จากบ้านครูน้อยถึง"ครูยุ่น"การช่วยเหลือที่สังคมตั้งคำถาม และอยากรู้คำตอบ
ล่าสุดกรณีบ้าน"ครูยุ่น"ถูกสังคมตั้งคำถามว่า ทำไมต้องตีเด็กและใช้แรงงานเด็ก เมื่อหลายปีก่อน บ้านครูน้อยก็มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสเงินบริจาค แม้จะต่างกัน แต่มีจุดร่วมบางอย่าง
หากถามว่า คนไทยชอบบริจาคเงินเรื่องใดมากที่สุด...
คำตอบก็คือ การกุศล การทำบุญ การช่วยเหลือคนยากไร้ เป็นการบริจาคอันดับต้นๆ ที่คนไทยพร้อมจะควักเงินในกระเป๋า และน้อยมากที่จะตั้งคำถามว่า เมื่อบริจาคเงินไปแล้ว ได้นำไปช่วยเหลือเด็กๆ อย่างไร และส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบ
หากจะมีการตรวจสอบ ก็จะมีคำพูดที่ว่า "ไม่ไว้ใจกันหรือ ทั้งๆ ที่ทำเพื่อการกุศล" ฯลฯ...
เส้นทางการจัดการเงินๆ ทองๆ ของมูลนิธิ จึงเป็นอีกประเด็นที่น่าตั้งคำถาม แต่ที่ผ่านมาต้องเป็นข่าวก่อน จึงจะมีกระบวนการตรวจสอบเส้นทางเงินบริจาค
มองย้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ บ้านครูน้อย
“ครูน้อย”หรือ นวลน้อย ทิมกุล ผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กยากจน“บ้านครูน้อย” เป็นอีกสถานที่ในการดูแลเด็กด้อยโอกาส
ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการจัดการเงินบริจาคที่มากมาย แต่ไม่เคยเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการสถานรับเลี้ยงเด็กยากจน รวมถึงดราม่ามากมายในช่วงที่เป็นข่าว เมื่อปี 2559
สาเหตุที่มีคนบริจาคเงินมากมาย ก็เพราะความสงสารอยากช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากเรื่องราวครูน้อยถูกแพร่หลายผ่านสื่อมวลชน องค์กร มูลนิธิ และกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือทั้งกำลังทรัพย์ สิ่งของและช่วยผลักดันให้สถานศึกษาภาครัฐให้โอกาสเด็กๆ ที่ขาดหลักฐานประกอบการศึกษา ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยได้รับการยกเว้นในเรื่องหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับเอกสารต่างๆ
แต่ในที่สุดต้องปิดตำนานสถานรับเลี้ยงเด็กยากจนกว่า 30 ปี ก่อนปิดตัวก็มีการตรวจสอบการจัดการเงินๆ ทองๆ ของครูน้อย พบว่า มีการกู้นอกระบบและเส้นทางการใช้เงินบริจาคไม่ธรรมดา จนลูกๆ ต้องรับภาระใช้หนี้แทนแม่ ทั้งการกู้เงินจากหลายแห่ง และบ้านที่แม่เอาไปจำนองไว้
ล่าสุดบ้านครูยุ่น มีการกล่าวหาว่าทำร้ายเด็ก
เรื่องราวบ้านครูยุ่น-มนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนเรื่องการทำร้ายร่างกายเด็กและใช้แรงงานเด็ก
ย้อนไปถึงเรื่องราวครูยุ่น เริ่มจากเช่าบ้านที่ลาดพร้าว 106 เมื่อปี 2534 ช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อถูกรังแกและถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ ตอนนั้นเรียกว่า บ้านคุ้มครองเด็ก ช่วงแรกๆ สามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้าย และละเมิดทางเพศจำนวนมาก
