ในสายตาชาวต่างชาติ ฤดูร้อนเชียงใหม่ คือ Burning Season – หนีเหอะ !
ฤดูร้อนในเมืองไทย โดยเฉพาะเชียงใหม่และภาคเหนือ เว็บไซต์ท่องเที่ยวต่างชาติแนะนำนักท่องเที่ยวไว้ว่า นอกจากร้อนและแห้งแล้ว ยังปกคลุมด้วยหมอกควันจากการเผา แนะนำให้เลี่ยงภูมิภาคนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม ฤดูนี้สำหรับคนไทยคือช่วงของวันหยุด ความสนุกสนาน เกษตรกรยังไม่มีปลูก โรงเรียนก็ปิดเทอม จากนั้นก็จะเข้าสู่ตรุษ-สงกรานต์ สีสันของเทศกาลยาวต่อเนื่อง
ความสนุกสนานดังกล่าวถูกบรรจุในกิจกรรมท่องเที่ยวระดับโลกที่ชาวต่างชาติรู้จักเทศกาลแห่งน้ำสงกรานต์ไทยเป็นอย่างดี ประเทศไทยนั้นติดลำดับประเทศท่องเที่ยวระดับโลกมานาน ข้อมูลข่าวสารมากมายละเอียดยิบเขียนแนะนำการท่องเที่ยวลงลึกเป็นรายภาค มาเยือนไทยฤดูร้อนควรจะไปที่ไหน อย่างไร สามารถหาดูได้ทั่วไปแค่พิมพ์คำค้นหาในอินเตอร์เน็ต
แต่มันก็น่าเสียดายไม่น้อยที่ระยะหลังข้อมูลข่าวสารท่องเที่ยวฤดูร้อนประเทศไทย แนะนำให้ไปเที่ยวได้ทุกที่ ยกเว้นเชียงใหม่และภาคเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูการเผา และมลพิษอากาศ !
ยกตัวอย่าง :-
เว็บไซต์ดัง https://gotothailand.com ซึ่งเป็นข้อมูลแนะนำประเทศไทยที่ละเอียดเป็นที่ยอมรับมาก เขียนโดยคู่สามีภรรยา Sander&Mariska คนทั้งคู่หลงรักประเทศไทยและใช้เวลาท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ เขียนแนะนำใน หมวดฤดูกาล/การท่องเที่ยวแต่ละเดือน Weather/ Monthly Weather Overview ประจำเดือนมีนาคม
คำแนะของเขาบอกว่าฤดูนี้ประเทศไทยร้อนมาก ข้อแนะนำส่วนใหญ่ให้ไปแถบชายทะเล ทั้งยังเขียนว่า เมืองเชียงใหม่และทางเหนือของประเทศนั้น นอกจากอากาศจะร้อนและแห้งแล้ว ยังถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันจากการเผา แนะนำให้หลีกเลี่ยงภูมิภาคนี้ในช่วงฤดูร้อน https://gotothailand.com/weather-thailand-march/
Sander ยังเขียนบทความในบล็อกส่วนตัวว่าด้วยฤดูเผาเชียงใหม่ Smoky Season: Chiang Mai’s Dirty Little Secret บทความนี้เขียนไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2017 เล่าถึงประสบการณ์แย่ๆ ที่เขาเจอระหว่างท่องเที่ยวเชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน มีการเผามากมาย บรรยากาศไม่น่าเที่ยว yellow, dusty skies and the perpetual smell of smoldering campfire in the air และแนะนำไม่ควรมาเยือนในช่วงเวลานี้
เว็บไซต์แนะนำท่องเที่ยวอีกเจ้า www.holidify.com ออกบทความชื่อ Burning Season In Chiang Mai - All You Need To Know ซึ่งได้บรรยายปัญหามลพิษอากาศของเชียงใหม่ได้อย่างเจ็บแสบ บอกว่ามีการเผามากมายในท่ามกลางภูมิประเทศภูเขา ที่แสบยิ่งกว่านั้น
https://www.holidify.com/pages/chiang-mai-smoke-season-1222.html
บทความนี้ยังมีหัวข้อ Survival Guide แนะนำว่า ให้หนีออกจากเมืองแห่งนี้ไปหาสถานที่เที่ยวใหม่เหอะ อาจจะเป็นบาหลี หรือมาเลเซียก็ได้ หรือไม่ก็สวมหน้ากาก N95 ตลอดเวลา ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือ ไม่ก็อยู่แต่ในห้องไม่ต้องออกไปไหน (ดูจะเป็นคำแนะนำที่เชือดเฉือนมาก มาเที่ยวแต่ไม่ให้ออกไปไหน) เว็บไซต์นี้มีทัศนะไม่ดีอย่างยิ่งกับฤดูฝุ่นควันเชียงใหม่
ชาวต่างชาติสนใจและศึกษาปัญหามลพิษอากาศของเชียงใหม่เป็นอย่างดี บทความชื่อ A Survivor’s Guide to Chiang Mai’s Burning Season เขียนโดย Ryan Zander ในเว็บไซต์ https://iglu.net/ นำเสนอข้อมูลสาเหตุต้นตอปัญหาการเผา ระดับค่าอากาศ ระดับความอันตราย และสุดท้ายคือแนะนำให้หนีออกนอกเมืองชั่วคราว
Should you leave town during the smoky season?
