"เมืองหลวงแออัด" แต่ละประเทศจูงใจรับ "เทรนด์การย้ายเมือง" อย่างไร?
เมื่อ "เทรนด์การย้ายเมือง" ถูกพูดถึง แต่ละประเทศมีแนวทางอย่างไร ในวันที่ประชากรหนาแน่นล้นเมืองจนกลายเป็นความแออัด?
ปัญหาประชากรกระจุกตัวใน เมืองใหญ่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก และไม่กี่วันมานี้หลายคนน่าจะผ่านตากับข่าวที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมออกนโยบาย มอบเงินให้ครอบครัวที่ตัดสินใจย้ายบ้านออกจากโตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่น เพื่อลดปัญหาประชากรแออัด ทั้งนี้รัฐบาลจะมอบเงินให้สูงสุด 1 ล้านเยนต่อบุตร 1 คน (ประมาณ 260,000 บาท) หลังเคยเสนอเงิน 300,000 เยน มาแล้วก่อนหน้า โดยที่ยังคงข้อแม้ว่าต้องย้ายออกไปอยู่ในเมืองนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
การกระจุกตัวของประชากร ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรหนักหนาสาหัส แต่จริงๆแล้วนั่นกลับส่งผลกว่าที่คิด เพราะเมื่อเมืองและชนบทมีการพัฒนาความเจริญแตกต่างกันอย่างมาก ประชากรในเมืองใหญ่จะมากเกินกว่าที่ระบบสาธูปโภคจะรับได้
นั่นหมายความว่า ปัญหาการจราจร, มลภาวะ, ขยะ, การขยายตัวออกของเมืองในแนวราบจะเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้เมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับภาวะของการกลายเป็นเมืองเกินระดับ กล่าวคือมีประชากรมากเกินกว่าที่จะอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ระบบสังคมและเศรษฐกิจของเมือง เกิดกลุ่มคนที่มีรายได้ตํ่าจำนวนมากในเมือง มีความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ
ลองนึกถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ที่เรามักเห็นภาพฝูงชนฝ่ารถติดยาวเพื่อกลับบ้านเกิด ขณะที่เมื่อเปิดเรียน-เปิดทำงานตามปกติ ก็ต้องย้ายมาอดทนกับสภาพแออัดในเมืองใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่จึงกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งเฉพาะการมีปัจจัยสำคัญอย่างโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของความเป็นเมือง ก็ย่อมทำให้การย้ายออกจากเมืองใหญ่ถูกพูดถึงยิ่งขึ้น
ภาพความหนาแน่นระหว่างกลับบ้านในช่วงเทศกาลเป็นความรู้สึกที่คุ้นชินกันมานาน (ภาพ Nation Photo)
อย่างไรก็ดี การจะโน้มน้าวและบอกเพียงว่า “ให้กลับบ้าน” หรือ “มาย้ายเมืองกันเถอะ” ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดแรงงานและสภาพความเจริญคือปัจจัยสำคัญ แต่ละคนต้องทำงาน ต้องเรียน ต้องหาเงิน มีอนาคตเป็นเดิมพัน เช่นนี้แล้วการจะบอกให้ประชาชนย้ายออกไปจึงไม่เพียงพอ เหตุนี้จึงต้องมีนโยบายสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ และถึงตรงนี้แต่ละประเทศมีแนวทางอย่างไรบ้างในวันที่ประชากรหนาแน่นล้นเมืองจนกลายเป็นความแออัด
- สหรัฐอเมริกา
เมืองใหญ่ มีอัตราการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า (มี.ค.63-ก.พ.64) 82% และชานเมืองและเมืองรอง มีอัตราการย้ายเข้ามากกว่าย้ายออก 91%
ปัจจัยสนับสนุนการย้ายออก
- Work from Home (WFH) เป็นนโยบายถาวรของหลายองค์กร
- ราคาที่อยู่อาศัย ค่าครองชีพและอัตราภาษีเมืองปลายทางต่ำกว่า
- โครงการ “Welcoming America” ช่วยเมืองเล็กที่ขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย และมีประชากรไม่เกิน 50,000 คน จะได้รับการสนับสนุนด้านการฝึกหัดและด้านเทคนิค เพื่อสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่
- ญี่ปุ่น
ปี 2563 ประชากรย้ายออกจากโตเกียวเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติการณ์กลุ่มคนที่ย้ายออกส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยทำงาน
ปัจจัยสนับสนุนการย้ายออก
- พนักงานในเมืองหลวงถูกลดค่าจ้างหรือเลิกจ้าง
- สภาพแวดล้อมดีกว่าและค่าครองชีพถูกกว่าโตเกียว
- รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการทำงานทางไกล รวมทั้งการย้ายออกจากเมืองหลวงเพื่อผลักดันศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ และลดความแออัดในโตเกียว เช่น กำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นรับลงทะเบียนผู้ที่สนใจจะย้ายถิ่นฐานเพื่อจัดทำข้อมูลและจัดหาที่ดินที่เหมาะสม มอบเงินสูงสุด 1 ล้านเยนต่อคน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชากรยังทำงานให้กับบริษัทในโตเกียวแต่ย้ายออกไปอยู่เมืองรอบนอก
- สหราชอาณาจักร
ประชากรลอนดอนย้ายออกสะสม 1.6 ล้านคน (ปี 2558 -2562) 70% อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 20-29 ปี) และ 30% ของประชากรวัยทำงานในช่วงอายุ 18-34 ปี ต้องการอาศัยในภูมิภาค
ปัจจัยสนับสนุนการย้ายออก
- WFH และ Work from Anywhere (WFA) เป็นนโยบายของหลายองค์กร เพื่อรักษาแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์สูง
- ค่าครองชีพและค่าเช่าถูกกว่าเมืองใหญ่
- นโยบายย้ายข้าราชการ 22,000 อัตราออกจากลอนดอน
- BREXIT ส่งผลให้แรงงานบางส่วนย้ายกลับบ้านเกิด หลังจากบริษัทย้ายออกนอกประเทศ
- ไอซ์แลนด์
ปัจจัยสนับสนุนการย้ายออก
- นโยบาย “Our Rural Future” ปี 2564-2568 เพื่อกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ห่างไกลและสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานไปยังชนบท เช่น
- ตั้งเป้าย้ายงานข้าราชการ 60,000 อัตราไปยังชนบทภายในปี 2564
- ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำงานทางไกล รวมถึงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2564 แสดงจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 5,527,994 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 3,524 คนต่อตารางกิโลเมตร โดยมีรายงานว่า มีเทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่เช่นกันแต่ยังไม่มากนัก
ภาพการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล
ส่วนใหญ่เป็นการย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานที่ใช้ทักษะปานกลางและต่ำ อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคตไทยจะเข้าสู่สังคมในบริบทใหม่นี้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากพิจารณาความพร้อมด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ในภูมิภาคของไทยในการเป็นเมืองปลายทาง ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน 4 ด้านหลัก พบว่า ในภูมิภาคนับว่ามีความพร้อมด้านคมนาคมและการสื่อสาร รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ในระดับหนึ่ง ขณะที่ด้านสาธารณสุขและการศึกษายังค่อนข้างมีข้อจำกัด
ที่มา : “เทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่ ภูมิภาคไทยควรเตรียมความพร้อมอย่างไร” โดยจิตสุภา สุขเกษม, อวิกา พุทธานุภาพ สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย, "รู้จักประชากรกรุงเทพฯ ก่อนดูไลฟ์ถัดไปของท่านผู้ว่าฯ" สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล