จับตาสถานการณ์สุขภาพคนไทย ชีวิตเสี่ยงกับอะไรบ้าง?
ปัญหาสุขภาพของคนไทยยังน่าเป็นห่วง แม้ผลวิจัยพบคนอายุยืนมากขึ้น แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การสูญเสียหรือตายก่อนวัยอันควร ทั้งปัญหาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และอุบัติเหตุต่างๆ
ใครที่มองว่าชีวิตคือความเสี่ยงที่ต้องใช้ให้คุ้ม อาจต้องคิดใหม่ เพราะหากใช้ "เกินลิมิต" ย่อมอาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงตามมา เห็นได้จากผลวิจัย "ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย ปี 2562" พบว่า แม้คนไทยอายุยืนขึ้น แต่ยังคงเผชิญปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย
ภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงคนไทย
ในการนำเสนอผลการศึกษา "ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย : ชี้เป้าปัญหา จับตาแนวโน้ม ระบุมาตรการสำคัญลดคนไทยป่วย พิการ และเสียชีวิต" ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมผลการศึกษา "ภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย พ.ศ. 2562" เป็นเวทีสื่อสารข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และเครือข่ายนักวิชาการด้านการศึกษาภาระโรค เพื่อนำผลการศึกษาไปพัฒนานโยบายสุขภาพในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ตลอดจนพัฒนารูปแบบองค์กรประเมินภาระทางสุขภาพที่มีความยั่งยืน
"จากข้อมูลปี 2562 มีอัตราการเสียชีวิตปีละ 5 แสนคน แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ เป็นโรคจากพฤติกรรมด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอยากให้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางว่า เราจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป โดยสิ่งสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยให้คนไทยไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีในอนาคตข้างหน้า มีอายุที่ยาวขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น" นพ.รุ่งเรือง กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการกำกับทิศแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีผู้เชี่ยวชาญสนใจทำผลการศึกษาภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร การนำเครื่องมือวัดปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บของประชากร (Disability – adjusted Life Years : DALY) มาใช้ในการวัดสถานะสุขภาพของประชากรไทยแบบองค์รวม จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เพราะมีความครอบคลุมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างบกพร่องหรือพิการ และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญของประชากรได้ในหน่วยเดียวกัน และยังประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายและความพิการได้อีกด้วย
ภาระโรค = ภาระประเทศ
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า การจะเปลี่ยนเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ต้องเห็นภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งการที่ สสส. สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรค (Burden of Disease: BOD) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เพราะ "ข้อมูลภาระโรค" ถูกนำไปชี้สถานการณ์ความสำคัญปัญหาสุขภาพ และควบคุมป้องกันปัญหาสุขภาพของประเทศได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ประเมินเทคโนโลยีและผลกระทบจากนโยบาย รวมถึงมาตรการทางสุขภาพต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"การที่คนเรามีสุขภาพที่แตกต่างกัน เนื่องจากสุขภาพไม่ได้เกิดเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เกิดจากปัจจัยสังคมหลายอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพ อายุเฉลี่ย หน้าที่การงาน ครอบครัว การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม อีกส่วนคือสุขภาพของเราไม่เคยอยู่นิ่ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา ดังนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการมองภาพองค์รวม เพื่อเห็นเทรนด์ต่างๆ" ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สสส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาดัชนีภาระโรคและภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพตาม 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
- การพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพนักวิจัยด้านการศึกษาภาระทางสุขภาพ
- การพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่าย
- การสื่อสารเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
"สิ่งแรกที่ สสส. จะทำคือ ใช้ข้อมูล BOD เป็นตัวตั้งต้นและจะถูกนำมาเป็นทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์วางแผนว่า สิ่งที่จะทำต่อไปคืออย่างไร กับใคร" ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
ดร.ณัฐพันธุ์ เผยข้อมูลสัดส่วนการเสียชีวิตของคนไทยในปี 2557 พบว่า คนไทยเสียชีวิตกว่า 4 แสนคนต่อปี โดยกว่าครึ่งนั้นเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งหากคิดมูลค่าความสูญเสียแล้ว อาจเท่ากับ 2.2% ของ GDP นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 5 เท่า และได้รับโซเดียมเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่า เช่นเดียวกับการที่คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 20,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 60 คนต่อวัน
บุหรี่ - เหล้า - อาหาร - โรค NCDs - อุบัติเหตุ แชมป์ตายก่อนแก่
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าคณะทำงานศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มอายุเพิ่มขึ้น เพศชายจาก 70.5 ปี เป็น 71.7 ปี เพศหญิงจาก 77.3 เป็น 79.4 ปี ส่วน 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะคือ อุบัติเหตุทางท้องถนน เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง คิดเป็น 20% ของการสูญเสียทั้งหมด ปัจจุบันกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอยู่อย่างทุพพลภาพมากกว่า 60% ยังคงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
"ปัจจัยเสี่ยงทำคนไทยตายก่อนวัยอันควร อันดับ 1 คือ บุหรี่ เกิดจากการสูบบุหรี่/ยาสูบ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง อันดับ 2 คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อันดับ 3 คือ ระดับความดันโลหิตสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อันดับ 4 คือ การดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อมโยงกับอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดเป็นการสูญเสียอันดับ 1 ในเพศชาย อันดับ 5 คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถลดปัจจัยเสี่ยงทั้ง 5 อันดับแรกลงได้ จะช่วยลดการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และการอยู่อย่างทุพพลภาพที่เป็นภาระของคนไทย ซึ่งทั้งประเทศต้องแบกรับได้ถึง 8-18% ของการสูญเสียทั้งหมด โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมกันวางแนวทางมาตรการต่างๆ เพื่อลดการสูญเสียปีสุขภาวะสู่ปีที่มีสุขภาพดีของคนไทย" ทพญ.กนิษฐา กล่าว
ทพญ.กนิษฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า ความซับซ้อนในการดูแล ผู้สูงอายุ เกิดจากโรคร่วม คือเสื่อมถอยเองตามวัย และโรคที่สะสมมาตั้งแต่พฤติกรรมในวัยหนุ่มสาวหรือทำงาน ซึ่งจะเริ่มส่งผลในวัยกลางคน โดยเราจะเห็นว่า แนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันสูงและภาวะอ้วนลงพุงจะพบสูงขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 18% และในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% โดยในปี 2564 เป็นปีแรกที่คนตายมากกว่าเกิด และหากดูจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ปัจจุบันจะพบว่า 12% เป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และ 21% เป็นผู้สูงอายุที่อยู่กับคู่ครองที่เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน นอกจากนี้ 33% ของจำนวนผู้สูงอายุพึ่งพารายได้ที่ตัวเองทำมาหากิน และมี 33% ที่พึ่งพาลูกหลาน ดังนั้น จะทำอย่างไรในการดูแลประชากรผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้