'ปาย' แม่ฮ่องสอน เมืองกลางหุบเขาที่ฝรั่งชอบเที่ยว และจดจำแบบ Wild West

'ปาย' แม่ฮ่องสอน เมืองกลางหุบเขาที่ฝรั่งชอบเที่ยว และจดจำแบบ Wild West

คนไทยมอง'ปาย'ว่าเป็นเมืองโรแมนติก ส่วนฝรั่งจดจำปายในแบบ Wild West มีร้านอาหารแร็กเก้ ห้องพักเรือนไม้ริมน้ำราคาถูก และพักอยู่นานๆ แบบไหนจะยั่งยืนกว่ากัน

เพิ่งกลับมาจากเมืองปาย ที่นั่นคนแน่นที่พักเต็มระดับ 90%   ตั้งแต่คริสตมาสปีใหม่เป็นต้นมา ลูกค้าหลักคือฝรั่งนักท่องเที่ยว แบบที่เคยเป็นมา ส่วนคนไทยก็มีบ้างแต่ยังน้อยกว่าฝรั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับผู้ประกอบการที่รอคอยวันเวลาฟ้าเปิดหลังโรคระบาดโควิด-19 ผ่านพ้น

ได้เดินเที่ยวชมตัวเมืองและความคึกคักของถนนคนเดินราตรีเมืองปายที่ลือชื่อติดแผนที่ท่องเที่ยวโลก ร้านอาหารเสียงดนตรีกระหึ่ม ฝรั่งนักเที่ยวโยกกันสนุกสนาน แน่นอนบางช่วงของซอกซอยมีกลิ่นกัญชาลอยมาปะปน นี่เป็นปกติของเมืองปายที่รู้จักตั้งแต่เมื่อสามสิบปีก่อน 

 ผมเคยเข้าใจเอาเองและเห็นด้วยกับวาทกรรมว่า เมืองปายน่ะพัฒนาจนเละเทะเสียสภาพของเมืองสวยใสในหุบเขา ซึ่งก็ได้มาพบว่า ไอ้ที่ตนเข้าใจนั้นมันผิด..ภาพลักษณ์ของเมืองปายเคยถูกสร้างให้เป็นคิกขุ-วัยรุ่น-+โรแมนติก

 

ประมาณว่ามีจักรยานเก๋ๆ  ตู้ไปรษณีย์สีแดง เขียนโปสการ์ดสีสันฟ้าชมพูเขียวแดง แต่งชุดหวานๆ ถ่ายรูปเที่ยว เข้าพักรีสอร์ตฟ้าใสเมฆครามและสายลมหนาว ซึ่งนั่นมันเป็นภาพลักษณ์ของปายที่ขายกลุ่มคนไทยหรอก และมันก็แบรนดิ้งให้กลุ่มคนไทยได้ 

ตลาดไทยมีภาพของปายอย่าง แต่สำหรับกลุ่มต่างชาติก็มีภาพลักษณ์ประทับจำของปายอีกอย่าง นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว มันคนละบุคลิกที่สามารถสร้างและเกิดในพื้นที่พิกัดเดียวกันได้อย่างไร !!?   

  • นักบุกเบิกปายยุคแรก

เอาเข้าจริงเมืองปายเป็นเมืองแขกฝรั่งมาก่อนแขกไทย... ต้องย้อนกลับไปดูจากจุดเริ่มต้น เมื่อราว 40 ปีก่อน คือราวพ.ศ. 2530 กว่าๆ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยวในหุบเขาเล็กๆ เมืองนี้ เริ่มพัฒนาจากฝรั่งนักแบกเบ้ คงจะเดินทางจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนไปเจอะเข้า

\'ปาย\' แม่ฮ่องสอน เมืองกลางหุบเขาที่ฝรั่งชอบเที่ยว และจดจำแบบ Wild West

แล้วก็เริ่มกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการแวะพักค้าง ในเมืองน้อยกลางหุบ อารมณ์แบบดิบๆ ไกลๆ ทิ้งโลกภายนอกข้างหลัง
สามสิบปีก่อนการเดินทางไปแม่ฮ่องสอนผ่านปายนี่สาหัสนะครับ  เคยเอาเก๋งขนาดเล็กไต่เขาไปเหนื่อยมากกับถนนนยุคโน้นนี่ขนาดมีการปรับปรุงเส้นทาง ตัดสโลปใหม่บ้างแล้ว นั่งเฉยๆ ไม่ได้ขับเองยังเหนื่อยเลย ยุคโน้นปาย ก็คือ โอเอซิสกลางเทือกเขาถนนธงชัยสะบักสะบอมไปถึงก็สวรรค์ทันที 

ฝรั่งคือ นักบุกเบิกปายยุคแรกๆ จากกระท่อมกระต๊อบเรือนพักเล็กๆ มันก็เริ่มดังขึ้นในหมู่แบ็คแพ็คนักเที่ยวนิยมความดิบ ความห่างไกล

จนราวหลังวิกฤตเศรษฐกิจผู้ประกอบการหน้าใหม่จากเมืองกรุงฯเริ่มเข้าไปร่วมบุกเบิกปาย มีการสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้น แหล่งเที่ยว แหล่งกิน ที่พัก ตลาดฝรั่งขยายออก 

