"พศิน อินทรวงค์" วิชาชีวิตในโลกทุนนิยม
รวยหรือจน ก็ทุกข์ทั้งนั้น แล้วจะเลือกจมอยู่กับความสุขหรือความทุกข์ "พศิน อินทรวงค์" นักเขียนที่สนใจพัฒนาจิตช่วยกะเทาะเปลือกไปหาแก่น
หลายคนคงเคยเห็น พศิน อินทรวงค์ ผู้ชายคนนี้ในหลายรายการ ส่วนใหญ่มาเล่าถึงชีวิต ความสุข ความทุกข์และการพัฒนาจิตปัจจุบันเป็นนักเขียนที่มีผลงานกว่า 30 เล่ม คอลัมนิสต์การพัฒนาจิต และวิทยากรบรรยายธรรม รวมถึงมีบ้านดำประณต ปากเกร็ด(ร้านกาแฟและขนม) เปิดช่วงเสาร์-อาทิตย์
ย้อนไปถึงช่วงวัยหนุ่มน้อย เขาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่กลับรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่มีความสุข จึงลาออกจากการเรียนมาเป็นนักแต่งเพลงในบริษัท และต่อมาออกมาตั้งบริษัท รับผลิตบทเพลง เขียนหนังสือ และบรรยายธรรม รวมถึงทำสื่อต่างๆ
เมื่อไม่นาน เขามาบรรยายในหลักสูตร Wealth of Wisdom หัวข้อ อริยทรัพย์ในโลกทุนนิยม เล่าเกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ ลงไปถึงรากของความคิด ความรู้สึก
และห้วงเวลาหนึ่ง “จุดประกาย” มีโอกาสสนทนากับเขา
"เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องสนใจตัวเอง เพียงแต่เราไปเรียกว่าธรรมะ จึงดูแปลก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดา สมมติว่า เราโกรธเรื่องนี้มา 10 ครั้งและครั้งต่อไปก็ยังโกรธ เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมโกรธซ้ำ"
"การพัฒนาจิตหรือการปรับปรุงตัวเอง เราไม่ได้คิดว่าทำไปทำไม เราควรจะทำต่อไป แม้เหลือผมคนเดียวในโลก ผมก็ทำ เราทำเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ"
เมื่อเลือกได้ พศิน เลือกที่จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยความโกรธ และนี่คือเรื่องเล่าฉบับกระทัดรัด ชวนให้รู้จักวิชาชีวิต...
พศิน อินทรวงค์ นักเขียนที่มีผลงานกว่า 30 เล่ม คอลัมนิสต์การพัฒนาจิต และวิทยากรบรรยายธรรม
- ทำไมให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิต
ผมว่าสำคัญ ผมเคยเป็นคนนอนไม่หลับ เริ่มฝึกสมาธิให้นอนง่าย เมื่อก่อนผมชอบใช้ความคิด ตอนที่สนใจธรรมไม่ได้คิดว่าจะเอามาใช้ แค่ชอบอ่าน แต่เริ่มนำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาอารมณ์โกรธ หงุดหงิด การนอน จากนั้นก็ศึกษามาเรื่อยๆ อ่านแล้วนำมาปฎิบัติ อยากให้ทุกคนมองง่ายๆ คนที่สนใจเรื่องนี้ ไม่ได้ผิดปกติ ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องแปลก ในมุมผม เวลาเราโกรธเยอะๆ ก็เหนื่อยหงุดหงิด
- มีจุดเปลี่ยนที่หันมาสนใจเรื่องนี้ไหม
ผมไม่ได้มีอะไรชัดเจนขนาดนั้น คิดมาเรื่อยๆ ว่ามนุษย์น่าจะมีความสุขมากกว่า สิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข ก็จิตใจเรา โกรธมากไป หงุดหงิด กังวล ไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สิ่งนี้เราควรจะเห็นโทษ แล้วเริ่มแก้ไข
- ให้ความสนใจตั้งแต่เมื่อไรคะ
ตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ได้แก้ไขอะไร เหมือนคนๆ หนึ่งที่เริ่มรู้ข้อไม่ดีของตัวเอง อยากปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ได้เพื่อเป็นคนดี ความรู้ด้านนี้ก็มีไม่กี่สาย ด้านจิตวิทยา ปรัชญา ความรู้สึกนึกคิด เราก็หาความรู้ ทดลองปฎิบัติ
- ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดที่จะเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการพัฒนาจิต?