I always do—at least for the worst few weeks of it.
ประเด็นว่าด้วยฤดูร้อนของภาคเหนือและเชียงใหม่ที่ไม่น่าท่องเที่ยว ถูกจุดขึ้นมานานพอสมควรเมื่อดูจากช่วงเวลาการเขียนบทความตัวอย่างที่ยกมา มันเป็นภาพลักษณ์ด้านลบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนภาพของฤดูกาลแห่งเทศกาล สีสัน ความสนุกสนาน
ทดลองเสิร์ชคำว่า Burning Season Thailand ในกูเกิ้ล ปรากฏผลการค้นหามากมายถึง 30,800,000 รายการ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เขียนมาเดิมๆ เก่าๆ เท่านั้น ล่าสุดอายุเมื่อไม่ถึงเดือนก็มี ทั้งข้อเขียน และวิดีโอในยูทูป
สะดุดกับวิดีโอยูทูป Chiang Mai Burning Season 2023: What's it Like? ที่เพิ่งอัพโหลดหยกๆ โดยผู้ใช้นาม Walk-About Wayne มีคนเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนความเห็นมากมายถึง 124 คอมเมนท์ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แน่นอนว่า แทบทั้งหมดแสดงออกถึงความไม่พอใจ
ตัวอย่างเช่น :-
Beverly Weber : Ah, yes...time for the smoke and haze and heat. What I hated about burning season was the smell and the yellow skies,
Amanda Kuch : My boyfriend and I are first timers to Thailand and are coming for Songkran and staying for a week. As soon as I began to plan and research, I realized it may not be ideal to go to Chiang Mai at this time.
ในฐานะที่เป็นราษฎรอาศัยในเมืองเชียงใหม่ที่ถูกกล่าวถึงจากภายนอกเช่นนี้ ย่อมรู้สึกไม่สบายใจอยู่บ้าง เพราะมันเป็นภาพลักษณ์ที่บั่นทอนเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว แต่มองอีกด้านหนึ่งหากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ คือ ยังปล่อยให้เกิดมลพิษฝุ่นควันไฟประจำฤดูซ้ำซากเช่นเดิมปีแล้วปีเล่า
แน่นอนที่สุด คำว่า Burning Season จะมาแทนที่ภาพลักษณ์ของฤดูกาลท่องเที่ยวสีสันสนุกสนาน สงกรานต์และการสาดน้ำที่เคยเป็นจุดแข็งในอดีตอย่างแน่นอน ในปัจจุบันขณะนี้มลพิษฝุ่นควันไฟมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวขนาดไหน ตอบว่า คนที่ไม่พอใจและผละออกไปก็มากอยู่ แต่จำนวนผู้มาเยือนรายใหม่ก็ยังไม่ได้ลดลงมาก
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนเพิ่งไปเมืองปายกลับมา ที่นั่นยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่ยังสนุกอยู่ที่นั่น แพห่วงยางลอยเล่นน้ำปายเป็นที่นิยม จากที่เคยมีรอบละ 100-200 คน ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนปาขึ้นไป 450 คน แน่นขนัดลำน้ำ เนื่องจากว่า ค่ามลพิษ pm2.5 ไม่ได้หนักสาหัสมากทะลุ 300-400 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ดั่งในอดีต
กล่าวคือ มลพิษที่นั่น (ซึ่งคุมไฟในพื้นที่ได้ดีพอควร) อยู่ที่ระดับ 100 ไมโครกรัม +/- คือยังพอครึ้มๆ เห็นดอยลางๆ ก็พอเห็นอยู่บ้าง ส่วนตัวเมืองเชียงใหม่ยังมีต่างชาติหนาตา โดยเฉพาะชาติเอเชีย ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า พวกเขาเหล่านั้นคงไม่เอาประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจไปขยายเผยแพร่ต่อ
การสร้างภาพลักษณ์ประทับจำ Branding เมืองท่องเที่ยวระดับโลก เป็นต้นทุนที่ต้องสร้างขึ้นชนิดที่เมืองหลายเมืองทุ่มทุนทรัพย์มากมาย อาจจะยังไม่ได้รับผลตอบกลับอย่างที่ควร ขณะที่การเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิม สู่ภาพลักษณ์ใหม่ที่ไม่พึงปรารถนา ก็คือการทำลายต้นทุนสะสมที่อุตส่าห์สร้างสมมาในอดีต ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลไม่รู้จะคำนวณเป็นตัวเลขได้อย่างไร ผลกระทบก็มหาศาลเช่นเดียวกัน.
อ้างอิง :
https://www.holidify.com/pages/chiang-mai-smoke-season-1222.html
https://gotothailand.com/smoky-season-chiang-mai/
https://gotothailand.com/weather-thailand-march/
https://iglu.net/survivor-guide-chiang-mai-smoky-season/
https://www.youtube.com/watch?v=Tx22ZFpLgiA