ดวงดาวและขอบฟ้า เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง

 แม้กระทั่งดวงดาวยังเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลง แต่เหตุใด"ท้องฟ้าจำลอง" (ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา) ไม่ขยับเขยื่อน พัฒนาในโลกยุคดิจิทัล ?  

หากใครอยากหวนรำลึกความหลังเมื่อครั้งพ่อแม่พาไปดูดาวตอนเด็กๆ ต้องเดินกลับที่ท้องฟ้าจำลอง แม้วันเวลาจะผันแปร แต่ท้องฟ้าจำลองก็ยังเหมือนเดิม 

ณ ที่แห่งนี้(ท้องฟ้าจำลอง) มีโดมดูดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ขอบฟ้า และหมู่ดาวเกลื่อนฟ้า พร้อมเรื่องเล่าจากนักบรรยายดาว

 “รอยต่อระหว่างท้องฟ้ากับแผ่นดินเรียกว่าขอบฟ้า ที่ขอบฟ้ามีตัวอักษรภาษาอังฤษ 4 ตัว แสดงทิศทั้ง 4 ทิศ เดี๋ยวให้เด็ก ลองมองไปรอบๆ....” 

 

“ในจักรวาลมีดวงดาวมากมาย ถ้ามองด้วยตาเปล่าเห็นดาวได้ 3,000-4,000 ดวง ส่วนใหญ่เป็นดาวฤกษ์ มีแสงสว่างในตัวเอง สองทุ่มจะเห็นดาวเคราะห์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง 

ทำไมเราเห็นดาวเคราะห์ได้ เพราะแสงจากดวงอาทิตย์เดินทางไปดาวเคราะห์ สะท้อนกลับมาโลกของเรา มองด้วยตาเปล่าเราเห็นดาวเคราะห์ได้เพียง 5 ดวง ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะคือ ดาวพฤหัสบดี...." 

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง ปรินทร์ ทานะวงศ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) หรือนักบรรยายดาว 

 

ใช่เลย...นี่เป็นบรรยายส่วนหนึ่งในการดูดาว เพื่อให้เด็กๆ และคนทั่วไปรู้จักดวงดาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าในท้องฟ้ามากขึ้น ปรินทร์ ทานะวงศ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) น่าจะเล่าเรื่องการดูดาวมาเกือบหมื่นรอบในช่วง 14 ปีในฐานะนักบรรยายดาว

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง

  • เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง

ถ้าไม่รักการสื่อสารเรื่องดวงดาว นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนนี้ คงผันตัวไปทำอย่างอื่น แต่เขายังนั่งบรรยายดาวเกือบทุกวัน และเมื่อตั้งคำถามเรื่องการก้าวไปข้างหน้าของท้องฟ้าจำลอง สถานที่ให้ความรู้เรื่องดวงดาวและวิทยาศาสตร์กลางเมือง เหตุใดมีบุคลากรด้านนี้น้อย และไม่มีระบบการจำหน่ายตั๋วดูดาวออนไลน์

แม้ปรินทร์จะบรรยายดาวมานาน 14 ปี เขาเชื่อว่าอีก 10 ปีลักษณะงานดังกล่าวก็ยังเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคงเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ อาจมีซอฟแวร์ใหม่ๆ มากขึ้น

“ถ้าถามสิ่งที่ขาด ผมมองว่าบุคลากรด้านนี้ยังไม่เพียงพอ ถ้าเทียบกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ NARITที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ ที่นั่นมีการพัฒนาเติบโตในทุกด้าน มีนักวิจัย นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ กิจกรรมด้านดาราศาสตร์ มีศักยภาพสูง มีกิจกรรมต่อเนื่อง

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง ที่นี่น่าจะมีทริปไปดูดาวต่างจังหวัด มีกิจกรรมไปดูดาวในพื้นที่มากกว่าการดูดาวแค่ในท้องฟ้าจำลอง เพื่อทำให้เด็กๆ มีความรู้มากขึ้น อีกอย่างนักวิชาการด้านนี้ส่วนใหญ่ก็ย้ายไปประจำที่อื่น

หลายคนไม่ชอบงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ แม้ผมจะไม่ค่อยชอบโครงสร้างการทำงานแบบนี้ แต่สิ่งที่ผมชอบตอนบรรยายดาวได้อยู่กับเด็กๆ มันสนุกตรงนี้" 

แม้เทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน แต่คนซื้อตั๋วดูดาว ยังต้องเดินมาซื้อหน้าเคาน์เตอร์  ปรินทร์มองว่า ไม่ได้พัฒนาตามบริบทสังคม

"ทั้งๆ อยู่กลางเมืองเดินทางสะดวก ชื่อก็บอกว่า เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา แต่กระบวนการทำงานยังเป็นระบบอนาล็อก"

  • 30 นาทีดูดาวและ 20 นาทีดูสารคดีวิทยาศาสตร์

ท้องฟ้าจำลอง สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2504 โดยห้างบีกริม แอนโก กรุงเทพ จำกัด และตัวแทน บริษัท คาร์ลไซซ์ จากเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนเครื่องฉายดาวและเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 18 สิงหาคม 2507 ปัจจุบันเปิดให้บริการ 58 ปีแล้ว

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง ในโดมของท้องฟ้าจำลองจะมีเครื่องฉายดาวขนาดใหญ่ โดยมีซอฟแวร์ควบคุมการทำงานในการฉายภาพบนจอโดม เพื่อให้ภาพจากสองโปรเจคเตอร์เป็นภาพเดียวกัน คือ ฉายภาพแบบเต็มโดม เพื่อให้คนดูสามารถดูดาวได้ง่ายขึ้น

“การมาดูดาวในท้องฟ้าจำลอง ก็เพื่อให้คนดูกลับไปดูดาวบนท้องฟ้าได้เอง ดังนั้นดวงดาวในท้องฟ้าจำลอง จึงมีลักษณะคล้ายกับดวงดาวตอนกลางคืน เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ สามเดือนผ่านไปตำแหน่งดวงดาวในท้องฟ้าก็เปลี่ยน

การสอนการดูดาวก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้ชมที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กประถม และเด็กมัธยมต้น กับกลุ่มครอบครัวพ่อแม่พาลูกมาดูดาว” ปรินทร์ เล่า

ปกติผู้บรรยายดาวสองคน ต้องบรรยายรวมๆ วันละห้ารอบ โดยใช้เวลา 30 นาที ส่วนอีก 20 นาทีเป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นๆหมุนเวียนไป เพื่อให้คนบรรยายดาวได้พักในรอบต่อไป

"การศึกษาเรื่องดวงดาวและจักรวาลก็เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน ดาราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของวิชาฟิสิกส์ที่ผมเรียน ผมชอบการบรรยายเรื่องดวงดาวให้เด็กๆ ฟัง ต้องทำเนื้อหาให้ง่าย เสียงที่ใช้บรรยายดาว ก็ต้องมีจังหวะชัดเจนน่าฟัง"

ดวงดาวและขอบฟ้า  เรื่องเล่านักบรรยายดาว ท้องฟ้าจำลอง

  • ดาวเหนืออยู่ไหน

เมื่ออาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ดาวก็จะค่อยโผล่มาทักทายชาวโลก ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวที่มีมวลมากที่สุดของระบบสุริยะ มีดวงจันทร์เป็นบริวาร

ดาวเคราะห์ที่เราสามารถสังเกตเห็นก่อนอาทิตย์ขึ้นและสวยงามมาก อยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก คือ ดาวเสาร์ เป็นดาวที่มีวงแหวน สังเกตเห็นได้ชัดเจน เพราะมีเกล็ดน้ำแข็ง

เวลาดึกๆ ช่วงสี่ทุ่มกว่าเราจะเห็นดาวกลุ่มหนึ่ง กลุ่มดาววัว ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ดาวกลุ่มนี้จะคล้อยต่ำลงทางทิศตะวันตก ไม่ไกลจากลุ่มดาวนายพราน จะเห็นดาวอีกกลุ่มเป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่งที่หลายคนมีไว้ที่บ้าน คือกลุ่มดาวสุนัขใหญ่

ปรากฎการณ์ที่สำคัญในวันที่ 1 ธันวาคม 65 ที่ผ่านมาจะมีดาวอังคารโคจรใกล้โลก ปรินทร์ เล่าว่า เราก็จะนำเสนอเรื่องเหล่านี้ด้วย และล่าสุดโครงการอาร์ทิมิส 1 จะส่งยานโอไรออนไปโคจรรอบดวงจันทร์ และกลับมายังโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2565

“เครื่องฉายดาวที่เปลี่ยนใหม่ใช้มา 7 ปีแล้ว ต่อไปต้องอัพเดทระบบ ก็คิดว่าจะเอาเครื่องฉายหนังเครื่องเก่าออกมาจัดนิทรรศการด้านนอก เพราะพื้นที่ที่ติดตั้งโปรเจคเตอร์ทำมานานหลายสิบปีและมีข้อจำกัด ภาพที่ฉายบางจุดจึงไม่คมชัด”

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดูดาวและเรื่องเล่าจากปรินทร์ นักบรรยายดาว และรู้ไหม...

"ดวงอาทิตย์ห่างจากโลก 150 ล้านกิโลเมตร แสงจากดวงอาทิตย์กว่าจะมาถึงโลกใช้เวลาเดินทาง 8 นาที ดังนั้นดวงอาทิตย์ที่เรามองเห็น คือ ดวงอาทิตย์เมื่อ 8 นาทีที่แล้ว"

.........

       ผู้เขียน : ป้อมยาม กรุงเทพธุรกิจ

  • ท้องฟ้าจำลองเปิดบริการทุกวันอังคาร-ศุกร์ รอบทั่วไปเวลา 11.00 น. และเวลา15.00 น.
  • เสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบ 10.00 น./13.00 น.และ 14. 00 น. บัตรเข้าชม เด็ก 20 บาท/ผู้ใหญ่ 30 บาท 
  • สอบถามได้ที่ 02 3910544 หรือดูที่เฟซบุ๊คท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