เมื่อ "ความพิการ" ไม่ใช่ "ข้อจำกัดและภาระ"
ปลุกพลังความเท่าเทียม เปลี่ยนความสงสาร มาเข้าใจและรับฟังเสียง "ผู้พิการ" เพื่อสร้างความตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างความตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้พิการ
หากกำลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองนั้นไร้ค่า เจอแต่ปัญหามี "ข้อจำกัด" หรือในวันที่รู้สึกว่าเหนื่อยล้า ท้อถอยกับเรื่องยากๆ ในชีวิต แต่สำหรับบางคน แค่เรื่องง่ายๆ ในชีวิต ยังไม่มีโอกาส เช่น
- ไปกินข้าวนอกบ้านยังไปไม่ได้ เพราะจะขึ้นรถโดยสารสาธารณะ หรือรถไฟฟ้า "วีลแชร์" อาจไม่คล่องตัว
- ชีวิตเดินทางไม่ได้เพราะถนนหน้าปากซอย ไม่ใช่ทางราบที่สะดวกพอสามารถให้สองล้อขับเคลื่อนไปได้
- อยากเดินไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า รถเข็นวีลแชร์ก็เข้าประตูไม่ได้
- อยากจะสั่งอาหารก็ไม่มีเมนูสำหรับผู้พิการทางสายตาให้สักนิด
- อยากดูหนังสักเรื่อง แต่ไม่มีโอกาส
"ผู้พิการ" ไม่น้อยอาจต้องจำนนต่อการใช้ชีวิตและโอกาส และไม่กล้าคาดหวังที่จะเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิต แต่ใน วันพิการสากล 3 ธันวาคมปี 2565 นี้ หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนไปเพราะในยุคที่โลกกำลังเรียกร้องความเท่าเทียมในทุกด้าน เสียงเรียกร้อง "ผู้พิการ" เอง เขาก็อยากบอกความต้องการเช่นเดียวกัน
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หากย้อนไปหลายปีก่อนหน้านี้ ความเป็นไปได้ที่ ผู้พิการ จะลุกขึ้นมามีงานทำหรือได้รับการจัดสรรพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตดูจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในวันนี้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงศักดิ์ศรีของผู้พิการ และสร้างความตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเสริมศักยภาพของคนพิการ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามาสานพลังเครือข่ายและภาคีที่มองเห็นความสำคัญของสังคมแห่งความเท่าเทียม และร่วมจุดประกายความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งประชากรกลุ่มเฉพาะที่ สสส. ให้ความสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าประชากรกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากคนทั่วไป มีความเปราะบางต่อการสูญเสียสุขภาวะมากกว่าคนปกติ ทั้งด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ และปัจจัยอื่นๆ คนนอกระบบของสังคมที่เข้าไม่ถึงและไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายภาพรวม
ภรณี กล่าวต่อว่า การทำงานที่ผ่านมาของ สสส. ผ่านสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักถูกละเลย หลงลืมหรือมักเป็น "กลุ่มสุดท้าย" ที่ได้เข้าถึงทรัพยากร โดยทำหน้าที่ทั้งประสานและเสริมพลังในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถบนพื้นฐานความแตกต่างของบุคคล โดยเฉพาะผู้พิการ
"ผู้พิการในไทยส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำ ขาดโอกาสทางการศึกษาและมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง การสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ โดยที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้พิการ" ภรณี กล่าว
ทั้งนี้ สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 1,932 องค์กร ร่วมขับเคลื่อนสร้างสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงสุขภาวะ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ จนมีโครงการกว่า 130 โครงการ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของ กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ โดยในส่วนของผู้พิการ สสส. มีการขับเคลื่อนในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ การมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีงานทำ การอยู่ร่วมกันในสังคม การมีส่วนร่วมในชุมชน และการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้พิการ เป็นต้น
ผู้พิการ ต้องมีงานทำ
จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ (ณ วันที่ 31 มีนาคม 65) พบว่า ผู้พิการวัยทำงานที่มีงานทำจำนวน 314,127 คน คิดเป็นร้อยละ 36.87 ของจำนวนผู้พิการวัยทำงานทั้งหมดจำนวน 852,033 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน สสส. และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคมให้กับผู้พิการและมีผู้พิการที่ได้รับประโยชน์จากการมีงานทำกว่า 7,000 อัตรา สร้างโอกาสให้ผู้พิการได้ทำงานกว่า 20,000 งาน รวมเป็นรายได้ที่ส่งตรงจากสถานประกอบการถึงมือผู้พิการรวมกว่า 2 พันล้านบาท มีภาคีเครือข่ายกว่า 3,000 แห่งที่ร่วมขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคม
"สำหรับในปี 2566 สสส. ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้สุขภาวะของทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุดีขึ้น และจะให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น ตอนนี้ยังมีตำแหน่งงานว่างอีก 13,000-14,000 ตำแหน่ง" ภรณี กล่าว
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการผ่านการมีงานทำจนเกิดเป็นนวัตกรรมระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมขึ้นมาผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจทางสังคมระดับชุมชนทุกจังหวัด เช่น โรงพยาบาลโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรคนพิการในพื้นที่ นวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคมได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมาจากการสนับสนุนของ สสส. ที่มีเป้าหมายสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีให้คนทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน ผ่านการบูรณาการกับกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงานประกาศนโยบายขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมตั้งแต่ปี 2564 ที่เอื้อให้คนพิการมีรายได้จากการมีงานทำในภูมิลำเนาของตนเอง และเป็นงานที่สร้างประโยชน์โดยตรงให้กับชุมชนของตนเอง และเพื่อให้เกิดกลไกดำเนินการยั่งยืน และผลักดันให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งองค์กรขับเคลื่อนที่เป็นของคนพิการโดยคนพิการเพื่อคนพิการ จนเกิดการจัดตั้ง สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย หรือ ส.อ.ค. ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังนำเสนอกลไกระดมทุน "โมเดลวันละ 10 บาท" เพื่อให้เกิดเป็นระบบที่คนพิการที่ได้รับการจ้างงานร่วมกันสนับสนุนทุนดำเนินการด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
เด็กพิการเรียนไหนดี
"การศึกษา" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้ "ผู้พิการ" เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เหมือนทุกคนในสังคม แต่ผู้พิการมักเป็น กลุ่มเปราะบาง ที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ และหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน เนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีสถานะยากจน และพบว่ามีผู้พิการเพียง 1.37% ได้เข้าถึงการศึกษา ทำให้สถิติทุกปี พบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่ ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการทุกมิติ จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 500 คน ในงานได้สร้างกิจกรรมแนะแนวการศึกษา มีที่ปรึกษาช่วยบ่มเพาะศักยภาพของเด็กพิการ ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับพรสวรรค์และพรแสวงของตัวเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกในการก้าวสู่การมีอาชีพ รายได้ และสุขภาวะที่ดีจนเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ดันนโยบาย Universal Design สร้างสภาพแวดล้อม-ขนส่งสาธารณะเพื่อคนทุกคน
ปี 2559 วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจข้อมูล พบว่า ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้แก่ โรงพยาบาล คิดเป็น 40% สำนักเขต คิดเป็น 30.8% ห้างสรรพสินค้า คิดเป็น 12.5 % บ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คิดเป็น 7.3% ของประเทศ และยังมีพื้นที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ตลาดสด ศูนย์บริการสาธารณะสุข สวนสาธารณะ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ศาสนสถาน และห้องสมุด
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ จำนวน 2.09 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.21 ของประชากรทั้งประเทศและในปี 2565 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เพราะจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศประมาณ 66.19 ล้านคน และอีก 12 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ
จากโจทย์ดังกล่าว ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายคำนึงถึงการออกแบบที่เป็นธรรมนั่นก็คือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design (UD) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับบริการสาธารณะ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้มากที่สุดถือเป็นการยกระดับสุขภาวะของประชากรกลุ่มเปราะบาง
"ด้วยกัน" ความเท่าเทียมที่เป็นจริงในสังคม
