100 ปีสิ้นพระชนม์"กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" องค์บิดากองทัพเรือ

100 ปีสิ้นพระชนม์"กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" องค์บิดากองทัพเรือ

"กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ไม่ได้เป็นแค่พระโอรสรัชกาลที่ 5 หรือองค์บิดากองทัพเรือ ในมุมที่มากกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือมีหลายเรื่องที่คนไม่รู้

อันที่จริงหากจะนับวันครบกำหนดสิ้นพระชนม์ 100 ปี ของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ให้ตรงแท้ ต้องเป็นเดือนพฤษภาคม เพราะทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466  ณ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เมื่อ 100 ปีก่อน

และทุกๆ ปีจะมีการจัดงานรำลึกวันสิ้นพระชนม์เรียกว่า “วันอาภากร” ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเพราะมีประกาศเรื่องโรคระบาดห้ามรวมกลุ่ม หรือเพราะเหตุใด ปีนี้กองทัพเรือจึงกำหนดจัดงานใหญ่ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เพื่อรำลึกถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยยึดหมุดหมายเป็นวันประสูติของพระองค์เพื่อจัดงานแทน 

ดังที่ทราบกันว่าการจัดงานใหญ่ต้องเลื่อนออก เพราะมีอุบัติเหตุร้ายแรง (อาจจะในรอบ 100 ปีของกองทัพเรือเลยก็ว่าได้) เรือรบต้องพายุคลื่นลมแรงและมีการสูญเสีย ซึ่งบทความนี้ขอข้ามไม่เอ่ยถึงในประเด็นนี้ โดยจะให้ความสนใจสถานะ+ภาพจำ ที่สังคมยุค 2565 หลังมองกรมหลวงชุมพรฯ 

  • กรมหลวงชุมพรฯ องค์บิดากองทัพเรือ

น่าสนใจมากที่ 100 ปีหลังจากเจ้านายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ คนรุ่นหลังในสังคมไทยยังรู้จัก ยังได้ยินชื่อของกรมหลวงชุมพรฯ องค์บิดากองทัพเรืออยู่  ซึ่งต่างจากเจ้านายยุคโน้นรุ่นเดียวกันที่เลือนหายไปแล้ว

ไม่ใช่แค่แวดวงทหารเรือเท่านั้นที่รู้จักนาม ประชาชนทั่วไปยังรู้จักคุ้นเคย และนับถือ...ซึ่งต้องถือว่า กรมหลวงพระองค์นี้ เป็นเจ้ายุค 100 กว่าปีก่อนเพียงไม่กี่องค์ที่ยืนยงข้ามกาลเวลา
กรมหลวงชุมพรฯ ในสายตาของคนรุ่นหลังไม่ได้เป็นแค่ลูกของรัชกาลที่ 5 หรือเป็นแค่องค์บิดากองทัพเรือ หากถูกเสริมขยายและยกขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์  มีรูปเคารพที่ไม่ใช่อนุสาวรีย์แบบตะวันตก หากเป็นรูปเคารพไว้กราบไหว้ในเชิงปาฏิหาริย์  

100 ปีสิ้นพระชนม์\"กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์\" องค์บิดากองทัพเรือ

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ทุกๆปีเมื่อถึงวันอาภากร 19 พฤษภาคม จะมีพิธีเข้าทรงอัญเชิญ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรประทับทรงมากมายหลายแห่ง

ขนาดเคยมีข่าวดราม่าร่างทรงแต่งกายไม่ถูกแบบ หรือข่าวการหลอกลวงต้มตุ๋น ล่าสุดมีคนดังยกให้เป็น “คุรุเทพ” ในระดับเดียวกับเทพศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์รักษาแผ่นดินไทย ฯลฯ  ในหลายปีมานี้มีการสร้างศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขึ้นมาหลายแห่ง

ไม่เว้นกระทั่งภาคเหนือเชียงใหม่ เชียงรายก็มี แสดงให้เห็นถึงความเคารพบูชาของผู้คนในมิติของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่กว้างไกล กว่าพื้นที่ภาคใต้หรือเฉพาะแวดวงกองทัพเรือเท่านั้น

  • เชื้อสายทหารเรือของกรมหลวงชุมพรฯ

ที่จริงแล้ว ยังมีเจ้านายอีกหลายพระองค์ในยุคเดียวกันที่มีความรู้ความสามารถไม่น้อยกว่ากรมหลวงชุมพรฯ แต่ไม่ได้รับการยกย่องให้กว้างขวางยาวไกลขนาดมีความศักดิ์สิทธิ์มีศาลกราบไหว้บูชา  

ด้วยเพราะ story เรื่องราวเฉพาะตนของกรมหลวงชุมพรฯ เองที่มีสีสัน การที่เป็นเจ้านายระดับสูงแต่มีบุคลิกไม่วางองค์ คลุกคลีกับลูกน้องลูกศิษย์นักเรียนนายเรือ เป็นหมอพรรักษาชาวบ้านทั่วไป แถมมีความเป็นนักเลงโบราณ มีฤทธิ์เดชบารมีการเรียนรู้ไสยศาสตร์วิชาการแบบที่คนโบราณสมัยนั้นเชื่อถือ ...

