"การทำนา”โบราณ สุนทรียภาพ โครงการ “นาบุญข้าวหอม”
“การทำนา” โบราณ มีขั้นตอนมากมายกว่าจะออกมาเป็นข้าวหนึ่งเมล็ด มีพิธีตั้งแต่แรกนา ไปจนถึงพิธีกรรมสุดท้ายก็คือ “ทำบุญลานข้าว” กระบวนการเหล่านั้นได้ฝังจิตวิญญาณไว้ในข้าวทุกเมล็ด “นาบุญข้าวหอม” อนุรักษ์ โดย จี๊ด-นริศ เจียมอุย
ในเรื่องของภูมิปัญญา การทำนา แบบโบราณ จี๊ด-นริศ เจียมอุย ผู้ก่อตั้ง นาบุญข้าวหอม ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลไร่ส้ม-เวียงคอย จังหวัดเพชรบุรี มีเป้าหมายปลูกข้าวแบบปลอดภัยไร้สารพิษ ค้นคว้าจนพบว่าภูมิปัญหญาดั้งเดิม
ความเชื่อ พิธีกรรม การดูฤกษ์ยาม เป็นคลังความรู้อนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาสมัยโบราณ สร้างมูลค่า และมีเรื่องราวน่าสนใจประธานศูนย์ข้าวชุมชน เล่าว่า ก่อนจะมีพิธีหลวง พิธีแลกนาขวัญ มีอยู่แล้วในท้องนา
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 เสด็จมาที่เพชรบุรี พระองค์เห็นว่าเพชรบุรีทำนากันเยอะ ก็เลยมีพระราชดำริให้มีพระราชพิธีแลกนาขวัญที่ทุ่งพนมขวด พอมีพิธีหลวง ชาวบ้านถือพิธีหลวงเป็นมงคลฤกษ์ พิธีแลกนาแบบชาวบ้านจึงหายไป
จี๊ด-นริศ เจียมอุย ผู้ก่อตั้ง นาบุญข้าวหอม อนุรักษ์ การทำนา แบบดั้งเดิม จังหวัดเพชรบุรี เล่าต่อไปว่า
“หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าวเสร็จก็จะทำบุญลานข้าว เราจะทำพิธีรับขวัญแม่โพสพ ทั้งหมดที่มารวมอยู่ในลาน เป็นการบูชาขวัญ ก่อนที่เราจะเก็บข้าวไว้เพื่อบริโภค อย่างที่ควาย 2 ตัวกำลังนวดข้าว ด้านล่างจะเป็นเมล็ดข้าว
ตรงนี้มีแปลงนา 6 ไร่ พื้นที่ทำกิจกรรม ให้คนมาดูงาน เลี้ยงวัว อีก 6 ไร่ เราเรียกตัวเองว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ การทำนาตามภูมิปัญญาบรรพรุษ”
ธรรมชาติแห่งผืนนา
“นาบุญข้าวหอม” ก่อตั้งมาเกือบ 10 ปี มีกลุ่มครอบครัวให้ความสนใจพาลูกหลานมาทำกิจกรรม เรียนรู้การดำนา ให้เด็กได้ซึมซับและมี “ความเคารพ” ธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น เคารพสิ่งที่มองไม่เห็น ขอขมาก่อนเดินลงนา
สมัยก่อนคนโบราณบอกว่า ต้องขอขมาเจ้าที่ ความจริงแล้วในนามีจุลินทรีย์ ที่คอยย่อยสลายอินทรียวัตถุ เป็นอาหารของต้นข้าว จุลินทรีย์จึงมีบุญคุณต่อเรา ก่อนลงไปเหยียบต้องขอขมา ปลูกฝัง “คุณธรรม” ให้กับเด็ก ๆ
โบราณไม่เคยบอกว่าทำไมต้องทำพิธี ทำไมต้องไหว้ บอกแค่ไหว้เจ้าที่ วันนี้เขาได้ถอดองค์ความรู้ออกมาเป็นชุดความรู้ ให้เด็กๆ เรียนรู้ ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน
“จี๊ด-นริศ เจียมอุย” ผู้ก่อตั้ง “นาบุญข้าวหอม”
