PIPATCHARA จำแลง "พลาสติกกำพร้า" ฝาขวดน้ำดื่ม เป็นกระเป๋าแฟชั่น
PIPATCHARA ร่วมดึง "ขยะพลาสติก" ออกจากสิ่งแวดล้อม เลือกหยิบ "พลาสติกกำพร้า" โดยเฉพาะขยะฝาขวดน้ำดื่มไร้มูลค่า มาอัพไซเคิลใหม่เป็นกระเป๋าดีไซน์เฉียบ ลองผิดลองถูกกว่าจะได้กระเป๋าแฟชั่นทำจากพลาสติกกำพร้าทั้งใบ ถูกใจคนรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างประเทศ
กระเป๋าถือสตรีที่เห็นนี้ ดูสวย มีสไตล์ มีความเป็นแฟชั่นเต็มที่ ถูกใจบรรดาแฟชั่นนิสต้า ยิ่งถ้าเป็นแฟชั่นนิสต้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมยิ่งจะน่าถูกใจขึ้นไปอีก เนื่องจากกระเป๋าดีไซน์เฉียบสไตล์นี้ทำด้วย พลาสติกกำพร้า ทั้งใบ
นี่คือกระเป๋าคอลเลคชั่น “Infinitude” ผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์บนหลักการ “ความยั่งยืน” ของแบรนด์ PIPATCHARA (พิ-พัด-ชะ-รา) แบรนด์นี้ร่วมกันก่อตั้งโดย เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา และพี่สาว ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา สองพี่น้องซึ่งชวนกันลองนำ “แฟชั่น” มาจับกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย ซึ่งแบรนด์เติบโตมาครบ 4 ปีในปีนี้
ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา และ เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์
เพชร-ภิพัชรา สำเร็จการศึกษาด้าน Fashion Design จาก Academy of Art University สหรัฐฯ และเป็นนักเรียนทุนที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในฝรั่งเศส 5 ปี ก่อนกลับมาเมืองไทยเมื่อสามปีที่แล้ว
ขณะที่ ทับทิม-จิตริณี ทำงานด้าน Sustainability เรื่องพลาสติกที่บริษัทยูนิลีเวอร์ และมีประสบการณ์ทำงานอยู่ในองค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์มานานนับสิบปี
กระเป๋าคอลเลคชั่น “Infinitude”
“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ ก็คิดร่วมกับพี่สาวตั้งแต่ต้น ว่าเราอยากเป็น fashion for community (แฟชั่นเพื่อชุมชน) PIPATCHARA ทำงานกับชุมชนตั้งแต่คอลเลคชั่นแรกจนถึงคอลเลคชั่นนี้ คือสี่ปีเต็ม ทุกชิ้นงานเราอยากให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง อย่างน้อยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน ฝึกสมาธิ พัฒนาฝีมือ พอดีมีบ้านอยู่ที่เชียงรายด้วย ก็เริ่มหาชุมชนที่เชียงรายก่อน ซึ่งเป็นครูบนดอย ตอนนี้ก็ยืดไปแม่ฮ่องสอนแล้ว
ทุกชิ้นงานของ PIPATCHARA จึงเป็นงานอาร์ตแอนด์คราฟต์ คือเป็น งานหัตถกรรม เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมได้ คือการถักสายกระเป๋า แต่วัสดุหนังที่ใช้ เราอิมพอร์ตทั้งหมด เพื่อให้เมืองนอกเข้าใจถึงมาตรฐาน แต่ตอนนี้เราแยกไลน์ออกมาเป็น วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือคอลเลคชั่น Infinitude”
ฝาขวดน้ำดื่ม "พลาสติกกำพร้า" ถักเป็นกระเป๋าแฟชั่น
เพชร-ภิพัชรา กล่าวด้วยว่า “Infinitude” มาจากคำว่า Infinite ที่แปลว่า “นิรันดร์” ซึ่งสะท้อนถึงการที่แบรนด์จะมุ่งมั่น ส่งเสริม และสร้างสรรค์เรื่อง ความยั่งยืน ตลอดไปอย่างไม่สิ้นสุด
กระเป๋าคอลเลคชั่น “Infinitude” ทำจากวัสดุที่เรียกว่า พลาสติกกำพร้า คือเป็นพลาสติกชนิดที่ไม่มีมูลค่าทางการตลาด
“พลาสติกกำพร้า” ถาดพลาสติกสีดำใส่อาหาร
กระเป๋า infinitude สีดำ ทำจากกล่อง-ถาดสีดำใส่อาหาร
“จะเห็นว่าเราไม่ใช้ขวดน้ำเลย เพราะทุกวันนี้ขวดน้ำพลาสติกขายได้กิโลกรัมละ 8-14 บาท แต่ว่ากล่องหรือถาดพลาสติกสีดำใส่อาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ฝาขวดน้ำดื่ม แทบไม่มีมูลค่า ขายไม่ได้เลย และเป็นพลาสติกที่มีเยอะมากๆ ในสังคม เป็นโจทย์ว่าเราจะเอาขยะพวกนี้แหละที่คนไม่เอา มาทำเป็นคอลเลคชั่น” ทับทิม-จิตริณี กล่าว
เพชร-ภิพัชรา เล่าว่า กว่าคอลเลคชั่น “Infinitude” จะเป็นรูปเป็นร่าง ใช้เวลากว่าสองปี เริ่มต้นจากการลองผิดลองถูกในการนำ “ฝาขวดเครื่องดื่มลิปตัน” และ “ฝาขวดน้ำดื่มสิงห์” มาแปรรูปร่วมกับซัพพลายเออร์
