และระบบประสาท ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่ง หรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า กำลังมีพัฒนาการที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย รูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าจะคล้ายคลึงของใช้ประจำวันมากขึ้น มีรสชาติมากเกือบ 20,000 ชนิด แถมส่วนใหญ่เป็นรสขนมหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ที่ล้วนเป็นรสชาติที่เด็กและวัยรุ่นชื่นชอบและคุ้นเคย
นอกจากนี้ ด้วยกลเกมการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สูบแล้วไม่อันตราย จึงไม่แปลก หากจะมีเด็กหลายคนที่หลงกลสีสันและรสชาติบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้ จนกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น
ความน่ากังวลดังกล่าว นำมาสู่การจัดเสวนาวิชาการ "บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤติสุขภาวะวัยรุ่นไทย" ของเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รวมถึงภาคีต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า คือเด็กและเยาวชน หาใช่เพื่อคนที่คิดอยากเลิกบุหรี่อย่างที่เคยกล่าวไว้ไม่
ช่วยกันทำให้เป็นสิ่งที่ไม่ปกติในสังคม
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวอย่างห่วงใยถึงปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของ บุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นหญิงที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นภัยร้ายตัวใหม่ในวัยรุ่น เพราะทำให้วัยรุ่นที่ไม่เคยนิยมสูบบุหรี่มาก่อน เช่น ผู้หญิง เข้ามาสนใจสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนสุดท้ายนำไปสู่การเสพติด สิ่งเสพติด อื่นๆ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสารเสพติดอันตรายแนวราบ หากเข้าถึงแล้วก็จะขยายไปยังสารเสพติดตัวอื่นๆ ได้ง่าย
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่เกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยอมรับว่า สิ่งที่หนักใจอย่างมากเวลานี้คือ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าบุกไปถึงกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแล้ว จะเห็นได้จากข่าวพบเด็กนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ลงขันกันซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาแบ่งกันสูบถึง 20 คน ด้วยความอยากรู้อยากลอง
"เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ วันที่ บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นเครื่องประดับในร่างกาย เพราะหลายคนอาจมองว่ามันเท่ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องแค่คนอยากสูบหรือไม่อยากสูบแล้ว แต่มีเรื่องการตลาดมาเกี่ยวข้องและเป็นประตูที่จะนำไปสู่วงจรการเสพติดอื่นๆ ที่แม้แต่ผู้ปกครองหรือครูเองก็รู้ไม่เท่าทัน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนารูปแบบต่างๆ ทำให้ครูไม่รู้ว่าสิ่งของที่นักเรียนพกมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือพ่อแม่อาจไม่ทราบว่าสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าของลูกคือบุหรี่ไฟฟ้า" พชรพรรษ์ กล่าว
พชรพรรษ์ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่กลุ่มเยาวชนที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลแทบทุกที่ ก็พบว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากโค้ชหรืออาจารย์ก็ไม่ได้ห้าม ทุกคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายจึงอยากขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยืนยันมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เลย
"เราต้องทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะวงจร สิ่งเสพติด ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ แอลกอฮอล์ คือสิ่งที่ทำให้เราต้องสูญเสียเงินไปมากมาย และยังเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความยากจน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่ได้รับจากสิ่งเสพติดหรืออบายมุขเหล่านี้ ผมมองว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิตประชาชน ไม่ใช่การมีเงินมีทอง แต่คือการมีคุณภาพที่ดีและสุขภาพดี ในอนาคตรัฐบาลอาจต้องจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลโรคจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น" พชรพรรษ์ เสนอแนะ
พชรพรรษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทุกคนควรช่วยกันทำให้การ สูบบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ไม่ปกติในสังคม มีการวางกติกาสังคมเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศ ประกาศนโยบายไม่รับคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน หากสูบต้องเลิกภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจัดบริการเลิกสูบบุหรี่รองรับ ทั้งนี้ มีบริษัทประกันบางแห่งเริ่มมีกฎไม่รับทำประกันสุขภาพให้แก่คนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังเด็กและเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพเหล่านี้
บุหรี่ไฟฟ้า เกตเวย์ของนักสูบหน้าใหม่
มีข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% สูบเป็นประจำ 2.9% แต่ที่น่าตกใจคือ 30% ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเป็นผู้หญิง
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เคยเจอเด็กบางคนใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอดอยู่ แต่พวกเขาบอกว่า ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า เพราะเขาไม่รู้ ก่อนจะให้ข้อมูลต่อไปว่า ในสหรัฐอเมริกา เด็กมัธยมฯ 1 ใน 4 สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน ส่วนในอังกฤษ 1 ใน 5 เด็กนักเรียนหญิงวัย 15 ปี เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น สอดคล้องกับในไทย 30% ของวัยรุ่น 10-19 ปี สูบประจำนั้นเป็นผู้หญิง ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่มวนในเด็กผู้หญิงมีเพียง 2% เท่านั้น ซึ่ง นิโคติน ในบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ บางตัวมีนิโคตินสูงกว่าเทียบเท่าบุหรี่มวนบางยี่ห้อถึง 50 มวน
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ยังเปิดเผยต่อถึงข้อมูลงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) ที่สำรวจบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) พบสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า
- มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- เพื่อนและคนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ
- เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน
- เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
โดยเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใดๆ มาก่อน เมื่อเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดต้องสูบเป็นประจำ ภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีแนวโน้มที่จะเริ่มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา (dual use) เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้า หรือประตูสู่สารเสพติดอื่นๆ รวมถึงบุหรี่ธรรมดา ทั้งยังมีงานวิจัยใหม่หลายตัว ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสูบแล้วทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ยังเผยถึงการศึกษาข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ อายุ 14-17 ปี พบว่า เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 72% มีการใช้ สารเสพติด อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สุรา กัญชา บุหรี่ และงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ยิ่งเด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนอายุยิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงที่จะติดสารเสพติดอื่นๆ มากขึ้น ไม่เพียงแต่บุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหานำไปสู่การใช้สารเสพติดต่างๆ แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารเสพติดจะส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า จากข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปี ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้าด้วยและเด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า
บุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาโครงสร้าง
ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องมีการทำงานเชิงลึก แน่นอนว่าการให้ความรู้เป็นส่วนหนึ่ง
"สิ่งที่เราทำคือ พยายามทำงานใกล้กับกลไกของเซตติงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยทางโครงการกำลังมีแผนที่ลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น ผ่านเครือข่ายที่มีพันธะสัญญาร่วมกัน อย่างไรก็ดี การให้ความรู้เรื่อง บุหรี่ไฟฟ้า เป็นหน้าที่ทุกคน ที่จะช่วยในการสื่อสารกับนักเรียน ครอบครัว เพื่อนๆ ของเรา และอย่าลืมว่า ปัญหานี้มันเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ขณะนี้พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กระดับประถมศึกษาในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่สูบเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าแบบพอด ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตรายและไม่เสพติด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองยังขาดความรู้และไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายอุปกรณ์การเรียนของเด็ก ทั้งสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เพราะวางขายในตลาดนัด ทางออนไลน์ ถามว่า บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดวันนี้ทำไมสามารถหาซื้อได้ทุกที่ และไม่ได้มีเฉพาะเยาวชนเป็นผู้เสพ แต่บางคนยังกลายเป็นผู้จำหน่าย ปัญหาคือ เราจะช่วยให้พ่อแม่ ผู้ใหญ่เท่าทันได้อย่างไร" ฐาณิชชา กล่าว
บุหรี่ไฟฟ้า เรื่องของปากท้องและเศรษฐกิจ
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ "หมอโอ๋" เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ยอมรับว่า ปัญหาที่กำลังคุยอยู่นี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะหากมองวิเคราะห์ลึกลงไปแล้ว จะพบว่า การสูบบุหรี่ การติดสารเสพติด หรืออบายมุขการพนันต่างๆ ของคนไทยในสังคม ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากเรื่องปัญหาความยากจน ปัญหาปากท้อง ที่ทำให้เขารู้สึกเป็นหนึ่งในข้อจำกัดในชีวิต ซึ่งทำให้เขาอยากหลีกหนี หรือหาทางออก ทั้งการมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้คนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีพอก็ล้วนทำให้คนเรามีพฤติกรรมอยากหันเหไปหาสารเสพติดเพื่อเป็นที่พึ่งพาทางใจ
"บางคนมองว่า มันเป็นพื้นที่ความสุขเล็กๆ ที่เขาสามารถมีได้ เช่น การดื่มสุราสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็เป็นปัญหาทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว หรือตัวพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จนลูกโตมาด้วยความรู้สึกว่าไร้ตัวตน ความรู้สึกไม่ดีต่อระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ทำให้มนุษย์เติบโตมารู้สึกเครียด ไร้ตัวตน และถูกบูลลี่ หมอเคยพบคนไข้บางคน สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่ามีขายในโรงเรียน ซึ่งในบางคนด้วยความจนบุหรี่ไฟฟ้ามันยังกลายเป็นธุรกิจได้อีก สร้างรายได้เสริมให้เขา อย่าแปลกใจหามีเด็กหลายคนขายยาบ้า เมื่อคนเราอยากหาทางออก แต่แล้วเราก็ไม่มีพื้นที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในรูปแบบที่สร้างสุขภาวะอย่างเพียงพอ ดังนั้น ถ้าเรามองแต่ในแง่การให้ความรู้เด็กอย่างเดียว อาจไม่ได้เป็นการแก้โจทย์ปัญหานี้ทั้งหมด" ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตนให้กับชีวิต ทำให้ลองสิ่งใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะผ่านทางเพื่อน ซึ่งภาวะที่สมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้การตัดสินใจ การยับยั้งชั่งใจต่างๆ ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น การแสดงความเข้าใจ เปิดใจรับฟังของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ แทนที่จะเป็นการเงียบเฉยหรือใช้คำพูดต่อว่าหรือขู่เรื่องอันตรายที่จะเกิดในอนาคต อาจนำไปสู่การต่อต้าน หรือการมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจจะรุนแรงกว่า
หมอโอ๋ กล่าวด้วยว่า หากมีลูก สูบบุหรี่ไฟฟ้า อยากแนะนำให้พ่อแม่คุยกับลูกด้วยการรับฟัง ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่สูบว่ามันตอบสนองความต้องการอะไรในชีวิตของลูก ลูกมีความคิดความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ไม่ใช่แบบตั้งใจมาสั่งสอน จับผิด พ่อแม่สามารถส่งสัญญาณให้ลูกรับรู้ถึงความเป็นห่วง อยากให้ลดหรือเลิกสูบ ถ้าพบว่าลูกก็มีความตั้งใจลดหรือ เลิกสูบ ก็วางแผนร่วมกันในการลดหรือเลิกสูบได้อย่างไร
อ้างอิง
- Longitudinal bidirectional association between youth electronic cigarette use and tobacco cigarette smoking initiation in Thailand
- Use of E-Cigarettes and Associated Factors among Youth in Thailand
- Association between electronic cigarette use and depression among Thai adolescents: the Thailand National Health Examination Survey 2019-2020 (in press)
- An analysis of e-cigarette and polysubstance use patterns of adolescents in Bangkok, Thailand
- Associations Between Early Onset of E-cigarette Use and Cigarette Smoking and Other Substance Use Among US Adolescents: A National Study