สวนดินปรุง บทพิสูจน์ 'ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่' ทางรอดยั่งยืน
'สวนดินปรุง' ทายาทไร่อ้อยปุ๋ยเคมีตั้งใจทำสวนนี้เพื่อให้เป็นเครื่องพิสูจน์ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และ ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ เป็นหนทางที่จะรอดอย่างยั่งยืนได้แท้จริง อาศัยกระบวนการ ‘ปรุงดิน’ เป็นขั้นตอนสำคัญ
สวนดินปรุง เป็นชื่อสวนเกษตรผสมผสานตามหลัก เกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เกิดจากความตั้งใจในการผลิตอาหารกินเองในครอบครัวของคุณ ทวีศักดิ์ พัชรศักดิ์สกล โดยมีคุณ ณัฏฐา อารียเมตตา เป็นทั้งคู่คิดและกำลังใจในการพัฒนา ‘สวนดินปรุง’ ให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์
“เรามีที่นาเล็กๆ มีบ้านไก่เล็กๆ และมีพืชผักผลไม้รอบๆ นาของเราอย่างละนิดอย่างละหน่อย บนพื้นที่ของตายายที่ปลูกต้นไม้ไว้เป็นมรดกให้เรา” คุณทวีศักดิ์ให้ภาพ ‘สวนดินปรุง’
ที่นาเล็กๆ แรกเริ่ม ที่คิดปลูกข้าวไว้กินเอง
ทวีศักดิ์เล่าว่า เดิมทีเขาทำงานบริษัทจิวเวลรี่ที่กรุงเทพฯ กลับจังหวัดกำแพงเพชรไปทำเกษตรเมื่อปีพ.ศ.2548 เนื่องจากบิดาและมารดาเสียชีวิตพร้อมกัน โดยทิ้งมรดกเป็น ไร่อ้อย ไว้ให้จำนวน 500 ไร่
ดูแลไร่อ้อยไปได้ระยะหนึ่ง เห็นมีพื้นที่ว่างอยู่ คิดอยากปลูกข้าวไว้กินเองและแจกญาติพี่น้อง แต่เนื่องจากทำนาไม่เป็นเลย จึงเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวโดยไปเรียนที่ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี ได้องค์ความรู้เรื่องการปลูกข้าว การทำปุ๋ยด้วยจุลินทรีย์
ที่สำคัญคือได้เรียนหลักการทำ เกษตรทฤษฎีใหม่ นำไปสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืนและเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเน้นไปที่การลดค่าใช้จ่ายและการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ
ทวีศักดิ์ พัชรศักดิ์สกล และ ณัฏฐา อารียเมตตา
“พอได้ความรู้กลับมา ก็เริ่มทำสวน ตั้งชื่อว่า ‘สวนดินปรุง’ เพราะเรามีองค์ความรู้เรื่องการทำดิน การปรับปรุงสภาพดิน” คุณทวีศักดิ์ กล่าว
เบื้องต้นทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง ข้าวงอกงามได้ผลดี รู้สึกว่า ปุ๋ยจุลินทรีย์ ที่ทำเองนั้นมีคุณภาพดี จึงนำปุ๋ยไปใส่ในไร่อ้อยซึ่งเดิมใช้ปุ๋ยเคมี
พบว่าสามารถลดต้นทุนค่าซื้อปุ๋ยเคมีที่เคยซื้อปีละ 1.5 ล้านบาท กลายเป็นไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเลย มีเพียงค่าต้นทุนวัตถุดิบและค่าลูกน้องทำเกษตร คำนวณแล้วประหยัดไปได้ปีละ 1 ล้านบาท
ต้นกล้วย วัตถุดิบหลักในการทำปุ๋ยจุลินทรีย์
คุณทวีศักดิ์ทำปุ๋ยจุลินทรีย์ร่วมกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หลักๆ คือ ‘ต้นกล้วย’ ที่เหลือจากการขายผลไปแล้ว และยังใช้ หลักการห่มดิน ของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ โดยใช้ ใบอ้อย ที่เหลือจากการตัดอ้อยส่งโรงงานมาห่มดิน เก็บกักความชื้นให้กับดิน ไม่เผาแม้แต่ใบเดียว
นอกจากลดมลภาวะทางอากาศ ยังมี ‘ไส้เดือน’ เกิดขึ้นเองในพื้นที่ ช่วยปรุงดินฟื้นฟูดินในไร่อ้อยที่เสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีมานานนับสิบๆ ปีได้อีกรูปแบบหนึ่ง
คุณทวีศักดิ์เล่าว่า การเริ่มทำนาของเขายึดหลักตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำ เกษตรทฤษฎีใหม่ เหลือจากปลูกข้าวกินเองก็แจกจ่ายญาติพี่น้อง
พืชผักชนิดอื่นในการทำเกษตรผสมผสาน
“ผมเริ่มทำนาประมาณ 2 งาน เพราะตั้งใจทำเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ คือในพื้นที่ 1 ไร่มีพืชเกษตรอื่นๆ ผสมผสานอยู่ในนั้น ข้าวพอเหลือจากปลูกไว้กินเอง ผมก็แจกญาติพี่น้อง หลังๆ เขาก็ซื้อข้าวเราไปแจกต่อ พอเริ่มมีออร์เดอร์ ก็ต้องขยายพื้นที่ ตอนนี้ผมมีพื้นที่เกษตรผสมผสานทั้งหมดที่เป็นออร์แกนิค 38 ไร่ เป็นนาข้าว 5 ไร่”
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญาติพี่น้องซื้อข้าวสารจาก ‘สวนดินปรุง’ ไปแจกต่อเป็นของฝากของกำนัลก็เพราะ พันธุ์ข้าว ที่ปลูกในนาแห่งนี้
