‘แพรี่พาย’ อมตา จิตตะเสนีย์ เป้าหมายสูงสุด ห้องสมุดรวบรวมสีของประเทศไทย
อมตา จิตตะเสนีย์ ‘แพรี่พาย’ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 ขอพูดเรื่อง ‘สีจากธรรมชาติ’ เพราะการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่นั้นๆ ร่วมกันรักษา
ยังคงหลงรักและสืบเสาะค้นหาแก่นภูมิปัญญาความเป็นไทยอย่างต่อเนื่อง สำหรับ อมตา จิตตะเสนีย์ สาวสวยผู้แจ้งเกิดในโลกโซเชียลมีเดียจากศิลปะการแต่งหน้าแฟชั่นในนาม แพรี่พาย (Pearypie) ฝากฝีมือและชื่อเสียงไว้บนรันเวย์ระดับโลก จนกลายเป็น influencer คนสำคัญผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจความเป็นไทย
ในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival เมื่อปี 2565 แพรี่พาย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการการมิกซ์แอนด์แมชต์เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าทอท้องถิ่น ย้อมสีธรรมชาติ จากหลายพื้นที่ในภาคอีสานในสไตล์ Thai Swag เสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันหลากหลายโอกาส ซึ่งเธอออกแบบแต่ละชุดด้วยตัวเอง
มาปีนี้ ในงาน ‘เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566’ แพรี่พาย นำเสนอองค์ความรู้ความเป็นไทยภายใต้ชื่อ 'ถิ่นนิยม – คลาสรูม' ว่าด้วยเรื่อง สีจากธรรมชาติ ซึ่งต่อยอดมาจากการใช้เวลา 8 ปีในการลงพื้นที่ชุมชนผ้าทอท้องถิ่นทั่วประเทศ
ดร.จิราวรรณ คำซาว และ ‘แพรี่พาย’ อมตา จิตตะเสนีย์
“พูดได้ว่า ‘สี’ เป็นวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด” แพรี่พาย กล่าวจากการมีโอกาสร่วมงานกับ ดร.จิราวรรณ คำซาว นักจุลชีววิทยาผู้ห่วงใยผืนป่า ในการนำเสนอแนวคิด ‘ถิ่นนิยม – คลาสรูม’
ดร.จิราวรรณ กล่าวว่า ต้นกำเนิดของ ‘สี’ ในกลุ่มพืช เกิดจากการที่พืชสร้างดอกขึ้นมาเพื่อขยายพันธุ์และผสมพันธุ์กันได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นผ่าน ‘ผู้ช่วยผสมเกสร’ หรือ pollinators เช่น แมลงต่างๆ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อเกิดวิวัฒนาการของสัตว์และคน
ยกตัวอย่าง “ดอกไม้สีขาวซึ่งมีเกสรสีเหลืองตรงกลาง ดึงดูด pollinators จำพวก ‘ผึ้ง’ ขณะที่พืชกลุ่มสีแดง เช่น พริก มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี่ ดึงดูดสัตว์จำพวก ‘นก’ มากินแล้วนำเมล็ดไปปล่อยที่อื่นเป็นการกระจายพันธุ์รูปแบบหนึ่ง”
มนุษย์นำ 'สีจากธรรมชาติ' มาใช้ประโยชน์
ดร.จิราวรรณ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว พืชสร้างสีสันเพื่อการขยายพันธุ์ ไม่ได้สร้างสีเพื่อให้มนุษย์นำมาใช้ แต่มนุษย์สามารถนำสีจากธรรมชาติมาใช้ประกอบการดำรงชีวิตได้ โดยเฉพาะ การย้อมผ้า และการทำอาหาร
ลองมาดูชุดสีจากธรรมชาติที่ แพรี่พาย และ ดร.จิราวรรณ บันทึกไว้ในนิทรรศการ ‘ถิ่นนิยม – คลาสรูม’
วัตถุดิบให้สีธรรมชาติในประเทศไทย
สีจากธรรมชาติ
ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศแบบ ทรอปิคอล ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของดอกไม้ พืชพันธุ์ แมลงต่างๆ มากมาย
สีย้อมผ้าที่ได้จากธรรมชาติมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นดิน หรือการนำส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ดอก ผล ราก เปลือกลำต้น แกนลำต้น มาต้มสกัดเป็นสีย้อม สามารถจัดเฉดสีธรรมชาติให้เป็นสายรุ้ง
- สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง ต้นมหากาฬ เปลือกมะพร้าว
- สีแดง ได้จาก ครั่ง เปลือกประดู่ รากยอ เปลือกสมอ
- สีส้ม ได้จาก เมล็ดคำแสด ดินภูอัคนี ดอกดาวกระจาย เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์
- สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย เปลือกหัวหอม
- สีเหลือง ได้จาก ดอกดาวเรือง ขมิ้น แก่นเข แก่นขนุน ดอกกรรณิการ์ ต้นหม่อน เปลือกไม้นมแมว แก่นสุพรรณิการ์
สีจากธรรมชาติ ที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อการ 'ย้อมสีธรรมชาติ'
- สีตองอ่อน ได้จาก เปลือกต้นมะพูด เปลือกผลทับทิม แก่นแกแล ต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผลสมอพิเภก ใบส้มป่อย ผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน
- สีเขียว ได้จาก ใบมะม่วง เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง ครามย้อมทับด้วยแถลง
- สีคราม/น้ำเงิน ได้จาก เมล็ดคอคอเด๊าะ รากและใบต้นคราม (ต้นห้อม)
- สีม่วง ได้จาก เมล็ดผักปลัง ดอกอัญชัน เมล็ดทิวา
- สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
- สีน้ำตาล/ดำ ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด กระโดน สะตอ ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ
สีเทียนทำจากสีดอกไม้
หลายประเทศก็นำ สีจากธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นนำ 'สีจากธรรมชาติ' คือผักและผลไม้ตามฤดูกาล มาทำเป็น สีเทียน เกิดขึ้นเมื่อชาวญี่ปุ่นต้องการป้องกันปัญหาจากสีเทียนเจือสารที่เป็นพิษ ทำให้เด็กมีอาการท้องเสีย อาเจียน
สำหรับประเทศไทยก็มีการนำ 'สีจากธรรมชาติ' มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างนอกจากการย้อมผ้า อาทิ Ayada (เอยาดา) นำสีจากไม้ฝางมาทำ แป้งร่ำ ได้เป็นผลิตภัณฑ์แป้งร่ำสีชมพูหม่นจากไม้ฝาง กลิ่นคาโมมายล์อบร่ำ กับ 'แป้งร่ำดาวเรือง' โทนเหลืองอ่อนจากดอกดาวเรือง กลิ่นกระดังงาอบร่ำ
แป้งร่ำไม้ฝางกับแป้งร่ำดาวเรือง
แพรี่พาย กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวพอได้มีโอกาสทำในเรื่องของสีจากธรรมชาติ อาจจะไปต่อยอดในเรื่องของเครื่องสำอาง แต่จริงๆ การต่อยอดของเธอเน้นให้คนได้มาสัมผัสธรรมชาติ ได้กลับเข้ามาเชื่อมโยงกับรากเหง้าของตัวเราเอง
“คือเราไม่ได้เน้นว่าเราต้องมีธุรกิจที่มีกำไรอย่างเดียว คือเราเน้นให้คนได้กลับมาตระหนักรู้ในเรื่องของทรัพยากรในธรรมชาติที่ลดน้อยลง และการเป็นผู้บริโภคที่เข้าใจในหลายมิติ คือสิ่งที่เราปลูกฝังในความหมายของ ‘ถิ่นนิยม’ ไม่ต้องพึ่งระบบนายทุน” แพรี่พาย กล่าว
“ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของ ‘สี’ มีความหลากหลายเยอะมาก อยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจ ได้มีโอกาสคืนสู่รากเหง้าของตัวเรา ถ้าได้มีโอกาสลงมาเรียนในพื้นที่ เราจะเห็นเลยว่า ภูมิปัญญาของคนไทยดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าท้องถิ่น ของกิน หรือแม้กระทั่ง ‘สี’ ภูมิปัญญาไทยคือที่สุด”
ทุกภูมิภาคของไทยมีวัฒนธรรมสีจากธรรมชาติประจำถิ่น
ถิ่นนิยม – คลาสรูม
‘ถิ่นนิยม’ คือ กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในถิ่นของตัวเอง และเห็นคุณค่าของทรัพยากรถิ่นที่อยู่ และอยากจะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ เข้ามาร่วมรักษาดูแลธรรมชาตินี้ด้วยกัน
จึงทำให้เกิด ถิ่นนิยม – คลาสรูม ห้องเรียนธรรมชาติในท้องถิ่น เปิดพื้นที่ให้คนไปเข้าใจในสรรพสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เห็นความสำคัญ นำไปสู่การเคารพ ส่งผลให้เกิดความตระหนัก หวงแหนธรรมชาติ
โดยกิจกรรมจะเรียนรู้ผ่านการออกแบบเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ศึกษารายละเอียดและความงามของธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน พืช แมลง และธรรมชาติในระบบนิเวศรอบตัว
เนื่องจาก การอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่นั้นๆ ร่วมกันรักษา
“ปีนี้เราโฟกัสคำว่า ‘ถิ่นนิยม’ คือการรวบรวมทีมที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองไทยทำค่ายเรียนรู้ในพื้นที่ตัวเอง
ประมาณ 8 ปีที่แพรลงชุมชน เราก็รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีอะไรดี ถ้าถามส่วนตัว แพรอยากมี ห้องสมุดเกี่ยวกับสี รวบรวมสีของประเทศไทย คือเป้าหมายสูงสุด” แพรี่พายกล่าวและว่า ห้องสมุดนี้น่าจะอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เพราะเป็นที่ๆ ทำให้เธอมีโอกาสมารวมตัวกันกับหลายๆ คนที่อยู่ในทีม ได้ทำเรื่องที่มีพลังร่วมกัน