แรงกระเพื่อมส่วยอุทยาน : แนวกันไฟ1.5หมื่นก.ม.เพื่อแก้ปัญหาหรือผลประโยชน์

แรงกระเพื่อมส่วยอุทยาน : แนวกันไฟ1.5หมื่นก.ม.เพื่อแก้ปัญหาหรือผลประโยชน์

ความโปร่งใสในการจัดการป่าของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการทำ"แนวกันไฟ"มีปัญหาไม่โปร่งใสหลายกรณี จึงมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลให้สังคมรับรู้ และควรตรวจสอบได้

แต่ละปี พื้นที่ป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือ จะมีการทำแนวกันไฟระยะทางประมาณ 1.5 หมื่นกิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2566 นี้ หน่วยงานรับผิดชอบเริ่มทยอยดำเนินการ เช่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ได้ประกาศประกวดราคาจ้างทำแนวกันไฟของสถานีควบคุมไฟป่าต่างๆ เช่น

  • สถานีควบคุมไฟป่าจอมทอง จำนวน 150 กิโลเมตร
  • สถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา จำนวน 180 กิโลเมตร
  • สถานีควบคุม ไฟป่าแม่โถ จำนวน 130 กิโลเมตร
  • สถานีควบคุม ไฟป่าห้วยน้ำดัง จำนวน 180 กิโลเมตร
  • สถานีควบคุม ไฟป่าขุนขาน-สะเมิง จำนวน 150 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง จำนวน 165 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่า บ้านโฮ่ง จำนวน 245 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่าแม่ตะไคร้ จำนวน 205 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่าดอยผ้าห่มปก จำนวน 200 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่าผาแดง แนวกันไฟ 245 กิโลเมตร
  •  สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ จำนวน 200 กิโลเมตร ฯลฯ เป็นต้น

รวมระยะทางการจะจัดจ้างเหมาเพื่อทำแนวกันไฟในปีนี้ ประมาณ 4,100 กิโลเมตร โดยมีราคากลางประมาณกิโลเมตรละ 5,200 บาท เฉพาะแนวกันไฟของสบอ.16 จะมีวงเงินงบประมาณราว 20 ล้านบาท

แรงกระเพื่อมส่วยอุทยาน : แนวกันไฟ1.5หมื่นก.ม.เพื่อแก้ปัญหาหรือผลประโยชน์ รายงานของหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อ นายวราวุธ ศิลปอาชา ในการตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่วนหน้า จ.เชียงใหม่ เมื่อ มกราคม 2564 แสดงตัวเลขเป้าหมายทำแนวกันไฟภาคเหนือ 15,610 ก.ม.
 

งบประมาณทำแนวกันไฟ?

ในส่วนของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) อื่น ยังไม่ประกาศลงระบบออนไลน์ จึงไม่มีตัวเลขโครงการและระยะทางล่าสุด แต่หากยึดตัวเลขฐานงบประมาณที่ผ่านมาประมาณ 1.5 หมื่นกิโลเมตร เท่ากับว่า งบประมาณที่จะใช้ทำแนวกันไฟในฤดูแล้งปีนี้ของภาคเหนือจะตกราวๆ  78 ล้านบาท

ประเด็นปัญหาอยู่ที่การจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ ในข้อหาเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลหลุดออกมาว่า การเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานมีอัตราแตกต่างกัน หากเป็นหน่วยปกติ มีอัตรา 18.5% และได้เรียกเก็บจากหน่วยงานไฟป่า และหน่วยฟื้นฟู(ปลูกป่า/ทำฝาย) ที่อัตรา 30%   จากงบประมาณที่หน่วยงานนั้นๆ ได้รับ

 แล้วก็น่าวิตกมากขึ้น เมื่อมีภาพข่าวรายชื่อหน่วยงานเขียนที่หน้าซองบรรจุเงินมาจากหน่วยต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงหน่วยที่ดูแลเรื่องไฟป่ารวมอยู่ด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การจัดทำแนวกันไฟความยาวประมาณ 1.5 หมื่นกิโลเมตร ที่ปกติทำกันทุกปีนั้น จะเกิดรั่วไหล ไม่เป็นไปตามกรอบการจ้างหรือไม่ ?

แนวกันไฟเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน เพราะเป็นแค่การถางแนวเชื้อเพลิง มีความกว้างความยาวและพิกัดให้ตรงกับแผนที่  แต่ทว่า ในความไม่ซับซ้อนกลับมีความลึกลับปิดกั้นอยู่  !

แนวกันไฟที่คนภายนอกเข้าไม่ถึง

วงการเกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านป่าไม้เขาคุยกันมานานแล้วว่า อาจจะมีผลประโยชน์ในโครงการทำแนวกันไฟ  เพราะมันเป็นกิจกรรมที่อยู่ในป่าลึก บางจุดเป็นสันเขาสูง คนภายนอกเข้าไปไม่ถึง แนวที่ว่าอาจจะไม่มีอยู่จริง รวมถึงการจ้างลูกจ้างผี มีแต่รายชื่อแต่ไม่มีคนทำงานจริง

ยิ่งไปกว่านั้นยังเคยมีเรื่องบอกเล่าจากชาวบ้านติดเขตป่า ที่จู่ๆ มีผู้รับเหมามาติดต่อขอให้ชาวบ้านช่วยถ่ายรูปคู่ป้ายไวนิลและลงชื่อสมอ้างว่า เป็นผู้รับจ้างทำแนวกันไฟของรัฐ แต่ให้ไปถ่ายรูปกับแนวที่ชาวบ้านช่วยกันทำเองก่อนหน้า

สมมติหากมีการหักเงิน 30 % จากงบประมาณแนวกันไฟไปจริง จำนวนเงินแต่ละปีของภาคเหนือจะถูกหักไปราวๆ 20-24 ล้านบาท จากยอดวงงบประมาณทำแนวกันไฟ ราว 78 ล้านบาท (1.5 หมื่นกิโลเมตรๆ ละ 5,200 บาท)

และนี่ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะการทำแนวกันไฟในภาคเหนืออยู่ในภายใต้ชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง pm2.5 การลงทุนทิ้งเงินไปปีละมากๆ ก็ด้วยหวังว่ามันจะป้องกันอันตรายจากมลพิษให้กับประชาชน

เมื่อถึงฤดูฝนต้นไม้งอก ถึงฤดูแล้งก็ทุ่มเงินอีก 70 กว่าล้านบาททำแนวกันไฟที่อาจไม่มีอยู่จริง สูญทั้งงบประมาณรัฐ และ ซ้ำเติมสุขภาพประชาชนเจ้าของเงินภาษี

แรงกระเพื่อมส่วยอุทยาน : แนวกันไฟ1.5หมื่นก.ม.เพื่อแก้ปัญหาหรือผลประโยชน์ แคมเปญ เพื่อป่าโปร่งใส ใน change.org เรียกร้องให้เกิดการจัดการป่าอย่างโปร่งใส หลังมีข่าวอื้อฉาว  

ความโปร่งใสในการจัดการป่าของรัฐ

จากข้อกังวลที่มาจากข่าวอื้อฉาวดังกล่าว ได้เริ่มมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องความโปร่งใสในการจัดการป่าของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนใจปัญหามลพิษฝุ่นควัน โดยร่วมกันเปิดแคมเปญ “ป่าโปร่งใส”เรียกร้องให้เปิดเผยการดำเนินการต่างๆ ในป่า รวมถึงแนวกันไฟให้กับสังคมร่วมรับรู้ รวมถึงการเปิดให้ชุมชนใกล้เคียงเข้าไปร่วมตรวจสอบได้

ยังมีข่าวออกมาว่าในบางพื้นที่ชุมชนใกล้กับเขตป่าที่มีชื่อจะทำแนวกันไฟบนภูเขาความยาวกว่า 100 กิโลเมตรจะขอเข้าไปร่วมดำเนินการและพิสูจน์ทราบว่าได้มีการจัดทำตามข้อกำหนดว่าจ้างครบถ้วนหรือไม่

เพราะงบประมาณที่ประกาศจะทำนั้น ควรตกลงมาโดยไม่ถูกหักออก และต้องยังประโยชน์ให้กับพื้นที่และชุมชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ข่าวอื้อฉาวเรื่องการเรียกเก็บเงินยังก่อให้เกิดข้อเรียกร้องด้านอื่นตามมานอกจากการขอให้เปิดการมีส่วนร่วมที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะยังมีมุมเรียกร้องการกระจายอำนาจจัดการไฟ (ที่ถูกหัก30%) ลงมาให้ท้องถิ่นดำเนินการ จะเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า

เช่นข้อเรียกร้องจาก เดโช ชัยทัพ นักพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) กล่าวถึงกรณี กรณี สบอ.16 จะจ้างเหมาทำแนวกันไฟ  ระยะทาง 4,100 กิโลเมตร  

“ผมคิดว่าแต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดป่าอนุรักษ์ 400 หมู่บ้าน บ้านละ5 หมื่นบาท จะใช้งบ 20 ล้านบาท ผมเชื่อว่าชาวบ้านเขาจะทำได้ดีกว่าเอาเงินไปจ้างใครก็ไม่รู้มารับเหมาทำแนวกันไฟ”  

งบประมาณของรัฐต้องเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครอื่น หากระบบจ้างเหมามันรั่วไหล สู้เอามาให้ชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการจริงๆ ใช้ทำเองไม่ดีกว่าหรือ..นี่คือประเด็นจากชุมชน

แรงกระเพื่อมจากข่าวเรียกรับเงินอื้อฉาว กำลังส่งผลต่อโครงการแก้ปัญหาไฟป่าและทำแนวกันไฟในพื้นที่โดยตรง เป็นประเด็นที่ควรจับตาต่อไป.