ในส่วนของการดำเนินงานด้านนวัตกรรมทางสังคม สสส. ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อผู้พิการมาโดยตลอด มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางและการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ผู้พิการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันพรรณนา และแอปพลิเคชันโวหาร ให้ผู้พิการทางการเห็นดูภาพยนตร์ได้เหมือนคนทั่วไป การพัฒนาระบบ Health Tracking เก็บข้อมูลสุขภาพ และการออมเงินของผู้พิการที่ได้รับการจ้างงาน เพื่อเป็นต้นทุนที่ดีในการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณ เป็นต้น
นอกจากนี้ สสส. และเครือข่าย ยังมีการวางแนวทางการฟื้นฟูผู้พิการ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมในชุมชน และการปรับสภาพแวดล้อมในชุมชน เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปรับปรุงที่พัก ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในสังคม
"ในปีหน้าเราอยากเน้นนวัตกรรมและกิจกรรมทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ที่เราจะพยายามออกแบบให้ทันสมัยและสอดรับกับความต้องการผู้สูงอายุและผู้พิการมากยิ่งขึ้น เช่น การพิจารณาในแต่ละกิจกรรมที่เคยจัดไปตอบโจทย์ความต้องการผู้พิการได้เพียงพอไหม อย่างเช่น งานวิ่งด้วยกัน เราอาจให้คนทั่วไปมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในสังคมในเรื่องคนพิการ" ภรณี กล่าว
ภรณี กล่าวต่อว่า ในทุกกิจกรรมที่ สสส. และภาคีดำเนินงาน ล้วนออกแบบมาจากปัญหาและความต้องการผู้พิการที่อยากสะท้อนให้สังคมได้รับรู้
"ผู้พิการอยากทำอะไรหรือผู้พิการยังมีความทุกข์อะไรอยู่ เขาบอกเราแล้วมาช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่จะทำได้ อย่างกิจกรรมเด็กพิการเรียนไหนดี เราได้ทราบว่าเยาวชนพิการเขาเครียดมาก เพราะไม่รู้ว่าตนเองควรเรียนคณะไหน หรือคณะไหนที่เปิดกว้างมีความต้องการสนับสนุนการศึกษาของผู้พิการอย่างจริงใจ เพราะบางครั้งปัญหาที่เจอคือ เขาเข้าไปเรียนจริงๆ แล้ว กลับไม่มีหนังสือสำหรับผู้พิการสายตาสักเล่ม หรือระบบการเรียนการสอนไม่เอื้อให้เขาสามารถเรียนได้จริงๆ ซึ่งบางทีเด็กเขาก็ไม่กล้าที่จะก้าวเข้าไปไถ่ถามในเรื่องเหล่านี้ เป็นหน้าที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องเข้าไปช่วยพูดคุย เปิดเส้นทางให้ แต่แม้เราจะทำมาแล้วระดับหนึ่ง ก็ยังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังต้องผลักดันและหานวัตกรรมมาแก้ปัญหาอุปสรรคต่อ" ภรณี กล่าว
สูงวัยก็ไม่ถูกมองข้าม
อีกงานหนึ่งที่ สสส. เดินหน้าผลักดันไปพร้อมกันคือ การขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยสำหรับประเทศไทยในอนาคต โดย สสส. มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (2545-2564) ในยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ
- ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพในมาตรการหลักประกันรายได้เพื่อวัยสูงอายุมาตรการการให้การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมผู้สูงอายุในมาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ มาตรการด้านการทำงานและหารายได้ของผู้สูงอายุ
- ยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ โดย สสส. ยังมีแนวทางการดำเนินการสนับสนุนใน 3 มิติคือ มิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาระบบรองรับ สังคมผู้สูงอายุ พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุต้นแบบที่กำลังขยายผลไปกว่า 260 แห่ง ยังมีการจัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงอายุ ระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ ในด้านการจัดกิจกรรมทางสังคม สสส. มีเครือข่ายกว่า 40,000 คน ที่มาร่วมกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆ อาทิ การอบรมใช้โซเชียลมีเดีย การอบรมบุคลิกภาพและสันทนาการที่สร้าง ผ่านหลักสูตร "เกษียณคลาส" และหลักสูตรพัฒนาสุขภาวะ ผู้สูงวัยดิจิทัล ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมเป็นประจำกว่า 5,000 คน
จากเสียงที่ไม่ได้ยินวันวาน ถึงเสียงสะท้อนคนทำงานในวันนี้
จากการเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยสะท้อน สร้างการรับรู้และผลักดัน ภรณี เล่าถึงประสบการณ์การดำเนินงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อ "คนกลุ่มสุดท้าย" หรือคนชายขอบของสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำว่า ยังคงมีอีกหลายภารกิจที่ต้องเดินหน้าต่อ
