เมืองนี้ชิดซ้ายหรือขวา? : ระเบียบคนเดินของเมืองใหญ่ในโลกยุค urbanization
ถ้าเดินสัญจรบนฟุตบาท บนถนน บนบันไดเลื่อน หรือเดินสวนทางจะชิดซ้ายหรือขวาดี เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องการจัดระเบียบเมืองและวัฒนธรรม และรู้ไหม...เดินบนบันไดเลื่อน มันอันตราย
แนวโน้มใหญ่ของโลกยุคศตวรรษที่ 21 คือโลกที่ประชากรอยู่ในเมืองใหญ่ หรือ urbanization และแนวโน้มใหญ่ยังหมายรวมถึงยุคที่ผู้คนสัญจรในเมืองด้วยการเดินเท้าและใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่ารถส่วนตัว
แต่เดิมในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นศตวรรษของระบบรถยนต์ เราเคยชินกับกฎให้คนเดินสวนกับเลนรถยนต์ เพื่อจะได้เห็นรถที่วิ่งมา เป็นแบบแผนปฏิบัติสากลที่ทั่วโลกรู้จักกันดี แต่สำหรับระบบการเดินสัญจรระหว่างคนกับคน สวนทางกันจะชิดซ้ายหรือขวาดีนั้น ยังเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมเมืองในอีกหลายประเทศ
สองทศวรรษมานี้สังคมเมืองของมหานครใหญ่หลายเมืองได้ก่อรูปธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับผู้สัญจรบนระบบขนส่งมวลชน และ ผู้ใช้ถนน (pedestrian norms) ขึ้นมาเป็นระบบแบบแผน ธรรมเนียม
- แบบแผนเดินชิดซ้ายเมืองใหญ่
แบบแผนดังกล่าวบางเมืองเริ่มบังคับใช้เป็นกฎ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ข้อบังคับระเบียบตายตัว เช่น ที่มหานครนิวยอร์ค ผู้คนเดินเท้าบนฟุตบาทส่วนใหญ่นิยมและเคยชินกับการเดินชิดขวาเมื่อสวนทางกันดูเหมือนเป็นสามัญสำนึกความเคยชินที่ติดจากกฎจราจรรถวิ่งเลนขวา
ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้กฎจราจรรถยนต์วิ่งเลนซ้าย ธรรมเนียมการเดินถนนของประชาชนส่วนใหญ่ก็ชิดซ้ายตาม แบบแผนการเดินซ้ายสวนทางของชาวญี่ปุ่นเริ่มกลายเป็นแบบแผน เพราะระบบสาธารณูปโภคที่รองรับได้ออกแบบให้รองรับการเดินซ้ายพร้อมกันไป
ที่สถานีรถไฟ Kyoto Station ซึ่งเป็นศูนย์กลางเดินทางใหญ่ได้ออกแบบบันไดเลื่อนซ้ายขวาไว้รองรับเส้นทางเดินชิดซ้ายเอาไว้ หากผู้สัญจรเผลอเดินทางขวาในโถงอาคารจะเจอกับบันไดเลื่อนขาขึ้น ต้องเปลี่ยนฟากไปใช้บันไดเลื่อนทางซ้ายของโถงอาคาร เป็นการตอกย้ำแบบแผนเดินซ้ายให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้น
ธรรมเนียมการเดินถนนของคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ชิดซ้าย
แต่ทว่าในภาพรวมใหญ่ของโลก ระบบธรรมเนียมการเดินถนนระหว่างผู้คนยังไม่ถึงกับเป็นระเบียบแบบแผนทางวัฒนธรรม เหมือนกับธรรมเนียมการเข้าคิวที่เป็นระเบียบสากลไปแล้ว มหานครใหญ่อย่างปารีสยังไม่มีแบบแผนให้กับคนสัญจรฟุตบาท
ตกลงจะให้ชิดซ้ายหรือขวากันแน่ รูปแบบการเดินในปารีสยังเป็นไปโดยธรรมชาติ จะซ้ายหรือขวาตามสะดวก แล้วค่อยหลีกทางให้กันตามสะดวกของปัจเจก
ที่ก้าวหน้าเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าระเบียบคนเดินฟุตบาทก็คือการสัญจรในระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งบันไดเลื่อน ลิฟท์ รถไฟฟ้า ที่มีระเบียบแบบแผนมากกว่า เมืองใหญ่แทบทุกเมืองที่มีระบบรถไฟฟ้าเริ่มจัดระเบียบผู้โดยสารตั้งแต่การใช้ลิฟท์ และบันไดเลื่อน ในประเทศไทยก็เริ่มมีการรณรงค์เรื่องนี้เมื่อสี่ห้าปีก่อนโดย บีทีเอส รณรงค์ขอให้ผู้โดยสารชิดขวาเมื่อใช้บันไดเลื่อน เพื่อเปิดทางให้ผู้เร่งรีบกว่าเดินขึ้นแบบเดียวกับในญี่ปุ่น
- หลักความปลอดภัย : ห้ามเดินบนบันไดเลื่อน
กรณีการชิดแถวหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้กับคนเดินขึ้นบันเลื่อนอีกแถวหนึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าจะพัฒนาไปต่อในทิศทางใดในยุคการสัญจรใหม่ เพราะโดยหลักของความปลอดภัยนั้นห้ามคนเดินบนบันไดเลื่อน มันอันตราย... แต่ในทางปฏิบัติของเมืองใหญ่ที่ผู้คนเร่งรีบอย่างญี่ปุ่นเขาเคยชินและยอมรับให้คนการเดินขึ้นบันไดเลื่อนมานานแล้ว ด้วยสภาพความแออัดของการเดินทางช่วงเร่งรีบและผู้คนต้องรีบต่อรถให้ทันเวลา
ธรรมเนียมการขึ้นบันไดเลื่อนที่ญี่ปุ่นมีความแปลกอยู่อย่างตรงที่เขตโตเกียว ภาคคันโต นิยมขึ้นแล้วชิดซ้ายให้คนเดินขวา ต่างจากภาคคันไซทางโอซาก้า-เกียวโต ที่ขึ้นบันไดเลื่อนชิดขวา ให้คนเดินซ้าย
เมื่อสามปีก่อนเคยมีการรณรงค์ให้เลิกเดินบนบันได เลื่อนเพราะเคยมีอุบัติเหตุ แล้วให้คนที่เร่งรีบใช้บันไดธรรมดา แต่เหมือนจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสภาพการเดินทางเร่งรีบ เพราะสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งมีแค่บันไดเลื่อนขึ้นลง ส่วนบันไดธรรมดาแยกไปอีกที่ไกลขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังอนุโลมให้มีแถวยืนและแถวเดินพร้อมกันบนบันไดเลื่อน
ส่วนการสัญจรบนฟุตบาทนั้นความนิยมชิดซ้ายดูจะเริ่มกลายเป็นแบบแผนที่พบได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบเดินทางโดยขนส่งมวลชนและคนเดินถนนก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ถ้าเป็นเมืองไทย บีทีเอสรณรงค์ให้ผู้โดยสารชิดขวาเมื่อใช้บันไดเลื่อน
ย้อนมาดูธรรมเนียมปฏิบัติสังคมคนสัญจรถนนในประเทศไทย กรุงเทพฯเป็นมหานครใหญ่ของเอเชียที่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ติดลำดับต้น ระบบสังคมคนเมืองกรุงฯที่ใช้รถไฟฟ้ามีความเป็นระเบียบทันสมัย (รวมถึงการพยายามรณรงค์บันไดเลื่อนชิดขวา) สายพานช่วยเดินวอล์คเวย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกใช้ระบบชิดขวา ให้คนที่เร่งรีบกว่าแซงซ้าย (ที่แม้จะมีคนยืนแช่ขวางเกะกะอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าดี)
นั่นคือภาพในด้านความก้าวหน้า
- ตกลงจะให้คนเดินชิดซ้าย-หรือขวา?
แต่สำหรับการเดินถนนทั่วไปในสถานที่สำหรับผู้คนสัญจรพร้อมกันจำนวนมาก ทั้งทางเท้าสาธารณะหรือในโถงอาคารขนาดใหญ่ ต้องยอมรับว่าสังคมคนกรุงเทพฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะซ้ายหรือขวา การสัญจรบนฟุตบาทยังเป็นไปแบบทางใครทางมัน ใครใคร่ซ้ายซ้าย ใครใคร่ขวาขวา คนที่เกรงใจชาวบ้านมากกว่าเป็นฝ่ายหลบ
และต้องยอมรับอีกด้วยว่า ฟุตบาทเท้าให้คนสัญจรซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานก็ยังไม่สามารถรองรับแนวความคิดเมือง (ของ) คนเดิน pedestrian city ได้เต็มปาก อาทิ ระบบอำนวยความสะดวกสัญญาณแก่ผู้พิการทางสายตาแบบสากล (universal design) ของไทยยังไม่พร้อมสมบูรณ์
แบบแผนชิดซ้ายหรือขวาไม่ใช่แค่ทางเท้าฟุตบาทเท่านั้น มันเกี่ยวไปถึงระบบเมืองอื่นๆ ยกตัวอย่าง ลู่วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่แม้จะวันเวย์มุ่งไปทางเดียวกัน แต่ก็มีจังหวะสำหรับคนออกกำลังกายที่เดินช้า เดินเร็ว / วิ่งช้า วิ่งเร็ว จะชิดด้านไหนและแซงด้านไหน ล้วนแต่เป็นกิจกรรมสำหรับชีวิตประจำวันคนเมืองทั้งสิ้น ซึ่งนี่สังคมไทยก็ยังไม่ได้สร้างความชัดเจน
ภาพด้านที่ยังไม่ก้าวหน้าของไทยยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปสำหรับความเป็นเมืองใหญ่ของคนเดินถนนและการขนส่งมวลชนในโลกยุคใหม่
คำถามของโลกยุค urbanization ที่ว่า..ตกลงจะให้คนเดินชิดซ้าย-หรือขวาดี อย่างไรเสียมันต้องมาแน่ๆ !