"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

รวมพลังผลักดัน มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทย เดินหน้าสู่สังคมสุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียมอย่างแท้จริง ผ่านเวที "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 21 - 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หากใครได้มาร่วมงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2" หรือ "2nd Voice of the voiceless : the vulnerable populations" เชื่อว่าภาพความประทับใจไม่รู้ลืมคือ การได้เห็น "รอยยิ้ม" ของคนกลุ่มหนึ่งที่โดยปกติแล้วชีวิตส่วนใหญ่ต้องเผชิญ "ความเปราะบาง" และความยากลำบากหลายอย่างในชีวิต จนอาจเป็นอุปสรรคให้พวกเขาแทบจะยิ้มไม่ออกในแต่ละวัน

สำหรับที่มาของรอยยิ้มของพวกเขาในวันนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ตลอดระยะเวลาทั้ง 3 วัน ของการจัดงาน นี่คือเวทีที่เปิดโอกาสให้แสงสปอตไลต์สาดส่องมาที่พวกเขา เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมจาก "เสียงที่คนอื่นเคยไม่ได้ยิน" สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมหันมารับฟังและเข้าใจพวกเขามากขึ้น

นับเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เพื่อนร่วมโลกและร่วมสังคมที่มีความหลากหลายจากทั่วประเทศ ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานนอกระบบ ประชากรข้ามชาติ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ผู้ต้องขัง และมุสลิม พร้อมใจกันมาสร้างพลังบวกด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  

\"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน\" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

นับเราด้วยคน

ท่ามกลางบรรยากาศของผู้คนหลากหลายที่เนืองแน่นในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2" ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. และภาคีเครือข่าย จึงเป็นการมาร่วมกันผลักดันสังคมไทยให้เดินหน้าก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เหตุผลที่เราควรใส่ใจปัญหาของ ประชากรกลุ่มเฉพาะ เหล่านี้ เพราะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังคงทวีความรุนแรงในสังคมไทย ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากต้นน้ำคือ ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health : SDH) ดังนั้น ที่มาการจัดงาน "เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งที่ 2" จึงมีเป้าหมายรวบรวมเสียงสะท้อนจากมุมสำคัญ ทำให้ทุกเรื่องที่ต้องดีขึ้น ควรดีในทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่บางกลุ่ม และสื่อสารประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในช่วงทศวรรษต่อไปในการทำงานของ สสส. 

"ในการวางแผนเป้าหมาย 10 ต่อไปของ สสส. แม้จะมีเรื่องใหญ่ๆ ที่หวังว่าจะบรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาสูบ แอลกอฮอล์ การมีอาหารที่สมบูรณ์ขึ้น การมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มีความปลอดภัยพอเพียงทางสังคมและทางถนน เรื่องสุขภาพจิต มลพิษสิ่งแวดล้อม และปัญหาอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอื่นๆ แต่เราหวังว่า ทุกเรื่องที่ดีขึ้น ควรดีขึ้นในทุกกลุ่ม ไม่ใช่ดีขึ้นอย่างเหลื่อมล้ำ คนที่ยังคงทนทุกข์อยู่ก็ยังทุกข์" ดร.สุปรีดา กล่าว

\"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน\" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานที่ผ่านมา สสส. ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เราทำเรื่องเสริมสร้างสุขภาพกับคนทั่วไป เช่น งดเหล้า งดบุหรี่ ทำให้มีกิจกรรมทางกายพอเพียง สำหรับคนกลุ่มเฉพาะ จำเป็นต้องคิดมาตรการพิเศษ หรือแม้ก่อนจะคิดเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เราอาจต้องเริ่มต้นคิดก่อนว่า เขามีตัวตนหรือยัง เราเข้าถึงเขาได้หรือยัง เขาเองเข้าถึงบริการหรือเปล่า นโยบายสุขภาพที่จำเพาะเจาะจงเหมาะสำหรับเขาหรือไม่

"สสส. พบว่า ระบบบริการสุขภาพมีผลต่อสุขภาวะเพียง 10% เท่านั้น แต่ปัจจัยที่มีส่วนกำหนดสุขภาพว่าดีหรือไม่ดีมากที่สุดคือ วิถีชีวิตและพฤติกรรม 51% รองลงมาคือ ชีววิทยามนุษย์ 20% และสิ่งแวดล้อม 19% ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำให้สุขภาพดีเปรียบเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขาที่ต้องอาศัยหลายภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งสสส. เน้นการสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพ ขยายผลต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับ ประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้เกิดการนับเราด้วยคนคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนมีสิทธิ มีเสียง มีสวัสดิการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน ผ่านการผลักดันนโยบาย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการสื่อสาร รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ก็ต้องคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาสควบคู่ไปด้วย นับเราด้วยคน ก็คือทำอย่างไรเขาจะถูกนับอยู่ในประชากรไทย" ดร.สุปรีดา กล่าว

เปลี่ยนเสียงที่ไม่ได้ยินเป็นพลัง

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เสียงมีความสำคัญและมีความจำเป็นมาก เสียงทำให้ปัญหาคมชัดและได้รับการส่งต่อไปข้างบน เสียง ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ความสะเทือนใจ ความเห็นอกเห็นใจ ตรงนี้เองทำให้เกิดความอยากเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีองค์ความรู้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ สสส. เรียกว่านวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

"โลกสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนเราคิดอำนาจอาจอยู่ที่ผู้มีอำนาจ รัฐบาล ภาคนโยบาย แต่วันนี้ไม่ใช่ อำนาจกระจายอยู่ทั่วไปในสังคมของเรา แล้วเราจะรู้ว่าอำนาจบางอย่างเป็นอำนาจที่ทรงพลัง คืออำนาจที่ส่งผ่านไปยังประชากรที่เขารู้สึกและประทับใจ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งถ้าเราเชื่ออำนาจคนตัวเล็กตัวน้อย อำนาจประชาชนและหาวิธีในการสื่อสารไปสู่สาธารณะ หากกระจายความรู้ตรงนี้ออกไปทำให้เกิดความประทับใจ ก็จะนำไปสู่นโยบายได้" รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าว

\"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน\" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

สานพลังภาคนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับบางคน อุปสรรคในชีวิตคือปัญหาที่เขายากจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ อาจไม่ใช่เงินเท่านั้น แต่คือความเข้าใจ เข้าถึง และทัศนคติเชิงบวก เพียงแค่เริ่มจากการรับฟัง โดยในเวทีแห่งนี้ ได้เปลี่ยนเสียงที่คนอื่นเคยไม่ได้ยิน เป็นพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงและโอกาสในการสร้าง ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้คนในสังคมได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ มีสิทธิสวัสดิการเท่าเทียมกัน ภาคีเครือข่ายประชากรกลุ่มเปราะบางในสังคมไทยกว่า 3,800 คน ที่ร่วมงานครั้งนี้ จะเป็นเสียงและพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายให้ครอบคลุมประชากร 10 กลุ่ม ที่ สสส. ทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ 

ดร.สาธิต กล่าวต่อไปว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ มีความก้าวหน้าเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำหลายมิติ ทั้งการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ศักยภาพภาคีเครือข่าย นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการมีสิทธิและเข้าถึงบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ เช่น ส่งเสริมให้ผู้พิการได้รับการจ้างงาน มีรายได้กว่า 7,000 คน สร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือเยียวยาผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ส่งเสริมการมีอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ตั้งหลักชีวิต มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ

"ขอเป็นกำลังใจให้ภาคีเครือข่าย จากทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ที่สานพลังสร้างเสริมสุขภาพ ประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน งานครั้งนี้มีการเสนอนโยบาย 9 การเปลี่ยนแปลงสู่การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ได้แก่ 1. การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรม 2. การจัดสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า 3. การเสริมพลังประชากรกลุ่มเฉพาะ 4. เสริมพลังเครือข่ายภาคประชาสังคม 5. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูศักยภาพความเข็มแข็งประชากรกลุ่มเฉพาะ 6. การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต 7. การลดความรุนแรง 8. การเข้าถึงบริการสาธารณะที่เป็นมิตรสำหรับทุกคนตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน 9. การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยสสส. ยืนยันว่าจะสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เสียงที่ตกหล่น เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินจากประชากรกลุ่มเฉพาะให้ดังขึ้นและถูกนำไปพัฒนาชีวิตทุกคนในสังคม" ดร.สาธิต กล่าว

