จุดเปลี่ยน เด็ก ‘บ้านกาญจนา’ ในมุม 'ทิชา ณ นคร'
ถอดบทเรียน 'บ้านกาญจนา' จากการทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ค้นพบว่าสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนเด็กคนหนึ่งที่เคยกระทำผิดพลาดกลับคืนสู่สังคม จะต้องทำเช่นไร
"บ้านกาญจนาฯ ไม่ใช่ ’คุก’ เด็กเหล่านี้ไม่ควรถูกปฎิบัติเยี่ยง ‘นักโทษ’ ถึงแม้เขาจะกระทำผิด แต่เราก็ต้องปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้เขา รวมถึงสิทธิมนุษยชน
สิ่งที่สำคัญคือ เปลี่ยนมุมมองสังคม ที่เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำ หน้าที่เราคือแสวงหาความเป็นธรรมให้พวกเขา ดูแล แก้ไข ฟื้นฟูด้วยความรัก ให้การศึกษาเหมือนเด็กทั่วไป"
ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการโครงการบริหาร ‘บ้านกาญจนา’ หรือ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงศูนย์ฯที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2547
โครงการนำร่องให้สถานพินิจฯ มีแนวทางใหม่ในการเลี้ยงดูปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชน อายุ 14 -24 ปี ที่กระทำผิด ให้มีความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการกลับตัวกลับใจ โดยเธอเล่าในกิจกรรมอ่าน(หนังสือ)มนุษย์ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ป้ามาร่วมงานสองครั้งแล้ว อยากให้กำลังใจลูกหลานบ้านกาญจนาภิเษกที่มาร่วมกิจกรรมอ่าน(หนังสือ)มนุษย์ ด้วยการพูดคุยกัน 30 นาที เขาเป็นลูกหลานที่ได้รับอิสรภาพแล้ว เรื่องของเขาน่าสนใจ
เป็นเด็กที่เข้าออกสถานพินิจมา 8 รอบ มีฉายาว่าสามศูนย์ฝึก สองเรือนจำ เพราะเข้าออกในสถานที่ควบคุมคนตามกฎหมายเยอะมาก เราได้ทำงานกับเขาในครั้งที่ 8 ของการติดคุก
ครั้งที่ 1-7 เขาอยู่ที่ไหนเราไม่รู้ แต่เราเจอเขาครั้งที่ 8 ซึ่งการเจอเด็กที่ติดคุกครั้งที่ 8 มันบอกกับเราว่า ตัวตน อัตลักษณ์ และเรื่องราวของเขา มันต้องซับซ้อนมาก
มีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ที่เขาตัดสินตัวเขาเองว่า เขาดีไม่ได้ มันก็เป็นปกตินะ พอเราทำอะไรผิดซ้ำ ๆ
เป็นโจทย์ที่ยากมาก การระดมสรรพกำลัง ทำงานกับหนุ่มน้อยคนนี้ของบ้านกาญจนาฯ เจ้าหน้าที่ทุกคน รวมทั้งพ่อแม่ของเขา เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ซึ่งยากที่สุด"
ป้ามล เล่าและบอกว่า ช่วง 3-4 ปีที่เขาคนนั้นได้รับการปล่อยตัวออกไป เขาไม่ได้กระทำผิดอีกเลย และที่สำคัญวิธีคิด มุมมองและครอบครัวของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
"เราถามเขาว่า เขาพร้อมไหมที่จะเป็นหนังสือให้กับคนอื่น เขาตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า ผมพร้อม"
- จุดเปลี่ยนสำคัญเด็กบ้านกาญจนา
เหมือนเช่นที่เขาได้บอกเล่าบนเวทีว่า เวลาคนเราได้บอกเล่าเรื่องราวของเราให้คนอื่นฟัง แล้วคน ๆ นั้นสามารถนำไปปกป้องเด็กสักคนหนึ่ง สำหรับเขามันมีค่ามาก
ป้ามล สะท้อนอีกว่า เพราะเขาไม่อยากให้เด็กแม้แต่คนเดียวต้องมาติดคุกเหมือนเขา เขารู้สึกว่า บาดแผลของเขา มันบอกที่มาและที่ไป ของการดูแลเด็ก ๆ ได้ ค่อนข้างดี เขาตกผลึกในมุมนี้ เขาเลยอาสามางานนี้
"เราก็ถามเขาว่า รู้สึกลำบากใจไหม อึดอัดไหมที่ต้องมานั่งในที่สาธารณะ เพื่อให้คนอ่าน มีคนเห็นรับรู้ เขาบอก ไม่เลย ภูมิใจ ปลื้มใจตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งเราคิดว่า เราไม่มีค่า แต่เรามีค่า
จริง ๆ งานนี้เขามาเอง เพราะว่าปล่อยไปแล้วตั้ง 3-4 ปี ป้าก็มาดูการเติบโตของเขา ที่สำคัญนำไปสู่การบอกเล่าของเด็กสถานพินิจที่เราดูแลในปัจจุบัน เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ
อย่างวันนี้มีเด็กบ้านกาญจนาฯ 6 คนยังอยู่ในคำสั่งศาล ก็มานั่งฟังด้วย มีหนึ่งคนก็ได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งแน่นอน ทั้งหมดนี้เขาต้องกลับไปคุยกับเพื่อนในบ้าน
ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตัวเองว่า เรื่องราวของเขาที่มันมืด เคยเป็นปัญหาของตัวเขา พ่อแม่ และสังคม มันพลิกกลับได้"
- จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไม่กลับเข้าคุกอีก
ถ้าย้อนกลับไปที่ดีน เด็กที่เข้าออกสถานพินิจมา 8 รอบ ตอนที่ถูกปล่อยตัวออกมา ป้ามล บอกว่า ประเมินได้ว่า เขาจะไม่กลับมาในที่แบบนี้อีก
"เราก็ถามเขาว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ เขาสรุปชัดว่า ป้ารู้ไหมครับ...ผ่านมาทั้ง 7 รอบ เวลาผมถูกจับ แล้วปล่อยออกมา ผมไม่เคยเข้าบ้านเลย
เหตุผลเพราะบ้านผมร้อน พ่อแม่ผมไม่ยอมรับผม เจอกันก็ด่า ผลักไสไล่ส่งกัน ขณะเดียวกัน แต่ละรอบที่ติด ทำให้ด้านมืดในตัวผมยิ่งแข็งแรง ผมก็เปลี่ยนไปในทางที่เลวร้าย
พ่อแม่ผมก็ไม่ได้เชื่อมั่นในตัวผม ไม่ให้ผมเข้าบ้าน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมถูกจับ ไม่เกิน 2-3 เดือน ก็จะทำความผิดซ้ำ เพราะว่าผมไม่ได้เข้าบ้าน แล้วก็อยู่ในแก๊งที่ทำผิดกฎหมาย แล้วก็โดนจับอีก"
ป้ามล เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญว่า "เขาบอกว่าป้าและพี่ๆ ที่บ้านกาญจนาทำงานกับพ่อแม่ผมหนักมาก ระหว่างนั้นผมคิดในใจว่า เดี๋ยวป้า เจ้าหน้าที่ แม่ผม และทุกคนก็ถอย ไม่มีใครเอาผมอยู่
แต่ตลอดเกือบสองปีที่ผมอยู่ที่นี่ ป้าและเจ้าหน้าที่ไม่เคยถอย แม้ว่าพ่อแม่ผมถอยหลายครั้งแล้ว เกรี้ยวกราดใส่ป้าและเจ้าหน้าที่
แต่ป้าและเจ้าหน้าที่ไม่เคยถอย แล้วมันมาถึงวันที่พ่อแม่ผมค่อยๆ เปลี่ยน ตอนนี้พ่อแม่เป็นของขวัญของผม ผมก็เป็นของขวัญของพ่อแม่ครับ ก็เท่านั้นแหละ"
- ครอบครัวคือสิ่งสำคัญ ?
เพราะการทำงานกับพ่อแม่เด็กอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ ป้ามล มองว่า ที่เขาเป็นแบบนี้ ก็มาจากด้านมืดของพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน
"เราต้องมาถอดรหัสกัน คุยกันเยอะ พอเริ่มปรับได้หน่อยหนึ่ง พ่อแม่เขาก็เห็นว่าลูกของเขาดีขึ้น เราก็ให้กำลังใจ
พ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก จริง ๆ แล้วงานที่ทำในคุกเด็กนี่ มันถูกออกแบบมาผิด ในทัศนะของป้าก็คือ
กำแพงที่สูงทำให้เราต้องออกแบบอย่างเข้มข้น ที่จะไม่ทำงานแค่ห่วงโซ่ในชีวิตของเด็ก ทุกห่วงโซ่ในชีวิตของเด็ก ไม่ว่าพ่อแม่ของเขา แฟนของเขา เพื่อนของเขา ล้วนสำคัญหมด
ถ้าเราไม่ทำงานกับคนเหล่านั้น แล้วทำงานกับเขาเพียงคนเดียว ระหว่างที่เขามาติดคุกกับเรา นั่นคือความพ่ายแพ้ตั้งแต่ยกแรก"