เมื่อถูกถามว่า ยังมีเรื่องใดที่ปัจจุบันหนักใจมากที่สุด ภรณี เปิดใจว่า ทุกเรื่องยังคงมีสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อแบบทอดทิ้งไม่ได้ ซึ่งงานทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้ใน "งานเสียงที่ไม่ได้ยิน" หรือ "Voice of the voiceless" ที่ สสส. และภาคีจะร่วมกันจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยจะมีการตกผลึกใน 9 ประเด็น ซึ่งบางประเด็นได้จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว แต่บางประเด็นก็ยังต้องส่งเสียงต่ออีก
"เรื่องที่หนักใจที่สุดเวลานี้ น่าจะเป็นประเด็น ผู้สูงอายุ เพราะมีความซับซ้อน นั่นคือ ปัญหาการสร้างความเข้าใจและมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ประเทศไทยเราสอบตกในเรื่องทัศนคติคนรุ่นใหม่ที่มีต่อผู้สูงอายุ เพราะจากการประเมินทัศนคติ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุพบว่า วัยรุ่นและคนวัยอื่นๆ มีความคิดเหยียดผู้สูงอายุว่าเป็นคนไร้ค่า ทำอะไรไม่ได้ เป็นภาระโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและสุขภาพ ขณะที่ในหลายประเทศทั่วโลกให้เกียรติมองเห็นศักดิ์ศรีคุณค่าผู้สูงอายุ ตอนแรกเราคิดว่าเป็นแค่ปัญหา Generation Gap หรือเปล่า แต่กลับพบว่า ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้น แต่คนวัยทำงานก็เช่นเดียวกัน ซึ่งมันสะท้อนออกมาผ่านการใช้คำด่าเหยียดวัย อาทิ มนุษย์ป้ามนุษย์ลุง เต่าล้านปี เป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจและยอมรับในคุณค่าตัวเองคือหนึ่งในเรื่องที่ สสส. พยายามสอดแทรกไปในทุกงานที่เราทำอยู่ เราพยายามทำให้เห็นคุณค่าในมุมต่างๆ อาทิ เขาสามารถตั้งวงดนตรี ทำนู่นนี่ได้" ภรณี กล่าว
สำหรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ลำบากและยากจน ภรณี กล่าวว่า ต้องส่งเสริมอาชีพ แต่เมื่อเข้าไปคุยกับสถานประกอบการเพื่อขอให้ช่วยจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการเองก็ส่งเสียงสะท้อนว่า เขายินดี แต่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการภาษีที่ช่วยลดหย่อนแบบเดียวกับที่จ้างงานผู้พิการ เนื่องจากการจ้างงานผู้สูงอายุจะถูกจ้างในราคาสูงตามประสบการณ์ และยังมีเรื่องสวัสดิการ ค่าตำแหน่ง เพราะผู้สูงอายุบางรายจำเป็นต้องจ้างในตำแหน่งระดับสูง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ซึ่งหากมีนโยบายมาสนับสนุนตรงนี้ หรือการพิจารณาถึงทางเลือกในการประกอบอาชีพที่ไม่ต้องเป็นลูกจ้าง เพราะผู้สูงอายุบางคน อยากมีรายได้ แต่ไม่อยากเป็นลูกจ้างประจำ เขาสามารถเลือกอาชีพอิสระได้
"ที่ผ่านมา สสส. พยายามคุยกับสถานประกอบการด้วยเหมือนกันว่า การจ้างผู้สูงอายุมีข้อดี เพราะจากงานวิจัยหลายชิ้นของหน่วยงานวิชาการ รวมถึงมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุไทย มีข้อมูลจากสถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุมาแล้วพบมีข้อดีหลายเรื่อง เช่น ผู้สูงอายุมีความรับผิดชอบต่อการทำงานอยู่ในกฎระเบียบ มีวินัยในการทำงาน และเคารพกติกาของที่ทำงานมากกว่าคนทำงานช่วงวัยอื่นยังพร้อมทำงานเต็มที่คุ้มกับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และที่สำคัญเขามีประสบการณ์ในแต่ละหน้าที่งาน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุเองมีปัญหาเรื่องการปรับตัวกับโลกยุคใหม่ หรือการเปิดรับเทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ช้ากว่า ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้กระบวนการเสริมเติมในช่วงแรก แต่ท้ายสุดจากการประเมินพบประสิทธิภาพการทำงานไม่แตกต่างกันกับวัยอื่น หรืออาจจะมากกว่าเพราะขยันและสม่ำเสมอกว่า" ภรณี กล่าว
ภรณี ทิ้งท้ายว่า สสส. ไม่ใช่องค์กรอย่างเดียว แต่เราคือเครือข่ายที่ร่วมงานกันซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมมาเป็นภาคีเครือข่ายมากกว่า 38,000 คน ที่ทำงานร่วมกับ สสส. สำนัก 9 ซึ่งเรารู้สึกเสียใจว่างานที่ทำอาจยังไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่เป็นที่ยอมรับมากพอ เพราะในมุมที่ทำมาตลอดคือ การทำให้คนทุกคนเห็นคุณค่าศักดิ์ศรีของคนแต่ละกลุ่ม แต่กลับถูกมองในทางตรงกันข้าม โดยที่ผ่านมาเราพยายามยกตัวอย่างว่า ในการให้เกียรติ การส่งเสริมให้เห็นศักดิ์ศรีและคุณค่า และความหมายของผู้สูงอายุและผู้พิการ รูปธรรมของเรามีอะไรบ้าง เช่น การทำให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง นั่นคือการทำให้เขามีงานทำ ซึ่งจะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนในสังคม นี่คือตัวอย่างที่ สสส. พยายามทำ 7,000 กว่าคนมาแล้วและไม่ได้มองเฉพาะการทำงานเพื่อตัวบุคคลอย่างเดียว แต่พยายามวางระบบ แก้ไขกฎระเบียบและกติกา เพราะถึง สสส. ไม่ได้ทำต่อในอนาคต แต่การจะเดินหน้าต่อไปก็ง่ายขึ้นมากและยังมีความยั่งยืน เพราะเราเข้าไปแก้อุปสรรคต่างๆ ทั้งหมดไว้แล้วต่อไป คงต้องพยายามทำงานให้มากขึ้น และสื่อสารงานที่ตัวเองทำอยู่ให้มากขึ้น