การบรรยายก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ธรรมชาติของคนชอบเขียนหนังสือ ผมก็เริ่มเขียนเรื่องธรรมะ เมื่อคนอ่านเยอะขึ้น ก็ชวนไปคุยที่นั่น ที่นี่ แรกๆ ผมปฎิเสธ โดยธรรมชาติผมไม่ได้เป็นคนชอบพูด ผมจึงไม่ได้มีจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ต้องหันมาปฎิบัติธรรม
พศิน อินทรวงค์
- คนส่วนใหญ่มองว่า คนที่หันมาปฎิบัติธรรม ต้องมีปัญหาก่อน ?
ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องสนใจตัวเอง เพียงแต่ว่าเราไปเรียกธรรมะ จึงดูแปลก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดา สมมติว่า เราโกรธเรื่องนี้มา 10 ครั้ง และครั้งต่อไปก็ยังโกรธ เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมโกรธซ้ำ ผมว่าเป็นเรื่องที่เราควรคิด แต่ส่วนใหญ่ไม่คิด ถ้าเราเจอปัญหานั้นซ้ำ ใจเราควรดีขึ้น คนไม่ค่อยคิดมุมนี้ แต่ผมคิดว่าต้องจัดการความรู้สึกตัวเอง
- โกรธสิบครั้งแล้วยังเหมือนเดิม คุณต้องจัดการอารมณ์ตัวเองแล้ว ?
ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เริ่มจากเล็กไปใหญ่ เหมือนการหัดทำอาหาร ผมจึงเริ่มจากการอ่าน การฟังการปฎิบัติ ทดลอง ก็พัฒนาตามกระบวนการ
ความทุกข์ที่ทุกคนเจอมีเหมือนกัน ไม่ได้มีหลากหลาย ก็แค่ความโกรธ ความเบื่อ ความอยากได้ ความผิดหวัง วนเวียนอยู่แบบนี้ ถ้าเราถอดรากออกมา มีแค่นี้ วิธีแก้ก็ตั้งคำถามว่า ความโกรธ กลัว เบื่อ เกิดจากอะไร
การที่เราเข้าใจว่า ความทุกข์มีหลากหลาย ทำให้เราไม่เข้าใจความทุกข์ตามความเป็นจริง ความทุกข์ของเราก็ไม่ต่างจากตอนเด็กๆ เพียงแค่เปลี่ยนเรื่อง
- ตอนนี้กำลังสนใจอ่านเรื่องอะไร
ผมกำลังสนใจอ่านเรื่องต้นไม้ และโลกอนาคต ถามว่าเกี่ยวกับจิตใจไหม ก็เกี่ยว ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมะไม่ใช่สิ่งที่แปลก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ควรสนใจ
- การบรรยายเรื่องการพัฒนาจิต คุณมีเป้าหมายอะไรไหม
ผมขอตั้งคำถามกลับ การที่คุณหาความรู้เรื่อยๆ คุณมีเป้าหมายอะไร มันเป็นเรื่องปกติเหมือนการกินข้าว การพัฒนาจิตหรือการปรับปรุงตัวเอง เราไม่ได้คิดว่าทำไปทำไม เราควรจะทำ ต่อให้เหลือผมคนเดียวในโลก ผมก็ทำ เราทำเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ
- ดูเหมือนว่า ชีวิตคุณจะไม่ค่อยมีความทุกข์?
ผมยังมีความหงุดหงิดและความกังวลช่วงสั้นๆ ประเภทชีวิตทุกข์ระทมไม่ค่อยมี เพราะผมฝึกมาพอสมควร ฝึกที่จะทิ้งอารมณ์ไปเรื่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เวลาอารมณ์อะไรเกิดขึ้นผมก็มองมัน เห็นมัน การเห็นไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร ถ้าเราเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น มันก็จะมีอำนาจเหนือเราน้อยลง
- ฝึกปฎิบัติกับครูบาอาจารย์สายไหน
ความรู้ ตำราต่างๆ มีเพียงพอสำหรับคนที่จะฝึก หลักๆ คือ นำมาทำปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องเข้าคอร์สก็ได้ อย่างผมเปิดคอร์สก็เพื่อให้คนรู้หลักการนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้าคอร์ส แต่ผมมองว่าทุกคนจำเป็นต้องฝึก ผมก็อ่านหนังสือของพระทุกสายการปฏิบัติ เมื่อนำมาใช้ก็เกิดประโยชน์
- คุณบรรยายบนเวทีว่า คนเราหาความรู้ก็เพื่อหาเงิน แต่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องจิตใจตัวเอง?
ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ชีวิตเราถูกบังคับให้เรียนรู้เรื่องระบบร่างกาย มาช่วงหลังๆ เรื่องการบริหารจัดการเงิน เรื่องที่บังคับให้เรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เรื่องที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องจิตใจ ระบบการศึกษาไม่ได้ให้เรียน เป็นไปตามความสมัครใจ คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้วิธีที่จะอยู่กับใจตัวเอง ก็เลยมีความทุกข์ จัดการตัวเองไม่ได้
- คอร์สต่างๆ ที่คุณสอนส่วนใหญ่เรื่องอะไร
การพัฒนาสติ กลไกการทำงานของจิตใจ ฝึกการใช้ชีวิตในปัจจุบันขณะ ส่วนใครสนใจหรือไม่สนใจก็เรื่องของเขา ผมก็ทำหน้าที่ของผม ผมก็คิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสนใจก็จะมีประโยชน์ต่อชีวิต
- คุณมีเป้าหมายในชีวิตไหม
ไม่มี ผมเลิกคิดแบบนั้นนานแล้ว เมื่อก่อนมีเป้าหมาย ผมจะคิดว่าอีก 5-10 ปีเราจะเป็นยังไง ที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เพราะมันไม่ได้เป็นความจริง ชีวิตเป็นอะไรที่ไร้รูปแบบ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เรื่องที่ผมตอบคุณ ผมใช้ทุกอย่างที่ผมสะสมมาในชีวิต เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสได้เจอกันอีกไหม ผมสนใจว่าเราได้เจอกัน ผมสนใจเรื่องพวกนี้
เวลาอยู่กับครอบครัว ผมก็จะบอกว่า รักนะ ดีนะ มันมีความหมาย เพราะเราถูกสอนให้คิดเรื่องอนาคต ชีวิตตรงหน้าเราก็ไม่ได้ทำเต็มที่ อย่างผมบรรยายตรงนั้น ผมก็ทำเต็มที่ ณ ขณะนั้น ปัญหาของเราทุกคน รวมทั้งตัวผมที่ผ่านมาด้วย เพราะเราคิดและวางตัวเองในโลกอนาคต ซึ่งมันไม่มี เราคิดว่ามีพรุ่งนี้ แต่มีวันข้างหน้า
- หากมีคนในครอบครัวจากไป แล้วไม่สามารถปลดล็อคความเศร้า คุณมีคำแนะนำอย่างไร
เราต้องคุยกับเขาและอโหสิ เราต้องบอกตัวเราว่า เราจะใช้ชีวิตที่มีความสุขแทนเขา บางครั้งเราไม่มีทางเลือก นี่คือสิ่งที่ผมจะบอกว่าทำไมเราต้องอยู่กับปัจจุบัน
ถ้าเป็นผม ผมจะไปที่หลุมฝังศพเขา จะนั่งคุยขอโทษ ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผมจะใช้ชีวิตให้มีความสุข เราจะทำเต็มทีในทุกครั้งกับทุกคนกับความสัมพันธ์ที่ดี เหมือนเป็นครั้งสุดท้าย
เราต้องเห็นจิตใจเราเป็นเรื่องสำคัญ คนทุกคนอยู่กับเราแค่ชั่วคราว ผ่านมาแล้วผ่านไป ถ้าเราสร้างจิตใจเราแบบไหน สิ่งนั้นจะติดตัวเราไป ถ้าคนๆ นั้นเบียดเบียนเรา ก็อย่าไปยุ่งกับเขา แต่เราไม่ต้องไปเก็บความเกลียด ความโกรธ เพราะส่วนนี้เป็นใจเรา ถ้าเราทำอย่างนั้่นเราทำลายตัวเอง
เมื่อก่อนผมหงุดหงิดง่าย ชอบโกรธ คิดว่าคนอื่นทำให้เราหงุดหงิด แต่ตอนหลังผมเรียนรู้ว่า เราจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เราต้องรู้จักเก็บสิ่งดีๆ เอาไว้ ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีก็ทิ้งไป ถ้าเราเจอคนที่ไม่ดี เราก็ใช้สิ่งนั้นเรียนรู้แล้วข้ามผ่าน
- ใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยเข้าใจคำว่าไม่ยึดติด ?