หลังจากนั้นเปิดเป็นมูลนิธิ ดำเนินการมากว่า 30 ปีในฐานะองค์กรสาธารณะกุศล รูปแบบนิติบุคคล ใช้เงินบริจาคในการบริหารจัดการ โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เพื่อทำงานป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาเด็กที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งและ ถูกรังแกจากผู้ใหญ่ในสังคม
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 65 เด็กในความดูแลกว่า 55 คน ตกเป็นข่าวดังกรณีทำร้ายร่างกายเด็กภายในมูลนิธิฯ จนทำให้หน่วยงานด้านพัฒนาสังคมเข้ามาดำเนินการรับเด็กไปดูแลและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อถอดถอนใบอนุญาตการก่อตั้งมูลนิธิฯ
โดย ครูยุ่น ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ปากคำและรับทราบตามหมายเรียกใน 2 ข้อหา คือ ทำร้ายร่างกายเด็ก และใช้แรงงานเด็ก หลังจากมีการเปิดโปงเรื่องราวของมูลนิธิบ้านครูยุ่น หรือ มูลนิธิคุ้มครองเด็กสมุทรสงคราม
เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นยังไม่อาจคลี่ปมได้ชัด แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดประเด็นหนึ่งคือ คนบริหารจัดการมูลนิธิคุ้มครองเด็กไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ค เพื่อสื่อสารความเคลื่อนไหวการทำงานในช่วงหลายปี และผู้บริหารจัดการ มูลนิธิคุ้มครองเด็ก มีเพียงครูยุ่นที่มีอำนาจตัดสินใจ
คนทำงานเพื่อสังคมรุ่นใหม่
ในยุคที่ทุกคนมีสื่อในมือ เห็นได้ว่าคนทำงานเพื่อสังคมรุ่นใหม่บางกลุ่ม พยายามพึ่งพิงตนเองให้ได้ก่อน เพื่อจะพาองค์กรให้รอดไปด้วยกัน
ครูแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง คนทำงานเพื่อสังคมอีกคนที่เชื่อมร้อยเครือข่ายมากมายเข้ามาช่วยคนคลองเตย โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดหนัก
เธอ เคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยถูกคนรอบข้างตั้งคำถามว่า เอาเงินที่ไหนมาทำงาน เราก็บอกว่า เราจัดการชีวิตได้ ไม่มีปัญหา เราเองไม่ได้ทำงานองค์กรพัฒนาสังคมอย่างเดียว ยังทำงานส่วนอื่นๆ ด้วย
"เราต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่างานอีเว้นท์ งานดนตรี ออแกไนซ์ จัดทำค่ายเด็ก เราทำทุกอย่าง ซึ่งเป็นทักษะที่เรามี แม้เราจะทำงานเพื่อสังคม แต่เรามีเงินเดือนจากโครงการที่ขอทุน
เราไม่ได้เป็นองค์กรชัดเจน เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานฟรีแลนซ์เพื่อสังคม “คลองเตยดีจัง” มีหลายโครงการที่เราขอทุนรายปีทำงาน แล้วก็ระดมจากภาคเอกชน"
นั่นเป็นคำตอบของเธอ ส่วนคนทำงานเพื่อสังคมในยุคดิจิทัลกลุ่มอื่นๆ อาทิ เส้นด้าย เราต้องรอด ฯลฯ พวกเขาไม่ได้รวมตัวกันในรูปแบบเอ็นจีโอเหมือนเมื่อก่อน แต่ทำงานแบบอาสาสมัคร ใครมีความสามารถด้านไหน ก็มาช่วยกันเซ็ตระบบ
แม้จะมีผู้บริหารอย่างเป็นทางการ แต่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้เน้นผู้นำองค์กรเพียงคนเดียวยังรับฟังความคิดเห็นผู้ร่วมงาน
และที่สำคัญคือ ในอนาคตการทำงานในลักษณะนี้ ต้องแจกแจงให้ได้ว่า เงินบริจาคที่ได้มา นำไปใช้จ่ายอย่างไรบ้าง