ครบเครื่องแบบฉบับลูกผู้ชาย  เรื่องเล่าจากความเคารพยกย่องปากต่อปากจากผู้คนนอกวังโดยเฉพาะในแวดวงกองทัพเรือ เสริมแต่งให้เรื่องราวของกรมหลวงชุมพรฯประทับในความทรงจำ และก็ถูกผลิตซ้ำ ขยายความทรงจำทับซ้ำหลายรอบตลอด 100 ปีที่มาผ่าน 

การที่กรมหลวงชุมพรฯ เป็นองค์บิดาของกองทัพเรือ คลุกคลีกับทหารใหญ่น้อย ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญแต่อย่างใด กล่าวได้ว่า โชคชะตากำหนดให้กรมหลวงชุมพรฯ ต้องมาเป็นทหารเรือ สร้างบารมีจากกองทัพเรือ และที่สุดก็เริ่มบันทึกความรับรู้ทรงจำของผู้คนจากเรื่องราวในกองทัพเรือเป็นปฐม 
ดังที่กล่าวว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ ! นั่นเพราะในยุคที่พระองค์ถือกำเนิดขึ้น สถานการณ์แวดล้อมกำหนดชี้ว่า ต้องเป็นพระองค์เจ้าอาภากรองค์นี้ล่ะ ที่ต้องเติบโตมาคุมกองทัพเรือไว้สู้กับฝรั่ง 
ตอนที่เกิดเหตุ ร.ศ.112 (2436) เรือปืนฝรั่งเศสกรรโชกตัดพระราชอาณาเขตไปนั้น  พระองค์เจ้าอาภากร มีพระชนม์13 ชันษา และเป็นปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระองค์ไปศึกษาต่อที่อังกฤษพร้อมๆ กับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

เป้าหมายของรัชกาลที่ 5 ชัดเจนมาก ก็คือ ให้โอรสทั้ง 2 องค์ศึกษาวิชาการทหารเรือ เพื่อมาปรับปรุงกองทัพเรือสยาม แต่หลังจากไปถึงอังกฤษไม่นานเกิดเหตุให้รัชกาลที่ 6 ทรงต้องขึ้นเป็นรัชทายาท จึงต้องเปลี่ยนการศึกษาศาสตร์ทางปกครองแทน จึงเหลือเพียงกรมหลวงชุมพรฯพระองค์เดียวที่ได้เรียนเพื่อเป็นทหารเรือ 
ไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะกรมหลวงชุมพรฯ มีเชื้อสายของทหารเรือ และมีรากฐานในกองทัพเรือมาแต่สายมารดา คือเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) คนทั่วไปเรียกเจ้าคุณทหาร  ตระกูลบุนนาคคุมกองเรือมาแต่เดิม

ขณะที่เจ้าคุณทหาร ผู้เป็นท่านตาของกรมหลวงชุมพรฯ นั้นยิ่งชัดเจนว่าชำนาญการเรือ เป็นแม่กองต่อเรือกลไฟลำแรกของสยาม  ยุคนั้นเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากทัพเรือระบบเดิม มาเป็นระบบใหม่ ที่ต้องผสานรากฐานการปกครองบัญชาเหล่าเรือ อาสาจาม อาสามอญ ที่เป็นชาวเรือดั้งเดิมมาสู่ระบบใหม่  

ดังจะเห็นจากบทเพลงดอกประดู่พระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรฯ  หะเบสสมอพลันออกสันดอนไป...หะเบส เป็นศัพท์ของเหล่าอาสาจาม ที่ใช้กับกองเรือสยามแต่ยุคเดิม 
กรมหลวงชุมพรฯ มีบทบาทสูงมากในกองทัพเรือยุคใหม่ ท้ายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 (2443-2453) จากนั้นถูกรัชกาลที่ 6 ให้ออกจากราชการหลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นาน  

เรื่องนี้มีผู้เขียนถึงหลายแง่มุมแล้ว ที่เป็นข้อเท็จจริงเชื่อได้คือกรมหลวงชุมพรฯ มีความสนใจในไสยศาสตร์วิชาอาคมจริง ซึ่งก็สอดคล้องกับคำบอกเล่าต่อเติมตามมา (ที่อาจจะใส่สีสันเพิ่ม) ในแง่อิทธิฤทธิ์อาคมของท่าน

  • 100 ปีสิ้นพระชนม์กรมหลวงชุมพรฯ

ข้อต่อมาคือในระหว่าง 6 ปีที่ออกจากตำแหน่งทางทหาร ได้เรียนรู้วิชาการแบบที่ชายไทยโบราณนิยม การแพทย์ของหมอพรในสมัยโน้นเกี่ยวข้องกับวิชาอาคมด้วย ศาสตร์ที่ชายไทยต้องรู้คืออาคม ซึ่งไม่ได้จำกัดสำหรับการรบยังหมายถึงอาคมเพื่อรักษาเจ็บป่วยด้วย 

ในระหว่างนี้ชื่อเสียงความนิยมของ “เสด็จเตี่ย” ยังไม่ได้สูญลับไปกับตำแหน่งบทบาท จนกระทั่งได้กลับมารับราชการทหารและได้รับแต่งตั้งเติบโตขึ้น จนกระทั่งประชวรและสิ้นพระชนม์แต่ยังหนุ่มดังที่ทราบกัน 

เรื่องราวชีวิตที่มีสีสัน เชื่อมโยงกับผู้คนเบื้องล่างมากมาย ทั้งทหารผู้น้อย นักเลง นักมวย เกจิสงฆ์ รวมถึงคนไข้ผู้เจ็บป่วยของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 42 ปีในยุคโน้น ถูกประทับไว้และบอกเล่าสืบทอดต่อมาในความทรงจำผ่านกาลเวลายาวนาน ยังเป็นที่รู้จักของคนยุคสมัยนี้  แม้เวลาได้ล่วงผ่านไปถึง 100 ปีแล้วก็ตาม