“ในเดือนแรกที่เราทำ ‘สีเหลือง’ (ฝาขวดลิปตัน) ยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการในด้านของดีไซน์ เราใช้เวลา 9 เดือนจึงพบว่าสามารถนำ ‘พลาสติกใส’ มาผสมได้ และสามารถก่อให้เกิดสิ่งใหม่อย่างที่เราต้องการ”
ฝาขวดน้ำอัดลมก่อนแปรสภาพเป็นพลาสติกรูปทรง Infinitude
สิ่งที่คุณเพชรและคุณทับทิมทำก็คือ ให้ซัพพลายเออร์บด ฝาขวดน้ำ แล้วใช้ความร้อนเพื่อให้ฝาขวดน้ำที่บดนั้นขึ้นรูปใหม่เป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งซัพพลายเออร์ต้องสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ตามรูปทรงที่คุณเพชรวาดแบบด้วยมือ
“มันยากมากๆ พับโปรเจคไปหลายรอบ แล้วกลับมาทำใหม่ ซัพพลายเออร์เองกว่าเขาจะทำงานกับเรา เขาก็เครียดเหมือนกัน ปกติเขาทำเฟอร์นิเจอร์พลาสติกรีไซเคิลชิ้นใหญ่ๆ แต่นี่ต้องมาทำชิ้นเล็กๆ
ทำออกมาครั้งแรกมันก็หัก เราใช้เวลา 2-4 เดือนในการค้นพบว่าฝาพลาสติกแต่ละประเภทต้องใช้ความร้อนขนาดไหน จึงจะขึ้นรูปตามแบบที่เราต้องการแล้วไม่หักหรือแตกคามือเวลาเคาะจากแม่พิมพ์ เพราะพลาสติกแต่ละประเภทมีจุดหลอมเหลวไม่เท่ากัน
ทีแรกเขาทำได้แค่วงกลม เราไม่เอาวงกลม เราอยากได้แบบนี้ มีการแลกเปลี่ยนกันตลอดสองปี จนพัฒนามาได้รูปทรงแบบนี้ เพชรเรียกรูปทรง infinitude ที่เพชรวาดมือขึ้นมาแบบนี้”
แผ่นพลาสติก infinitude จากฝาขวดลิปตัน
แผ่นพลาสติก infinitude แผ่นเล็กๆ นี้เองที่คุณเพชรนำมาร้อยเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นกระเป๋าตามแพทเทิร์นที่เธอออกแบบ และถ้าไม่ร้อยตามแพทเทิร์น ก็จะไม่ได้กระเป๋ารูปทรงนี้อีกเหมือนกัน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กระเป๋าคอลเลคชั่น infinitude คือกระเป๋าทั้งใบที่ทำจาก “ฝาขวดน้ำดื่ม” มีวา่งจำหน่ายไกลถึงญี่ปุ่น ดูไบ ฝรั่งเศส และที่ ‘สยามดิสคัฟเวอรี่’ ในไทย
กระเป๋า infinitude สีม่วง
สีสันของกระเป๋าก็มาจากสีของฝาขวดน้ำดื่มแต่ละยี่ห้อ เช่น สีม่วง มาจากฝาขวดน้ำดื่มสิงห์รุ่นที่คอลแล็ปกับดิสนีย์ ไม่มีขายตามท้องตลาด ฝานี้จึงลิมิเต็ดมากๆ และผลิตเป็นกระเป๋าได้จำนวนจำกัด เนื่องจากไม่สามารถหาฝาสีนี้ได้อีกแล้ว โดยนำมาผสมกับฝาพลาสติกสีขาวเพื่อให้ดูเหมือนหินอ่อน
- สีเขียว ได้จากฝาเซเว่นอัพผสมกับฝาพลาสติกใสและฝาพลาสติกขุ่น
- สีดำ ได้จากกล่องหรือถาดสีดำสำหรับใส่อาหารขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ
- สีชมพูเหลือบขาว ได้จากขวดยาคูลท์ (Yakult) 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องผสมกับพลาสติกอะไรเลย
กระเป๋า infinitude สีชมพู ทำจากขวดยาคูลท์
“เรื่องที่ภูมิใจมากๆ คือ พลาสติกที่ใช้ทำกระเป๋า ซัพพลายเออร์ไม่ได้เอาของไม่ผ่านคิวซีจากโรงงาน แต่มาจากคนบริจาคขยะ ขยะในครัวเรือน ขยะจากทะเล มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เพชรได้มาคือขยะจริงๆ ไม่ใช่โรงงานเอามาให้” เพชร-ภิพัชรา กล่าว
คุณทับทิม-จิตริณี กล่าวเสริมว่า กระเป๋าทุกใบในคอลเลคชั่น Infinitude ที่ลูกค้าซื้อไป เท่ากับเขามีส่วนช่วยเอาขยะพลาสติกออกจากสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นขยะที่เกิดจากการใช้งานแล้วจากทั่วประเทศ
โดนัท มนัสนันท์ ร่วมใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช และ กัน อรรถพันธ์
“ด้วยพื้นฐานและประสบการณ์ที่ทับทิมและคุณเพชรมีต่อเรื่องพลาสติก พอมาร่วมงานกัน เราก็เลยจับเรื่องพลาสติกเป็นอย่างแรก ในอนาคตอาจมีปัญหาสังคมหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรที่เราสนใจ และเราคิดว่าเรามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ เราก็อาจนำแฟชั่นไปจับกับประเด็นอื่น” ทับทิม-จิตริณี กล่าว
อย่างน้อย แบรนด์ PIPATCHARA ร่วมทำให้เห็นไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพใด ก็สามารถมีส่วนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ‘นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ เสมอไป