ข้าวสินเหล็ก
คุณทวีศักดิ์เลือกปลูกข้าว 3 สายพันธุ์ คือ
- ข้าวสินเหล็ก ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด มีธาตุเหล็กสูง แต่ไม่ค่อยมีใครปลูกเพราะได้ผลผลิตต่ำ
- ข้าวหอมนิลจักรพรรดิ ข้าวให้โปรตีนสูงถึง 12.5% มีสาร Anthocyanins ช่วยให้เส้นผมดกดำ บำรุงรากผมให้แข็งแรง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวกล้องธรรมดา 7 เท่า
- ข้าวหอมมะลิแดง สำหรับทำ ‘เครื่องดื่มจมูกข้าวกล้อง’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแปรรูปทำให้มูลค่าข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขายเป็นข้าวสาร ข้าวสายพันธุ์นี้มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะปกติบริโภค ช่วยป้องกันและบรรเทาโรคเบาหวานได้ดี
การปล่อยต้นข้าวให้รู้ว่าตัวเองตายแล้ว
คุณทวีศักดิ์ให้ความสำคัญไปถึง การเกี่ยวข้าว นอกจากเกี่ยวข้าวด้วยมือ ยังปล่อยข้าวที่เกี่ยวมาแล้วไว้ในแปลงนาอีกประมาณ 2 วัน เพื่อให้ต้นข้าวรู้ว่าตัวเองตายแล้ว
“ถ้าเกี่ยวเสร็จแล้วเก็บเมล็ดออกมาเลย สารอาหารทั้งหมดจะยังอยู่ในต้นข้าว แต่ถ้าเขารู้ว่าเขาตาย เขาจะถ่ายสารอาหารออกไปอยู่ที่เมล็ดพันธุ์เพื่อดำรงชีพและขยายพันธุ์ต่อ ผมเลือกใช้วิธีเกี่ยวข้าวแบบเดิม เพราะประโยชน์คุณค่าสูงสุดของข้าวอยู่ตรงนี้ ของที่ควรอยู่ในเมล็ดข้าวที่เรากินจะไม่หายไป ผมศึกษาจากสิ่งที่เรียนมาและจากบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้าวแบบนี้”
ผลิตภัณฑ์อ้อยคั้นน้ำของ 'สวนดินปรุง'
ในส่วนของ ‘อ้อย’ พืชไร่ที่เลี้ยงคุณทวีศักดิ์มาตั้งแต่เด็ก นอกจากตัดส่งโรงงานอ้อยเกษตรอินทรีย์ผลิตน้ำตาลส่งตลาดอเมริกา ยังนำส่วนหนึ่งมาขายในลักษณะ อ้อยคั้นน้ำ ใครได้ชิมน้ำอ้อยสดจากอ้อยอินทรีย์สายพันธุ์ ‘สุพรรณบุรี50’ ของ ‘สวนดินปรุง’ ล้วนติดอกติดใจในรสชาติหวานกลมกล่อมสีเขียวสวยตามธรรมชาติ
กระยาสารทน้ำอ้อยออร์แกนิค
รวมทั้งยังแปรรูปเป็น ไซรัปน้ำอ้อยอินทรีย์ ส่งร้านทำ ‘กระยาสารท’ ของดีจังหวัดกำแพงเพชร เพิ่มมูลค่าและคุณค่าเป็น กระยาสารทน้ำอ้อยออร์แกนิค ทางเลือกสำหรับผู้ต้องการลดการบริโภคน้ำตาลทราย
“ไม่ต้องซื้อไซรัปน้ำอ้อยจากผมก็ได้ ผมแค่อยากทำเป็นตัวอย่าง หรืออย่างน้อยอาจกระตุ้นให้ชาวไร่อ้อยแถวนั้นส่งน้ำอ้อยให้ร้านที่ทำกระยาสารท ทำให้เกิดการหมุนเวียนขึ้นในชุมชน”
นาข้าวออร์แกนิคของ 'สวนดินปรุง'
ขณะนี้ สวนดินปรุง จำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ผ่าน เฟซบุ๊กสวนดินปรุง, ตลาดรักคุณ ซึ่งเป็นตลาดชุมชนภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.โค้งวิไลไทยเสรี อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่ยินดีให้พื้นที่สนับสนุนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ และการออกร้านตามงานจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ Greenery Market และงาน Sivatel Sustainable Market ที่โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
การออกร้านที่โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
“มีความสุขมากขึ้น เพราะเราพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เมื่อก่อนผมทำไร่อ้อยอย่างเดียว อยากได้ปุ๋ยโทร.สั่ง ทุกอย่างเป็นรายจ่าย แต่พอเราทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พึ่งตัวเองได้ เราไม่ต้องจ่ายออกทุกอย่าง แม้กระทั่งโควิด หรือตอนนี้ปุ๋ยราคาขึ้นสองเท่า ก็เรื่องของปุ๋ย ผมก็อยู่ได้ด้วยการควบคุมต้นทุนของเราได้เอง ด้วยการที่เราทำปุ๋ยได้เองร่วมกับเศษวัสดุเหลือทิ้ง ใบอ้อยที่เหลือก็เอามาใช้โดยไม่เผาทิ้งเลย ที่ทำอยู่ตอนนี้เหมือนเป็น zero waste (ขยะเหลือศูนย์)”
‘สวนดินปรุง’ เป็นอีกหนึ่งมดงานที่แสดงให้ประจักษ์ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ เกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อนำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์กับตนเองและผู้คนได้จริง
credit photo : สวนดินปรุง