\"เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน\" เปลี่ยนสังคมเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เป็นธรรม

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นโจทย์สำคัญแรกในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการทำงาน วันนี้เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชากรกลุ่มเฉพาะ พม. มุ่งเน้นแก้ปัญหาความเปราะบางรายครัวเรือน ซึ่งความท้าทายคือความพยายามลดข้อจำกัดเหล่านี้ โดยการสานพลังร่วมกัน ตลอดจนเชื่อมโยงกลุ่มเฉพาะเข้าด้วยกัน พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม ไปจนถึงยกระดับองค์กรขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพระบบราชการในการส่งเสริมโอกาสเข้าถึงสิทธิ์ของคนพิการหลายมิติ

"เสียงของผู้พิการ เราไม่อาจใช้ดุลพินิจปกติของเราได้ แต่เราต้องเข้าใจ เหล่านี้คือ ความท้าทาย อีกความท้าทายคือ ข้อมูลประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เราได้งบประมาณมาดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต แต่เราต้องมาทำงานเรื่องข้อมูลไปด้วย ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญว่าข้อมูลควรเป็นใครได้ไหม เช่น หน่วยงานระดับภูมิภาค ท้องถิ่นที่จะเป็นหุ้นส่วนมาร่วมกันทำวันนี้ต้องให้เครดิต สสส. ที่ลุกมาเป็นคนกลางขับเคลื่อน" อนุกูล กล่าว

เสียงคนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เสียงเปราะบาง 

ปัญหาหลักและปัญหาแรกๆ ของคนกลุ่มเฉพาะนั้น ไม่ใช่ความต้องการการช่วยเหลือหรือการสร้างภาระให้สังคม หากแต่คือเรื่อง "การเข้าถึง" สิทธิ โอกาส และความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมที่มีต่อพวกเขามากกว่า

หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า คำหลายคำที่พูดคุยกันเป็นเรื่องปกติ หรือคำง่ายๆ นั้น สำหรับผู้พิการทางการได้ยินแล้ว กลับเป็นอุปสรรคมากกว่าที่คิด

นับดาว องค์อภิชาต ผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้พิการทางการได้ยิน กล่าวว่า สำหรับคนหูหนวกนั้นมีความเข้าใจที่จำกัด ด้วยข้อติดขัดทางภาษา การใช้ภาษามือนั้นมีคลังคำและความรู้จำกัดแตกต่างกับคนทั่วไป คนหูหนวกอ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจความหมาย เพราะไม่มีภาษาในการสื่อสาร หรือยากที่จะหาใครช่วยสื่อสารให้ได้

"เพื่อนดิฉันเป็นคนหูหนวกที่เป็น LGBTQ มีปัญหาสุขภาพไปหาคุณหมอ คุณหมอก็เขียนมา แต่เพื่อนดิฉันอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ คนอื่นก็ไม่สามารถอธิบายได้ เลยทำให้ไม่รู้วิธีดูแลสุขภาพตัวเอง ต่อมาเพื่อนเริ่มไม่สบายและได้ไปอยู่บนสวรรค์แล้ว เขาบอกดิฉันว่าฝากดูแลคนหูหนวก LGBTQ ด้วยนะ" นับดาว กล่าว

นับดาว ยังเล่าถึงความฝันของเธอคือ อยากให้มีเวทีประกวดความสามารถต่างๆ สำหรับคนหูหนวกบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเธอต้องการเวทีและโอกาสเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นทั่วไป

"คนที่ได้ยินปกติเขามีเวทีที่ประกวดทุกอย่าง คนหูหนวกเองก็อยากมีเวทีที่แสดงความสามารถเหมือนกัน ดิฉันและเพื่อนที่เป็นคนหูหนวกสาวประเภทสองเราจึงทำงานด้วยกัน เราอยากให้มีการจัดงานประกวดสนับสนุนคนหูหนวกค่ะ" นับดาว กล่าวทิ้งท้าย