คำถามคือ ชีวิตเราจะเดินทางสายกลางได้อย่างไร คนเรามีวัตถุชื่อเสียง เงินทองได้ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ครอบงำเรา พระพุทธองค์อุปมาอุปมัยเปรียบเสมือน เนื้อที่อยู่ในบ่วง แต่ไม่ติดบ่วง(ลาภ ยศ สรรเสริญ ชื่อเสียง เงิน )ความสุขจากการดื่ม การกิน การเที่ยว การฟัง มีอยู่ในพระไตรปิฎก จะอยู่กับสิ่งนี้ได้อย่างไร โดยไม่ยึดติด เวลามีกำไรก็ไม่ฟู ขาดทุนไม่ห่อเหี่ยว เวลามีคนชม นินทา ก็มองกลางๆ
ในโลกมีประชากรกว่าแปดพันล้านคน องค์การอนามัยบอกว่า มีอัตราคนเป็นโรคซึมเศร้า 10 % ในโลกนี้ คนเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าประชากรของประเทศเรา ยิ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อาหาร ความยากจน สงคราม ตัวเลขคนเป็นซึมเศร้า 15 % คำถามคือ โลกพัฒนาไปไกล แต่ยิ่งพัฒนา คนยิ่งมีความสับสนทางความคิด
ในความเห็นของคุณ โรคซึมเศร้าสามารถจะหายด้วยยาหรือการพัฒนาจิต ?
ในทางพุทธศาสนามนุษย์เรามีสองส่วนคือ รูปธรรมกับนามธรรม เชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน นั่นก็คือร่างกายและจิตใจ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดพังหรือเจ็บป่วยจะส่งผลต่ออีกสิ่งหนึ่ง ถ้าใจทุกข์มากๆ ก็ส่งผลต่อร่างกาย ดังนั้นการรักษาต้องทำแบบบูรณาการ ไม่ได้พึ่งยาอย่างเดียว ยาช่วยปรับสารเคมีในสมอง นี่คือปรับทางกาย
แต่ถ้าเราเชื่อว่า มนุษย์มีส่วนประกอบคือ นามธรรมด้วย การรักษาจึงมีทั้ง 1. กินยาตามคำสั่งแพทย์ 2 เปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มนุษย์ต้องทำอะไรใหม่ ตื่นเวลาใหม่ 3. อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่คิดเชิงอกุศล พาตัวเองออกจากความคิดเชิงลบ
ปกติคนจะมีวิธีแก้ความทุกข์สองอย่างที่ทำคือ หนึ่ง... ขังตัวเองในห้องและบอกว่า ถ้าตกผลึกเมื่อไหร่จะออกไปใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์ สอง...ไม่ต้องรอให้ตกผลึกในชีวิต แต่ออกไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สิ่งนั้นปรับจิตใจเราให้ดีขึ้น
- คุณคิดว่าวิธีไหนดีกว่า
วิธีที่สองจะได้ผลดีกว่า แต่คนส่วนใหญ่ใช้วิธีแรก ผมมองว่าการใช้ชีวิตประจำวันสำคัญมาก เราจะรอให้มีความสุขก่อน ค่อยสร้างชีวิตประจำวันที่ดี มันไม่ได้ ต้องสร้างกิจกรรมในชีวิตประจำที่ดีก่อน แล้วสิ่งที่เราทำประจำจะดึงใจเราขึ้นมา
เวลาที่เรามีความทุกข์ จิตไม่ได้คิดในสิ่งที่ควรคิด แต่คิดซ้ำในเรื่องนั้น ถ้าคุณเศร้าคุณจะยิ่งเศร้า ถ้าคุณเป็นคนที่มีความสุข ก็ยิ่งมีความสุข เพราะความคิดแบบนี้จะถูกผลิตซ้ำ
ดังนั้นการเป็นซึมเศร้า ก็ควร 1หาหมอกินยาปรับสารเคมีในสมอง 2 เปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน 3 มีสติระลึกรู้ได้เร็ว ดึงตัวเองออกจากความเศร้า และ4 อย่าหลอกตัวเองกับปมความหลังในอดีต
.....................
หมายเหตุ : หลักสูตร Wealth Of Wisdom WOW ขุมทรัพย์แห่งปัญญา รอบรู้ทุกมิติการลงทุน สู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