  • แบรนดิ้งปายในกลุ่มคนไทย

ปายเริ่มมองหากลุ่มนักท่องเที่ยวไทยหลังจากนั้น คือราวกลางๆ ทศวรรษ 2540 มีการสร้างภาพยนตร์แบบวัยรุ่นใสๆ เก๋ๆ ทำให้ปายเป็นเมืองโรแมนติก แบรนดิ้งปายให้เกิดภาพจำให้กับกลุ่มตลาดคนไทย ซึ่งก็ได้ผล เกิดเซ็กเมนท์ใหม่ คนไทยแบกเป้สีหวานๆ เข้าไป จึงเกิดการลงทุนขยายตัวของที่พักในอีกตลาดหนึ่ง รีสอร์ตสวยๆ โรแมนติก รับหมอกเช้าหนาวผิง 
ปายจึงมีความแปลกในตัวเอง

ตลาดแต่ละกลุ่มมีภาพประทับจำของตนเอง ฝรั่งก็ยังจดจำปายในแบบ Wild West มีร้านอาหารแร็กเก้ ห้องพักเรือนไม้เล็กๆ ริมน้ำ หรือไม่ก็เกสต์เฮ้าส์ราคาถูก เช่ามอเตอร์ไซด์ขับเล่นตามหมู่บ้าน กระโดดลงเล่นน้ำด้วยทูพีซเป็นกลุ่มๆ

แน่นอนบ้างก็มีควันมาผสมด้วย สนุกแบบไม่จำกัดเสรีภาพ  ปายจึงเป็นตลาดที่ไม่ตก ขยายตัวต่อเนื่องสวนทางกับวาทกรรมคนไทยที่บอกว่า ปายพัฒนาผิดทาง ปายเละเทะ (ไม่โรแมนติกเหมือนเดิม) แล้ว 

นั่นเพราะฝรั่งกับไทยมองปายด้วยสายตาต่างกัน

ปายมีห้องพักรวมกันกว่า 3,500 ห้อง มากกว่าเชียงราย น่าน  ขนาดของตลาดใหญ่มาก แต่คนไทยอาจจะมองว่า แหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือที่น่าสนใจอยู่ที่เชียงราย น่าน  หากแยกตลาดนักท่องเที่ยวอินบาวด์-เอาท์บาวด์  ดอลลาร์โซนอยู่ตรงไหน ชี้ได้เลยว่าอยู่ที่ปาย มากกว่า น่าน-เชียงราย ซึ่งเป็นตลาดไทย – บาทโซน หลังโควิดมานี่ ฝรั่งกลับมาปาย

ตลาดฝรั่งเป็นกระดูกงูแกนกลางสร้างเมืองปายมาแต่แรก และยังคงเป็นเช่นนั้น 
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เดินในตัวเมืองมีแต่ฝรั่งหนาตากว่าคนไทย

ถามเจ้าถิ่นได้ความว่า มีพัฒนาการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นลองสเตย์เข้าพักยาวมากขึ้น เริ่มมีกลุ่มดิจิตอลนอร์แมดมาเช่าบ้านอยู่ยาวหลักร้อยคน เป็นกลุ่มที่น่าจับตา
ส่วน ททท. ไทยก็พยายามจะสร้างปายให้เป็นเมืองที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่หน้าหนาว มีความพยายามเสนอภาพปายหน้าฝน นั่นเป็นยุทธศาสตร์ของ ททท. ที่ว่ากันไป 

  • ค่าฝุ่น pm2.5 ที่เมืองปาย

ที่ไปปายรอบนี้ไม่ได้ตั้งใจไปดูเรื่องตลาดท่องเที่ยว ฝรั่งมังค่าอันใดหรอกครับ  ต้องการไปดูปัญหาการเผาป่าแถวๆ นั้นที่เป็นปัญหามลพิษอากาศ ซึ่งก็มีผลกระทบกับผู้ประกอบการและภาคเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย 
แต่ละปีป่าที่ปายเผากันเป็นแสนไร่ บางปีค่าฝุ่น pm2.5 สูงเกือบๆ 1,000 ไมโครกรัม/ลบ.ม.( จากค่ามาตรฐานไทย 50 ไมโครกรัมฯ)  ซึ่งมันเป็นนรกดีๆ นี่เอง นักท่องเที่ยวกระเจิดกระเจิงหมด

นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อนทีเดียว เพราะปายไม่ได้มีแค่ตัวเมืองท่องเที่ยวตลาดใจกลางอำเภอ ยังมีหมู่บ้านรอบๆ ที่ต้องทำมาหากินและภูมิประเทศป่าผลัดใบล้อมรอบอยู่ในแอ่ง มันเป็นความขัดแย้งกันโดยธรรมชาติของกลุ่มที่ต้องใช้ไฟกับกลุ่มผลกระทบ

แนวทางการจัดการแก้ปัญหานี้ต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อจะหาจุดสมดุล อะไรที่จำเป็นต้องใช้ไฟ และ กิจกรรมใดที่เผาเรื่อยเปื่อยเกินจำเป็น  เช่นในป่าอนุรักษ์ที่ชาวบ้านแทบจะไม่ส่วนเกี่ยวข้องเลยก็มีการเผาลามเป็นประจำทุกปี  จะห้ามหรือพูดจากันแบบไหนให้เข้าใจกันและกัน

ล้วนแต่เป็นอีกเรื่องที่เมืองปายต้องให้ความสนใจ หากจะยังคงสถานะความเป็นเมืองท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต่อไป

แม้ฝรั่งจะให้ภาพปายว่าเป็น เมืองหุบเขา Pai Wild West ที่ไม่ต้องพิธีรีตองอะไรมาก แต่ก็คงไม่รวม  Wildfires  ฝุ่นควันจากการเผา ว่าเป็นความตื่นเต้นท้าทายชวนเยี่ยมชมแน่ๆ .