จี๊ด-นริศ เจียมอุย ผู้ก่อตั้ง นาบุญข้าวหอม อนุรักษ์ การทำนา โบราณ อธิบายให้ จุดประกาย ฟังต่อไปว่า
“ไม่ใช่เรื่องของความเชื่องมงาย มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่คนสมัยโบราณไม่ได้อธิบาย คำว่าวิทยาศาสตร์อาจจะบัญญัติทีหลังก็ได้ เรามีหลักสูตรดำนา หลักสูตรเกี่ยวข้าว คนโบราณเกี่ยวข้าว จะมี ท่าเคียว คนที่รำท่าเคียวเป็น
ก็คือคน จังหวัดเพชรบุรี แท้ๆ ถือว่าเป็นละครชีวิตจริงๆ ใครที่ได้ดูก็ถือว่าโชคดี ได้เห็นการเล่น ร่ายรำ การต่อสู้” นริศ เล่า
สุนทรียะการทำนาโบราณ
“ท่าเคียว” ดังกล่าวกำเนิดมาจาก ท่ามวย จากพ่อครูค่ายต่างๆ เช่นค่ายกระบี่ กระบอง นี่คือ “สุนทรียะของการทำนาโบราณ” ผู้ชายที่มีความสามารถร่ายรำ มีพื้นฐานรำกระบอง รำมวย ใส่ลีลาการเกี่ยวข้าว มักแสดงกันตอนบ่ายๆ
เพราะรอบเช้าตั้งใจเกี่ยวข้าวจริงจัง พอบ่ายแก่ๆ ใกล้เลิกงานเริ่มผ่อนคลาย คนที่รำท่าเคียวเป็น ก็จะเริ่มขยับท่าทาง 2-3 คนรำท่าเดียวกัน เพราะมาจากค่ายเดียวกัน เหมือนเป็นโรงละครกลางท้องทุ่ง ปัจจุบันนี้กำลังฟื้นฟูให้มีชีวิตกลับมาอีกครั้ง
"ใครที่ต้องการร่วมกิจกรรมกับ นาบุญข้าวหอม ต้องจองเข้ามาก่อนครับ จะได้เตรียมอุปกรณ์ บุคลากร พร้อมอาหารให้ด้วย กิจกรรมแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน แล้วแต่ฤดูกาล มีเรื่องของภูมิปัญญา การแปรรูปข้าว เช่น ทำขนมครก
ข้าวพันธุ์ไหนทำแล้วรสชาติเป็นอย่างไร ข้าวทุกเมล็ดเป็นการกลั่นออกมา ไม่ใช่แค่การปลูก
เพราะมีขั้นตอนมากมายกว่าจะออกมาเป็นข้าวหนึ่งเมล็ด มีพิธีตั้งแต่แรกนา ไปจนถึงพิธีกรรมสุดท้ายก็คือ “ทำบุญลานข้าว” กระบวนการเหล่านั้นได้ฝังจิตวิญญาณไว้ในข้าวทุกเมล็ด" นริศ เล่าและเชื่อว่ามีที่เดียวในจังหวัดเพชรบุรี
พิธีกรรมนาบุญข้าวหอม
นริศ ผู้ก่อตั้งนาบุญข้าวหอม เล่าต่อว่า กิจกรรมแรกของปี เริ่มในเดือนมิถุนายน ก็คือ “พิธีแรกนาขวัญ” จัดหลังพิธีหลวง 1 สัปดาห์ ถัดไปเป็นการดูฤกษ์ตกกล้า พิธีกรรมการตกกล้า หลังจากนั้นเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
เป็นช่วงของการถอนกล้าไปดำ เดือนพฤศจิกายน วันศุกร์ข้างขึ้นสุดท้าย มีพิธีรับขวัญท้องข้าว ต่อจากนั้นปลายเดือนพฤศจิกายน มีพิธีกรรมเกี่ยวข้าว ประมาณ 20 วัน จากนั้นเป็นกิจกรรมนวดข้าวด้วยวัว ควาย
“เดือนกุมภาพันธ์ เป็น “พิธีบุญลานข้าว” จะมีกิจกรรมหลากหลาย มี “พิธีรับขวัญข้าวเข้าลาน” เป็นขั้นตอนภูมิปัญญาโบราณที่เขาทำสืบต่อกันมา เสร็จแล้วก็จะมีพิธีเชิญขวัญข้าวตก ก็คือข้าวที่ตกอยู่ตามท้องนา หลังจากเชิญขวัญข้าวตกเข้าลานเสร็จ
จะมีพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ เป็นการฉลองลาน ฉลองความสำเร็จ ฉลองการได้ข้าวในแต่ละปี หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีทำขวัญข้าวทั้งหมด เป็นการผูกขวัญข้าว เริ่มเดือนมิถุนายน สิ้นสุดที่เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พิธีกรรมดั้งเดิมจะเป็นช่วงการพักผ่อน ทำกิจกรรมแปรรูปอาหาร”
ผลิตภัณฑ์ชาข้าวหอมมะลิแดง
เมื่อคนกินเปลี่ยนคนปลูก
นริศ เล่าถึงโครงการ “คนกินเปลี่ยนคนปลูก” ว่า เขาเห็นข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชน คิดว่าคนในปัจจุบันอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีทางเลือก
ต้องพึ่งพาอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงชวนคนให้คิดที่จะเลือกบริโภค เช่น ข้าวต้องปลอดภัย คนกินสั่งคนปลูกได้ว่าต้องการข้าวแบบไหน
สุดท้ายผลพลอยได้ก็คือ สิ่งแวดล้อมก็จะดีไปด้วย หากชาวนาไม่ใช้สารเคมี โครงการนี้เปิดให้คนกินจองข้าว แปลงละ 100 ตารางวา ราคา 4,000 บาท
ได้ข้าวเปลือก 150 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 75 กิโล เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52 บาท ถือว่าถูกมาก ปีนี้มีคนจองไป 30 แปลง ปีหน้าคาดว่า 50 แปลง มีโครงการขยายเครือข่ายชาวนาให้ช่วยกันปลูก
“ผมเลือกใช้ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมดอกมะขาม ข้าวไรซ์เบอรี่ หลักๆ จะเป็นหอมมะลิแดง กับ ข้าวหอมดอกมะขาม เพราะจะมีสารกาบา(GABA-Gamma aminobutyric acid คือสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งข้อความสื่อสารระหว่างสมองและระบบประสาท) มากที่สุด
สารกาบาจะได้มากก็ต่อเมื่อนำไปทำเป็นข้าวฮาง ข้าวงอก ขั้นตอนจะยากมาก แต่ในข้าวดอกมะขามมีสารกาบาสูงมาก ไม่ต้องทำอะไรเลย แถมยังเป็นข้าวน้ำตาลต่ำอีก ก็เลยยิ่งดีไปใหญ่ ข้าวหอมมะลิแดงก็มีดัชนีน้ำตาลต่ำอีก
แถมยังมีวิตามิน A วิตามิน B ทองแดง ธาตุเหล็ก บำรุงเลือด มีโปรตีน 12.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากที่สุดในบรรดาข้าวที่เราค้นคว้ามา”
หากชาวนาต้องการร่วมโครงการนี้ อันดับแรกเลย เขาบอกว่า ต้องขอดูแปลง แปลงที่ดีต้องมีการพักฟื้นดิน และแรงน้ำก็สำคัญ รับประกันว่าชาวนาจะได้มูลค่า
ข้าวตันละประมาณเกือบสามหมื่นบาท ถือว่าราคาดี สมาชิกต้องการเข้าร่วมโครงการ ต้องมีแปลงที่พร้อมเข้าร่วม กับแปลงที่ต้องปรับเปลี่ยน
ปัจจุบันนี้คนที่ไม่ใช่สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน ยื่นความจำนงต้องการเข้าร่วมโครงการ อาทิ เช่น ชาวนาทางภาคอีสาน ถือว่าโครงการ
“นาบุญข้าวหอม” ฟื้นสุนทรียะของการทำนาโบราณ มุ่งคนกิน เปลี่ยนคนปลูก ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง