วันเด็ก วัยเด็ก 3 คนดัง 3 อาชีพบนเส้นทางที่เลือกได้

วันเด็ก วัยเด็ก 3 คนดัง 3 อาชีพบนเส้นทางที่เลือกได้

วันเด็ก 2566 นอกจากเปิดทำเนียบให้เด็กๆ นั่งเก้าอี้นายกฯ เช่นทุกปี ชวนอ่านเรื่องวัยเด็กของกระทิง เรืองโรจน์ ,วิชา มหาคุณ และดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ทั้งสามมีวันนี้ เพราะการเรียนรู้ในวัยเด็ก

ถ้าไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างต้องแลกด้วยมันสมองและสองมือ เหมือนเช่นกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KASIKORN Business – Technology Group (KBTG),ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์หรือเภสัชกรยิปซี ที่ทำงานเกี่ยวกับยาและสมุนไพร โดยไม่สนใจชื่อเสียงใดๆ และศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณคณบดีและผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งสามคน เป็นคนดังที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และที่สำคัญทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย

ในวันเด็กปี 2566 ได้รวบรวมเรื่องราววัยเด็กของทั้งสามคน เพราะเชื่อว่ารากความคิดในวัยเด็ก ก็คือ รากของชีวิตในวันนี้

1.กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

จากเด็กบ้านนอกเป็นสตาร์ทอัพเบอร์ต้นๆ

กว่าจะมีวันนี้ของกระทิง การเรียนรู้สำคัญมาก เพราะครูสมัยประถม พ่อแม่และการเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด การทำงานที่กูเกิล และการตั้งบริษัทตัวเองที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ฯลฯ

ทั้งหมดเป็นเพราะเขาคิดได้ตั้งแต่เด็ก เป็นนักเรียนทุนที่อึด ขยัน และรู้ว่าจะเรียนรู้ยังไง ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้เหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก 

“ชีวิตผมเปลี่ยนไป เพราะกระบวนการคิด ผมเป็นเด็กตัวเล็กๆ โดนเพื่อนแกล้ง ไม่ฉลาด ไม่มีความมั่นใจ ย้ายโรงเรียนก็ไม่มีเพื่อน แต่สุดท้ายอาจารย์สองคนที่โรงเรียนวัดคูยาง กำแพงเพชร อย่างอาจารย์คนหนึ่งเขาให้ความมั่นใจกับผม เขาบอกว่า “ไม่ว่าเราอยากทำอะไร เราทำได้หมด” 

วันเด็ก วัยเด็ก 3 คนดัง 3 อาชีพบนเส้นทางที่เลือกได้

ส่วนอาจารย์อีคนสอนให้ผมรักวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่โรงเรียนวัดไม่มีอุปกรณ์อะไรสอนเด็ก แต่เวลาสอนเรื่องแรงตึงผิว เขาชี้ให้ผมดูแมงมุมน้ำในบึง หรือสอนเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า ครูเอาเข็มไปวางบนแก้ว เข็มก็ชี้หมุนไปมา ผมคิดว่า ถ้าครูมีทัศนะที่ถูกต้อง ก็พัฒนาเด็กได้

ระบบการศึกษาก็ต้องแก้ไข การแก้ปัญหาที่ครูแก้ยาก ต้องยอมรับว่าครูหลายๆ คนถูกระบบครอบ จนเปลี่ยนพวกเขาไม่ได้แล้ว ครูต้องถูกวัดผลจากการสอน ทั้งๆ ที่ครูควรใช้เวลากับการคิดเรื่องการสอนและการวัดผลการเรียนของเด็ก"

นอกจากแรงผลักดันจากครู พ่อแม่ก็เป็นโมเดลในชีวิตให้เขาด้วย

"พ่อผมทำงานในโครงการพระราชดำริ ปีหนึ่งพ่อกลับบ้านสองครั้ง หลักๆ คือไปช่วยพัฒนาที่ดินรกร้างแถวชายแดนให้คนชายขอบ สร้างบ้าน สร้างโรงพยาบาล ปิดเทอมพ่อจะพาผมไปด้วย พ่อเป็นหัวหน้าหน่วย ผมได้เห็นสิ่งที่พ่อทำ มันมีความหมาย ตอนนั้นพ่อเอาหมาชื่อ หอยแครง ไปเลี้ยงที่หน่วย วันหนึ่งมันเหลือแต่หัว เพราะถูกเสือกิน แต่พ่ออยู่ตรงนั้นได้ด้วยอุดมการณ์

ครอบครัวเราไม่ได้รวย พ่อเป็นข้าราชการ แม่ผมไม่แข็งแรง เป็นหอบหืด ในชีวิตแม่เคยหยุดหายใจ 6 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมต้องเข้าไปลากแม่ไปหาหมอ แม่เคยถูกปั๊มออกซิเจนที่เสียบผ่านคอถึงก้านปอด ตอนนั้นแม่ชนะแม้กระทั่งความตาย ดังนั้นเราเป็นลูก ก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เรามีเลือดนักสู้จากแม่ อุดมการณ์จากพ่อ

ลองจินตนาการว่า ถ้าคุณทำอะไรได้ทุกอย่างในโลก คุณจะทำอะไร โดยไม่หลอกตัวเอง อย่างผมคิดอยากเปลี่ยนประเทศไทย ถ้าอีก 20-30 ปีมีคนบอกว่า กระทิงเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนประเทศไทย ผมตายได้แล้ว ดังนั้นทุกๆ วัน ผมต้องทำให้เต็มที่"

วันเด็ก วัยเด็ก 3 คนดัง 3 อาชีพบนเส้นทางที่เลือกได้ 2.วิชา มหาคุณ

ตอนเด็กๆชอบอ่านหนังสือและวาดรูป

นักกฎหมายวัย 76 ปีที่เคยเป็นทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งๆ ที่ช่วงวัยแบบนี้ น่าจะพักผ่อนได้แล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถ และความจำที่ยอดเยี่ยม เขาบอกว่า

“ผมยึดหลักที่ลี กวนยู บอกว่า ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าตัวเรามีประโยชน์ เราจะมีชีวิตอยู่นาน ถ้ารู้สึกว่าตัวเราไร้ค่า เราจะอยู่ได้ไม่นาน”

เรื่องอ่านหนังสือเร็ว ไวและจับใจความเก่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวของอาจารย์วิชาตั้งแต่เด็ก"

 "จริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากเป็นนักกฎหมาย แต่คุณแม่อยากให้เป็น ผมอยากเป็นนักอักษรศาสตร์ เขียนบทกวีและวาดสีน้ำ ผมชอบอ่านหนังสือ เคยอ่านมังกรหยกทั้งชุดวันเดียว ปกอ่อนเป็นร้อยๆ เล่ม อ่านจนจบไม่นอนเลย สามารถเล่าได้เป็นฉากๆ

ปกติจะวางหนังสือไว้เลยว่า วันนี้จะอ่านหนังสือกี่เล่ม ถ้าอ่านแบบเข้าถึงเนื้อหา ผมเคยอ่านทั้งหนังสือสิทธารถะ ของเฮอร์มานน์ เฮสเส ผลงานนักเขียนเยอรมัน หรือชีวประวัติของข้าพเจ้า ของมหาตมะคานธี รวมถึงหนังสือคาลิล ยิบราน อ่านแล้วรู้สึกดื่มด่ำ ผมชอบเขียนบทกวี วาดภาพสีน้ำและอยู่กับดอกไม้ นี่คือการพักผ่อนของผม" 

ส่วนเส้นทางอาชีพนักกฎหมายที่ต้องทักษะในการจับประเด็นที่ยอดเยี่ยม อาจารย์วิชาเล่าไว้ว่า “ไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะอนุรักษ์นิยมเท่านักกฎหมาย เพราะติดยึดกับของเก่า กฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นของเก่า ปรับเปลี่ยนไม่มาก รู้ไหมคนที่อนุรักษ์มากๆ เลยในโลกนี้ ก็คือ ตุลาการ ความคิดจะไม่มีวันเปลี่ยน เพราะอยู่กับกฎหมายและชี้ผิดชี้ถูกทุกวัน จนเป็นนิสัย”

วันเด็ก วัยเด็ก 3 คนดัง 3 อาชีพบนเส้นทางที่เลือกได้

3.ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

เด็กเกาะสมุยที่ไม่เคยรู้สึกว่าด้อย

อดีตเด็กเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ครอบครัวหมอยา ชอบทำบุญ ตักบาตร จึงไม่แปลกที่การให้ การแบ่งปันเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเภสัชกรยิปซี 

“เราเป็นคนบ้านนอก แต่ไม่รู้สึกขาดแคลน เพราะครอบครัวมีความรักที่เต็มเปี่ยม มาเรียนกรุงเทพฯตั้งแต่เด็กๆ ที่โรงเรียนราชินี ที่นั่นผู้ดีเขาเรียนกัน แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าด้อย เราภูมิใจในตัวเรา มีแค่ไหนก็แค่นั้น ใครรับเราไม่ได้ไม่เป็นไร

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา ปัญหาอยู่ที่คนมอง เขาจะมองยังไง ก็เรื่องของเขา เขาก็ทุกข์เอง มีคนมองว่าทำไมเราอ้วนจัง นั่นมันเรื่องของเขา เราไม่ได้คิดอะไร ชีวิตก็จะมีความสุขตลอดเวลา เพราะเราละไปแล้ว

และไม่ได้คิดว่าเรียนจบสูงๆ ปริญญาจะมีค่า คนเราจะมีค่าอยู่ที่การกระทำ แต่ก็ต้องหาปริญญามาเป็นตั๋วผ่านทาง เพราะบ้านเรายอมรับเรื่องนี้ เรียนโน้นเรียนนี่ก็ได้ปริญญามา ก็แค่นั้นเอง ไม่เคยไปรับปริญญาเลย ไม่ได้มีความหมายอะไร"

“ชีวิตที่เกิดมา ถ้าได้ช่วยคนสักคน ก็คุ้มค่าแล้วที่เกิดมา ตอนทำงานองค์กรเภสัชกรรมก็ได้ผลิตยา เมื่อทำมาพักหนึ่ง น้องๆ คนอื่นก็ทำได้ แล้วทำไมเราไม่ออกไปช่วยคนอื่นนอกองค์กรบ้าง”ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เคยเล่าให้ฟัง

12 ปีที่ร่อนเร่ทำงานในหลายประเทศของแอฟริกา สอนให้คนที่นั่นผลิตยาต้านเอดส์และยามาลาเรีย เธอบอกว่า เป็นการทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แม้ตอนนั้นคนจะมองว่า ทำไมต้องไปช่วยคนแอฟริกัน

เธอตั้งคำถามกลับว่า แล้วพวกเขาไม่ใช่คนหรือ

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต ไม่ว่าขาวหรือดำ รวยหรือจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถามว่า ทำงานในแอฟริกาลำบากไหม บอกเลยว่า เกิดมา ไม่เคยลำบากแบบนี้เลย เป็นความลำบากกาย แต่ใจมีความสุข"

...............

เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ (เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ)